วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เปิดรายชื่อ โควตาคนขายหวย ฉบับสมบูรณ์ by Thaipublica

11 มิถุนายน 2015
หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวเปิดรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศล 20 อันดับแรก ครอบครองโควตาสลาก 26 ล้านฉบับต่องวด คิดเป็นสัดส่วน 35% ของโควตาสลาก 74 ล้านฉบับ โดยมีมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ “เสือตัวจริง” ได้รับการจัดสรรโควตาจากสำนักงานสลากฯ มากที่สุด 9 ล้านฉบับต่องวด
นอกจากรายชื่อโควตาข้างต้นแล้วยังมีรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากของสำนักงานสลากกลุ่มอื่นๆอีก จากข้อมูลรายชื่อโควตา ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2557 ผู้สื่อข่าวได้ไปตรวจสอบข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า มีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการของบริษัทที่ได้รับการจัดสรรโควตาโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ มีชื่ออยู่ในบัญชีตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลส่วนกลางด้วย จึงนำมาจัดกลุ่มใหม่ได้ทั้งหมด 11 กลุ่ม ครอบครองโควตาสลาก 24.78 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 33.49% ของจำนวนสลากที่พิมพ์ออกขายทั้งหมด 74 ล้านฉบับต่องวด มีรายละเอียดดังนี้(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
กลุ่มโควตาสลาก
กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเครือข่ายสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีสถานะเป็นนิติบุคคล ในทางนิตินัยไม่มีความสัมพันธ์กับสำนักงานสลากฯ ได้รับการจัดสรรโควตาสลากมากที่สุด 11.64 ล้านฉบับต่องวด กลุ่มนี้มีมูลนิธิสำนักงานสลากฯ ได้โควตาสลากมากที่สุด 9.21 ล้านฉบับต่องวด อันดับ 2 สมาคมพนักงานผู้เกษียณอายุสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้โควตา 2.13 ล้านฉบับต่องวด และอันดับ 3 สหกรณ์บริการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำกัด ได้โควตา 2.98 แสนฉบับต่องวด
กลุ่มที่ 2 มูลนิธิ-สมาคม-องค์กรการกุศล ได้รับจากจัดสรรโควตาสลากโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ 7.24 ล้านฉบับต่องวด กลุ่มนี้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้โควตามากที่สุด 2.35 ล้านฉบับต่องวด รองลงมาคือ สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โควตา 1.35 ล้านฉบับต่องวด และสมาคมผู้ค้าย่อยสลากกินแบ่งรัฐบาล (คนพิการ) ได้โควตา 749,700 ฉบับต่องวด ทั้งนี้ยังไม่นับรวมมูลนิธิ-สมาคม-องค์กรการกุศล นิติบุคคลรายเล็กรายน้อยอีกเกือบ 20,000 แห่ง ซึ่งได้รับการจัดสรรโควตาสลากรายละ 10,000 ฉบับต่องวด
กลุ่มเจ๊แดง-ผู้กองธรรมนัส กลุ่มนี้ประกอบด้วย 1. บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร จำกัด มีนางปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต หรือ “เจ๊แดง” ถือหุ้นใหญ่ ได้โควตาโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ 1.6 ล้านฉบับต่องวด นอกจากนี้ตัวเจ๊แดงเองยังได้รับการจัดสรรโควตาโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ อีก 6,000 ฉบับต่องวด 2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี ของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ “ผู้กองตุ๋ย” ถือหุ้นร่วมกับ น.ส.ขวัญฤดี กนิษฐสุต ลูกสาวเจ๊แดง ได้รับการจัดสรรโควตาโดยตรงจากสำนักงานสลากอีก 1.6 ล้านฉบับ รวมแล้วกลุ่มนี้มีโควตาที่ได้รับจัดสรรจากสำนักสลากโดยตรง 3.21 ล้านฉบับ
