4 มิถุนายน 2015
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวถึงการส่งออกของไทย ว่าการขยายตัวชะลอตัวมาตั้งแต่ 2555 เกิดจากความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยช่วงปี 2549-2554 ภาคส่งออกเติบโตเฉลี่ย 13% ก่อนจะชะลอเหลือเพียงเฉลี่ยต่ำกว่า 1% ในช่วงปี 2555-2557
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรก (คิดเป็น 50% ของการส่งออกทั้งหมด ประกอบด้วย ข้าว, ยางพาราและผลิตภัณฑ์, ยานยนต์และส่วนประกอบ, เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์จากเคมีภัณฑ์, เชื้อเพลิง, แผงวงจรรวม, และเครื่องประดับ) ต่างปรับลดลงทั้งหมด ยกเว้นยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และแผงวงจรรวม ที่เติบโตได้ และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน พบว่าในช่วงเวลาปี 2553-2554 และช่วงปี 2555-2556 ต่างสามารถส่งออกเฉลี่ยได้มากกว่าไทย ยกเว้นอินโดนิเชีย
สอดคล้องกับส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงดังกล่าว โดยเฉพาะสินค้าประเภทแผงวงจรรวม, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, ข้าวและยางพารา ขณะที่สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้
“เรามีการวิเคราะห์ว่าการส่งออกของไทย 2-3 ปีที่ผ่านมาเติบโตน้อย สาเหตุหนึ่งเกิดจากตลาดคู่ค้าที่มีการเติบโตน้อย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือจีน รวมไปถึงประเภทสินค้าที่เราผลิตไม่ได้เติบโตเร็วในโลกแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งขีดความสามารถในการแข่งขันถึงตัวสินค้าปัจจุบันด้วย เมื่อดูสินค้าที่เราผลิตเหมือนกับประเทศอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ยังสามารถส่งออกได้ เติบโตเร็วกว่าเราอีก จึงต้องกลับมาดูว่าทำไมเราถึงสู้คนอื่นไม่ได้” ดร.กิริฎากล่าว
ดร.กิริฎากล่าวต่อว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง จำเป็นต้องกลับมาดว่าูผลิตภาพของการผลิตสินค้าเป็นอย่างไร ตัวหนึ่งที่ดูในรายงานนี้คือผลิตภาพของแรงงานไทย พบว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเติบโตน้อยมากกว่าภูมิภาคนี้ ไทยขยายการผลิตจากแรงงานได้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ จนนำไปสู่ขีดความสามารถที่ลดลง ทางออกของปัญหาจึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะนอกเมืองใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่ผลิตภาพที่มากขึ้น
ดร.กิริฎากล่าวว่า เหตุผลที่ศึกษานอกเมืองใหญ่ไม่ดี เพราะว่าเด็กในชนบทลดลงจากการย้ายเข้าสู่เมืองตามผู้ปกครอง รวมไปถึงอัตราการเกิดลดลง ในชนบทมักเป็นโรงเรียนขนาดเล็กลงมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ไม่ได้ลดลงตามขนาด ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กมีงบประมาณไม่เพียงพอ ดังนั้น รายงานจึงเสนอแนะให้รวมโรงเรียนเล็กๆ ภายในรัศมีใกล้ๆ กันเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งทำได้เนื่องจากในรายงานพบว่า 85% เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งใกล้ๆ กันไม่เกิน 20 นาที และอาจจะอุดหนุนค่าเดินทางหรือจัดรถโรงเรียนส่งนักเรียนจากพื้นที่ของโรงเรียนขนาดเล็กไปโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสที่จะให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่าจากโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้น
“เมื่อพูดถึงการปรับโครงสร้างการส่งออกว่าจะผลิตอะไร ก็ต้องกลับมาที่การศึกษาและทักษะของแรงงานก่อน เพราะโลกมันเปลี่ยนไปเร็ว จึงต้องมีคนที่สามารถวิเคราะห์แนวโน้มของโลกได้ รวมถึงต้องมีแรงงานที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะผลิตสินค้าใหม่ๆ เหล่านั้น มันเลยกลับมาเรื่องคน เราต้องมีคนที่มีความรู้มีทักษะที่ดีขึ้น” ดร.กิริฎากล่าว
คาดส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง 3 ปี
