pdated: 18 มิ.ย. 2558 เวลา 21:00:18 น.
"แผ่นเสียง" หรือ "Vinyl" กลายเป็นเทรนด์ความนิยมที่วนลูปกลับมาฮิตอีกครั้ง แม้จะจำกัดวงแคบเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ใหญ่พอที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเป็นกระแส จนเกิดเป็นธุรกิจขายแผ่นเสียงมือสอง-มือหนึ่ง ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ก็เริ่มเหลียวกลับมามองตลาดแผ่นเสียงมากขึ้น
แม้จะยังห่างไกลกับยุคทอง แต่ถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่การฟังเพลงจากแพลตฟอร์มที่ขึ้นชื่อว่าดีและคลาสสิคที่สุดจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคชิ้นโตที่ยังขวางไม่ให้อุตสาหกรรมแผ่นเสียงกลับมาโตได้แบบเต็มรูปแบบ อยู่ที่ราคาต่อแผ่นที่จัดว่าสูงไม่น้อย จนทำให้ความนิยมลดหลั่นลงไป แต่ทว่ากลุ่มที่เข้าขั้นหลงใหลในการฟังเพลง กลับยิ่งโหยหาที่จะสโลว์ไลฟ์ไปกับแผ่นเสียงมากขึ้น เพราะอะไร? ในเมื่อปัจจุบันเทรนด์การฟังเพลงก้าวผ่านมาถึงยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างง่าย สะดวก และรวดเร็วกว่าเดิมแล้ว
"ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" มีโอกาสพูดคุยกับ "ตือ" ศิวกร จารุพงศา เจ้าของธุรกิจร้านขายแผ่น-เครื่องเล่นแผ่นเสียง Fatblack Record หนึ่งในร้านที่มีการดีลกับศิลปินเพื่อปั๊มแผ่นเสียงเก่าออกขาย ถึงกระแสความนิยม เสน่ห์จากการฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มที่นักฟังเพลงยกย่องว่าดีที่สุด สอดคล้องกับวิถีสโลว์ไฟล์ที่ถกเถียงไม่จบไม่สิ้น จนทำให้การฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงติดร่างแหความเป็นแฟชั่นนิยมเข้าไปด้วย พร้อมจับชีพจรตลาดแผ่นเสียงในประเทศไทย ที่ทำไมถึงยังเติบโตได้แบบเล็กน้อย ทั้งที่เริ่มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น ไปจนถึงมูลค่าแผ่นเสียงที่ราคาแพงในตลาดทั่วโลก แบบเจาะลึกทุกประเด็น
เสน่ห์ของการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียง
การฟังเพลงมันมีเสน่ห์อยู่แล้วไม่ว่าจะฟังผ่านอะไรวิธีไหนจะเทปคาสเซ็ทไฟล์ดิจิทัลหรือแผ่นซีดีแต่เสน่ห์ของการฟังแผ่นเสียงมันมีรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นงานอาร์ตเวิร์กก็สวยงามใหญ่โตมโหฬารกว่าชาวบ้านเค้า ยิ่งปกแผ่นเสียงเก่าๆ ยิ่งสวย ดูคลาสสิค รวมถึงดีเทลการใช้งาน หัวเข็มแบบไหนให้เสียงยังไง มันมีรายละเอียดที่เยอะขึ้น นั่นแหละ ... คือเสน่ห์ของการฟังแผ่นเสียง ส่วนปัจจัยที่ทำให้เสียงมันดีขึ้นก็ลึกลงไปอีก ยังไม่รวมการดูแลรักษา การใช้งาน ที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสนุก มากกว่าความยุ่งยากซะอีก
