ในระยะที่ 1 ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร และสงขลา จำนวน 13 กลุ่มอุตสาหกรรม 62 ประเภทกิจการย่อย โดยมีการจัดประเภทกิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนของแต่ละจังหวัดให้เป็นไปตามศักยภาพ ข้อจำกัดและความต้องการของแต่ละพื้นที่
นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน จ.ตากเท่านั้นที่มีกิจการเป้าหมายครบทั้ง 62 ประเภท ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ จะมีจำนวนประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความพร้อมในจังหวัด ซึ่งจะมีศักยภาพแตกต่างกัน
โดยภายใต้ยุทธศาสตร์นี้กำหนดให้ผู้ประกอบการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2560 เพื่อรับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 5 ปี สำหรับกิจการประเภทอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในกลุ่มกิจการเป้าหมายทั้ง 62 ประเภท หรือกิจการในกลุ่มที่ไม่รับส่งเสริมก็สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ตามปกติ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกระทรวงการคลัง โดยลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% เหลือ 10% ของกำไรสุทธิเป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี
สำหรับ 13 กลุ่มอุตสาหกรรม 62 ประเภท ประกอบไปด้วย 1.อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การขยายพันธุ์และการเลี้ยงปศุสัตว์หรือสัตว์น้ำ ยกเว้นกุ้ง การฆ่าและชำแหละสัตว์ กิจการคัดคุณภาพ บรรจุและเก็บรักษาพืช ผัก ผลไม้ หรือดอกไม้ การผลิตแป้งแปรรูปหรือแป้งจากพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษ การผลิตน้ำมันหรือไขมันจากพืชหรือสัตว์ ยกเว้นจากน้ำมันถั่วเหลือง การผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ การแปรรูปยางขั้นต้น การผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่มวัตถุเจือปนอาหาร หรือสิ่งปรุงแต่งอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ห้องเย็นหรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น และศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร
2.ผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกยกเว้น Earthen Ware และกระเบื้องเซรามิก 3.กลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง อาทิ เส้นใย และเคหะสิ่งทอ กระเป๋าหรือรองเท้า หรือผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ เป็นต้น 4.เครื่องเรือน หรือชิ้นส่วน 5.อัญมณีและเครื่องประดับ หรือชิ้นส่วน รวมถึงวัตถุดิบและต้นแบบ 6.เครื่องมือแพทย์ หรือชิ้นส่วน 7.อุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องจักรและชิ้นส่วน ได้แก่ เครื่องยนต์อเนกประสงค์ หรืออุปกรณ์ เครื่องจักร อุปกรณ์ เป็นต้น
8.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดไฟแบบ LED Compressor และ/หรือ Motor สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
9.พลาสติก อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดหลายชั้น บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดปลอดเชื้อเป็นต้น 10.การผลิตยา 11.โลจิสติกส์ อาทิ สถานที่ตรวจปล่อยและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ โรงพัก ศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบทันสมัย (DC) เป็นต้น 12.นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หรือเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และ 13.กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว อาทิ กิจการเฟอร์รี่หรือเดินเรือท่องเที่ยวหรือให้เช่าเรือท่องเที่ยว ศูนย์ศิลปหัตถกรรม สวนสัตว์เปิด พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภายใน 1-2 เดือนในทุกเขตเศรษฐกิจพิเศษจะตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน One Stop Service หรือ OSS เพื่ออำนวยความสะดวกติดต่อประสานงานกับนักลงทุน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่นักลงทุนมักเข้าใจผิดว่าทุกจังหวัดทุกอุตสาหกรรมสามารถได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น