น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงษ์ หรือ “เจ๊สะเรียง” เจ้าของบริษัท สลากมหาลาภ จำกัด (ขวา)
น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงษ์ หรือ “เจ๊สะเรียง” เจ้าของบริษัท สลากมหาลาภ จำกัด (ขวา)
กลุ่มบริษัท สลากมหาลาภ จำกัด ของ น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงษ์ หรือ “เจ๊สะเรียง” ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก 1.6 ล้านฉบับต่องวด และถ้านำรายชื่อกรรมการบริษัทสลากมหาลาภมาตรวจสอบ พบว่า กรรมการบริษัทสลากมหาลาภ 4 คน ได้รับโควตาสลากดังนี้ เจ๊สะเรียง ได้รับการจัดสรรโควตาโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ 33,500 ฉบับต่องวด, น.ส.เซียมเต็ง แซ่เตีย ได้โควตาสลาก 21,500 ฉบับต่องวด, นางอุษา อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด และ น.ส.สุภาพร อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด
นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนที่ใช้นามสกุลอัศววุฒิพงษ์อีก 11 คน ได้รับการจัดสรรโควตาโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ ดังนี้ นายศุภพงษ์ อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,500 ฉบับต่องวด, นายสุพจน์ อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด, นางอรนุช อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด, นายสมเกียรติ อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด, นายอานพ อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,800 ฉบับต่องวด, นางดรุณี อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด, นายพินิติ อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด, น.ส.หทัยรัตน์ อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด, นายศราวุธ อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด, น.ส.ศิริลักษณ์ อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด และน.ส.เพ็ญนภา อัศววุฒิพงษ์ ได้โควตาสลาก 10,000 ฉบับต่องวด สรุป กลุ่มเจ๊สะเรียงมีโควตาสลากที่ได้รับการจัดสรรโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ 1.79 ล้านฉบับ
กลุ่มบริษัท รุ่งอัมพร จำกัด ที่มีนายอนุชา แสงอาทิตย์ เป็นกรรมการ ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก 140,000 ฉบับต่องวด
กลุ่มบริษัท นิวยูเค จำกัด มีนายพงศกร เอี่ยมองค์ เป็นกรรมการ ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก 140,000 ฉบับต่องวด
กลุ่มบริษัท ซี.เค.ซัคเซส จำกัด ได้รับการจัดสรรโควตาสลากการกุศล 2 ลอต คือ ลอตแรก 120,000 ฉบับต่องวด และลอตที่ 2 อีก 1,500 ฉบับต่องวด และถ้านำรายชื่อกรรมการบริษัท ซี.เค.ซัคเซส มาตรวจสอบกับข้อมูลสำนักงานสลากฯ พบว่า นายชูเกียรติ ถวิลวิทู กรรมการบริษัท ซี.เค.ซัคเซส ได้รับการจัดสรรโควตาสลากจากสำนักงานสลากฯ 4,000 ฉบับต่องวดและนางภาณี ถวิลวิทู กรรมการบริษัท ได้รับการจัดสรรโควตาสลากอีก 5,300 ฉบับต่องวด รวมกลุ่มนี้ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก 130,800 ฉบับต่องวด