แต่ถ้าลงลึกถึงเรื่องเสียง โอเค...เสียงดีกว่าแน่นอน แผ่นเสียงมีความเป็นแอนะล็อกสูงด้วยตัวมันเอง เสียงเกิดจากปลายเข็มเล็กๆ ที่ไปขูดกับร่องจนเกิดเป็นเสียงขึ้นมา ซึ่งมันตรงกับสิ่งที่นักดนตรีหลายๆ คนพยายามสื่อสารกับคนฟัง ผมมองแบบนั้น ทำไมมือกีตาร์เก่งๆ ถึงพยายามมองหาตู้แอมป์เก่าๆ มาเล่นกันล่ะ บางทีการฟังซีดีมันให้รายละเอียดเยอะนะ แต่ความอุ่น ความกลมของเสียง ยิ่งถ้าเป็นคนจับสังเกตดีๆ หรือเคยเล่นดนตรีมา มันมีมวล มีมิติ มีน้ำหนักบางอย่างที่ซีดีไม่ได้ให้กับเรา
ความต่างระหว่างเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่
เสียงดีคนละแบบผมเล่นมาทั้งสองระบบทั้งเครื่องเล่นยุคเก่าที่เป็นลูกยางผมก็มักจะใช้ฟังเพลงในยุคเก่าแผ่นที่ผลิตในยุค50หรือเพลงไทยลูกทุ่งเก่าๆผมว่ามันเหมาะและเข้ากับเสียงมากกว่าขณะที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบใหม่มันก็มีวิธีมิกซ์เสียงใหม่ๆที่แผ่นเก่าเค้าไม่ทำกันบอกยากว่าอันไหนดีกว่ากันสุดท้ายก็อยู่ที่รสนิยมคนฟัง จะซื้อเครื่องเล่นแพงหรือถูก เก่าหรือใหม่ ก็ให้มันตอบสนองหูเราแค่นั้น คนที่กำลังจะเล่น แนะนำให้เอาหูตัวเองเป็นเกณฑ์ ยิ่งคนที่เพิ่งเริ่มต้น อย่าซื้อแพง เพราะเรายังไม่มีการเปรียบเทียบหรือมาตรฐานอะไร ก็เอาที่เราชอบนั่นแหละ จนเรารู้สึกอยากขยับ อยากได้ยินอะไรที่เพิ่มขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เราก็ค่อยๆ เพิ่มทีละสเต็ป
โอเคแพงกว่าย่อมดีกว่าอยู่แล้ว เรื่องธรรมดา สมมติเครื่องเล่นแผ่นเสียงแพงๆ คุณภาพดี ราคาสองหมื่นบาท ผมว่าคนก็ยอมจ่ายนะ แต่ขณะที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงราคาสองล้านบาท ไม่ได้แปลว่ามันดีกว่าเครื่องเล่นสองหมื่นบาท 100 เท่า บางทีคนยอมจ่ายราคาแพงๆ เพื่ออีกแค่ 5-10% ที่มันดีขึ้น เพราะพอเค้าฟังเยอะ มาตรฐานก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มันคือการก้าวไปทีละขั้น เป็นพวกเพอร์เฟคชั่นนิสต์ เค้าก็ยอมจ่าย เป็นเรื่องความพึงพอใจเฉพาะบุคคล ไม่ได้แนะนำให้ทุกคนซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงราคาแพงๆ แต่ถ้าวันหนึ่งคุณมีสตางค์พอ และลุ่มหลงกับมัน ก็เล่นเลยครับ ผมก็อยากขอไปฟังด้วย(หัวเราะ)
