วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

"เม่ย พรรณสิรี" หาเงิน 3 พันล้าน ขยายพื้นที่ต่อชีวิตคนป่วย

ภารกิจระดมทุน 3,000 ล้าน ของสาวร่างเล็กวัย 33 ปี "เม่ย-พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ" ผู้จัดการมูลนิธิโรงพยาบาลรามาธิบดี จะต้องหาเงินจำนวนมหาศาลเพื่อสมทบทุนการก่อสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ สถานพยาบาลและสถานที่ผลิตบุคลากรการแพทย์แห่งใหม่ ที่จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ทางภาคตะวันออกของประเทศ จังหวัดสมุทรปราการ
นับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งและยิ่งใหญ่เหลือเกินสำหรับคนทั่วไป แต่ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิโรงพยาบาลรามาธิบดี "เม่ย-พรรณสิรี" ย่อมต้องทำและทำให้ได้ เพราะมันคือหน้าที่ความรับผิดชอบของเธอโดยตรง ในการคิดสารพัดโครงการเพื่อหาเงินเข้ามูลนิธิ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่เธอก็ทำสำเร็จ

"เม่ยอยู่ในตำแหน่งนี้มา 8 ปีแล้วค่ะ หน้าที่คือจัดโครงสร้างและวางแผนระดมทุน ช่วงแรก ๆ เข้ามาทำแบบอาสา ไม่มีเงินเดือน แต่ก็ทำอย่างจริงจังมาก ไปเช้ากลับเย็น ครบทั้ง 5 วัน พอผ่านไปหนึ่งปี ก็รู้สึกดี อยากทำต่อ คุณหมอก็เลยชวนให้ทำเป็นฟูลไทม์ ซึ่งด้วยหน้าที่ก็ไม่ได้ต่าง เพียงแต่ได้รับเงินเดือน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้เงินเดือน" ผู้จัดการมูลนิธิกล่าว



จากนักเรียนนอกจบปริญญาโทด้านแบรนด์แมเนจเมนต์ที่สหรัฐอเมริกาตอนอายุ 21 ปี กลับมาช่วยดูแลธุรกิจที่บ้านซึ่งเป็นโรงงานผลิตถังบำบัดน้ำเสีย ถังดักไขมัน แท็งก์น้ำ ก่อนจะได้รับการชักชวนให้มาทำงานกับมูลนิธิ โดย ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์แพทย์รามาฯ ชวนให้มาทำงานบริหาร มาร์เก็ตติ้ง ในตำแหน่งผู้จัดการมูลนิธิโรงพยาบาลรามาธิบดี

"เม่ย" เป็นนักเรียนนอกที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศจนชิน จึงพูดและเขียนภาษาไทยไม่ค่อยถนัด จนกระทั่งมาทำงานในมูลนิธิ จึงต้องมารื้อฟื้นครั้งใหญ่ เธอมีชีวิตที่สุขสบายไม่ได้เดือดร้อนอะไร และการมองชีวิตของผู้จัดการคนนี้ก็มีหลายมิติ กับการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องขวนขวายอะไรมากมาย แต่มันกลับมีความหมายมากขึ้น 

"เราเคยมองว่าการได้ช่วยเหลือคนอื่นมันเป็นเรื่องใหญ่โต แต่เมื่อได้เห็นคนป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยความเจ็บป่วย กลับทำให้ยิ่งรู้สึกว่า สิ่งที่เคยคิดว่ามันใหญ่โตนั้น มันกลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเลยเพราะยังมีคนเจ็บป่วยอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ และเราก็ถือว่าโชคดีกว่าคนอื่นมาก ได้มองได้เห็นแบบนี้เราก็รู้สึกว่า ชีวิตเรามีความสุขดี"


