วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก สามก๊ก

, เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก สามก๊ก
"จากสามก๊กฉบับสามัญ กรองกลั่นเป็นตำราบริหารชั้นครู"
     การพัฒนาองค์กร (Organization Development หรือ OD) คือ กระบวนการปรับปรุงและเสริมสร้างศักยภาพขององค์กร เพื่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตระยะยาว และส่งเสริมให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ..... ซึ่งในปัจจุบัน วันนี้ มีผู้กลั่นกรองศาสตร์ OD ออกมาจากวรรณกรรมจีนเรื่อง  "สามก๊ก" ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

      บทความเรื่อง “เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก สามก๊ก” เป็นบทความของ ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์ อาจารย์ประจำ MBA มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ NIDA จากเว็บไซต์ GotoKnow.org ที่หยิบยกเอาเรื่องราวของตัวละคร เหตุการณ์อันชวนคิด กลยุทธ์อันแยบยลของเรื่องสามก๊ก มาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบกับการพัฒนาองค์กร ได้อย่างเฉียบแหลม

     ผมโชคดีที่มีโอกาสได้อ่านบทความชุด “เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก สามก๊ก” โดยบังเอิญ ก่อนอ่านไม่ได้คาดหวังอะไรมากจากบทความชุดนี้ เพราะด้วยความที่อ่านสามก๊กมามาก คิดว่าคงไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ผิดคาด เพราะบทความของ ดร.ภิญโญ ฯ ชุดนี้เป็นบทความที่ได้จุดประกายความคิด ความฝัน และความหวังหลาย ๆ ประการให้กับ การใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน

ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์
ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์

     จากเรื่องสามก๊กที่เราอ่านอย่างผิวเผิน กลายเป็นศาสตร์การพัฒนาองค์กรอันวิเศษ เรื่องราวของชนชาติจีน กับปรัชญาวิชาการตะวันตก ประสานสอดคล้องกันอย่างกลมกล่อมลงตัว

     นี่จึงเป็นบทความสามก๊กที่อ่านสนุก เต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาสาระ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านมากที่สุดชุดหนึ่งในโลกของอินเตอร์เนท

     สามก๊กวิทยา จึงขออนุญาตจาก ดร.ภิญโญ เจ้าของบทความ จัดทำ Link ไปยังบทความ และนำตัวอย่างบทความในตอนที่ 1 มาเผยแพร่ให้กับนักอ่านเรื่องสามก๊กทุกท่าน พร้อมกับคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความชุดนี้จะจุดไฟในตัวท่านให้ลุกโชนขึ้นมาพัฒนาตนเอง พัฒนาหน่วยงาน และพัฒนาประเทศไทยที่รักของเรา ต่อไปครับ

เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 1)

โดย ดร. ภิญโญ รัตนาพันธุ์
เล่าปี่ กวนอู และ เตียวหุย
เล่าปี่ กวนอู และ เตียวหุย

     เร็ว ๆ นี้ ผมมีโอกาสดูสามก๊กอีกครั้ง เริ่มดูตั้งแต่ตอนแรกเลย เพราะอีกไม่นานผมต้องสอนครับ จริง ๆ เรื่องสามก๊กนั้นผมดูมานาน ทั้งต้นฉบับจริงและบทวิเคราะห์โดยผู้รู้ต่าง ๆ ซึ่งหลังจากดูมามากแล้ว ก็เห็นการวิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์ ภาวะผู้นำ และการบริหารคน แต่ยังไม่เห็นใครวิเคราะห์ในมุมของการพัฒนาองค์กร (Organization Development) ผมเลยคิดว่าน่าเติมเต็มเรื่องนี้จริง ๆ ในอีกมุมมองครับ

     พอผมกลับไปดูตอนแรกของวิดีโอชุดนี้ ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจทันที ผมเห็นเลยว่าอาณาจักรเกิดและล่มสลายได้อย่างไรในมุมของ OD

     ในตอนแรกที่พูดถึงคือ “สามวีรบุรุษสาบานในสวนดอกท้อ” คือตอนที่พูดถึงบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ เกิดจลาจลขึ้นในปลายแผ่นดินราชวงค์ฮั่น ในท่ามกลางยุคเข็ญนี้หนังตัดภาพไปที่เมืองๆ หนึ่งที่นั่น มีสุภาพบุรุษเชื้อพระวงศ์ปลายแถว คือเล่าปี่ เดินไปเดินมาอยู่ในตลาด ระหว่างที่ครุ่นคิดคำนึงอะไรอยู่นั้น ก็มีคนไปปิดป้ายของทางราชการประกาศว่าขณะนี้มีกบฏ และเชิญชวนประชาชนร่วมต่อต้าน ก็มีคนมุงอยู่มากมาย เล่าปี่มองอย่างครุ่นคิด จากนั้นก็ถอนหายใจแล้วเดินจากไป ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้ชายผู้หนึ่งซึ่งคือเตียวหุย เตียวหุยถึงกับด่าให้ว่าเป็นคนอะไร เขากำลังจะร่วมกันสู้เพื่อชาติ เจ้านี่เดินหนี

