ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นค่อนข้างมีกำลังซื้อสูง และมีการใช้จ่ายเงินปีละกว่า 5 แสนล้านเยน หรือประมาณ 150,000 ล้านบาทไปกับสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อผู้สูงอายุ ในขณะที่มูลค่าตลาดของสินค้าสำหรับผู้สูงอายุมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านล้านเยน หรือประมาณ33 ล้านล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นอัตราการเติบโตของความต้องการสินค้าผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น
หากวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุในญี่ปุ่นก็จะพบว่า ตามลักษณะสังคมญี่ปุ่นผู้สูงอายุจะอยู่โดยลำพังเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัย ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในหมวดหมู่และคุณลักษณะของสินค้าที่ไม่เหมือนกัน สามารถจำแนกลักษณะของผู้สูงอายุออกเป็น 3 ช่วงอายุ ได้แก่
OLDER-JAPAN---CONTENT

กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-69 ปี

ผู้บริโภคกลุ่มนี้ในญี่ปุ่นมีถึง 17.9 ล้านคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้สูงอายุช่วงต้นยุคใหม่ ที่มีลักษณะทางกายภาพที่ดีกว่าผู้สูงอายุในยุคก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย ไม่แตกต่างจากกลุ่มวัยทำงานช่วงปลายมากนัก กล่าวคือ มีความมั่งคั่ง สามารถทำงานได้ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้าถึงเทคโนโลยี มีสังคม ต้องการที่จะพบปะเพื่อนฝูง ชื่นชอบการช็อปปิ้ง (ทั้งใช้เองและซื้อเป็นของขวัญของฝาก) ให้ความสำคัญกับสุขภาพ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ด้วยไลฟ์ไตล์ในลักษณะนี้ สินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ น่าจะได้แก่ กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ผิวพรรณและการเข้าสังคม อาทิ เครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติที่ชะลอวัย เน้นการต่อต้านริ้วรอย/ยกกระชับ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ออกแบบดูทันสมัยมีดีไซน์ ให้ความสำคัญกับโทนสีที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบ ประเภท Fashion with Function ที่สามารถสวมใส่ง่าย ดูมีรสนิยมและไม่ดูสูงอายุจนเกินไป อาทิ ผ้าพันคอ (ที่ใช้ปกปิดรอยเหี่ยวย่นและให้ความอบอุ่นกับร่างกาย) เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติที่สวมใส่สบาย ชุดชั้นในที่เหมาะกับสรีระของผู้สูงอายุ รวมถึงเครื่องประดับใส่ออกงาน เป็นต้น

กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 70-79 ปี

จัดเป็นผู้สูงอายุช่วงกลางที่มีจำนวนประมาณ 13.8 ล้านคน โดยไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การพักผ่อนอยู่บ้านเป็นหลัก ในบางรายอาจจะมีโรคประจำตัวที่ต้องระวังเป็นพิเศษ หรือมีปัญหาด้านสมรรถภาพทางร่างกายที่ลดลง รวมถึงความเหงา ดังนั้น จึงต้องการสินค้าที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและสินค้าใช้สอยสำหรับงานอดิเรก และยอมจ่ายเพื่อสินค้าที่พึงพอใจด้านคุณภาพ ความปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ มากกว่าปัจจัยด้านราคา
สินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ น่าจะได้แก่ กลุ่มสินค้าเพื่อการตกแต่งบ้านอย่างเคหะสิ่งทอ ของใช้กระจุกกระจิกในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตประจำวัน (ควรมีขนาดเล็ก/เคลื่อนที่ได้ง่าย/ออกแบบมาเป็นเซตและทำจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ) เครื่องสำอางสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อช่องปากที่ช่วยเรื่องฟันปลอม/ ครีมเปลี่ยนสีผมที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับผู้สูงวัยที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น อุปกรณ์พันเข่าที่ทำจากผ้าเพื่อให้สามารถเดินได้สะดวก สินค้าเครื่องประดับรวมไปถึงงานฝีมือ ของใช้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น

กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปี ขึ้นไป

เป็นกลุ่มผู้สูงอายุวัยปลายที่ต้องพึ่งพิงคนดูแลเป็นพิเศษ หรือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ในญี่ปุ่นผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 9.9 ล้านคน ดังนั้น สินค้าที่ตอบโจทย์น่าจะอยู่ในกลุ่มที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนดูแลหรือตัวผู้สูงอายุเองเป็นหลัก
สินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ น่าจะได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ดูแล เช่น อ่างอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ เก้าอี้หรือเตียงนอนเพื่อสุขภาพที่สามารถปรับได้ ไม้พยุงที่มีไฟฉายในตัว เสื้อผ้าที่สวมใส่ง่ายสำหรับผู้สูงอายุ ผ้าห่มขนาดพกพา ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ (สำหรับผู้สูงอายุ) เป็นต้น โดยการทำตลาดสินค้าเจาะกลุ่มนี้ ผู้บริโภคที่แท้จริงน่าจะเป็นกลุ่มลูกหลานที่กำลังมองหาสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ หรือกลุ่มโรงพยาบาล มากกว่าจะเป็นตัวของผู้สูงอายุโดยตรง
OLDER-JAPAN---CONTENT2

สินค้าไลฟสไตล์สำหรับผู้สูงอายุ

“ญี่ปุ่น” ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ถือเป็นโอกาสหนึ่งของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดลูกค้าเป้าหมายกลุ่มนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวัน อาทิ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกสินค้ากลุ่มไลฟ์ไตล์ไปยังตลาดญี่ปุ่น ในปี 2558 จะมีมูลค่าประมาณ 1,700-1,800 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา 5-10%
ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตในภาพรวมจะหดตัว จากเงินเยนที่อ่อนค่าลง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาทของไทย แต่ในบางรายสินค้าก็ยังสามารถทำตลาดได้ดีในปีนี้
มูลค่าส่งออกสินค้าไลฟไตล์จากไทยไปตลาดญี่ปุ่น
2557
มกราคม-พฤษภาคม2558
สินค้าที่เติบโตในปี 2558
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
791.7 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ
301.3ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ
ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เติบโต12.9%
เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ทำจากขนสัตว์ เติบโต43.7%
อัญมณี และเครื่องประดับ
366.9ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ
154.4 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ
เครื่องประดับแท้ที่ทำจากทอง เติบโต68.3%
เครื่องสำอาง
510.6 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ
161.6 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับช่องปากและฟัน เติบโต 2.9%
เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
238.4ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ
77ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวบรวม,กรกฏาคม 2558
การเจาะตลาดผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีอำนาจในการซื้อค่อนข้างสูง การนำเสนอสินค้าจึงควรมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าและความปลอดภัย รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการอำนวยความสะดวก หรือการสร้างความแปลกแตกต่างกว่าสินค้าที่มีวางจำหน่ายในตลาด ภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่า