วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แด่...ลูกคนกลาง

» แด่...ลูกคนกลาง
» โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง

ใคร ๆ ก็แสวงหาความเป็นกลาง อยากเป็นกลาง …ยกเว้นลูกคนกลาง

“พ่อแม่รักพี่คนโต และสนใจน้องคนเล็ก ...ผมรู้สึกว่าไม่ได้รับความรักและความสนใจจากพ่อแม่ จะทำอย่างไรดี อายุก็มากแล้ว ยังรู้สึกอย่างนี้อีก”

หนุ่มวัย ๓๐ คนหนึ่งครวญ ในรายการวิทยุคลื่นลูกใหม่ ช่วง “ธรรม ธรรมดา”

… ถอนใจ… ฉันรู้สึกได้ถึงความทุกข์ใจของเพื่อนผู้ฟังคนนี้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เรารู้ความรู้สึกนี้ และปรารถนาจะเข้าใจ ก้าวข้ามมัน

ในฐานะผู้ดำเนินรายการของช่วงนี้ ฉันพยายามหาข้อธรรม และความคิดเห็นที่น่าจะพอช่วยให้หนุ่มคนนี้ ก้าวข้ามความรู้สึกที่ฝังแน่นในใจมายาวนาน

…. กายสงบ เข้าไปในใจ ขอปัญญาจากพระพุทธองค์

.
----------------------------------
.


ยกมือขึ้นมา นิ้วมือ ๕ นิ้ว ไม่เท่ากัน

ก้มดูนิ้วเท้า นิ้วทั้ง ๕ ก็ไม่เท่ากัน

ส่องกระจก มองไปที่ดวงตาทั้งสอง ใบหูทั้งคู่ ดูเหมือนจะเท่าและเหมือนกัน แต่ก็ไม่

นี่เป็นความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิต ทุกอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน จะหาที่เหมือนกัน และเท่ากันไม่มี

ใบไม้จากต้นเดียวกันก็ไม่ได้เท่ากัน เหมือนกัน แบบใบไม้ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม

.
----------------------------------
.

ความรักไม่ใช่คณิตศาสตร์...ที่จะชั่ง ตวง วัด คำนวน หรือมีสมการได้

ความรักไม่ใช่เครื่องจักร...ที่สามารถผลิตตัวเอง ให้เหมือนและเท่ากันทุกครั้

ความรักของพ่อ แม่ ก็คงเป็นเช่นนั้นละมั้ง …. จะหาความรักที่เป็นกลาง เท่าเทียมจากใจปุถุชนนั้นยา

ตัวเราเองยังรู้สึกกับสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากันเลย เรารักสิ่งนี้ ไม่ชอบสิ่งนั้น รักคนนี้มากกว่าคนนั้น

...เรารักพ่อ และแม่เท่ากันหรือไม่?

...เราจะหวังให้พ่อ แม่ รักลูกทุกคนเท่ากันได้หรือ?

...เราจะเอาอะไรวัดความรัก?

เครื่องมือที่เราจะใช้วัดความรัก — ใจของเรา— มีความเป็นกลาง ได้มาตรฐานเที่ยงธรรมหรือไม

สิ่งที่เราน่าจะลองมอง คือ มีความรักอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่าง เราและพ่อ แม่หรือเปล่า


.
----------------------------------
.

ทุกชีวิตเติบโตและดำรงอยู่ได้ด้วยความรัก

หากต้นไม้ไม่ได้รับความรักจากแสงแดด ลม อากาศ น้ำ สัตว์ และมนุษย์ ต้นไม้นั้นก็ยากที่จะเติบใหญ่

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เปราะบาง เราไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เหมือนลูกสัตว์บางประเภท ที่เกิดมาก็ช่วยตัวเองได้ ลูกมนุษย์ต้องได้รับการดูแล ทะนุถนอมอย่างมาก

ลองทบทวนว่า...ในแต่ละปี ตั้งแต่เราเกิด จนโต...อย่างในปัจจุบัน พ่อ แม่ ต้องทำอะไรให้เราบ้าง ดูแลเราอย่างไร ให้เวลากับเราเท่าไร

ท่านเสียเงินกับเราแค่ไหนในเรื่องต่าง ๆ ให้เราได้เรียนหนังสือ ไปเที่ยว มีของใช้ส่วนตัว

เราสัมผัสได้หรือไม่ว่า ทั้งหมดทั้งปวงที่ผ่านมา ตราบเท่าเวลาชีวิตเราในปัจจุบัน คือ ความรัก … พอไหมสำหรับใจเรา?

.
----------------------------------
.

ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อเราเปรียบเทียบว่า พ่อแม่รักพี่ สนใจน้องมากกว่าเรา บางทีหากเรามีโอกาสได้ถามพี่และน้องที่เราแอบอิจฉา

เราอาจรู้ว่า... พี่อาจกำลังรู้สึกกดดันว่า พ่อแม่คาดหวังในตัวของเขาสู

น้องที่เราเห็นว่าได้รับความสนใจมาก อาจรู้สึกว่าอัดอัดกับความสนใจนั้น

ลูกคนเดียวอาจรู้สึกเหงา และว่าพ่อแม่ว่า ไม่มีพี่น้องให้เป็นเพื่อนเขา

ไม่มีอะไรพอดีสำหรับใจ … หลายอย่างในชีวิต มากไป น้อยไปเสมอ … ใจเราไม่เป็นกลาง


.
----------------------------------
.

พระพุทธองค์กล่าวว่า “ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ”

ความรักที่เอนเอียงไปในทางพี่ หรือน้อง คงเกิดจากเหตุบางอย่างที่เราไม่รู้ก็ได้

ลูกที่พ่อแม่รู้สึกว่ายังอ่อนแอทางกายหรือใจ อาจได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ

ลูกคนโตที่ได้รับความรัก อาจกำลังแบกความหวังของพ่อแม่ ที่จะให้เป็นคนดูแลพี่น้องได้ในภายภาคหน้า…

มีอีกหลายเหตุปัจจัย และความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกของพ่อแม่ที่เราไม่รู้


.
----------------------------------
.

หากในวันนี้ เรายังมีลมหายใจ มีชีวิต มีการศึกษา มีงานทำ มีเงินดูแลชีวิตตัวเอง มีโอกาสในฐานะความเป็นมนุษย์ …. เหล่านี้ก็เกิดแต่เหตุ…

และหนึ่งในเหตุนั้น (เหตุหลักด้วย) คือ พ่อแม่ และความรัก ความกรุณาของท่าน

หนทางที่เราอาจจะฝึกฝนปฏิบัติเพื่อ ช่วยคลี่คลายความรู้สึกน้อยใจพ่อแม่ได้บ้าง คือ...

.
----------------------------------
.

๑. หมั่นใคร่ครวญตระหนักรู้ถึงบุญคุณ ความรักความกรุณาของพ่อแม่ที่มีต่อเรา

ระลึกถึงความดีของท่านทุกวัน และทุกครั้งที่ความรู้สึกน้อยใจผุดขึ้นมา

ที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะเราฝึกใจให้คิดในทางลบ ทางน้อยใจมานาน เป็นเหมือนร่องในใจที่ลึก

ฉะนั้น จะแก้ทางกัน ก็ต้องใช้เวลาและฝึกใจเสียใหม่ด้วยการทำซ้ำบ่อย ๆ คือ ขุดร่องความคิด ความรู้สึกใหม่ให้ใจ

.
----------------------------------
.

๒. แสดงมุทิตาจิต

คือ ยินดีกับพี่และน้องที่เรารู้สึกว่า ได้รับความรัก ความสนใจจากพ่อแม่

เวลาที่เรารู้สึกดีใจ หรือยินดีด้วยกับใคร ความรักเกิดขึ้นในหัวใจเราแล้ว โดยที่เราไม่ต้องไปเรียกร้องขอจากใคร

.
----------------------------------
.

๓. น้อมนำธรรมข้อ “สันโดษ” ไว้ในใจ

สันโดษ คือ ความพอใจในสิ่งที่มี สิ่งที่ได้รับ และสิ่งที่เป็น เป็นธรรมที่แก้ทาง “ตัณหา” คือ ความทะยานอยาก

ความอยากเหมือนเงา ที่ยิ่งเราวิ่งไล่ ก็ยิ่งหนี และเราต้องวิ่งตามอยู่ร่ำไป ได้แล้ว ก็อยากได้อีก ไม่มีวันจบสิ้น

พอใจในความรักที่พ่อแม่ให้ ท่านจะให้เท่าไร เราก็รับ และพอใจเท่านั้น เมื่อวางใจอย่างนี้ เราจะรู้สึกสบายใจ

.
----------------------------------
.

๔. กตเวทีต่อพ่อแม่

คือ ทำหน้าที่ลูกที่ดี ตอบแทนคุณท่าน ดูแลท่านให้ดีทั้งกาย และใจ รักษาน้ำใจท่านด้วยวาจา และท่าทีที่ชื่นใจ

การทำหน้าที่ลูกที่ดีไม่ใช่เพื่อให้ท่านรัก แต่ทำเพราะเป็นความดีงามตามธรรม

เมื่อเราทำแบบนี้ เราจะเกิดความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง

การทำความดี โดยเฉพาะกับพ่อแม่จะช่วยให้ใจเรามีพลัง มีความรัก เพราะเราได้แสดงความรักต่อพ่อแม่

ใจของผู้ให้ อิ่มเต็ม มีเหลือเฟือ เพื่อแบ่งปัน

.
----------------------------------
.

Credit บทความ : กรรณจริยา สุขรุ่ง | Bloomingmind's Blog
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น