     เหตุการณ์ต่อไปตัดให้เห็นชายสองคนกำลังต่อสู้กันด้วยฝีมือสูงเยี่ยมไม่มีใครรามือใคร แต่ก็กินกันไม่ลง สองคนนี้คือกวนอูและเตียวหุยนั่นเอง เล่าปี่รำพึงในใจว่า สองคนนี้วิทยายุทธ์เยี่ยมยอด ถ้าได้มาอยู่ด้วยนี่ ปณิธานมีโอกาสเป็นจริงแน่ ว่าแล้วก็ไปห้ามปราม และถือโอกาสชวนมาทานอาหารค่ำ หลังจากสนทนากัน ก็มีการคุยเปิดใจ กวนอูและเตียวหุยชวนกันไปเป็นทหารเพื่อปราบกบฏ แต่เล่าปี่กลับไม่พูดอะไร ทำหน้าทุกข์ระทม และเมื่อเตียวหุยถามว่ามาจากไหน เล่าปี่ก็เล่าให้ฟัง

     ปรากฏว่าเตียวหุยจำได้ว่าตำบลที่เพื่อนใหม่จากมา มีข่าวลือว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิด เล่าปี่ก็เลยเล่าให้ฟัง ถึงที่มาของเรื่องเล่าปรำปรา เล่าถึงต้นตระกูลของผู้เกี่ยวข้องในเรื่องว่าเคยเป็นเชื้อพระวงศ์มาก่อน แต่ภายหลังเกิดเข้าใจผิดกับราชสำนัก เลยถูกถอดยศ กลายเป็นคนธรรมดา พอมาถึงรุ่นหลัง ตระกูลก็ตกอับจนมาเป็นพ่อค้าสานรองเท้าที่แหละ และผู้มีบุญที่คนพูดถึงก็คือตัวเขาเอง ที่ก็อยากทำอะไรให้สำเร็จสร้างคุณแก่แผ่นดิน แต่อายุก็เริ่มมากกลับไม่เจอความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันไม่สามารถสร้างกองทัพได้ เพราไม่มีสมบัติเป็นชิ้นเป็นอัน หลังฟังเรื่องนี้แล้วกวนอู เตียวหุย เลยอาสาช่วย และที่สุดด้วยความซ้ำในน้ำใจ เล่าปี่จึงชวนทั้งหมดสาบานเป็นพี่น้องกัน และก็เริ่มภารกิจกู้ชาติ เริ่มระดมเงิน เริ่มจากเตียวหุยช่วยเรื่องเงินก่อน ทั้งหมดเริ่มมีอาวุธ เริ่มไปเป็นทหารอาสา เริ่มมีบทบาทจากกองทหารเล็ก ๆ เริ่มกลายเป็นนายอำเภอ ต่อมาสามารถดึงอัจฉริยะอย่างขงเบ้งมาได้ ช่วยกันสร้างตัว จนกลายมาเป็นกษัตริย์ในอาณาจักรขนาดใหญ่ได้ ถึงแม้ต่อมาจะล่มสลาย แต่ก็กลายเป็นตำนานเล่าขาน เป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลังในเวลาต่อมา

     ตอนนี้เองซึ่งเป็นตอนแรกสุดของซีรี่ย์เรื่องนี้ ทำให้ผมเห็นเลยว่าคนธรรมดาคนหนึ่งสร้างอาณาจักรได้อย่างไร และทำให้เห็นตอนจบว่าอาณาจักรที่คนดี ๆ สร้างสมกันมาต้องล่มสลายไปเพราะอะไร

     จะว่าไปพระเอกอย่างเล่าปี่ดูฉลาดมาก ๆ ครับ และภายหลังเมื่อสามารถดึงความฉลาดของคนอื่นมาช่วยได้ ที่สุดความฉลาดนั้นกลายเป็นปัญญา จนทำให้เล่าปี่ผู้เริ่มต้นจากศูนย์กลายเป็นมหาอำนาจได้ในไม่กี่ปี ต้องไม่เรียกว่าฉลาดอย่างเดียว ต้องมีปัญญามาก ๆ เลย เพราะสามารถดึงดูดคนที่มีปัญญามาก อย่างขงเบ้งได้