กลุ่มบริษัท ณ. กมลภัสส์ จำกัด มีนายณัฐพรรษ รัตนศรีอำไพพงศ์ เป็นกรรมการ ได้โควตาสลากการกุศล 120,000 ฉบับต่องวด และจากการตรวจสอบฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่านายณัฐพรรษนั่งเป็นกรรมการบริษัทอื่นอีก 7 แห่ง ดังนี้บริษัท ณฐพงศภัค จำกัด, บริษัท ณวภัสส์ ลอตโต้, บริษัท ณัฐภรณ์ ลอตโต้, บริษัทณัฐศักดิ์เจริญ, บริษัทรุ่งอรุณศรีอำไพ, บริษัทวรุณยุพาเจริญ และบริษัทอัครณรัณ ทุกบริษัทได้รับการจัดสรรโควตาโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ บริษัทละ 1,500 ฉบับต่องวด รวมกลุ่มนี้ได้รับการจัดสรรโควตาโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ 130,500 ฉบับต่องวด
กลุ่มบริษัท มารวยล็อตโต้ จำกัด ได้โควตาสลากการกุศล 120,000 ฉบับต่องวด โดยมี น.ส.อภิสรา ปะมะโต เป็นกรรมการบริษัท น.ส.อภิสราได้รับจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลอีก 2,000 ฉบับต่องวด นางนพรัตน์ อ่อนกลาง กรรมการบริษัทคนที่ 2 ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก 500 ฉบับต่องวด รวมกลุ่มนี้ได้รับการจัดสรรโควตาสลากโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ 122,500 ฉบับ
กลุ่มบริษัท เลขลักษณ์ จำกัด มีนายนราธิป บุญยรักษ์ เป็นกรรมการบริษัท ได้โควตาสลากการกุศล 2 ลอต ลอตแรก 120,000 ฉบับต่องวด ลอตที่ 2 มีโควตาอีก 1,500 ฉบับงวด รวม 121,500 ฉบับต่องวด
กลุ่มห้างหุ้นส่วนจำกัด ยุพิน เชียงใหม่ ล็อตโต้ ของนางยุพิน ถาวรวงษ์ ได้รับการจัดสรรโควตาสลากการกุศล 120,000 ฉบับต่องวด(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
โควตาสลากกินแบ่ง
จากที่นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ประธานมูลนิธิสำนักงานสลากฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่ามูลนิธิ-สมาคมกลุ่มนี้ใช้โมเดลการทำธุรกิจเหมือนกับมูลนิธิสำนักงานสลากฯ กล่าวคือ รับโควตาจากสำนักงานสลากฯ ลอตใหญ่ เพื่อขายส่งให้ยี่ปั๊ว ได้กำไรคู่ละ 1.60 บาท ซึ่งสอดคล้องกับที่ดร.สังสิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ในอดีตที่ผ่านมา คนที่จะได้รับการจัดสรรโควตา ต้องเป็นสมัครพรรคพวกกันเท่านั้น ถึงจะได้โควตา โดยเฉพาะนักการเมือง ถึงแม้สำนักงานสลากฯ ใช้วิธีเพิ่มจำนวนสลาก จากเดิมพิมพ์สลากออกขายงวดละ 40 ล้านฉบับ เพิ่มเป็น 74 ล้านฉบับ ก็ยังขายเกินราคา เพราะโครงสร้างการจำหน่ายสลากผูกขาดอยู่กับผู้ค้าสลากรายใหญ่ 3 ราย สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกมาขายเท่าไหร่ จำนวนสลากฯ ที่เพิ่มขึ้นก็เข้าอยู่ในโครงสร้างดังกล่าวนี้มาโดยตลอด สาเหตุก็เพราะมูลนิธิ สมาคม ที่ได้รับจัดสรรโควตาสลาก ไม่มีปัญญาขาย ได้โควตามาเท่าไหร่ ต้องนำไปขายต่อให้ผู้ค้ารายใหญ่ นี่คือต้นเหตุของปัญหาขายสลากเกินราคา”
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แต่งตั้ง พล.ต. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 พล.ต. อภิรัชต์ออกมาตรการแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาชุดแรก มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการปรับโครงสร้างราคาสลากและการบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา รวมทั้งตรวจสอบภาษีผู้ค้าสลากที่ขายเกินราคาอย่างเคร่งครัด ยังไม่ได้เข้าไปรื้อโควตาสลาก
