วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ตะลึง!'อีสท์วอเตอร์'ซื้อน้ำดิบเอกชนรายเดียว 5 พันล. ผูกขาด 40 ปี ยุค'ผู้พันปุ่น'

เปิดข้อมูล "อีสท์วอเตอร์" ทำสัญญาซื้อน้ำดิบ 15 ลบ.ม.ต่อปี จากเอกชนรายเดียว 5 พันล้าน ผูกขาด 40 ปี ยุค "ผู้พันปุ่น-ศิธา ทิวารี" บอร์ดใหม่ ตั้งท่าสอบพิสูจน์ความเหมาะสม-คุ้มค่า
puuyddwwwssssaaaaaaaa
การทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบ ระหว่าง "บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)" หรือ อีสท์วอเตอร์ กับ "บริษัท ชลกิจสากล จำกัด" กำลังถูกจับตามองถึงความเหมาะสม และความคุ้มค่า 
ภายหลังปรากฎข้อมูลว่า ในสัญญาซื้อขายน้ำดิบฉบับนี้ กำหนดให้ อีสท์วอเตอร์ ต้องผูกขาดซื้อน้ำจาก บริษัท ชลกิจสากล จำกัด เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปีเต็ม และในระหว่างอายุสัญญาจะมีการปรับราคาน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 ของทุกๆ 5 ปี ด้วย ส่งผลทำให้บริษัท ชลกิจสากลฯ ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 5 พันล้านบาท 
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 อีสท์วอเตอร์ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบกับบริษัท ชลกิจสากล จำกัด โดยระบุเงื่อนไขสำคัญในสัญญาว่า อีสท์วอเตอร์ จะซื้อน้ำดิบจาก บริษัท ชลกิจสากล จำกัด ในช่วงระยะเวลา 40 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 และสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2598 
โดยมีรายละเอียดปริมาณน้ำซื้อขายขั้นต่ำ ดังต่อไปนี้ 
- ตั้งแต่รอบปีการส่งน้ำ ปีที่ 1-5 จำนวนไม่น้อยกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร 
- ตั้งแต่รอบปีการส่งน้ำ ปีที่ 6 เป็นต้นไป จำนวนไม่น้อยกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร
จากการตรวจสอบอัตราค่าน้ำดิบที่กำหนดไว้ในสัญญาฉบับนี้ ระบุว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงซื้อขายน้ำดิบในอัตราค่าน้ำดิบกำหนดที่ราคาลูกบาศก์เมตร ละ 4.75 บาท -8.43 บาท โดยปรับราคาเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 ของทุกๆ 5 ปี จนถึงปีที่ 31 ราคาจะคงที่ตลอดอายุสัญญา 
จากการคำนวณราคาน้ำมันดิบ ที่ อีสท์วอเตอร์  ต้องจ่ายให้กับ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด ตลอดอายุสัญญาจะพบว่าเป็นวงเงินที่สูงถึง 5,235,250,000 บาท ส่วนปริมาณน้ำทั้งหมดอยู่ที่ 775 ล้านลูกบาศก์เมตร 
แยกเป็น
- ราคาน้ำดิบปีที่ 1-5   คิดเป็นวงเงิน 356,250,000 บาท  สำหรับปริมาณน้ำจำนวน 75 ล้านลูกบาศก์เมตร จากราคาหน่วยละ 4.75 บาท
- ราคาน้ำดิบปีที่ 6-10 คิดเป็นวงเงิน 523,000,000 บาท สำหรับปริมาณน้ำจำนวน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จากราคาหน่วยละ 5.23 บาท
-ราคาน้ำดิบปีที่ 11-15 คิดเป็นวงเงิน 575,000,000 บาท  สำหรับปริมาณน้ำจำนวน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จากราคาหน่วยละ 5.75 บาท
-ราคาน้ำดิบปีที่ 1ุ6-20 คิดเป็นวงเงิน 633,000,000 บาท สำหรับปริมาณน้ำจำนวน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร  จากราคาหน่วยละ 6.33 บาท
-ราคาน้ำดิบปีที่ 21-25 คิดเป็นวงเงิน 696,000,000 บาท สำหรับปริมาณน้ำจำนวน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จากราคาหน่วยละ 6.96 บาท
-ราคาน้ำดิบปีที่ 26-30 คิดเป็นวงเงิน 766,000,000 บาท สำหรับปริมาณน้ำจำนวน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร  จากราคาหน่วยละ 7.66 บาท 
-ราคาน้ำดิบปีที่ 31-40 คิดเป็นวงเงิน  1,686,000,000 บาท สำหรับปริมาณน้ำจำนวน 200 ล้านลูกบาศก์เมตร จากราคาหน่วยละ 8.43 บาท 
จากการตรวจสอบสัญญาการซื้อขายน้ำดิบตามสัญญาดังกล่าว ยังกำหนดจุดส่งมอบน้ำดิบที่หน้าบ่อเก็บน้ำของบริษัท ชลกิจสากล จำกัด  
โดย อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ก่อสร้างระบบสูบส่งน้ำทั้งหมดบนที่ดินของบริษัท ชลกิจสากล จำกัด  และปริมาณน้ำดิบการซื้อขายให้คำนวณจากน้ำดิบที่ผ่านมาตรวัดน้ำซึ่งติดตั้งอยู่ที่สถานีสูบน้ำของอีสท์วอเตอร์บนที่ดินที่อีสท์วอเตอร์เช่าจากบริษัท ชลกิจสากล จำกัด ด้วย
เท่ากับว่า อีสท์วอเตอร์ จะต้องลงทุนก่อสร้างระบบสูบส่งน้ำทั้งหมดบนที่ดินของบริษัท ชลกิจสากล จำกัด ด้วย (ดูสัญญาประกอบ)
pprqaswsedddd
