วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปั๊มน้ำมัน" ทำเลค้าขายแห่งใหม่ ปตท. ขายหมูปิ้ง เดือนละ 2 ล้านไม้
"กลุ่มคนที่เข้าปั๊มน้ำมันมี 2 กลุ่มคือ ไม่มีเวลามาเพียงเติมน้ำมัน 5-10 นาทีแล้วไป กับคนที่แวะเพื่อพักและซื้อของ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะใช้เวลาในปั๊มอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป ซึ่งผมมีความเชื่อว่าเทรนด์ในอนาคตคนกลุ่มที่แวะปั๊มเพื่อพักจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน พื้นที่ในปั๊มจะกลายเป็นทำเลทองของบรรดาธุรกิจค้าปลีก"





นับเป็นทำเลทองค้าปลีกแห่งใหม่ สำหรับ "ปั๊มน้ำมัน" ขนาดเจ้าของปั๊มยักษ์ใหญ่ระดับประเทศอย่าง ปตท.ยังโดดลงมาเล่นในธุรกิจนี้ แว่วๆ ว่าเร่งปรับโฉมธุรกิจกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม หวังให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่ขยายสาขาร้านค้าปลีกในเครือ ทั้งร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต แถมเปิดศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) ที่วังน้อย อยุธยา สำหรับใช้เป็นจุดกระจายสินค้า

ล่าสุด สินค้านำร่อง อย่างชานมไข่มุกเพิร์ลลี่ ที (PEARLY Tea) แฟรนไชส์ของ บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หลังจากที่ใช้เวลาปลุกปั้นร่วม 2 ปี มีกว่า 140 สาขา มาตอนนี้พยายามจะดันหมูปิ้งภายใต้แบรนด์ จิฟฟี่ ช้อยส์ (Jiffy"s Choice) ให้เป็นที่รู้จัก ปัจจุบันปูพรมตลาดด้วยการวางจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.-จิฟฟี่ 150 แห่ง ยอดขายรวมเดือนละ 2 ล้านไม้ สิ้นปี 2558 เล็งขายแฟรนไชส์ ไม่รู้ว่าหมูปิ้งทำเลดี หรือคนซื้อติดใจในรสชาติ ซึ่ง คุณจักรกฤช จารุจินดา ประธานบริหาร บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTRM มีคำตอบ



ยุทธศาสตร์ใหม่ของ ปตท.

สร้างปั๊มครบวงจรแห่งแรก

ย้อนกลับไปกลางปี 2550 หลังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซื้อปั๊มน้ำมัน JET พ่วงมากับร้านสะดวกซื้อ Jiffy ปั๊ม JET ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ปตท.- จิฟฟี่ บริหารงานภายใต้ บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTRM

ปัจจุบัน ปั๊ม ปตท.-จิฟฟี่ มี 149 สาขา นอกเหนือไปจากผู้ค้าน้ำมัน ยังมีบริการอื่นๆ ภายในปั๊ม เช่น ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่, ร้านกาแฟ Caf? Amazon, ชานมไข่มุก เพิร์ลลี่ ที, หมูปิ้ง จิฟฟี่ ช้อยส์, จิฟฟี่ คิทเช่น, จิฟฟี่ พลัส ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด เข้ามาบริหาร คุณจักรกฤช บอกว่า ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญธุรกิจน็อนออยล์ (Non-oil) หรือธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน ที่นับวันจะเติบโตขึ้น สร้างมูลค่าได้มากกว่าน้ำมันหลายเท่าตัว เนื่องจากส่วนต่างหรือกำไรของน้ำมันน้อยมาก ส่งผลให้ค่ายน้ำมันต้องปรับกลยุทธ์ ซึ่ง ปตท. PTTRM ตั้งเป้าหมายจะรุกธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน ตั้งใจทำแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร

สำหรับโมเดลของปั๊มที่เบ็ดเสร็จครบวงจร คุณจักรกฤช ยกตัวอย่างที่ สถานีบริการน้ำมันตั้งอยู่ภายในโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ THE CRYSTAL PTT ถนนชัยพฤกษ์ พื้นที่ 15 ไร่ เป็นปั๊มที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น PTT FIT Auto มี จิฟฟี่ พลัส ซูเปอร์มาร์เก็ต เต็มรูปแบบ ภายในมีสินค้าให้เลือกกว่า 10,000 รายการ มีคอนเซ็ปต์ "สดใหม่ทุกวัน คัดสรรเพื่อคุณ" นอกจากนี้ ยังมีบริการอาหารสดพร้อมทาน

ไม่เพียงเท่านั้น ปั๊มที่อยู่ภายใต้คอมมูนิตี้มอลล์แห่งนี้ ยังมีร้านค้าชื่อดัง อาทิ ร้านอาหารเกาหลี ร้านอาหารฝรั่งเศส ร้านชาบู ร้านสเต๊ก บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง ก๋วยเตี๋ยวไก่ ส้มตำไก่ย่าง ร้านขนมจีน ร้านอาหารทะเล ร้านสตาร์บัคส์ ยังมีโซนธุรกรรมทางการเงิน ร้านสินค้าแฟชั่น ร้านหนังสือนายอินทร์ โซนสุขภาพกับฟิตเนสก็ยังมี ตามมาด้วยบริการเสริมความงาม ร้านทำผม ทำเล็บ คลินิกผิวพรรณ โรงเรียนเสริมทักษะ สอนภาษา แม้แต่สวนสนุกสำหรับคุณหนู

