วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

6 ขั้นตอนในการเขียนแผนภาพธุรกิจเงินล้าน ด้วยตนเอง – Business Model Canvas

Business Model Canvas - Practice
สืบเนื่องจาก ผมได้ศึกษาเกี่ยวกับการทำธุรกิจ จึงได้เริ่มต้นจากการศึกษาหนังสือ ที่ชื่อว่า Business Model Generation โดยหนังสือจะแนะแนวการเขียนแผนภาพธุรกิจ และการนำไปใช้ พร้อมกับกรณีศึกษาต่างๆที่น่าสนใจ
สำหรับบทความนี้ ผมได้มีโอกาสไปเจอวีดีโอซีรี่ย์ เกี่ยวกับการเขียนแผนภาพธุรกิจ จำนวน 6 วีดีโอด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นวีดีโอแนะนำและแนะแนว การเปลี่ยนจากไอเดียธุรกิจ ไปสู่การเขียนเป็นแผนภาพธุรกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อนำเสนอนายทุนต่อไป
ผมจึงเล็งเห็นว่า วีดีโอซีรี่ย์ชุดนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านอย่างมาก และได้แปลและบวกกับความเข้าใจส่วนตัวของผมเองเพิ่มเติมเอาไว้ด้านล่างนี้ หวังว่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้เห็นมุมมองจากการนำไอเดียไปต่อยอดในการทำธุรกิจจริงๆกันครับ (หากมีข้อมูลผิดพลาดอย่างไรท่านสามารถแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมที่คอมเม้นท์ด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้ เป็นอย่างยิ่ง)

ซีรี่ย์ที่ 1 : การเปลี่ยนจากไอเดียธุรกิจไปสู่แผนภาพธุรกิจ


เริ่มต้นด้วย เบธ และ คาร์ล ได้ไอเดียที่เจ๋งๆมา และคิดว่าน่าจะสามารถทำเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ ซึ่งทั้งคู่ต่างก็คิดว่ามันเป็นไอเดียที่เจ๋งมากๆ แต่ในโลกความเป็นจริงแล้วนั้น ไอเดียที่ว่าเจ๋งๆ พอเอาเข้าจริงก็กลับเป็นธุรกิจที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า ดังนั้น จำเอาไว้ว่า

ไอเดียที่ดี ≠ แผนธุรกิจ
เพราะไอเดียก็คือไอเดีย แค่คิดว่าเจ๋งแล้ว ยังไม่พอ มันต้องมีการเขียนแผนภาพธุรกิจกันต่อก่อน
เพราะในโลกความเป็นจริงนั้น ถ้าลูกค้าไม่ได้สนไอเดียของเราแล้วล่ะก็เป็นอันจบข่าว
ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำต่อก่อนที่จะสร้างธุรกิจจริงๆขึ้นมาก็คือ
  • การทดสอบไอเดียกับโลกความเป็นจริงก่อนว่ามีแนวโน้มยังไง
  • บันทึกข้อมูลความคืบหน้า
  • และหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้กับธนาคารหรือเครดิตเสียกับธนาคาร
ถ้าพร้อมแล้วก็ไปพบกับซีรี่ย์ต่อไปกันได้เลยครับ

ซีรี่ย์ที่ 2: ทำความรู้จักกับแผนภาพธุรกิจ



แผนภาพนี้มีชื่อเรียกว่า Business Model Canvas หรือแม่แบบแผนภาพธุรกิจ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากๆในการที่จะนำเสนอไอเดียให้กลายมาเป็นแผนภาพธุรกิจที่มีระบบมากยิ่งขึ้น