สำหรับการคาดการณ์การส่งออกของหน่วยงานของไทย ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนว่าหดตัว -1.7% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รวม 4 เดือนติดลบ 3.99% และทำให้การส่งออกไทยในปีนี้ยังคงหดตัวติดต่อกันทุกเดือน หน่วยงานต่างๆ เริ่มทยอยปรับเป้าหมายการส่งออกลงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลการส่งออกของไทย เคยตั้งเป้าไว้ 4% ในช่วงต้นปีก่อนที่ล่าสุดจะยอมปรับลดเหลือเพียง 1.2% ในเดือนเมษายน ปี 2558 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การนำเข้าของประเทศต่างๆ ลดลง และหลังจากประกาศตัวเลขเดือนเมษายนยังคงประมาณไว้ที่ 1.2%
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2558 จะเติบโตถึง 4% จากรายงานนโยบายการเงิน เดือนกันยายน ปี 2557 ก่อนที่จะปรับประมาณการลงในรายงานนโยบายการเงิน เดือนธันวาคม เหลือเพียง 1% กระทั่งเดือนมีนาคม ธปท. ได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกอีกครั้งเหลือเพียง 0.8% และล่าสุด ในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนเมษายน ปี 2558 ธปท. คาดการณ์ว่าจะปรับลดเป้าส่งออกอีกครั้งในรายงานนโยบายการเงิน เดือนมิถุนายน และเป็นห่วงว่าการส่งออกของไทยมีโอกาสจะติดลบ 3 ปีติดต่อกัน
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เดิมประมาณการส่งออกปี 2558 ไว้ที่ 3.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 ก่อนที่ล่าสุดในการแถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรก ปี 2558 สภาพัฒน์ปรับลดการส่งออกของไทยเหลือเพียง 0.2% โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกและภาวะการค้าโลกที่ยังชะลอตัว ราคาสินค้าส่งออกยังตกต่ำ และค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าภูมิภาค ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างสินค้าอาจจะมีส่วนแต่ยังไม่ถือเป็นปัจจัยใหญ่ปัจจัยเดียว
ต้องเร่งยกขีดความสามารถในการแข่งขัน
ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่เกิดขึ้นในช่วงหลังปี 2554 เกิดจาก
1) ปัจจัยภายนอก ที่ระดับการค้าโลกโดยรวมลดลงจากการที่ประเทศพัฒนาแล้วลดการพึ่งพาการนำเข้าลงและหันมาผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น และจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักของภูมิภาคอยู่ในช่วงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทำให้ขยายตัวชะลอลง อีกทั้งยังหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางในประเทศมากขึ้น
2) ปัจจัยภายใน ไทยยังประสบปัญหาด้านต่างๆ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมลดลง ทั้งการขาดการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นเวลานาน การบิดเบือนกลไกตลาดโดยนโยบายภาครัฐ การขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งภาคเอกชนของไทยเองมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากระดับการค้าโลกที่ลดลง แต่ไทยปรับแย่ลงมากกว่าประเทศอื่นๆ จากปัญหาความสามารถการแข่งขันของไทยที่ด้อยลง การแก้ปัญหาจึงควรให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะการเร่งยกระดับผลิตภาพการผลิตในระยะยาว และหันมาส่งออกสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงแทนสินค้าที่แข่งขันด้านราคา
“สินค้าอิเล็กทรอนิกส์-เน้นแรงงาน” วูบหนัก
ดร.ดอนกล่าวถึงโครงสร้างการส่งออกของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอีกว่า สำหรับโครงสร้างการส่งออกไทยรายตลาด ประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ลดลง แต่หันมาค้าขายกับประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น จากการที่ไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตสินค้าในโลก (Global supply chain) โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เศรษฐกิจขยายตัวดีในทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งจีนที่เป็นผู้ผลิตหลักของภูมิภาคและกลายมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สัดส่วนการค้าของไทยกับอาเซียนล่าสุดใน 