วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

"ช.การช่าง" จัดทัพใหม่ โปรโมตทายาทรับมือเมกะโปรเจ็กต์

สัมภาษณ์
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ"ช.การช่าง" ยักษ์รับเหมาก่อสร้างอันดับ 2 ที่ประกาศปรับทัพผู้บริหารระดับสูง

โดยแต่งตั้ง "สุภามาส ตรีวิศวเวทย์" ลูกสาวคนโตดีกรีด็อกเตอร์วัย 41 ปีของ "ปลิว ตรีวิศวเวทย์" ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บมจ.ช.การช่าง มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ ขณะเดียวกันก็แต่งตั้ง "ธนวัฒน์" ลูกชายคนรอง เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP)

ถือเป็นการผลักดันทายาทเจเนอเรชั่น2 ขึ้นมารับช่วงต่อ ขณะที่ "ปลิว" ยังรั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริหารเพื่อถ่ายทอดงาน

ล่าสุดหลังจากประกาศแต่งตั้งไม่กี่วัน "ปลิว" พร้อมด้วย "สุภามาส" ลูกสาวคนโต และ "ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์" ลูกชายคนเล็กวัย 36 ปีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนบนโต๊ะอาหารมื้อเที่ยงเป็นครั้งแรก ถึงแนวคิดการส่งไม้ต่อให้ทายาท มุมมองเศรษฐกิจ และแผนธุรกิจ ช.การช่าง

"วันนี้การทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เรื่องเทคโนโลยี ไอที ก้าวหน้าไปมาก สามารถเห็นภาพไซต์ก่อสร้างผ่านระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ การนำพาบริษัทให้เติบโตจะต้องเปลี่ยนแปลงเร็ว จำเป็นต้องมีคนหนุ่ม-สาวที่ผ่านการพรูฟแล้ว ทั้งเรื่องความสามารถ วิสัยทัศน์ ความตั้งใจในการทำงาน มีแนวคิดสร้างการเติบโตให้บริษัทได้ มาช่วยเสริม แต่ที่ให้น้ำหนักที่สุดของคนที่มานั่งในตำแหน่งนี้คือ...ความตั้งใจ" คำอธิบายของ "ปลิว" นายใหญ่ ช.การช่าง ในวัยย่าง 72 ปี

ถามว่าแล้ว "สุภามาส" มีจุดเด่นอะไร "ปลิว" ยอมรับในความสามารถของลูกสาวว่า เป็นคนตั้งใจทำงาน รอบคอบ มีความพร้อมทุ่มเทเต็ม 100% และเรียนจบด็อกเตอร์ หลาย ๆ ด้านถือว่าเขา (ลูกสาว) มีมากกว่าผม

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ครั้งนี้ ไม่ใช่การวางมือทางธุรกิจ แต่ "ปลิว" บอกว่า ยังคงมาทำงานเต็มเวลา กินเงินเดือนในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ช.การช่าง ทำหน้าที่ถ่ายทอดงาน ให้คำปรึกษา ผู้บริหารระดับสูงก็ยังอยู่ทั้งหมด แอ็กทีฟกันเต็มที่

หลังจากนี้ก็จะถ่ายทอดประสบการณ์ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็เข้ามาเสริมเรื่องความคิด วิชั่นแบบคนรุ่นใหม่ เพื่อจะได้เห็นโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้มากขึ้น

ปัจจุบันคนในองค์กร ช.การช่าง มีตั้งแต่อายุ 30-60 ปี เพื่อเสริมแนวคิดระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า เพราะเรื่องการเตรียม "คน" เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งสายบริหารวิศวกร บริหาร การเงิน

ในฐานะนักธุรกิจบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่ "ปลิว" มองว่า ประเทศไทยหลังจากนี้กำลังเดินทางมาถึง "จุดเปลี่ยน" ด้านการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องอินฟราสตรักเจอร์ 

ขณะนี้ประเทศไทยผ่านการพัฒนาและเรียนรู้มาระดับหนึ่งแล้ว เทียบกับสหภาพเมียนมา ไทยน่าจะนำหน้าอยู่ไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี ถ้าเทียบกับมาเลเซียเชื่อว่าไทยไม่ด้อยกว่า ถึงแม้รายได้ประชากรต่อคนต่อปีสูงกว่าคนไทย แต่เชื่อว่าขีดความสามารถไม่ได้ด้อยกว่า

มองว่าประเทศกำลังมาถึงจุดเปลี่ยน กลุ่ม ช.การช่างก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ถ้าไม่เตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้จะไม่ทันแน่ ไปรออีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเสียโอกาส ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ สปีดการทำงานต้องเร็วกว่าเดิม