Business Model Canvas มีส่วนประกอบด้วยกันทั้งหมด 9 ช่องดังนี้

  • ส่วนที่ 1 Customer Segment (ลูกค้าแต่ละกลุ่ม) – ซึ่งเป็นช่องที่สำคัญมาก เพราะธุรกิจจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีลูกค้า
  • ส่วนที่ 2 Value Proposition (คุณค่าที่ส่งมอบ) – เป็นสินค้าหรือบริการที่จะส่งมอบคุณค่าที่เป็นประโยชน์ส่งต่อไปยังลูกค้า
  • ส่วนที่ 3 Channel (ช่องทาง) – ช่องทางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างลูกค้าและส่งมอบคุณค่าไปยังลูกค้า
  • ส่วนที่ 4 Customer Relationship (การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า) – เป็นวิธีการที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นและรับทราบคุณค่าที่เราจะส่งมอบให้
  • ส่วนที่ 5 Revenue Stream (กระแสรายได้) – และเมื่อคุณค่าได้ถูกส่งไปถึงลูกค้าและมีการให้ค่าตอบแทนกลับคืนมา จะเรียกง่ายว่า มีรายได้เกิดขึ้นอย่างไรบ้างเมื่อส่งมอบสินค้าหรือบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • ส่วนที่ 6 Key Resource (ทรัพยากรหลัก) – ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างสินค้าหรือบริการ, การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และการเพิ่มช่องทางการติดต่อกับลูกค้านั้น จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรหลักอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดกระแสรายได้
  • ส่วนที่ 7 Key Activities (กิจกรรมหลัก) – คือสิ่งที่จำเป็นต้องลงมือทำ เพื่อสร้างคุณค่าของสินค้าหรือบริการออกมาให้ดี
  • ส่วนที่ 8 Key Partner (พันธมิตรหลัก) – คือคนที่จะช่วยให้แผนภาพธุรกิจของเราประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นคนที่มีส่วนร่วมในทุกๆส่วนของแผนภาพทั้งหมด
  • ส่วนที่ 9 Cost Structure (ต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดในแผนภาพ) – ให้ไล่ตั้งแต่ช่องแรกจนถึงช่องสุดท้ายว่า มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นตรงส่วนใด เท่าไหร่บ้าง อย่างละเอียด โดยอาจเป็นทั้งตัวเงินหรือเป็นอย่างอื่นที่ต้องเสียไป เช่น เวลาในการทำงาน เป็นต้น
ลองมาดูตัวอย่างเบื้องต้นจากวีดีโอกันครับว่ามีการใช้แผนภาพทั้ง 9 ช่องอย่างไรกันบ้าง

ตัวอย่างแผนภาพธุรกิจ Low Cost Airline (สายการบินโลวคอร์ส)

Business Model Canvas - Low Cost Airline
  • Value Proposition = Cheap Flights & No Frills
  • Customer Segment = Budget Travellers
  • Channel = Call Centers & www
  • Customer Relationships = Automated & Impersonal
  • Revenue Stream = Tickets & Fees (Food&Drink, Priority Boarding and Luggage)
  • Key Resources = Single Aircraft Model & Cheap Airports
  • Key Activities = Quick Turnarounds
  • Key Partnerships = Car Rental & Hotel & Insurance
  • Cost Structure = Maintenance, Training, Airports & Call Centers
เนื้อหาโดยสรุปก็คือ เริ่มต้นที่จะวางแผนทำเกี่ยวกับสายบินต้นทุนต่ำ ซึ่งคุณค่าที่ส่งมอบแก่ลูกค้าก็คือ ตั๋วเครื่องบินราคาถูก ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้โดยหลักๆคือกลุ่มของ “นักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัด” ซึ่งทางสายการบินจะได้รับกระแสได้รายได้จากค่าตั๋ว และค่าอื่นๆอีก เช่น อาหาร, เครื่องดื่ม, สิทธิพิเศษ ที่นั่งพิเศษ, โหลดกระเป๋าเดินทาง เป็นต้น
โดยใช้ช่องทางการติดต่อกับลูกค้าสองทางคือ ทาง Call Center และ เว็บไซต์ โดยใช้การสานสัมพันธ์กับลูกค้าแบบอัตโนมัติ คือเน้นให้ลูกค้าช่วยตัวเองเป็นหลัก เพราะจะได้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการซับพอร์ทลูกค้ามากเกินไป
มาดูในส่วนด้านซ้ายมือของแผนภาพกันบ้าง เริ่มต้นที่ทรัพยากรหลักๆก็คือ การซ่อมบำรุงเครื่องบินและการฝึกฝนพนักงาน โดยใช้รูปแบบการเช่าเครื่องบินแบบ Single Aircraft Model คือการเช่าเครื่องบินรุ่นเดียวกันทั้งหมด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง, อบรมพนักงาน, นักบิน เพราะถ้าเราเลือกใช้เครื่องบินหลายรุ่นก็จะต้องสำรองอะไหล่หลายรุ่น ส่งช่างไปอบรมเพื่อทำการซ่อม บำรุงตามรุ่นเครื่องบินที่มีอีก
กิจกรรมหลักที่ต้องทำก็คือ ทำเวลาในการบินให้ได้เร็วที่สุด มากเที่ยวที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพราะจะทำให้เงินเข้ามาเยอะขึ้น
พาร์ทเนอร์หลักๆ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น เช่ารถ, โรงแรม และประกันภัย เป็นต้น
ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็คือ ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน, ค่าฝึกฝนพนักงาน, ค่าสนามบิน และ Call Centers
แต่แผนภาพธุรกิจที่เราเขียนเสร็จครั้งแรกนั้น มันอาจจะฟังดูดี แต่อย่าพึ่งตกลงปลงใจกับแผนภาพอันแรกสุด เพราะฉะนั้นจะต้องลองเขียนแผนภาพธุรกิจออกมาหลายๆแบบ แล้วนำไปทดสอบผลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหาว่าแผนภาพใดที่มีแนวโน้มที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้น