ทำไมกระแสการเล่นแผ่นเสียงถึงกลับมาบูม
เพราะโลกทั้งใบมันเปลี่ยนเป็นอย่างนั้น เมื่อไหร่ที่มนุษย์เดินไปจนถึงสุดทางมันก็จะวนกลับมาทำไมคนถึงกินสโลว์ฟู๊ดล่ะ ทำไมคนถึงหันมาปั่นจักรยานแทนทั้งที่รถยนต์ก็มีเร็วกว่าด้วยผมว่าจริงๆไม่ใช่แค่การออกกำลังกายหรอกมันคือกระแสเป็นแฟชั่นคนเราต้องการอะไรที่มันจับต้องได้ให้ชีวิตมีความเป็นแอนาล็อกมากขึ้น สุดท้ายคนก็ยังอยากได้อะไรที่เป็นออริจินัล เพราะมันให้ความรู้สึกและสัมผัสที่จริงกว่า
แผ่นเสียงมีกี่ประเภท
ถ้านับแต่โบราณมันเคยถูกแบ่งเป็น "แผ่นเสียง" กับ "แผ่นครั่ง" แผ่นครั่งจะใช้วัสดุอีกแบบ ส่วนแผ่นเสียงผลิตจากพลาสติก เมื่อก่อนแบ่งเป็นแบบนี้ ส่วนหัวเข็มก็จะใช้คนละแบบ แต่ทุกวันนี้แผ่นครั่งหายไปแล้ว ปัจจุบันแผ่นเสียงถูกแบ่งออกด้วยขนาด ชัดๆ เลย คือแผ่นมาตรฐานที่เราเล่นกัน คือแผ่น 12 นิ้ว สามารถบันทึกได้หน้าหนึ่งราวๆ 30 นาที แต่โดยเฉลี่ยจะไม่ให้เกิน 25 นาที เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดี คือยิ่งน้อยก็ยิ่งดี ใช้สปีดการหมุนที่ 33.3 อีกประเภทคือแผ่น 7 นิ้ว ในอดีตแผ่น 7 นิ้ว เป็นแผ่นซิงเกิ้ลหรือ EP. คือเมื่อไหร่ที่ศิลปินออกเพลง แต่ยังไม่ใช่อัลบั้มเต็ม ก็จะตัดออกมาเป็นซิงเกิ้ลลงแผ่น 7 นิ้ว เพื่อขายหรือแจกตามสถานีวิทยุ แผ่น 7 นิ้วจะเล่นด้วยความเร็วสปีดที่ 45 เครื่องเล่นแผ่นเสียงมาตรฐานจึงควรมีสปีดที่ 33.3 และ 45 เพื่อรองรับการเล่นของแผ่นทั้งสองแบบ
แผ่นเสียงจะกลับมาได้รับความนิยมอย่างเต็มรูปแบบมั้ย
ไม่คิดขนาดนั้นยังคงได้รับความนิยมแบบเฉพาะกลุ่มอยู่แผ่นเสียงเคยได้รับความนิยมร่วม20ปีขึ้นไปก่อนจะโดนซีดีฆ่าเรียบเพราะซีดีคือความสะดวกสบายเล่นง่ายฟังง่ายทุกคนก็เฮตามไปหมดแล้ววันหนึ่งซีดีก็โดนดิจิทัลในรูปแบบไฟล์เพลงฆ่าอีกทีหนึ่งคนต้องการคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น แต่สุดท้ายก็มีคนกลับไปเล่นแผ่นเสียง เพราะเสน่ห์และจริตของมัน ที่ต้องค่อยๆ หยิบแผ่นมาวางบนจาน ต้องหยิบเข็มมาวาง บางคนเค้ามีความสุขกับการได้ทำอะไรแบบนี้ มันทำให้เราตั้งใจฟังเพลงมากขึ้น ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันจะเติบโตขึ้น แต่คงไม่ถึงแบบเมื่อก่อน เพราะคนมีสื่อ มีทางเลือกเยอะขึ้น คนเล่นแผ่นเสียงคือคนที่ไม่ชอบกาแฟแบบทรีอินวัน จะชอบกาแฟดริป ชอบความละเมียดละไม อะไรทำนองนั้น (หัวเราะ) สามารถจดจ่อกับอะไรที่เค้าชอบได้ ผมว่ามันมีกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่คงไม่สามารถที่จะฆ่าเทรนด์การฟังเพลงแบบดิจิทัลได้แน่นอน 100%