ล่าสุด ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 มีสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล 48 ล้านฉบับ ครบกำหนด (สิ้นสุด) สำนักงานสลากฯ นำโควตาสลาก 48 ล้านฉบับ หรือ 48,000 เล่ม มาจัดสรรใหม่ ใช้เวลาในการจัดสรรสลากแค่ 6 วัน เหลือโควตาสลากแค่ 100 เล่ม ปรากฏว่ามีผู้ค้าสลากตัวจริงจำนวนมากที่เคยลงทะเบียนกับสำนักงานสลากฯ ช่วงเดือนสิงหาคม 2557 เดินทางมาขอรับการจัดสรรโควตาที่สำนักงานสลากฯ สนามบินน้ำ ไม่ได้รับการจัดสรรโควตา ออกมาโวยวายและเรียกร้องให้สำนักงานสลากฯ เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากลอตนี้ แต่ละรายได้รับการจัดสรรโควตาสลากเป็นจำนวนเท่าไหร่ การจัดสรรโควตามีระเบียบและหลักเกณฑ์อย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงานสลากฯ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ และกลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อยที่ไม่ได้รับการจัดสรรโควตากลุ่มนี้จึงไปรับสลากจากศูนย์การค้าสลากไทย ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างสำนักงานสลากฯ มาขาย ต้นทุนอยู่ที่คู่ละ 71-75 บาท ขณะที่ผู้ค้าสลากรายใหญ่มีต้นทุนอยู่ที่ 68.80 บาทต่อคู่ ส่วนผู้ค้าสลากรายย่อยมีต้นทุนอยู่ที่ 70.40 บาทต่อคู่
จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครทราบว่าสำนักงานสลากฯ นำโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล 48 ล้านฉบับ ไปจัดสรรให้ผู้ค้าสลากรายใดบ้าง มีหลักเกณฑ์ในการจัดสรรอย่างไร
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องต่อ พล.ต. อภิรัชต์ ว่าโควตาสลาก 48 ล้านฉบับ สำนักงานสลากฯ นำไปจัดสรรให้ผู้ค้าสลากรายย่อยแล้วหรือไม่ พล.ต. อภิรัชต์ กล่าวว่า รอบแรกจัดสรรไปเกือบหมดแล้ว เหลือประมาณ 100 เล่มเท่านั้น และจะมีสัญญาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศลครบกำหนดอีก 11 ล้านฉบับ สำนักงานสลากฯ จะนำมาจัดสรรให้กับผู้ค้าสลากรายย่อยที่เคยมาลงทะเบียนไว้กับสำนักงานสลากฯ 4 แสนราย แต่ถ้าจัดสรรให้ทุกคนคงไม่ได้ เพราะจำนวนสลากมีไม่เพียงพอ การคัดเลือกต้องจะใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาสลากรอบใหม่นี้ จะทำเรื่องเสนอที่ประชุมบอร์ดสลากวันที่ 15 มิถุนายน 2558 รวมทั้งสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากการกุศลอีก 22 ล้านฉบับที่จะกำลังจะครบกำหนดสัญญาสิ้นปีนี้ด้วย
พล.ต. อภิรัชต์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาสลากแล้ว เงื่อนไขของสัญญาในเรื่องของระยะเวลาก็ต้องเปลี่ยนแปลง จากเดิมเคยมีการต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากทุก 1-2 ปี ต้องปรับลดลงมาเหลือ 3-6 เดือน อย่าลืมเรื่องการรื้อโควตาสลาก ถ้าไม่เร่งทำต้องนี้ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะทำได้
ถามว่าการจัดสรรโควตาสลากรอบใหม่นี้จะยกเลิกโควตาผู้ค้ารายใหญ่อย่างมูลนิธิสำนักงานสลากฯ เพื่อนำมาจัดสรรให้ผู้ค้ารายย่อยหรือไม่ พล.ต. อภิรัชต์ กล่าวว่า “ผมไม่ได้ปกป้องผู้ค้าสลากรายใหญ่ และไม่ได้ทำอะไรตามการชี้นำของสื่อ เราต้องทำใจให้เป็นกลาง และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย การไปยกเลิกโควตาผู้ค้ารายใหญ่ ก็ต้องดูด้วยว่ารายใหญ่เขาทำผิดอะไร สื่อมวลชนเองก็ต้องไปดูด้วยว่าผู้ค้าสลากที่มาลงชื่อกัน 4 แสนราย เป็นผู้ค้าสลากตัวจริงหรือเปล่า”
“ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ ขายสลากให้กับมูลนิธิ สมาคม องค์กรการกุศลและนิติบุคคล คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ในจำนวนนี้มีผู้ค้าสลากรายใหญ่ประมาณ 13-14% อย่าพุ่งเป้าไปที่ผู้ค้าสลากรายใหญ่ ผมไม่ได้ออกมาปกป้องใคร แต่ผมต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่ามาดูที่กรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียว ทั่วประเทศก็มี 5 เสือประจำจังหวัดทุกแห่ง ผมเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่ถึง 1 เดือน ขอให้ผู้ค้าสลากรายย่อยใจเย็นๆ การจัดสรรโควตาสลากต้องกระจายให้ถึงมือรายย่อย หากท่านเป็นผู้ค้าสลากตัวจริง รับรองในระยะต่อไปท่านมีความสุขที่แท้จริงแน่นอน ใจเย็นๆ ปัญหาขายสลากเกินราคาเป็นปัญหาเรื้อรัง วันนี้ก็ต้องแก้ปัญหาแบบนี้ไปก่อน ถึงแม้เราจะมีกฎหมายมาตรา 44 อยู่ในมือ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ หากบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนพูดจากันรู้เรื่อง เพราะมีจิตใจเมตตา เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันอยู่แล้ว” พล.ต. อภิรัชต์ กล่าวทิ้งท้าย
ดูรายชื่อตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล

บอร์ดสลากจับมือเครือข่ายประชาชน จัดแคมเปญ “เกิน 80 บาท ไม่ซื้อ”

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 เวลา 11.00 น. ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก ร่วมกับ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน และกลุ่มนักเรียน นักศึกษา จากสถาบันต่างๆ กว่า 80 คน จัดกิจกรรมรณรงค์รักษาสิทธิผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ภายใต้แนวคิด “เกิน 80 บาท ไม่ซื้อ” เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคไม่ซื้อสลากฯ ที่ขายเกินราคา โดยบรรยากาศภายของงานนี้มีการแสดงละครล้อเลียนชุด “ผีเลิกใบ้หวย ชวนไม่ซื้อสลากที่ขายเกินราคา” และแฟนซีผี เดินรณรงค์แจกสื่อสติ๊กเกอร์รอบบริเวณป้ายรถเมล์อนุสาวรีย์ชัยฯ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลและโฆษกคณะกรรมการสลากฯ กล่าวว่า การซื้อสลากในราคาที่กำหนด 80 บาท เป็นนโยบายของรัฐบาลโดยดำรินายกรัฐมนตรี ต้องการให้คนไทยซื้อสลากในราคาที่ยุติธรรมตามที่กฎหมายกำหนด ยืนยันว่าสำนักงานสลากฯ มีมาตรการดูแลผู้ซื้อ 20 ล้านคน ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยจะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมได้ถึง 1-3 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการคืนผลประโยชน์ให้ประชาชนโดยตรง ทั้งนี้ สำนักงานสลากฯ ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้
1. จัดระเบียบและบังคับใช้กฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
2. ปรับแผนกำหนดช่องทางการจำหน่ายสลากให้เข้มงวด โดยคำนึงถึงผู้ค้าด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม
3. สำนักงานสลากฯ จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ในส่วนที่จะมีการเพิ่มรางวัลสลากฯ เลข 3 ตัวหน้านั้น ยืนยันว่าทำเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ขาย ถือเป็นการลดภาระ ปิดกั้นไม่ให้ยี่ปั๊วขึ้นราคาสลาก
“การขายสลาก 80 บาท แน่นอนว่าต้องมีผู้เสียผลประโยชน์ และมีอุปสรรคในช่วงแรกๆ แต่สำนักงานสลากฯ ตั้งใจแล้ว ว่าจะดูแลรักษาสิทธิของประชาชน ขอให้ผู้ซื้อสลากปกป้องสิทธิของตนเอง ไม่ซื้อเกินราคา อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผู้ขายทำผิดกฎหมายจะได้รับโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท ขณะเดียวกันจะมีกระบวนการย้อนรอยเพื่อยึดโควตาสลากคืน ทั้งนี้ เรามีชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่สำรวจ หรือผู้ซื้อสามารถร้องเรียนแจ้งเบาะแสผ่าน Call Center 02-3451466” ผศ. ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลากฯ กล่าวว่า “ต้องขอบคุณรัฐบาลและบอร์ดสลาก ที่พยายามแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาอย่างจริงจัง เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมานานหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะสำเร็จได้ผู้ซื้อสลากต้องรักษาสิทธิตัวเองด้วย หากพบผู้ขายสลากเกินราคาต้องปฏิเสธไม่ซื้อ ถือเป็นการแสดงพลังของผู้บริโภคร่วมกับรัฐบาล เพราะต่อให้ภาครัฐจะทุ่มกำลังเพียงใด ก็มิอาจดูแลได้ทั่วถึง ผู้บริโภคต้องพิทักษ์สิทธิตัวเองด้วย”
กิจกรรมรณรงคไม่ซื้อหวย
“การที่จะทำให้เรื่องนี้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน คงต้องเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นไปพร้อมกันด้วย เพราะหากไม่ถือโอกาสทำอะไรตอนนี้ เมื่อ คสช. พ้นวาระ ปัญหาต่างๆ อาจจะกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้น จึงควรมีกลไกกำกับดูแลกิจการสลาก รวมทั้งกิจการพนันอื่นๆ ที่เรียกว่า เรกกูเลเตอร์ ตามหลักสากล ซึ่งในคำสั่ง คสช. ที่ 11 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 จัดตั้งกองทุนสลากเพื่อการพัฒนาสังคมขึ้นมาดูแลเรื่องการลดปัญหาการพนันทั้งหมดในสังคม กองทุนนี้ควรมีหน่วยงานที่เหมาะสมมากำกับดูแล มากกว่าให้อยู่ในอำนาจของสำนักงานสลากฯ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้เงินกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง มีการถ่วงดุลอำนาจ และตรวจสอบกันเอง ดังนั้น ในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ต้องระบุเรื่องกองทุน (ตามคำสั่ง คสช. ที่ 11) และกลไกกำกับดูแลให้ชัดเจนลงไปด้วย การมีกลไกกำกับดูแลกิจการสลากหรือเรกกูเลเตอร์จะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอีกชั้นหนึ่ง เพราะพลังผู้บริโภคนั้นกระจัดกระจาย ยากที่จะตื่นตัวได้ตลอดเวลา หากมีกลไกนี้จะทำให้กิจการพนันที่มีผลกระทบทางสังคมถูกกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างดี” นายธนากรกล่าว
ด้านนายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอสนับสนุนรัฐบาลให้ควบคุมราคาขายสลากในราคา 80 บาท ได้จริงๆ และทำให้ได้อย่างยั่งยืน เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นมานาน ในฐานะเครือข่ายภาคประชาชนได้รับเรื่องร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีใครสนใจแก้ไขกัน มีการปล่อยปละละเลยทำให้ประชานถูกเอารัดเอาเปรียบคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี โดยที่เม็ดเงินเหล่านั้นไม่ได้เป็นของรัฐบาลหรือกลับสู่ประชาชนเลย มีคนเพียงบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเป็นเสือนอนกินมาอย่างยาวนาน
“รัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ดูจะเป็นรูปธรรมขึ้นก็ในรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเองต้องปกป้องสิทธิของตนเองด้วย ต้องร่วมมือกันไม่ซื้อสลากในราคาที่แพงกว่า 80 บาท เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ขายทำผิดกฎหมาย นี่คือสิทธิและพลังของผู้บริโภคที่จะช่วยสร้างสมดุลย์ได้ อย่าไปเข้าใจผิดว่าการซื้อสลากเกินราคาแล้วเงินของเราจะคืนสู่รัฐหรือได้ไปตอบแทนสังคม เพราะส่วนต่างที่เกินไปนั้นเป็นเงินที่ไหลไปนอกระบบทั้งสิ้นปีๆ หนึ่งนับหมื่นล้านบาททีเดียว” นายวิทยากล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น