ซีรี่ย์ที่ 3: การสร้างต้นแบบ


พยายามใช้แผนภาพไปพร้อมๆกับการที่เราเล่าเรื่อง แล้วค่อยๆเขียนข้อมูลลงในแต่ละช่อง ซึ่งภายในวีดีโอนี้จะพายกตัวอย่างและวิธีใช้แผนภาพธุรกิจไปพร้อมๆกัน

โดยเริ่มต้นจาก คุณค่าที่เราจะส่งมอบให้กับลูกค้าก่อน โจทย์คือ “Travel for Retirees” หรือ “การท่องเที่ยวสำหรับผู้เกษียณอายุ”
Travel for Retirees
  • Value Proposition =  Travel for Retirees
  • Customer Segments = Boomers
  • Channel = Website
  • Customer Relationships = Easy, Automated
  • Revenue Stream = Sale Fees
  • Key Resources = Website & Brand
  • Key Activities = Marketing, Website, Maintenance
  • Key Partnerships = Booking
  • Cost Structure = Sale, Marketing, Platform
ในแผนภาพธุรกิจนี้ ตั้งต้นที่คุณค่าคือ การท่องเที่ยวสำหรับผู้เกษียณอายุ โดยระบุกลุ่มลูกค้าคือกลุ่มของ Boomers หรือกลุ่มที่อยู่ในวัยเกษียณหรือใกล้เกษียณแล้วนั่นเอง โดยใช้เว็บไซต์ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติหรือให้ลูกค้าช่วยเหลือตัวเอง จากนั้นก็สร้างกระแสรายได้จากการเก็บค่าบริการดังกล่าว
ทรัพยากรหลักที่จำเป็นต้องใช้ เช่น เว็บไซต์และการสร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็ลงมือทำในกิจกรรมหลักที่จำเป็น คือ การทำการตลาด, การสร้างเว็บไซต์ และการบำรุงรักษาระบบ
โดยมีพาร์ทเนอร์หลักคือ Booking ซึ่งที่กล่าวมานั้นจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น คือ การขาย, การตลาด และการดูแลระบบต่างๆ
และนี่ก็คือต้นแบบแรกที่ เบธ และ คาร์ล ได้ทำขึ้นมา แต่ก่อนที่จะดีใจไป อย่าพึ่งมั่นใจกับมันมากนัก เพราะมันเป็นเพียงการคาดคะเนจากข้อมูลที่เรามีอยู่เท่านั้น เราจำเป็นที่จะต้องฝึกใช้ให้คล่อง และทำต้นแบบหลายๆแบบ เพื่อทดลองแล้วเปรียบเทียบหาแผนภาพธุรกิจที่ดีที่สุด
จากตัวอย่างในวีดีโอ ให้เบธและคาร์ลเปลี่ยนโจทย์ที่การสร้างคุณค่า เปลี่ยนจากการท่องเที่ยวสำหรับผู้เกษียณอายุ เปลี่ยนเป็น เที่ยวฟรี!
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เพียงแค่เปลี่ยนโจทย์นิดเดียวเท่านั้น ข้อมูลแทบทุกอย่างในแผนภาพเก่าจะใช้เหมือนกันเลยแทบไม่ได้ เพราะเมื่อโจทย์เปลี่ยน ข้อมูลก็ต้องแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเขียนแผนภาพ Business Model Canvas นั้น ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นสูง ไม่มีตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนในตามสถานการณ์ในปัจจุบันนั่นเอง
จะได้แผนภาพหน้าตาออกมาอย่างไร เมื่อโจทย์คือ “เที่ยวฟรี” ?
แม้ว่าในครั้งแรกๆอาจจะยังเขียนไม่คล่อง แต่การเขียนแผนภาพธุรกิจต้นแบบนั้น จำเป็นที่จะต้องฝึกฝนการเขียนอยู่เป็นประจำ เขียนให้คล่อง ลองหลายๆแบบ
โดยการเขียนที่ดีควรจะทำดังต่อไปนี้
  • Focus on the business model – ให้โฟกัสไปที่แผนภาพธุรกิจ อย่าพึ่งไปคิดถึงเรื่องเทคโนโลยีของสินค้าหรือการบริการหลังการขาย
  • Don’t fall in love with your first models – อย่าพึ่งตกหลุมรักกับแผนภาพแรกที่เขียนออกมา
  • Iterate rapidly and test your models early – เขียนย้ำๆซ้ำอย่างรวดเร็วแล้วหาโอกาสทดสอบในโลกจริงๆก่อนจะไปต่อ