มูลค่าของแผ่นเสียงอยู่ที่ตรงไหน
นอกจากความบันเทิงแล้ว มันคือของสะสม ในโลกมันเล่นกันแบบนี้ บางอย่างเล่นกันเฉพาะบางประเทศตามความเชื่อ อย่างไทยเล่นพระเครื่อง ขณะที่บางอย่างที่เค้าเล่นกันทั้งโลก เช่น รถเก่า นาฬิกาเก่า กล้องเก่า แผ่นเสียงเก่า อย่างแผ่น The beatles ออริจินัลก็พุ่งไปถึงแสนบาทเลยนะ เพราะคนทั้งโลกอยากได้ มันมีมูลค่า หรือแผ่นแจ๊ซดีๆ ราคาก็เป็นแสน มันก็ยังคงคุณค่าในตรงนั้น
ขณะที่แผ่นเสียงในเมืองไทยก็กำลังมีมูลค่าเพิ่มขึ้น อย่างคาราบาวก็แพง โมเดิร์นด็อกก็แพง เพราะกลุ่มที่โตมากับเค้ามีกำลังที่จะซื้อ และจำนวนก็เหลือน้อย ทุกวันนี้แผ่นออริจินัลของโมเดิร์นด็อกพุ่งไปถึงสองหมื่นกว่าบาทแล้ว
เรามองว่าคุณค่าอยู่ที่หูของคนซื้ออยากให้ตั้งมั่นว่าเราจะซื้อแผ่นไหน มันมีคุณค่ากับเราหรือเปล่า ไม่ใช่เอาหูคนอื่นมาเป็นเกณฑ์ อย่างเราไม่ได้ชอบคาราบาว ไม่ได้ชอบพี่แอ๊ดเลย แต่ไปซื้อแผ่นเค้าสองหมื่นบาทก็ไม่ควรทำ มันไม่มีประโยชน์ คุณค่าของมันคือเราได้เสพแล้วชอบ เสพแล้วมีความสุขไปกับมัน คนที่เล่นแผ่นเสียงไปคุยกับคนเล่นกางเกง ก็อาจจะแบบ กางเกงบ้าอะไรวะ! ราคา 7 หมื่น เค้าก็สวนมาว่าแผ่นเสียงบ้าอะไรราคา 2 หมื่น คุณค่าก็อยู่ที่รสนิยมคนเสพแหละ อีกส่วนคือศิลปินและจำนวนแผ่นที่ผลิตออกมา สำหรับผมมันคือการบันทึกประวัติศาสตร์
แผ่นเสียงที่ราคาแพงที่สุด
แผ่นเสียงที่เล่นกันราคาแพงๆ คือแผ่นออริจินัลเวอร์ชั่น(มือสอง) คือแผ่นปั๊มแรก แผ่นเสียงเพลงไทยที่แพงมีหลายแนว ถ้าเป็นลูกทุ่งคือ แผ่นคุณ "ศรคีรี ศรีประจวบ" แพงเพราะว่ามีแค่ 4 อัลบั้มเท่านั้น ทุกวันนี้ราคาจะอยู่ที่ 8,000-12,000 เค้าก็จะขายเป็นเซ็ต 4 อัลบั้มที่ 40,000 บาท แล้วแต่สภาพความสวยงาม อย่างคุณ "สุรพล สมบัติเจริญ" ก็แพง แนวเพื่อชีวิต "คาราบาว" ก็แพง โดยเฉพาะอัลบั้ม "ท.ทหารอดทน" มันเป็นอัลบั้มที่มีประวัติว่า ตอนที่ออกมา มีเพลงที่เหมือนแซวทหารแล้วทางทหารไม่พอใจ จนยึดแผ่นนี้ไปทำลายเยอะ แผ่นจึงเหลือในตลาดจึงค่อนข้างน้อย ตอนนี้ราคาก็ 2-3 หมื่นบาท คาราวานก็ราคาเรตประมาณนี้เหมือนกัน ถ้าร็อก-อินดี้ เป็นโมเดิร์นด็อกนี่แหละ ที่มีความเก่าแก่น้อยที่สุด แต่ราคาแพงเอาเรื่อง ชุดแรกแผ่นสภาพดีราคาถีบตัวไปอยู่ที่ 2 หมื่นแล้ว ขนาดแผ่นรีมาสเตอร์ก็ขายอยู่ 7-8000 เลย นี่คือแผ่นแพงของเมืองไทย อีกศิลปินที่คนเล่นกัน ที่เค้าว่าเป็นแผ่นที่เสียงดีและไพเราะมาก เป็นของคุณ พิทยา บุณยรัตพันธุ์ ที่ร้องเพลงจูบ นี่ก็ราคาถึง 17,000 บาท
