วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แบงก์ทำตัวยังไง เมื่อดอกเบี้ยนโยบายขยับ ตอนที่ 1: ขยับดอกเบี้ยไปเพื่ออะไร ?!? by TIF

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือดอกเบี้ยแกนหลักของประเทศซึ่งมีหน้าที่ประครองเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง ไม่ตกต่ำจนประชาชนเดือนร้อน และไม่ร้อนแรงเกินไปจนสุ่มเสี่ยง
อัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้ จะว่าไปก็เปรียบเหมือนคันเร่งและแป้นเบรคของรถยนต์ ซึ่งเจ้ารถยนต์นี้ก็คือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อเศรษฐกิจชักจะเหงาหงอย เติบโตต่ำ ซึ่งเปรียบเหมือนรถยนต์ที่วิ่งช้าลงจนแทบหยุด โดยหลัก ๆ ก็จะดูจากการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Production หรือ GDP) ที่ชะลอตัว ยอดการส่งออกสุทธิที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะเหยียบคันเร่งด้วยการ “ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อส่งสัญญาณให้กลไกหลักในตลาดการเงิน ซึ่งก็คือแบงก์พาณิชย์ ปรับลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีแรงฮึดจนกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง กล่าวคือ
1) ส่งสัญญาณให้แบงก์พาณิชย์ “ในฐานะเจ้าหนี้” ลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้ลูกหนี้ซึ่งมีทั้งประชาชนและภาคธุรกิจหายใจหายคอได้คล่องขึ้นด้วยเหตุที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะลดลง … เมื่อดอกเบี้ยต่ำลง ลูกหนี้ที่เป็นประชาชนผู้บริโภค ก็มีแนวโน้มจะใช้จ่ายด้วยการก่อหนี้มากขึ้น เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และเมื่อดอกเบี้ยต่ำลง ลูกหนี้ที่เป็นภาคธุรกิจ ก็มีแนวโน้มที่จะกู้ยืมเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจมากขึ้น
2) ส่งสัญญาณให้แบงก์พาณิชย์ “ในฐานะลูกหนี้” ลดดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อกดดันให้ลูกค้าเงินฝาก คิดอ่านนำเงินออมที่ได้ดอกเบี้ยต่ำลงไปใช้จ่ายมากขึ้น หรือไม่ก็เอาไปลงทุนอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น
screenshot.302(ตัวอย่างการปรับลดดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์)
นอกจากนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยกลไกแล้วก็คือการปรับลด “อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วัน” (1-Day Repurchase Rate หรือเรียกสั้น ๆ ว่า 1-Day Repo Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับธุรกรรมกู้ยืมระยะสั้นระหว่างสถาบันการเงิน ที่มีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้ามือหลักอยู่ในตลาด และมีธนาคารพาณิชย์เป็นคู่ค้าหลัก ซึ่งเจ้าอัตราดอกเบี้ย 1-Day Repurchase Rate นี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะกลางด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อเจ้า 1-Day Repo Rate ถูกปรับลดลง  อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรภาครัฐ (กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ) ก็จะลดลงตามไปด้วย เมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรลดลง ก็จะทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ลดลงไปด้วย เท่ากับเป็นการกดดันให้นักลงทุนในพันธบัตร ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ในการลงทุนอย่างอื่นให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น (หลักการคล้าย ๆ กับการลดดอกเบี้ยเงินฝาก)
screenshot.343(เปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปี 2000 – 2015)
และนอกจากนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย เนื่องจากผู้ที่ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐไทยนั้น ไม่ได้มีแค่คนไทย แต่ยังมีนักลงทุนต่างประเทศด้วย เมื่อผลตอบแทนต่ำลง ความน่าสนใจก็ลดลง จึงมีแนวโน้มที่จะถอนเงินลงทุนออกไปประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงทำให้ค่าเงินบาท (เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอย่าง US Dollar) มีโอกาสอ่อนลงด้วย และเมื่อเงินบาทอ่อนลง ภาคธุรกิจส่งออกก็จะขายสินค้าได้เป็นเงินบาทมากขึ้น กำไรก็จะมากขึ้น จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกช่องทางหนึ่ง
ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจชักจะคึกคักเกินไป เติบโตร้อนแรง ซึ่งเปรียบเหมือนรถยนต์ที่ชักจะซิ่งเกินจนมีโอกาสแหกโค้งพากันตายยกคัน เงินเฟ้อชักจะพุ่งสูงจากการที่ข้าวของแพง กนง.ก็จะเหยียบเบรคด้วยการ “ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อส่งสัญญาณให้แบงก์พาณิชย์ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา เพื่อติดเบรคเศรษฐกิจให้ไม่ร้อนแรงจนเกินไป กล่าวคือ 1) เมื่อดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น ลูกหนี้ที่เป็นประชาชนผู้บริโภค ก็มีแนวโน้มที่จะลดการใช้จ่ายด้วยการก่อหนี้ และลูกหนี้ที่เป็นภาคธุรกิจ ก็มีแนวโน้มที่จะลดการกู้ยืม เพราะต้นทุนแพงขึ้น และ 2) เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้น ลูกค้าที่ชอบความเสี่ยงต่ำ ก็จะลดการใช้จ่ายและการลงทุนด้านอื่น ๆ เพื่อเอาเงินมาฝากมากขึ้น
และเช่นเดียวกัน เมื่อมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งก็คือการปรับเพิ่ม 1-Day Repo Rate ก็จะทำให้การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมาก อย่างพันธบัตรภาครัฐ มีความน่าสนใจมากขึ้น เท่ากับเป็นดึงเงินออกมาจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า
ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็เช่นกัน เมื่อผลตอบแทนพันธบัตรภาครัฐของไทยสูงขึ้น ความน่าสนใจก็สูงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่เงินลงทุนจะไหลเข้าประเทศมากขึ้น จึงทำให้ค่าเงินบาท (เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอย่าง US Dollar) มีโอกาสแข็งค่าขึ้น และเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ภาคธุรกิจส่งออกก็จะขายสินค้าได้เป็นเงินบาทน้อยลง กำไรก็จะลดลง เท่ากับเป็นการกระตุ้นชะลอเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
ซึ่งกระบวนการทั้งหมดข้างต้น สรุปเป็นภาพได้ดังนี้
screenshot.344(คลิก/แตะ ที่รูปเพื่อดูขนาดใหญ่เต็มจอ)
จึงจะเห็นได้ว่า กระบวนการเหยียบคันเร่งและเหยียบเบรคของระบบเศรษฐกิจนั้น มีกลไกสำคัญอยู่ 2 ส่วนคือ กนง. (รัฐ) และแบงก์พาณิชย์ (เอกชน) … กนง. จะพิจารณาว่า “จุดไหน” ที่ควรจะขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว ขณะที่แบงก์พาณิชย์เป็นฝ่าย “รับลูก” มาปรับอัตราดอกเบี้ยของตัวเองต่อไป … และในเมื่อแบงก์พาณิชย์รับบทบาทสำคัญในภาคเอกชน ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง เดี๋ยวตอนหน้ามาตามดูกัน ว่าการปรับลดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอดีตที่ผ่านมาจนถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 58 นั้น แบงก์พาณิชย์รับลูกมากน้อยแค่ไหน และเขาได้หรือเสีย :D

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น