ซีรี่ย์ที่ 4: การใช้สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวนำทาง


ก่อนหน้านี้แผนภาพธุรกิจที่เบธและคาร์ลได้เขียนไว้ คือ “Travel for Retirees” หน้าตาของแผนภาพที่ได้ออกมาเป็นประมาณนี้

Travel for Retirees

แต่หลังจากที่เบธได้ออกไปสำรวจสภาพแวดล้อมรอบๆ และหาข้อมูลจากโลกจริงๆ เพิ่มเติมแล้ว ทำให้มีประเด็นเพิ่มเติมขึ้นมา ในด้านมุมมองต่างๆ ที่ยังไม่เคยคำนึงมาก่อนหน้านี้ เช่น
Business Model Canvas - Focus
  • Market Forces – เน้นความสำคัญไปที่กลุ่มของลูกค้าเป็นหลัก ลองสำรวจดูว่า กลุ่มลูกค้า ที่เขียนเอาไว้นั้น มีลักษณะการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง โดยหลังจากสำรวจก็พบว่า กลุ่มคน Boomers นั้น บางกลุ่มก็ค่อนข้างมีฐานะร่ำรวย บางกลุ่มก็ชอบทำงานอดิเรกอยู่ที่บ้าน แต่ปัญหาที่พบเพิ่มเติมก็คือ กลุ่มคน Boomers มักจะมีปัญหากับเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์ ดังนั้นเว็บไซต์อาจจะไม่ตอบโจทย์ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มนี้ก็เป็นได้
  • Key Trends – ดังนั้นถ้าในช่องคุณค่ามีเรื่องของเทคโนโลยีแล้วล่ะก็ตัดทิ้งไปได้เลย, ในระหว่างการสำรวจข้อมูลก็อาจพบข้อมูลเทรนด์ใหม่ๆที่น่าสนใจ โดย จากวีดีโอ เบธ ได้พบข้อมูลเกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงขึ้น เนื่องจากราคายาในตลาดมีราคาสูงขึ้น ดังนั้นมันอาจจะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อยเกี่ยวกับตลาดทางการแพทย์ เพราะในระหว่างที่ค้นคว้าหาข้อมูลก็อาจจะพบเทรนด์ที่น่าสนใจใหม่ๆ และนั่นหมายถึงโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆด้วย
  • Industry Forces – ลองสำรวจคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันกับเราดู แล้วลองวิเคราะห์ดูว่าจุดอ่อนของคู่แข่งคืออะไร แล้วเราจะสามารถที่จะเอาชนะเขาได้หรือไม่ และลองสำรวจ Suppliers และ Partners ที่เกี่ยวข้องดูว่า กิจการเป็นอย่างไร ซึ่งเบธพบว่า ธุรกิจนี้มีความผันผวนและมีคู่แข่งเยอะเอาเรื่องเลยทีเดียว
  • Macro-Economic Forces – สำรวจตลาดโลกว่ามีแนวโน้มอย่างไรด้วย เพราะเราจำเป็นที่จะต้องตามกระแสของโลกให้ทันอยู่เสมอ ซึ่งในครั้งนี้ คาร์ลพบว่า ตลาดนี้มีความไม่แน่นอน, ธุรกิจร่วมลงทุนมีความเสี่ยงเล็กน้อย, ค่าครองชีพและมาตรฐานในการดำรงชีวิตมีค่าลดลง อาจจะทำให้กลุ่มลูกค้าไม่ตัดสินใจไปท่องเที่ยวในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ก็เป็นได้
เมื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติมทั้งสี่ด้านมาแล้ว ทีนี้ลองมาวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยการตั้งคำถามดังนี้
  • แผนภาพของเราในตอนนี้และในอนาคต สามารถสู้คู่แข่งได้หรือไม่?
    • ซึ่งเบธมองว่า คู่แข่งค่อนข้างน่ากลัวและเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจเลยทีเดียว
  • ลองเปรียบเทียบแผนภาพของเรากับแนวโน้มใหม่ๆที่เกิดขึ้นแล้วหรือยัง?
    • ซึ่งคาร์ลมองว่า การที่ค่ารักษาทางการแพทย์สูงขึ้น มองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่น่าสนใจ (แล้วถ้าทีมงานป่วยล่ะ? จ่ายบานเลยนะ)
  • แผนภาพในตอนนี้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแล้วหรือยัง?
    • ซึ่งทั้งเบธและคาร์ล มองว่าต้องมาคิดกันใหม่ว่าจะเอายังไงดี เพราะกลุ่มคน Boomers นั้นเนี่ยจะใช้บริการทางเว็บไซต์คงจะลำบากเอาเรื่องน่าดู
  • แผนภาพของเราจะปรับให้เข้ากับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกได้อย่างไรบ้าง?
    • เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง เบธจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า การท่องเที่ยวในตอนนี้มันเกินความจำเป็นเกินไปหรือเปล่า เพราะคนอาจจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลงในช่วงนี้
Business Model Canvas and Environment