แต่ถ้าเป็นแผ่นปั๊มใหม่ โมเดิร์นด็อกชุดแรกอยู่ที่ 6,000 สแตมป์แรกๆ ทำออกมาแรกๆ ราคา 2,500 บาท แต่พอขายไปเรื่อยๆ จนใกล้หมด คนที่ซื้อเก็งกำไรก็เริ่มปล่อยที่ราคา 5-6,000 บาท อย่างที่ร้านเราเคยทำแผ่นวง "พราว" ตอนนี้ขายหมดไปแล้ว ก็มีคนมาเสนอซื้อ 4,000 บาท จากที่ออกมาแรกๆ เราขาย 1,800
ส่วนแผ่นเสียงต่างประเทศที่ราคาแพง ตลาดแผ่นต่างประเทศมันคือการเคลมกันมากกว่า อย่าง The Beatles ออริจินัลเฟิร์สเพรสก็ราคาสูงมาก มีคนตั้งไปถึงเป็นหลักล้าน แต่ในอีเบย์ที่ขายกันจะเป็นพวกเพลงแจ๊ซ ก็เริ่มโดนแฟนเพลงไล่เก็บซื้อไปหมด อย่างเพลงแจ๊ซของค่ายบลูโน๊ต ที่มีเพลงแจ๊ซดีๆ เยอะ ราคาที่ดีๆ ก็อยู่ที่หลักแสนอัพ โดยแผ่นเสียงจะแบ่งเกรดคือ VG คือ Very Good คือเสียงไม่ดีหรอกจะมีเสียงก๊อบๆ แก๊บๆ หรือ VG+ ไปจนถึง VG++ คือแผ่นแจ๊ซพวกนี้ คือระดับ VG+ จะมีเสียงรบกวนน้อย ราคาก็เป็นแสนแล้ว แผ่นแจ๊ซของบลูโน๊ตก็จะราคาสูง
ส่วนแผ่นต่างประเทศที่บ้านเราเล่นกันมันเป็นเฉพาะกลุ่ม แจ๊ซบลูโน๊ตก็มีคนเล่นมาตั้งนานแล้ว แต่กลุ่มเล็กมาก จากหลักหมื่นก็เป็นแสน นอกนั้นเป็นแผ่นที่ไม่ได้แพงอะไรมาก อย่าง The Eagles อัลบั้ม Hell Freezes Over ที่มีเพลง Hotel California แผ่นนี้ก็แพง เพราะแผ่นออริจินัลมันผลิตในช่วงที่ไม่ทำแผ่นเสียงกัน ก็ขายเป็นหมื่น อย่างที่บอกว่า ราคามันไม่สูงมากเหมือนแจ๊ซ หรือแผ่นที่แพงๆ คือยุค 90 ของเมืองนอก เพราะยุคนี้ก็ยังไม่ค่อยผลิตแผ่นเสียงเหมือนกัน Smashing Pumpkins ยิ่งเป็นอัลบั้มคู่ก็ยิ่งแพง ราคา 3-4 หมื่น หรือพวก Oasis ก็ยังไม่แพงมาก นี่คือกลุ่มเพลงแมสที่มีราคาแพง
แผ่นเสียงเพลงไทยราคาแรง! แพงกว่าแผ่นสากล
ง่ายๆ เลย ทำไมรถยนต์บ้านเราถึงแพง เพราะเราไม่ได้ผลิตเอง แถมเสียภาษีนำเข้า แผ่นเสียงก็เหมือนกัน ร้านเราก็ปั๊มแผ่นให้กับศิลปินที่เราอยากทำ ก็มีการเซ็นสัญญากับค่ายเพลง เวลาศิลปินต่างประเทศดังๆ ทำ เค้าอาจจะสั่งที่ 50,000 แผ่น เป็นอย่างน้อย ผมปั๊มพราว 500 แผ่น(หัวเราะ) จิ๊บจ๊อยมาก เหมือนเราเป็นประเทศที่สามแล้วเอาสิ่งที่เราภูมิใจที่สุดไปให้เค้าปั๊ม เค้าก็ไม่ได้สนใจอะไรหรอก เราก็คือธุรกิจเล็กๆ มาก พอเราทำน้อย การหารค่าใช้จ่ายต่างๆ มันสูงขึ้น