     ปัญญาของเล่าปี่ไม่ได้เกิดขึ้นข้ามคืน แต่เกิดจากการสั่งสมมาเรื่อย ๆ จนมากพอที่จะทำการใหญ่ได้

     ถ้ามองจาก OD สิ่งที่เล่าปี่ ทำมาแต่แรกเริ่มเลย คือ การสร้างสมทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) .... ในศาสตร์การพัฒนาองค์กร Intellectual Capital ประกอบด้วยทุนสามทุนย่อย คือ Human Capital คนที่มีทักษะสูง และทัศนคติดีเยี่ยมSocial Capital ทุนความสามารถในการทำงานร่วมกัน สุดท้าย Structural Capital หรือทุนทางโครงสร้าง ซึ่งคือวิสัยทัศน์ นโยบาย และขั้นตอนการทำงานดี ๆ


เล่าปี่ เริ่มต้นด้วยการสร้างสมทุนทางปัญญา (Intellectual Capital)
เล่าปี่ เริ่มต้นด้วยการสร้างสมทุนทางปัญญา (Intellectual Capital)

     จะเห็นว่า เล่าปี่คิดอยู่ในใจตลอดมา คือมี Structural Capital ในมิติของวิสัยทัศน์ชัดเจน เป็นนโยบายชัด แม้จะเริ่มจากศูนย์ ที่สำคัญเล่าปี่มีทักษะในการเล่าเรื่อง เพื่อถ่ายทอดความฝัน และทัศนคติที่กล้าทุ่มเทเพื่อการใหญ่ (Human Capital) และมีทุนหนึ่งที่สำคัญคือความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Social Capital) ตรงนี้เด่นตลอดเรื่อง มีพังตอนท้ายที่ไม่ฟังใครแล้วไปรบแพ้จนตรอมใจตายนั่นเอง เรียกว่าพังเพราะทัศนคติ ซึ่งคือส่วนหนึ่งของ Human Capital และทำให้ทุกอย่างพังทลาย

     จะว่าไป Intellectual Capital นี้สามารถหายไปได้ในชั่วค่ำคืนครับ ถ้ารักษาสมดุลไม่ได้ เช่นครั้งหนึ่งเล่าปีอุตส่าห์ได้ครองเมืองซีจิ๋ว เรียกว่าขึ้นมาอย่างขาวสะอาด มีครั้งหนึ่งต้องยกกอลทัพไปรบ เลยต้องฝากเมืองไว้กับเตียวหุย ที่รบเก่งเป็น Human Capital สำคัญของเล่าปี่ และได้พยายามเตือนเตียวหุยไม่ให้กินเหล้า ปรากฏว่าเตียวหุยเกิดอย่างฉลองเป็นครั้งสุดท้าย เลยจัดปาร์ตี้ดริ๊งค์จนขาดสติ เผลอไปหาเรื่องข้าราชการผู้หนึ่ง จนถึงขั้นไปโบยเขา คนนี้แค้นเลยไปเปิดประตูเมืองรับเอาลิโป้ จอบแสบยกทัพเข้ามายึดเมือง

     จบเห่ครับ เล่าปีถึงขั้นไม่มีที่นอน ลูกเมียถูกกักอยู่ในเมือง ...Intellectual Capital ที่มาจากอุดมการณ์ ความซื่อสัตย์ ประสบการณ์รบไม่รู้กี่รอบ ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต ...ด้วยทัศนคติที่ยังยึดการกินเหล้าเพื่อพักผ่อนของเตียวหุย เท่านั้นเอง ทุกอย่างพังครืน ทั้งก๊กไม่มีบ้านให้กลับ ต้องเร่ร่อน เสี่ยงต่อการถูกทำลาย ถึงแม้ตอนหลังจะได้กลับมาซีจิ๋ว แต่ก็อยู่ใต้อำนาจของลิโป้ ขุนศึกบ้าเลือด ผู้ไม่มีคุณธรรม จนที่สุดมีเรื่องต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปอยู่กับโจโฉ ซึ่งก็เสี่ยงต่อการสาบสูญจากหน้าประวัติศาสตร์ ต้องมาค่อย ๆ สั่งสมทุนทางปัญญากันใหม่