แหล่งข่าวจากอีสท์วอเตอร์  ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า สัญญาการซื้อขายน้ำดิบ  ระหว่าง อีสท์วอเตอร์ กับ  บริษัท ชลกิจสากล จำกัด ฉบับนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของคณะกรรมการบริหารอีสท์วอเตอร์ชุดปัจจุบัน เพื่อดูความเหมาะสมและความคุ้มค่า 
"เท่าที่ได้รับรายงานข้อมูลพบว่า สัญญาซื้อขายน้ำดิบฉบับนี้ เกิดขึ้น ในสมัยที่ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ดำรงตำแหน่งเป็นประธานอีสต์วอเตอร์ " แหล่งข่าวระบุ
อนึ่ง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ (บริษัทฯ) หรือ  อีสต์วอเตอร์ จัดตั้งขึ้นเนื่องจากการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบจำหน่ายน้ำในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก มีหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกันหลายหน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน และกรมโยธาธิการ ทำให้ขาดเอกภาพในการสั่งการและดำเนินงานให้สามารถรองรับต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ซึ่งให้ความเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ โดยให้กรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำดิบและอ่างเก็บน้ำ และให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดตั้งบริษัทฯ ขึ้นมารับผิดชอบเฉพาะในการพัฒนาและดำเนินการดูแลระบบท่อส่งน้ำสายหลัก โดยมีการโอนทรัพย์สินและหนี้สินของระบบท่อส่งน้ำที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ นอกจากบริษัทฯ จะสามารถประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ในการซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบของทางราชการเพื่อขายให้กับผู้ใช้น้ำในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว ยังสามารถร่วมทุนกับภาคเอกชนได้ด้วย
บริษัทฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2535 โดยมีทะเบียนเลขที่ 13571/2535 และมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 10 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 100,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดย กปภ. ถือหุ้นบริษัทในอัตราส่วนร้อยละ100.00 ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งบริษัทฯ โดยต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแนวทางระดมทุนและเพิ่มทุนของบริษัทฯ โดยให้การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทฯ ด้วย
วันที่ 25 กันยายน 2539 บริษัทฯได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 490 ล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ดังนี้ กปภ. ถือหุ้นจำนวน 43,999,870 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 89.80 ของทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว และ กนอ. ถือหุ้นจำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 10.20 ของทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2539 บริษัทฯ ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และใช้ชื่อว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ทะเบียนเลขที่ บมจ. 632
วันที่ 14 กรกฎาคม 2540 บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนจากการเสนอขายหุ้น 51.00 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ทำให้บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 1,000 ล้านบาท
วันที่ 28 กรกฎาคม 2540 หุ้นสามัญของบริษัทฯ ได้เริ่มเข้าทำการซื้อขายเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อบนกระดานหลักทรัพย์ คือ EASTW
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2547 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ และเสนอขายให้แก่พนักงาน กรรมการ และที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นจำนวนรวม 5,000,000 หน่วย รวมทั้งได้มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เพื่อรองรับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าว จึงทำให้ในปัจจุบัน (31 ม.ค. 2547) บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 1,050 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 105 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้วจำนวน 1,000 ล้านบาทและมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลักได้แก่ กปภ. ร้อยละ 44 กนอ. ร้อยละ 5 บมจ.ผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือร้อยละ 31 เป็นนักลงทุนทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น