นับจากวันแรกจนถึงวันนี้ เม่ยทำงานในมูลนิธิมากว่า 8 ปี ในตำแหน่งแม่ทัพหญิงของมูลนิธิ ตั้งแต่อายุ 25 ปี "เม่ย-พรรณสิรี" ได้นำแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่มาปรับใช้กับที่นี่ ซึ่งในขณะนั้นขนาดองค์กร จำนวนบุคลากร และภาระหน้าที่ยังย่อมเยากว่านี้มากนัก

"ตอนที่เม่ยเข้ามาก็ยังหาเงินไม่ได้เยอะ เพราะไม่ได้มีโปรเจ็กต์อะไรที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ตอนหลังมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องขยายโรงพยาบาล ซึ่งครั้งที่ก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ "เรา" ซึ่งไม่ใช่แค่เม่ย แต่ทั้งทีมงาน คุณหมอ คณะกรรมการ และพนักงานทุกคนช่วยกัน ทำให้มูลนิธิได้รับเงินบริจาค 4,000 ล้านบาท ทำให้อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกิดขึ้นได้ ซึ่งหากเรานับเฉพาะปีนี้ อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์มีคนไข้เข้ามาใช้บริการล้านกว่าราย ผู้ป่วยมหาศาลนั้นไม่สามารถเข้ามารักษาได้ถ้าไม่มีอาคารนั้นเกิดขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างคือการเป็นโรงเรียนแพทย์

เม่ยเชื่อในเรื่องของการสร้างคน ถ้าผลิตหมอที่ดีออกไป ก็เหมือนเป็นการกระจายความช่วยเหลือไปทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนที่มาที่นี่เท่านั้น ซึ่งมาในครั้งนี้ "การก่อสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์" ก็เช่นเดียวกัน โดยยอดบริจาคที่มูลนิธิรามาธิบดีตั้งไว้อยู่ที่สามพันล้านบาท แม้ขณะนี้ยอดจะยังไม่แตะพันล้านแรก แต่เราก็พยายามเชิญชวนคนเข้ามาบริจาค"

การทำงานหาเงินของคนทั่ว ๆ ไปก็ถือเป็นเรื่องเหนื่อยเอาการอยู่แล้ว แต่การหาเงินในยอดหลักเหยียบหมื่นล้านบาทภายใน 8 ปีที่เข้ามานั่งในตำแหน่งผู้จัดการมูลนิธิโรงพยาบาลรามาธิบดี ของ "เม่ย-พรรณสิรี" ดูจะยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ทำให้เธอและทีมงานต้องพยายามคิดหาโปรเจ็กต์ออกมาเรื่อย ๆ โดยมีหัวใจสำคัญในการเป็นผู้รับที่ดีว่า จะไม่ให้คนที่มาบริจาคมีความรู้สึกว่าถูกยัดเยียดหรือไม่เต็มอกเต็มใจที่จะทำ ให้อิสระกับคนที่คิดจะเป็นผู้ให้ด้วยความเต็มใจ เพื่อที่จะสร้างความรู้สึกปีติยินดีต่อการทำบุญนั้น

"ด้วยจิตใจคนไทยมีความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้อื่นอยู่แล้ว ด้วยพฤติกรรม สังคม วัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างหลอมรวมกันมา จึงมักแสดงออกทางการบริจาคเงิน และที่สำคัญคนทำบุญไม่จำเป็นต้องบริจาคทีละร้อยล้าน สิบล้าน ผู้บริจาคที่มีฐานะปานกลางมีอยู่เป็นจำนวนมากในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม เราจะรอเขามาบริจาคอย่างเดียว คงไม่ประสบความสำเร็จ เราจึงต้องริเริ่มโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ออกมาด้วย อย่างการทำของที่ระลึกขึ้นมาขาย หากนับเป็นตัวเงินอาจจะไม่เพียงพอ แต่เรามองว่าอยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับเรา รู้สึกว่าตนเองสามารถเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ของเราได้ เมื่อมีความผูกพันกับแบรนด์ ต่อไปเขาก็น่าจะคิดถึงเรา"