บทเรียนนี้ทำให้เห็นว่าคนเราสามารถเริ่มต้นจากศูนย์ได้จริง แต่จะไปได้ไกลแค่ไหน อยู่ที่มีทุนทางปัญญาอยู่เท่าไหน ทุกคนต้องสั่งสมทุนทางปัญญาทั้งสิ้น ซึ่งในสามก๊ก ไม่ว่าจะก๊กใด ล้วนแล้วแต่ทุ่มเทสร้างทุนสามทุนนี้ และพยายามรักษาสมดุล อย่างสุดชีวิต เพราะถ้าบริหารความเสี่ยงไม่ดีก็มีสิทธิพังได้ เราจะเห็นว่าจากเรื่องสามก๊กทัศนคติของชนชั้นผู้นำหรือลูกน้องที่เป็นปัญหาเพียงนิดเดียว ก็สามารถลุกลามกลายเป็นความเสี่ยงต่อการสูญสิ้นของอาณาจักรได้

     และเมื่อเสียสมดุลโดยเฉพาะมารุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ไม่สามารถสานต่อทุนทางปัญญาที่รุ่นพ่อส่งผ่านมาอย่างไร้รอยต่อได้ ที่สุดก็ไปทั้งตระกูล กลายเป็นตำนานให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของมนุษย์ ที่ให้เราได้เรียนรู้มานับพันปี

     วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณานะครับ

รวมบทความ เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก สามก๊ก

  1. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 1) ตอนแรกของบทความซึ่งกล่าวถึงการก่อร่างสร้างตัวของเล่าปี่ ด้วยศาสตร์ OD
  2. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 2) เล่าปี่ โจโฉ ซุนเซ็ก มีเคล็ดลับในการบริหารองค์กรด้วยการทำให้ลูกน้อง Say Stay Strive
  3. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 3) การฝึกวินัยห้าประการ (Fifth Disciplines) ที่ทำให้กองทัพโจโฉยิ่งใหญ่เกรียงไกร
  4. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 4) ทฤษฎีความสุข (Happiness) ของศาสตราจารย์มาติน ซาลิกมัน บิดาแห่งวิชา Positive Psychology ที่เรียกกันว่า PERMA มาเกี่ยวอะไรกับสามก๊ก ?
  5. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 5) แม่นางเตียวเสี้ยน กับ ทฤษฎีลำดับความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs)
  6. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 6) จาก Guiding Idea ของ เล่าปี่ โจโฉ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ประธานาธิบดีอินเดีย และท่านดาไลลามะ มาสู่ บ่อนกาสิโนแบบไทย ๆ
  7. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 7) Character Strengths and Virtues บุคลิกภาพที่ทุกสังคมปรารถนา 24 ประการ กับตัวละครสามก๊ก
  8. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 8) การพัฒนาองค์กร กับเรื่องคนพิเศษสามคน Tipping Point ของมัลคอห์ม แกลดเวลล์ อันได้แก่ ผู้เชื่อมต่อ (Connector) ผู้สั่งสมความรู้ (Maven) และนักขาย (Salesman)
  9. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 9) พวกกระทิง พวกอินทรี พวกหนู และ พวกหมี ... ใจคุณ เป็นใจแบบสัตว์จำพวกนี้บ้างหรือไม่
  10. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 10) กวนอูไม่รับราชการกับโจโฉเพราะหนังสือของ Dan Pink เรื่อง Drive ทำให้มีภาวะ 3 ประการ คือ Purpose มีจุดมุ่งหมายในชีวิต Masterly มีความเชี่ยวชาญและ Autonomy มีอิสระ
  11. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 11) ตามทฤษฎีของ Chrsit Argyris และ Donal Schon เล่าปีมีการทำ Double-Loop Learning ส่วนอ้วนเสี้ยวไม่พัฒนาตนเองคือทำอะไรแบบ Single-loop Learning
  12. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 12) วินัยห้าประการ (Fifth Discipline) เพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ของโจโฉ เล่าปี่
  13. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 13) หลายคนในสามก็ก เป็นยอดมนุษย์ ตามทฤษฎี Five Minds of the Future ของศาสตราจารย์ Howard Gardner นักจิตวิทยาคนสำคัญที่สุดในโลกคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน
  14. เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 14) วีรบุรุษในสามก๊กมีจุดแข็งทางจิตวิทยา 3 ประการคือมีทัศนคติและปัญญา (perspective and wisdom) มีความเป็นผู้นำ (leadership) และมีความรอบคอบ (prudence)
<< หากมีบทความตอนใหม่เพิ่มเติม จะนำมาลงต่อท้ายไว้ภายหลัง>>

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น