วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จีนบุกตั้งโรงงานไฟฟ้าไฮบริดแห่งแรกของโลกที่จ.อุดร ผนึก 68อปท. ป้อนขยะสัญญา30ปี

โดย Energy Saving วันที่ 23 กรกฎาคม 2558

"อุดร คลีน เอนเนอร์จี" ผนึกทุนจีนสร้างโรงกำจัดขยะไฟฟ้าไฮบริดแห่งแรกของโลกมูลค่า 1,500 ล้านบาท พร้อมดึง 68 อปท.เมืองอุดร ป้อนวัตถุดิบขยะให้ต่อเนื่องนาน 30 ปี ค่ากำจัดขยะตันละ 300 บาท

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงการกำจัดขยะมูลฝอย "โครงการกำจัดขยะแบบบูรณาการขององค์การบริหารส่วนตำบลนิคมสงเคราะห์" โดยให้บริษัท อุดร คลีน เอนเนอร์จี จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดอุดรธานี จำนวน 68 แห่งร่วมลงนาม 

นายปัญญวัฒน์ อุทัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดร คลีน เอนเนอร์จีจำกัด กล่าวว่า โรงงานกำจัดขยะที่อุดรธานีจะเป็นโรงไฟฟ้าไฮบริดแห่งแรกของโลก มีระบบกำจัดขยะอินทรีย์ และขยะอนินทรีย์ เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นระบบปิดทั้งหมด จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งกลิ่นเหม็นหรือมีมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ว่างเปล่า 117 ไร่ มูลค่า 35 ล้านบาท ริมถนนอุดรฯ-หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับนักลงทุนจีนสัดส่วน 49% และทุนไทย 51% 

"ขณะนี้มีการทำประชาพิจารณ์ผ่านแล้วและต้องทำ ESA ซึ่งจะอยู่ระหว่าง IEE กับ EIA เพื่อขอ BOI และใบอนุญาตโรงงาน คาดว่าประมาณต้นเดือนตุลาคม 2558 จะลงมือก่อสร้าง ซึ่งปริมาณขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท.ทั้ง 68 แห่ง จะมีปริมาณขยะประมาณ 500 ตัน/วัน ค่าใช้จ่าย 300 บาท/ตัน หากกำจัดขยะหมดทุกวัน จะเหลือกากนำไปทำปูนซีเมนต์ หรืออิฐบล็อกได้วันละ6,000-8,000 ก้อน" 

นายปัญญวัฒน์กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้มีพันธมิตร 4 ราย คือ 1.กลุ่มบริษัท HOLLEY กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในจีน มีการลงทุนในต่างประเทศด้วยเม็ดเงินมหาศาล 2.กลุ่มบริษัทฮูซีชาน มีความเชี่ยวชาญในการผลิตไฟฟ้าจากขยะมากว่า 30 ปี โดยมีทั้งโรงงานไฟฟ้าจากขยะตั้งแต่ 100 ตัน ไปจนถึงขนาด 2,000 ตัน ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในทุกกระบวนการ และเป็นระบบปิดทั้งหมด 3.กลุ่ม MBT Engineering & Consultant จำกัด หรือ MBTEC (ผู้บริหารคือ นายปัญญวัฒน์ อุทัยพัฒน์) เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรเทคโนโลยีเครื่องกำจัดขยะโดยวิธีกำจัดขยะแบบบูรณาการ ซึ่งมีโรงงานกำจัดขยะที่เทศบาลเมืองท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี และ 4.บริษัท อาเซอร์ แปซิฟิก จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารเงินทุน 

นายอนนท์ ศรีพรหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนิคมสงเคราะห์ อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอุดรธานีในการบริหารจัดการขยะเพื่อนำไปสู่การผลิตพลังงานทดแทน และพัฒนาเมืองให้สะอาดปราศจากขยะตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ 

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริษัท อุดร คลีน เอนเนอร์จีจำกัด ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง 3 ข้อ คือ 1.ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ ในอัตรา 300 บาทต่อตัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่โรงงานกำจัดขยะได้มีการติดตั้งระบบกำจัดขยะมูลฝอยเรียบร้อย และพร้อมรับขยะมากำจัดได้แล้ว 

2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมลงนาม จะส่งขยะมูลฝอยในพื้นที่ที่จัดเก็บได้ทั้งหมดเข้าสู่โรงงานกำจัดขยะ เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของจังหวัดอุดรธานี และ 3.เมื่อลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการทำสัญญาจัดจ้างตามระเบียบต่อไป


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น