ขั้นตอนคือเราส่งเวอร์ชั่นมิกซ์ทุกอย่างเพื่อไปปั๊มที่ต่างประเทศ แล้วส่งกลับมาตรวจสอบที่เรา พอเราโอเคเราก็ส่งกลับไปเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการปั๊ม แล้วก็เอาไอ้แผ่นนั้นข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมา ในจำนวนแค่ 500 แผ่น ส่วนปกก็ทำในบ้านเรานี่แหละ และการที่ทำปกแค่ 500 แผ่น มันก็แพงกว่าการทำ 1 หมื่นปก ในร้านเราจะขายแผ่นที่ดีลกับศิลปินเองราคา 1,800 บาท แต่แผ่นที่ดีลผ่านค่าย ค่ายก็จะเป็นคนกำหนดราคาเอง อย่างโยคี เพลย์บอย, อรอรีย์ เราก็ต้องดีลผ่านค่ายโซนี่ ก็เป็นโซนี่ที่ตั้งราคา ส่วนเราเป็นโต้โผ คอยจัดการและขายให้
ยังไงก็แผ่นไทยก็แพงกว่า เพราะเราผลิตเองไม่ได้ เมื่อไหร่ที่เรามีโรงงานผลิตเองในไทยได้ ผมว่าแผ่นเสียงไม่ควรขายเกินราคา 950-1,200 บาท น่าจะขายที่ราคานี้ได้ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องบุคลากร เพราะตอนนี้ไม่มีใครทำแผ่นเสียงเป็น เฉพาะค่าเครื่องก็ปาเข้าไปที่ 1 ล้านเหรียญ ใครจะมาลงทุนกับเงินขนาดนี้ ไปไม่รอดหรอก นอกจากค่ายใหญ่ๆ ถึงพอจะมีโอกาสลุ้น
การคัดเลือกศิลปินที่จะทำแผ่นเสียงของทางร้าน
เราจะเลือกจากศิลปินที่เราอยากทำเบอร์แรกๆที่ทำคือ พราว สี่เต่าเธอ Kidnappers เป็นพวกยุค90ที่ช่วงนั้นไม่ค่อยมีการผลิตแผ่นเสียงออกมาจนเราดีลกับโซนี่เลยมีโยคีเพลย์บอย และอรอรีย์ออกมา ถามว่าขายได้มั้ย ก็พอขายได้ อาจไม่ใช้ศิลปินที่หวือหวา ออกมาแล้วขายได้หมดเลย แต่ผมเชื่อว่ามันขายได้เรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นเราที่ไปเสนอตัวกับศิลปินเอง เพราะเราอยากทำ(หัวเราะ) ส่วนใหญ่ที่ผมทำ คือวงที่ค่ายเจ๊งไปแล้วส่วนใหญ่ ก็เลยดีลกับศิลปินเองเลย ทางค่ายเองก็ปล่อยอิสระกับศิลปิน อย่างพราว สี่เต่าเธอ ลิขสิทธิ์ก็มาอยู่กับวงแทน วงที่ทำล้วนเป็นศิลที่ผมชอบ สิ่งที่จะไม่ทำแน่ๆ คือ ไม่ทำให้เค้าเกลียดเรา ถ้าศิลปินที่เรารักมาเกลียดนี่อยู่ไม่ได้แล้วนะ เวลาคุยกับเค้าเราคุยรายละเอียดทุกอย่าง ให้เค้าเชื่อใจว่าเราไม่ใช่พวกบ้าเงิน แต่ทำเพราะอยากทำจริงๆ อย่างซิลลี่ฟูลส์ เป็นแกรมมี่ทำ ศิลปินเบอร์ใหญ่ขนาดนี้ ค่ายทำอยู่แล้ว
ทำแผ่นเสียงใช้ต้นทุนสูงมั้ย และมีโอกาสที่ค่ายใหญ่ๆ จะกลับมาลุยตลาดแผ่นเสียงแบบเต็มตัวหรือไม่
ต้นทุนสูงมาก ปัญหาคือบ้านเราไม่มีโรงงาน ใจจริงอยากให้มี เพราะอยากให้คนมาเล่นมากขึ้น ส่งไปมาแบบนี้ การขนส่งเสี่ยงจะตาย เราไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าโรงงานอยู่ตรงนี้ เราสามารถตรวจเช็คได้ทุกขั้นตอน 100% มันเลยไม่สามารถเติบโตได้เต็มรูปแบบ