8 ปีที่ผ่านมาเป็นที่ชัดเจนว่า "มูลนิธิรามาธิบดี" เป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก องค์กรขยายขึ้น มีบุคลากรที่มากขึ้น โดย "เม่ย-พรรณสิรี" ได้จัดการปฏิวัติทั้งหน้าบ้าน หลังบ้าน และสร้างระบบที่ชัดเจนให้กับมูลนิธิ มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสโดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับการตรวจสอบบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน ดึง Mass Media เข้ามาใช้ให้องค์กรได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

"ลองผิดลองถูกมาเยอะค่ะ แต่ตอนนี้เม่ยเชื่อว่าระบบที่นี่ดีเพียงพอในการไม่พึ่งคน แต่พึ่งระบบ แน่นอนว่าเมื่อขาดใครคนหนึ่งองค์กรย่อมเปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตามต้องให้ระบบสามารถทำงานได้ไม่ติดขัด ไม่เช่นนั้นหากคนที่เคยทำไม่อยู่แล้วจะทำยังไงต่อ ที่นี่แตกต่างจากมูลนิธิอื่น คือ มีการบริหารงานที่ชัดเจน จะไม่มีการมาช่วย ๆ กันทำ แบ่งหน้าที่ชัดเจน และที่นี่เปิดกว้างกับคนรุ่นใหม่ ความหลากหลายผู้คน อายุ ความสามารถ ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ที่นี่ประสบความสำเร็จ

เม่ยอาจจะดูเป็นคนรุ่นใหม่ ตรงไปตรงมา เด็ดขาด ไม่ค่อยยืดหยุ่น แต่ขณะเดียวกันก็ยังคอนเซอร์เวทีฟอยู่สูงเช่นกัน อย่างเรื่องสัมมาคารวะนี่ไม่ได้เลย จะมายืนสั่ง ชี้นิ้วใส่แม่บ้าน เม่ยและคนที่นี่รับไม่ได้นะ หรืออย่างเรื่องทุจริต แค่ขโมย 5 บาท เม่ยก็ส่งตำรวจและทำจริง การทำงานร่วมกัน ความเป็นกันเองนั้นมี แต่ความเป็นนายก็ต้องชัด !"


เหมือนทุกอย่างจะต้องผ่านมือเธอเกือบทั้งหมด จากวันแรกที่ตกปากรับคำว่าจะทำงานอาสา ด้วยความรู้สึกเฉย ๆ ทำก็ได้ในเมื่อไม่เดือดร้อนแต่ 8 ปีแห่งความผูกพัน...ไม่มีวันไหนที่ไม่อยากมาทำงาน

"ทุกวันนี้ชอบ พอใจ มีความสุขกับการทำงานมาก ต้องมีวันที่เหนื่อยมาก ๆ แต่ความรู้สึกในการทำงานมูลนิธิมันต่างไป เพราะสุดท้ายพอเรามาคิดว่าใครได้ประโยชน์ ความเหนื่อยกลายเป็นความสบายใจเลย เพราะเรารู้ว่าคนที่ได้รับ มูลค่าจะทวีมหาศาล เม่ยไม่ได้รวยมากขนาดที่จะช่วยเหลือทุกคนให้มีความสุขขึ้นได้ แต่ในชีวิตเรา หากเราสามารถสร้างความแตกต่างให้เขาดีขึ้น หรือถ้ามากกว่านั้นคือการช่วยชีวิตเขาในทางอ้อม ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นสื่อกลางที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ได้รอดชีวิต ได้มีโอกาสรักษา แล้วทำไมเราถึงจะไม่ทำ ตรงนี้คือความสุขที่ยิ่งใหญ่"

ชัดเจนทั้งด้านการทำงานและความรู้สึกของตัวเองแบบนี้ ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมผู้หญิงร่างเล็กคนนี้ ถึงได้ประสบความสำเร็จในการนั่งบนตำแหน่งใหญ่กับภารกิจเพื่อสังคมที่อุดมไปด้วยเมกะโปรเจ็กต์มานานถึง 8 ปี

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น