วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ผู้ป่วยเฮ! รพ.จุฬาภรณ์ใช้ “Hyperthermia” ทำลายมะเร็งได้ทุกตำแหน่ง ทุกระยะ

 ผู้ป่วยมะเร็งเฮ! รพ.จุฬาภรณ์ นำเข้าเครื่อง Thermotron-RF8 ราคากว่า 50 ล้านบาท ใช้ความร้อน 43 องศา ทำลายเซลล์มะเร็งได้ทุกตำแหน่ง ทุกระยะโรค ร่วมกับการรักษาแนวทางอื่น ระบุให้ผลดียิ่งขึ้น ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการ เตรียมให้การรักษาสิ้น เม.ย.
ผู้ป่วยเฮ! รพ.จุฬาภรณ์ใช้ “Hyperthermia” ทำลายมะเร็งได้ทุกตำแหน่ง ทุกระยะ
       วันนี้ (20 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงเครื่องเทอโมตรอน-อาร์เอฟแปด (Thermotron-RF8) ซึ่งเป็นเครื่องมือรักษามะเร็งทางเลือกใหม่ ว่า เครื่องดังกล่าวเป็นการรักษามะเร็งด้วยความร้อน เรียกว่า “ไฮเปอร์เธอร์เมีย” (Hyperthermia) นับเป็นอีกทางเลือกในการใช้ร่วมกับการรักษาในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี และการใช้ยาเคมีบำบัด โดยเครื่อง Thermotron-RF8 นั้นนำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งมีการใช้มานานกว่า 20 ปี ราคาประมาณ 50 ล้านบาท มีศักยภาพใช้งานได้เป็น 10 ปี ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้นำมาติดตั้งเป็นครั้งแรกของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้การรักษา รวมทั้งวิจัยศึกษา เป็นการพัฒนาการรักษาเพื่อก้าวสู่ศูนย์รักษามะเร็งครบวงจร (Comprehensive Cancer Center) และทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการรักษามากขึ้น ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธาน รพ.จุฬาภรณ์ ว่าให้ทำทุกอย่างเพื่อช่วยผู้ป่วยคนไทยได้รับโอกาสการรักษาทัดเทียมต่างประเทศ
      
       ศ.นพ.พิทยภูมิ กล่าวว่า หลักการทำงานของเครื่องคือ การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อนที่อุณหภูมิ 43 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ทำลายเซลล์มะเร็งได้ เนื่องจากเซลล์มะเร็งเป็นเนื้อร้าย ไม่มีความยืดหยุ่นทำให้เก็บกักความร้อนจนทำลายตัวเอง ขณะที่เนื้อเยื่อปกติมีความยืดหยุ่นจะถ่ายเทความร้อนออกสู่ร่างกายเอง โดยไม่ส่งผลใดๆ ทั้งนี้ สามารถทำลายได้ทั้งเซลล์มะเร็งที่อยู่ไม่ลึกจากผิวหนัง และลึกลงไปภายในร่างกาย ใช้ทำการรักษาได้ในเกือบทุกตำแหน่งอวัยวะ แต่เป็นแบบเจาะจงได้ตรงตำแหน่งก้อนเนื้องอก ทำให้มีขนาดก้อนที่เล็กลงหรือหยุดการเจริญเติบโต และรักษาได้ทุกระยะ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด
ผู้ป่วยเฮ! รพ.จุฬาภรณ์ใช้ “Hyperthermia” ทำลายมะเร็งได้ทุกตำแหน่ง ทุกระยะ
       “การทำงานจะได้ผลดีเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาแนวอื่น ทั้งการฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งข้อดีคือช่วยให้ผู้ป่วยไม่ทรมาน ลดผลข้างเคียงจากการรักษาแนวอื่น เช่น ลดการฉายรังสีเหลือ 50-60% แต่ผลการรักษาเท่ากัน อาการข้างเคียงไม่มี ซึ่งเดิมทีหากฉายรังสี 100% ผู้ป่วยอาจรับไม่ไหว หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องตับอ่อนจะรักษายากมาก เพราะผ่าตัดหรือฉายรังสีไม่ได้ ต้องใช้เคมีบำบัด ซึ่งอาจได้ผล 30-40% แต่หากใช้วิธีนี้ร่วมด้วย จะทำให้ผลการรักษาเพิ่มขึ้นอีก” ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ กล่าว
      
       ศ.นพ.พิทยภูมิ กล่าวว่า ข้อควรระวังคือผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดและบริเวณผิวหนังมีพังผืด เนื่องจากความร้อนจะกระทบต่อผิวหนังมีอาการแดงได้ แต่ที่ควรหลีกเลี่ยงคือกลุ่มที่มีการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจหรือผ่าตัดใส่โลหะ อาจมีผลต่อการใช้เครื่องนี้ ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะเปิดรักษาผู้ป่วยด้วยเครื่องดังกล่าวใน เม.ย.2557 สำหรับสิทธิการเบิกจ่ายได้นั้น ขณะนี้ได้เพียงสิทธิสวัสดิการข้าราชการ แต่ไม่ทั้งหมด ส่วนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประกันสังคม ยินดีรับผู้ป่วยเข้ารักษา แต่ต้องให้ต้นสังกัดส่งต่อ

1 ความคิดเห็น:

  1. อนุญาต สอบถามครับติดต่อยังไงติดต่อใครได้บ้างครับถึงจะรักษา อยากพาพ่อไปรักษาครับผม ขอขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งครับผม

    ตอบลบ