วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เปิดตัว "จุฬาสมาร์ทเลนส์" เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์

เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        เปิดตัว "จุฬาสมาร์ทเลนส์" นวัตกรรมเลนส์อัจฉริยะจากโพลิเมอร์ซิลิโคนคุณภาพสูง ราคาถูก ผลงานนักวิจัยภาควิชาเคมี คณะวิทย์ฯ แค่หนีบก็เท่ากับเปลี่ยน ยกระดับสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์เคลื่อนที่ หวังกระจายโอกาสการเรียนรู้สู่เด็กทุกระดับ
      
     
       รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว "จุฬาสมาร์ทเลนส์" นวัตกรรมเลนส์อัจฉริยะเปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้เป็นกล้องจุลทรรศน์เคลื่อนที่ ผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการณ์วิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2558 ณ ห้องปฏิบัติการภาควิชาเคมี 1111 ตึกมหามกุฏ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
      
       จุฬาสมาร์ทเลนส์ เป็นอุปกรณ์เสริมที่มีลักษณะเป็นเลนส์ที่ใช้หนีบติดกับกล้องสมาร์ทโฟนทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง ที่สามารถทำให้กล้องโทรศัพท์มือถือธรรมดากลายเป็นกล้องจุลทรรศน์ขนาดย่อมๆ ได้ โดยเลนส์มีกำลังขยาย 2 ขนาดคือ 10 เท่าและ 20 เท่า
      
       รศ.ดร.สนอง ระบุว่า เลนส์ชนิดนี้ทำขึ้นจากโพลิเมอร์ชนิดโพลีไดเมทิลไซโลเซน (Polydimethylsiloxane : PDMS) ซึ่งมีลักษณะเป็นซิลิโคน ใส บางเบา คล้ายกับคอนแทคเลนส์ที่ใช้กับดวงตา จึงมีประสิทธิภาพในการรวมแสงและขยายภาพได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัสดุชนิดอื่น และยังมีอายุการใช้งานยาวนาน เมื่อเทียบกับเลนส์ใกล้วัตถุของกล้องจุลทรรศน์ที่มีอายุเฉลี่ยการใช้งาน 5 ปี
      
       "ราคาขายเลนส์ของเราอยู่ที่ประมาณ 500 บาทซึ่งถูกมากเมื่อเทียบกับเลนส์ที่มีขายตามท้องตลาดที่ส่วนมากมีราคาตั้งแต่ราคาหลักพันขึ้นไปจนถึงหลักหมื่น อีกทั้งยังใช้ง่ายเพียงหนีบเข้ากับตัวกล้องของสมาร์ทโฟนแล้วปรับระยะโฟกัสด้วยมือ ก็จะได้ภาพคมชัดเสมือนมีกล้องจุลทรรศน์เป็นของตัวเองโดยจุดเด่นอยู่ที่กระบวนการผลิต ซึ่งเราใช้การหล่อเบ้าแทนที่การขัดเลนส์ร่วมกับเทคโนโลยีพิเศษเพื่อให้เลนส์มีความใสและมีคุณภาพสูงพอสำหรับการนำไปใช้ส่องวัตถุขนาดเล็กได้" รศ.ดร.สนอง เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
      
       รศ.ดร.สนอง แนะนำว่า เลนส์กล้องจุลทรรศน์แต่ละกำลังขยายจะเหมาะกับการส่องวัตถุที่แตกต่างกัน โดยกล้องจุลทรรศน์ที่กำลังขยาย 10 เท่าจะให้พื้นที่ภาพมากกว่าแต่ความละเอียดน้อยกว่าเหมาะกับวัตถุประเภทอัญมณี, พระเครื่องและอุปกรณ์เครื่องสำอาง ส่วนกำลังขยาย 20 เท่าจะให้พื้นที่ภาพแคบกว่าแต่มีความละเอียดมากกว่าเหมาะกับการส่องปรสิต, เกสรดอกไม้, เซลล์และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก
      