"เป็นการเตรียมพร้อมเรื่องคนไว้ ไม่งั้นจะไม่สามารถฉกฉวยโอกาสสร้างการเติบโตได้ บริษัทที่เคยตามหลังเราเมื่อ 10-20 ปีก่อน ก็จะไล่ตามเราทัน"

ส่วนทางด้านโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม ช.การช่างปัจจุบัน "ปลิว" บอกว่า การมีธุรกิจรับเหมา ทางด่วน (บีอีซีแอล) เดินรถไฟฟ้า (บีเอ็มซีแอล) และน้ำประปา (ทีทีดับบลิว) เหมาะสมแล้ว ยังไม่มีความคิดจะต้องปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นรูปแบบโฮลดิ้ง คอมปะนี แต่ถ้าจะแตกไลน์ธุรกิจก็สนใจการลงทุนอสังหาฯ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อไร

เพราะปัจจุบันแต่ละบริษัทก็เติบโตแบบมีศักยภาพ ถ้าต้องลงทุนทำโครงการขนาดใหญ่ก็สามารถร่วมกันได้เลย

ส่วนความคืบหน้าการควบรวมกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯระหว่าง "บีเอ็มซีแอล-บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ" และ "บีเอ็มซีแอล-บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ" จะทำให้ทั้ง 2 บริษัทแข็งแรงขึ้น ถือว่าบริษัทผ่านพ้นช่วงเวลาที่อยู่ไม่ได้มาแล้ว

ขณะนี้กำลังขออนุญาตกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน บริษัทใหม่เมื่อควบรวมกันแล้วน่าจะเริ่มเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะใช้ตัวย่อใหม่ว่า "BEM" (Bangkok Express Way and Metro)

ถามว่าควบรวมแล้วจะเกิดอะไร "ปลิว" บอกว่า BEM จะกลายเป็นบริษัทที่มีสถานะการเงินแข็งแรงขึ้น เพราะปัจจุบันบีเอ็มซีแอลได้เพิ่มทุนจดทะเบียนรอไว้แล้ว และกำลังดำเนินการลดทุนจดทะเบียนเพื่อล้างขาดทุนสะสม

หลังจากนี้ก็จะเป็นบริษัทที่เริ่มต้นมีกำไร และจะมีรายได้เพิ่มตั้งแต่กลางปี59 หลังจากเริ่มเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) เชิงพาณิชย์ จากนั้นปี60-61 จะมีรายได้เติบโตก้าวกระโดด เพราะจะมีรายได้จากการเดินรถสายสีม่วงเต็มปี และปี61 ก็จะเริ่มเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) ความคืบหน้าอยู่ระหว่างรอเจรจาเรื่องการเดินรถสายสีน้ำเงิน การลงทุนขึ้นกับรัฐบาลให้เอกชนเป็นคนลงทุนระบบ เช่น ตัวรถ อาณัตสัญญาณ ระบบเก็บเงิน ฯลฯ

ความคืบหน้าตอนนี้กำลังเตรียมเสนอแผน ยังไม่เริ่มคุย คาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายปี 2558 ถือว่าเร็วขึ้น ไม่ช้า ถ้าให้เอกชนลงทุนก็ประมาณ 2.5-3 หมื่นล้านบาท ลงทุนระบบ-ตัวรถ-ระบบสัญญาณ-ระบบเก็บเงิน ถ้าเจรจาให้เราได้ก็รีบสั่ง ใช้ประมาณ 30 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้

ส่วนฝั่งบีอีซีแอลปลายปีหน้าจะเริ่มเปิดบริการด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก คาดว่าจะเปิดบริการได้เร็วกว่ากำหนด จากปลายปี59 เป็นกลางปี59 จะทำให้มีรายได้เข้ามาเร็วกว่าแผนอีกวันละ 2 ล้านบาท ถ้าเปิดเร็วขึ้น 100 วัน ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านบาท

"เราคาดหวังจะเป็นผู้ได้สิทธิ์เดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน เพราะปัจจุบันเป็นคนโอเปอเรตการเดินรถช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงอยู่แล้วเป็นครึ่งวงกลม เหลือส่วนต่อขยายมาทางฝั่งธนฯ ถ้าบริษัทที่เดินรถเป็นคนละรายจะมีปัญหาเรื่องการเชื่อมระบบ เมื่อมาถึงสถานีปลายทาง ผู้โดยสารก็จะต้องเปลี่ยนขบวนไม่สะดวก ค่ารถก็ต้องจ่ายใหม่ โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน"

สุดท้ายคือเรื่องการลงทุนโครงการไฮสปีดเทรน "ปลิว" ย้ำว่าสนใจแน่นอน แต่ยังไม่ได้เจรจาพันธมิตรจากจีนหรือญี่ปุ่น แนวคิดคือจะต้องขอดูเงื่อนไขการประมูลและผลตอบแทนการประมูลก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น