4 เดือนแรกปี 2558 คิดเป็น 25.36% ของการส่งออกรวม ขณะที่สัดส่วนการค้าไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา 11.08%, ยุโรป 10.25% และญี่ปุ่น 9.58% หากดูย้อนกลับไปในช่วงปี 2540-2548 สัดส่วนการค้าของไทยกับอาเซียนเฉลี่ยประมาณ 20% และเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 23% ในช่วงปี 2549 จนถึง 4 เดือนแรกของปี 2558 เป็น 23% สวนทางกับกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่สัดส่วนการค้าเฉลี่ยลดลงจากช่วงปี 2540-2548 ที่ 19.25% 16.08% 14.37% ตามลำดับ เป็น 11.18% 11.50% และ 10.64% ในช่วงปี 2549 ถึง 4 เดือนแรกของปี 2558 ตามลำดับ
ด้านโครงสร้างการส่งออกไทยรายสินค้า ดร.ดอนกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาไทยลดการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ สินค้าปฐมภูมิ (สินค้าเกษตรและประมง) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์
อย่างไรก็ดี สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยเป็นสินค้าส่งออกไทยค่อยๆ ลดความสำคัญลงนับตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างจากการเปลี่ยนแปลงรสนิยมการบริโภคทำให้ความต้องการสินค้าเปลี่ยนไป ผนวกกับไทยไม่มีการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว จึงมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีคือไม่สามารถผลิตสินค้าที่ตรงตามความต้องการของตลาดโลกได้
ทั้งนี้ ข้อมูลการส่งออกที่ ธปท. รวบรวมและประมวลผลจากกรมศุลกากรระบุว่า สัดส่วนการค้าของไทยตามประเภทสินค้าในปี 2558 เป็นสินค้าอุตสาหกรรมประมาณ 90% รองลงมาคือสินค้าเกษตรประมาณ 8% ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในรอบ 20 ปี จะพบว่า สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าป่าไม้ สัดส่วนการค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าประมง, สินค้าเหมืองแร่ และสินค้าเกษตร สัดส่วนการค้ามีแนวโน้มลดลง
เมื่อแยกดูรายหมวดสินค้าของสินค้าประเภทอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 18 หมวดสินค้า จะพบว่า 9 หมวดสินค้า สัดส่วนการค้ามีแนวโน้มลดลง ได้แก่ สินค้าเกษตรแปรรูป, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้าและชิ้นส่วน, ผลิตภัณฑ์โลหะ, อิเล็กทรอนิกส์, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน, อากาศยาน เรือ แท่น และรถไฟ, เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่อีก 9 หมวดสินค้า สัดส่วนการค้ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์, เครื่องจักรอุปกรณ์, เครื่องประดับ, เคมีภัณฑ์, ปิโตรเคมี, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, ทัศนูปกรณ์, เครื่องใช้ในห้องน้ำและเครื่องสำอาง และอุปกรณ์การถ่ายภาพและภาพยนตร์
“อิเล็กทรอนิกส์” ย้ายฐาน – ไทยแค่ “รับจ้าง” ผลิต
นายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าสาเหตุที่สัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรือเวียดนาม เนื่องจากในประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน จากการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มาดึงจำนวนแรงงานบางส่วนไป ประกอบกับค่าแรงของแรงงานไทยที่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อีกส่วนหนึ่งเกิดจากประเทศไทยไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี หรือสร้างการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ทั้งโทรทัศน์, โทรศัพท์ และแท็บเล็ต ขณะที่สินค้าที่ประเทศไทยผลิตได้กลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น เครื่องคิดเลขหรือวิทยุ ประกอบกับบริษัทที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นไม่ได้ตกอยู่กับประเทศไทยมากนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น