ซีรี่ย์ที่ 5: จงพิสูจน์สิ่งที่เขียนลงบนแผนภาพธุรกิจว่ามันเวิร์คหรือไม่


ถึงเวลาที่จะลองลงมือทำ แล้วลองล้มเหลวดูกันบ้าง….. เพราะจากวีดีโอที่แล้วพบว่า เมื่อนำแผนภาพธุรกิจที่เขียนไว้มาเทียบกับสิ่งแวดล้อมนั้น ก็พบว่าในโลกความเป็นจริงนั้น มีปัญหาและความไม่แน่นอนเกิดขึ้นอีกมากมาย

แต่ข่าวดีก็คือ แผนภาพ Business Model Canvas สามารถปรับแก้ได้ง่ายและปรับได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์ ดังนั้นมันมีค่าใช้จ่ายในระหว่างที่ทำการทดสอบนั้นก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่เข้าเนื้อนิดๆหน่อยๆ เท่านั้น เพราะที่เราเขียนตั้งแต่แรกจนถึงตอนนี้ มันเป็นเพียงแค่สมมุติฐานที่เราคาดคะเนขึ้นมาจากข้อมูลที่เรามีอยู่เท่านั้น
ดังนั้นในขั้นตอนนี้เราจะฝึกล้มเหลว เพื่อพัฒนาให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้นและ Lean Startup (คือการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุด และเน้นที่การสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าเป็นหลัก)
Business Model Canvas - Improvement
จากบทสรุปในวีดีโอนี้ เบธและคาร์ลพบว่า ลูกค้าในกลุ่มของ Boomers นั้น กังวลเรื่องของการไปเที่ยวต่างประเทศ ทั้งการกินการอยู่ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้นจึงเปลี่ยนโจทย์ใหม่ได้ว่า “Affordable Oversea Retirement” “การท่องเที่ยวต่างประเทศราคาไม่แพงสำหรับวัยเกษียณ”
เบธกับคาร์ลไม่รอช้า ลงโฆษณาเพื่อทดสอบผลตอบรับทันที และแล้วก็ได้ผลตอบรับที่ดีกลับมา จากนั้นคาร์ลก็ได้เดินทางไปพร้อมกับลูกค้าด้วย เพื่อสำรวจความพึงพอใจและสภาพแวดล้อมหลังจากที่ไปท่องเที่ยวแล้ว ซึ่งคาร์ลพบว่า เรื่องของคุณภาพบ้านพักนั้น ยังไม่ดีเท่าไหร่ เบธจึงแนะนำว่าควรเพิ่มกิจกรรมหลักที่สำคัญไปอย่างหนึ่งก็คือ “การรับประกันความพึงพอใจ”
และเมื่อประเทศที่ไปติดต่อที่แรกๆได้ผลการตอบรับที่ดี ดังนั้นคาร์ลจึงเดินทางเพื่อไปติดต่อขายเฟรนไชส์กับประเทศอื่นๆต่อไป เพื่อขยายธุรกิจ และเฟรนไชส์ซี และเฟรนไชส์ซีนี่เอง ก็คือกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นด้วย
และในขั้นตอนนี้ทั้งเบธและคาร์ลก็พร้อมแล้วสำหรับขั้นตอนต่อไป เพราะในตอนนี้ทั้งคู่ได้ผลลัพธ์จากการที่นำแผนภาพธุรกิจไปลงมือทดสอบทำจริงๆที่ลงตัวและสมบูรณ์ ณ ขณะนี้แล้ว