       รศ.ดร.สนอง เผยว่า จุดเริ่มต้นของงานวิจัยเลนส์อัจฉริยะเริ่มต้นจากไอเดียของเขาที่อยากสร้างมิติใหม่ให้กับการศึกษาผ่านการถ่ายภาพด้วยกล้องสมาร์ทโฟน จึงขอทุนวิจัยไปที่สถาบันวิจัยอัญมณีศาสตร์และเครื่องประดับแห่งชาติเป็นจำนวน 1 ล้านบาท ตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ย.2557 ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาเลนส์กล้องจุลทรรศน์สมาร์ทโฟนสำหรับส่องอัญมณี ก่อนจะต่อยอดมาเป็นเลนส์ที่ใช้สำหรับส่องวัตถุทั่วไป ซึ่งต่างกันเพียงแค่ชื่อจดแจ้งลิขสิทธิ์ที่รุ่นแรกจะเป็นของสถาบันอัญมณีฯ ด้วยครึ่งหนึ่ง รวมเวลาการวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้นประมาณ 6 เดือนเศษ
      
       ทั้งนี้ รศ.ดร.สนอง เผยว่า ได้เริ่มนำไปใช้แล้วในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนบ้านห้วยเฮี้ยน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สำหรับการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และคาดว่าจะเริ่มวางขายในช่วงปลายปี 2558 โดยการจัดตั้งบริษัทของลูกศิษย์ในภาควิชา โดยจะขายในราคาย่อมเยาว์ควบคู่กับสื่อการเรียนรู้เพื่อให้เด็กไทย รวมไปถึงเด็กในพื้นที่ห่างไกลที่โรงเรียนไม่มีทุนทรัพย์สำหรับการจัดซื้อกล้องจุลทรรศน์ตัวละหลายหมื่นบาท มีโอกาสได้เห็นวัตถุในมุมมองที่ละเอียดขึ้นผ่านอุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งได้ง่ายๆ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟน
      
       "กล้องจุลทรรศน์มันแพง น้ำหนักก็มาก ในขณะที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟน ถ้าเราเอาสองอย่างนี้มารวมกันได้ โลกแห่งวิทยาศาสตร์ข้อมูลข่าวสารจะถูกเชื่อมต่อกัน เราจะสามารถตรวจชนิดปรสิตได้แม้อยู่ในป่า เด็กๆ จะอยากรู้อยากเห็นซึ่งเป็นส่งเสริมความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวเขา ซึ่ง ณ ตอนนี้เราถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว" รศ.ดร.สนองไล่เรียง
      
       ทั้งนี้ รศ.ดร.สนอง ยังเผยด้วยว่า ส่วนถัดไปคือการวิจัยเพื่อเพิ่มความละเอียดกำลังขยายให้ได้ถึงขนาด 50 เท่า ซึ่งขณะนี้ทำสำเร็จแล้วเช่นกันแต่ยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ ส่วนเรื่องของกำลังการผลิตยังผลิตได้ไม่มาก อยู่ในระดับร้อยชิ้นต่อวันเท่านั้น จึงยังไม่ได้เปิดขายในเชิงพาณิชย์ แต่ถ้าหากผู้ใดสนใจให้ติดต่อมาที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางภาควิชาฯ มีจำหน่ายราคาชิ้นละ 500 บาท รศ.ดร.สนอง กล่าวทิ้งท้ายผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
สามารถภ่ายภาพได้ทันที ไม่นุ่งยากเหมือนจากถ่ายภาพจากกล้องจุลทรรศน์
       
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
เลนส์อัจฉริยะอยู่ภายในคลิปหนีบทำให้การถ่ายรูปง่ายขึ้น
       
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
เลนส์อัจฉริยะมีขนาดเล็กประมาณหัวเข็มหมุด
       
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
เลนส์กำลังขยาย 10 เท่าและ 20 เท่า
       
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
เพียงแค่หนีบเลนส์ไว้กับส่วนของกล้อง ก็สามารถถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็กได้
       
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
ภาพที่ถ่ายได้จากจุฬาสมาร์ทเลนส์
       
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
รศ.ดร.สนอง สาธิตการใช้เลนส์
       
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
ภาพถ่ายไรน้ำ
       
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
เลนส์กำลังขยายขนาด 10 เท่า ถ่ายดอกไม้ขนาดเล็กออกมาได้ชัดเจนจนเห็นขนใบ
       
เปิดตัว จุฬาสมาร์ทเลนส์ เลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์
นิสิตปริญญาโทสาธิตการปรับระยะโฟกัสกล้องด้วยแท่นปรับระดับเพื่อความนิ่งแทนการปรับระดับด้วยมือเปล่า
       
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น