ส่วนโอกาสที่ค่ายเพลงจะกลับมาทำ เค้าทำกันแบบเซฟๆ นะตอนนี้ ใช้วิธีการพรีออร์เดอร์ เอาจำนวนที่ต้องการแล้วสั่ง ไม่ค่อยเจ็บตัว มันก็ย้อนกลับไปที่ปัญหาเดิมแหละ เราไม่มีโรงงาน คือถ้าเมื่อไหร่ไม่มีโรงานเค้าก็ยังทำแบบเซฟตัวเองแบบนี้ แต่ยอดทำก็สูงกว่า 500 แผ่นของเรานะ (หัวเราะ) เพราะต้นทุนมันสูง แต่การขายแผ่นผมอยากให้มันไปเรื่อยๆ อย่างซิลลี่ฟูลส์ก็ขายดี แต่ไม่ใช่แบบเดือนเดียวหมด ผมไม่อยากให้การขายแผ่นเสียงเป็นแบบต้องพรีออร์เดอร์ ต้องแย่งกันจอง แล้วแบบกูจะซื้อ 5 แผ่น มันไม่ใช่การเสพที่ถูกต้อง มันกลายเป็นของเก็งกำไรแล้วทำให้คนไม่เล่นแผ่นเสียง เพราะมันแพงเกินไปไง ของแบบนี้มันต้องอยู่ในร้านต่อไป มันควรมีระยะเวลาของมัน
ขณะที่ "วิไลวัลย์ เจนการ" เจ้าของร้าน UKLP Music Records and Antiques ที่จำหน่ายแผ่นเสียงมือสอง นำเข้าจากประเทศอังกฤษ กล่าวถึงความนิยมในกลุ่มคนเล่นแผ่นเสียงมือสองว่า กลุ่มคนเล่นมีทั้งนักฟังเพลงและนักสะสม ซึ่งกลุ่มหลังบางคนชอบซื้อแผ่นทั้งๆ ที่ไม่มีเครื่องเล่นด้วยซ้ำ
ปกของแผ่นเสียงมีความคลาสสิค ปกบางอันสวยจนน่าหลงใหล บางคนไม่ชอบฟังเพลง ไม่มีเครื่องเล่น แต่ชอบสะสมแผ่นเสียงก็มี ด้วยความสวยของอาร์ตเวิร์กที่ต่างจากแผ่นซีดี มันมีดีเทลที่เยอะกว่า มีอะไรที่นักดนตรีต้องการสื่อสารแบบเต็มๆ คนสะสมของเก่าก็จะชอบไปด้วย ส่วนเรื่องราคาแผ่นออริจินัลจะราคาสูง ส่วนแผ่นปั๊มใหม่ราคาจะไม่สูงมาก โดยเราจะไปคัดเลือกแผ่นจากต่างประเทศมาเอง บางแผ่นที่เมืองนอกอาจจะแพง แต่มาอยู่ในไทยราคาถูก อยู่ที่รสนิยมของแต่ละประเทศ ว่าชื่นชอบศิลปินคนไหนมากกว่ากัน อย่างในไทยบางกลุ่มจะชอบแผ่นรวมฮิตของศิลปิน ที่เมืองนอกจะไม่ได้ฮิต มาบ้านเราก็ราคาไม่สูงมาก
เทรนด์ความนิยมของตลาดแผ่นเสียงมือสอง
สากลมือสองที่ร้านมีทุกแนวแต่ที่คนนิยมคือร็อกยุค70แต่คนวัยทำงาน-วัยรุ่น จะนิยมวงยุค 80 ออกแนวแดนซ์ๆ อย่าง Madonna ถ้าร็อกยุค 80 ก็ Led Zeppelin, Iron Maiden, Metallica แต่แผ่นพวกนี้ก็จะราคาสูง เพราะเมืองนอกเค้าเล่นกัน อย่างแผ่นเพลงหนัง หรือศิลปินเก่าๆ ที่เสียชีวิตแล้ว คนก็ตามหานะ เรื่อง Phantom of opera, The Sound of Music คนก็ตามหา แผ่นพวกนี้จริงๆ ขายได้เรื่อย แต่พอมีคอนเสิร์ต หรือหนังเข้า คนก็จะถามเยอะขึ้นส่วนคนเสียชีวิต ไมเคิล แจ็คสัน เนี่ย คนมาถามเยอะเรื่อยๆ ก็จะหายากตามอัลบั้ม บางอัลบั้มผลิตมาน้อยก็หายาก