ซีรี่ย์ที่ 6: ถึงเวลาเล่าเรื่องราวของคุณแล้ว


เคลียร์แผนภาพบนกระดานให้ว่าง แล้วค่อยๆเล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มต้นจนจบไปพร้อมๆกับการแปะกระดาษบนกระดานไปตามเนื้อเรื่อง เพราะผู้ฟังไม่เข้าใจแผนภาพที่เราทำขึ้นมาหรอก แต่ถ้าเป็นเรื่องราว เป็น Story ก็สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นฟังได้เข้าใจง่ายกว่า

Business Model Canvas - Presentation
ดังนั้นในขั้นตอนนี้ เราก็จะต้องพยายามเล่าเรื่องและสื่อสารให้กับผู้คนและนายทุนให้เข้าใจและเข้าถึงในสิ่งที่เราต้องการนำเสนอให้ได้
ลองมาดูกันครับว่า Business Model Canvas ในส่วนสุดท้ายของโปรเจคนี้ จะเป็นอย่างไร
  • Value Proposition = Affordable High Quality Retirement & Customer Acquisition
  • Customer Segments = Retiring Baby Boomers & Oversea Retirement Franchises
  • Channel =
  • Customer Relationships =
  • Revenue Stream = Monthly Fees & Franchising Fees
  • Key Resources =
  • Key Activities =
  • Key Partnerships =
  • Cost Structure =
จากวีดีโอจะแสดงให้เห็นเพียงในส่วนสำคัญๆ และประเด็นหลักๆ คือ กลุ่มของลูกค้า, คุณค่าที่ลูกค้าได้รับ และกระแสรายได้ที่เบธและคาร์ลจะได้ โดยมีเนื้อสรุปดังนี้
กลุ่มลูกค้าถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เกษียณและใช้บริการท่องเที่ยว กับ กลุ่มของแฟรนไชส์ซี ดังนั้นเมื่อกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน คุณค่าที่ลูกค้าแต่ละกลุ่มคาดหวังจะได้รับก็แตกต่างกัน
  • กลุ่มลูกค้าของ Retiring Baby Boomers ต้องการ Affordable High Quality Retirement
  • กลุ่มลูกค้าของ  Oversea Retirement Franchises ต้องการ Customer Acquisition
ดังนั้นกระแสรายได้ก็จะมาจากทั้งสองกลุ่ม ที่จะต้องจ่ายให้กับเบธและคาร์ล
ทั้งเบธและคาร์ลก็ได้แสดงผลงานทั้งกระบวนการการทำงาน ช่วงที่ล้มเหลว, การค้นคว้าหาข้อมูลและการลงมือทำจริงๆ และแสดงข้อมูลตัวเลขรายได้ที่ชัดเจนและวัดผลได้ จึงทำให้เป็นที่พึงพอใจของผู้เข้าฟังแผนธุรกิจในครั้งนี้
และตอนนี้ เบธกับคาร์ล ก็พร้อมแล้ว ที่จะลองสร้างธุรกิจจริงๆขึ้นมา โดยที่จุดเริ่มต้นมันมาจากการที่เปลี่ยนจากไอเดียให้กลายเป็นแผนภาพธุรกิจที่สามารถจับต้องและวัดผลได้
ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียนแผนภาพธุรกิจด้วยตนเอง ที่เริ่มต้นจากไอเดียจนกลายมาเป็นธุรกิจที่สามารถทำได้จริง โดยเริ่มต้นจากการใช้แผนภาพ Business Model Canvas เพียงแผ่นเดียว
อั้ม สุรเดช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น