กลุ่มคนฟัง ร็อก-แจ๊ซ มีลูกค้าพอๆ กัน คลาสสิคไปจะช้ากว่าเพื่อน แต่ก็มีลูกค้าอยู่บ้าง คลาสสิคไม่ได้มีแค่กลุ่มคนฟัง แต่มีคนที่เอาไปศึกษาด้วย ที่ร้านไปได้ทุกแนว ไม่มีอะไรเด่นสุด บางคนที่ฟังร็อก เค้าก็อาจจะฟังแจ๊ซด้วย สุดท้ายมันอยู่ที่ศิลปินมากกว่า
แผ่นที่หายากๆ ยกให้ Bob Marley, Eric Clapton อัลบั้ม Unplug น่าจะอยู่ที่ราคา 2,000 บาท แต่หลังๆ ที่ร้านก็หาไม่ได้แล้ว แต่ราคาไม่แน่ไม่นอนหรอก ใครได้มาแต่ไม่รู้ว่ามันมีมูลค่า เค้าอาจจะขายไปแบบถูกๆ มันขึ้นอยู่กับรสนิยม บอกเลยว่าราคาแผ่นเสียงไม่มีมาตรฐาน เปลี่ยนไปเรื่อยตามมือแต่ละคน อยู่ที่สภาพแผ่น ศิลปิน เดี่ยวนี้คนซื้อรู้ทัน รู้เยอะกว่าคนขายอีกมั้ง เพราะสามารถหาข้อมูลได้ง่าย ตามอินเตอร์เน็ต
แผ่นมือสองที่ซื้อขายกันราคาแพงที่สุด
แผ่นมือสองที่ซื้อขายที่แพงที่สุดที่พอรู้ The Beatles White Albumในเมืองนอกน่าจะมี100-200ปอนด์ขึ้นไปอยู่ที่ซีเรียลนัมเบอร์ด้วย ถ้าในเมืองไทยพี่บอกเลยว่าลูกค้าไม่กล้าสู้ราคา อย่างที่ร้านมีขายในราคา 6,000 บาท ก็ยังไม่มีลูกค้าหยิบไป ขายมาหลายปีแล้ว (หัวเราะ) เลยมองว่าบ้านเราไม่ได้ลงลึกมาก เอาแค่ฟังเพลง ฟังศิลปินที่ชอบ ไม่ได้ถึงขนาดต้องมีซีเรียลนัมเบอร์ต้นๆ ต่อมาเป็นวง The Velwet Underground แผ่นออริจินัลก็หายากมากเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นแนวร็อกที่ราคาแพงๆ อีกอัลบั้มคือ Jimi Hendrix ชุด Electric Ladyland ที่ร้ายเคยขายอยู่ 2,500 แต่ที่ต่างประเทศอยู่ที่ 200-300 ปอนด์ คือบ้านเราแผ่นสากลมือสองจะไม่มีการปั่นราคาจนเว่อร์ เพราะไม่ค่อยมีคนสู้ราคา อีกวงคือ Pet Shop Boy ในบ้านเราก็อยู่ที่ 5-6,000 The Beatles แผ่นออริจินัล ก็ราวๆ 1,800
สภาพแบบไหนถือว่าสภาพดีสำหรับแผ่นมือสอง
ต้องไม่มีรอย สภาพดี บางแผ่นถ้าเอามือลูบแล้วสะดุด ลูกค้าจะไม่เอาทันที เพราะว่ามันจะมีผลต่อหัวเข็ม บางคนหัวเข็มแพงเป็นหมื่นเลยด้วยซ้ำ ก็ต้องถนอมมากหน่อย ความเยินของกล่องก็มีบ้างนิดหน่อย 80-90% ถือว่าลูกค้ารับได้
ตลาดแผ่นเสียงมือสองเงียบเหงา
ตอนนี้ตลาดแผ่นเสียงมือสองเงียบมาก ประมาณปี 55-56 ยังบูมมาก ลูกค้ามาซื้อแผ่นที่ร้าน ชอบแผ่นไหนก็จะซื้อเลย แต่ตอนนี้หยิบแล้วเก็บที่เดิม ตัดสินใจนานขึ้น ชะลอการซื้อมากขึ้น คิดเยอะขึ้น เพราะเศรษฐกิจมันไม่ดี หรือพอแผ่นมันเริ่มหาง่าย มีคนขายหลายเจ้า ทำให้คนไม่ค่อยซื้อ เพราะมีตัวเลือกมากขึ้น คิดว่ากระแสคงไปเรื่อยๆ ไม่หวือหวาไปกว่านี้แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น