"ผมมองว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป หันมาใช้บริการคอมมูนิตี้มอลล์ใกล้บ้าน ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันภายในที่เดียว เป้าหมายของร้านจิฟฟี่จะเป็นแบรนด์ที่ตอบสนองความสะดวกให้แก่นักเดินทาง โดยมีคอนเซ็ปต์เป็นเสมือนเพื่อนร่วมเดินทางของพวกเขาและครอบครัว ไม่ว่าจุดหมายปลายทางของลูกค้าจะเป็นที่ใดก็สามารถแวะพัก แวะเข้าห้องน้ำหรือซื้อของรับประทานให้หายหิว หรือช่วยให้รู้สึกสดชื่นก่อนเดินทางต่อไป ดังนั้น ปั๊ม ปตท.-จิฟฟี่ จึงสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมภายในสถานีบริการน้ำมันให้สะอาดและปลอดภัย ให้ลูกค้าทุกคนรู้สึกเสมือนว่าจิฟฟี่คือบ้านหลังที่ 2"



ค้าปลีก กำไรดีกว่าน้ำมัน

ปตท.-จิฟฟี่ เล็งสร้างจุดพักรถ

นอกจากยุทธศาสตร์ดังกล่าว ปตท.-จิฟฟี่ ยังพยายามสร้างความแปลกใหม่ในธุรกิจน็อนออยล์ ด้วยการสร้างจุดพักรถที่เรียกว่า Rest Area วัตถุประสงค์เพื่อเป็นจุดพักรถขนาดใหญ่และมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการใช้บริการน้ำมันและร้านค้าต่างๆ

"ผมจะใช้ชื่อจุดพักรถว่า Jiffy Rest Area จะไม่มีปั๊มน้ำมัน แต่จะมีร้านค้าโดยมีร้านจิฟฟี่เป็นศูนย์กลาง และร้านค้าในเครือ มองว่า Jiffy Rest Area จะเป็นธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าที่สามารถสร้างรายได้ให้มากกว่าธุรกิจน้ำมัน เล็งว่า ปลายปี 2558 จะเปิดแห่งแรกในจังหวัดแถบภาคอีสาน ใช้พื้นที่ 8 ไร่ งบลงทุน 50 ล้านบาท ก่อนจะขยายไปให้ครบทั้ง 4 ภาค ขณะเดียวกัน จะรุกธุรกิจขายสื่อโฆษณาในร้านค้าปลีกทุกแบรนด์ของจิฟฟี่ เพราะที่ผ่านมามีลูกค้าหลายรายสนใจซื้อสื่อโฆษณาภายในปั๊ม"

บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด ยังมีแผนการลงทุนกลุ่มน็อนออยล์อีกมาก คุณจักรกฤช เผยว่า รายได้กลุ่มธุรกิจน็อนออยล์สูงถึง 53 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รายได้จากน้ำมันเพียง 47 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้กำลังหาพันธมิตร เพื่อขยายไลน์สนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงไล่ตามเทรนด์ใหม่ๆ

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์จากจิฟฟี่คร่าวๆ มีน้ำดื่มตราจิฟฟี่, น้ำแร่ตราดิ อเมซอน, ผ้าเย็นตราจิฟฟี่, ชานมไข่มุกเพิร์ลลี่ ที, หมูปิ้ง จิฟฟี่ ช้อยส์, ฟู้ด ทู โก เร็วๆ นี้ จะมีเบเกอรี่

จะเห็นว่าจิฟฟี่มุ่งขยายไลน์ธุรกิจไปในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม โดยเฉพาะชานมไข่มุก เพิร์ลลี่ ที ซึ่งประธานบริหาร PTTRM เผยว่า มียอดขายต่อปั๊มเฉลี่ย 80-100 แก้ว ต่อวัน ขยายธุรกิจนี้ด้วยระบบแฟรนไชส์ เงินลงทุนเริ่มต้น 400,000 บาท ทุกวันนี้ 70 เปอร์เซ็นต์ บริษัทแม่ลงทุนเอง อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นสาขาแฟรนไชส์

"เหตุผลที่ทำชานมไข่มุก เพราะมองว่าคนที่เข้าปั๊ม ปตท. 100 คนจะเข้าร้านกาแฟอเมซอน 20 คน อีก 80 คนที่เหลือจะมองหาตัวเลือกอื่นในการเลือกรับประทาน ซึ่งชานมไข่มุกจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้สำหรับคนไม่ดื่มกาแฟ"



เข็นหมูปิ้งเข้าตลาด

ติดลมบน ฟีดแบ็กดี

ภายหลังที่ชานมไข่มุกประสบความสำเร็จ PTTRM ก็เข็นสินค้าตัวใหม่เข้ามาทำตลาดหวังขอแจ้งเกิดบ้าง ด้วยเมนู "หมูปิ้ง" นับว่าเป็นไอเดียที่ดี เพราะหมูปิ้งเป็นเมนูที่อยู่คู่กับคนไทยทุกเพศ ทุกวัย มาช้านาน กินง่าย ซื้อคล่อง ไม้ละ 10 บาท เชื่อว่า 1 คนกินหมูปิ้งมากกว่า 1 ไม้อยู่แล้ว

"ผมลองตลาดหมูปิ้งในปั๊มเมื่อสงกรานต์ปี 2557 หมูปิ้งไม้ละ 10 บาท ข้าวเหนียวห่อละ 10 บาท ประสบความสำเร็จมากชนิดเกินคาด เพราะยอดขายเพิ่มขึ้นตลอด จากเดือนละ 1 ล้านไม้ เขยิบเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 2 ล้านไม้ กลายเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมแก่ผู้ใช้รถ และผู้ที่เข้ามาแวะซื้อของในปั๊ม"

มีฟีดแบ็กจากลูกค้าว่ากันถึงรสชาติหมูปิ้ง ว่ามีรสชาติเข้มข้น ขนาดเนื้อหมูเท่ากันทุกไม้ กินกับข้าวเหนียวจะเข้ากันมาก ซึ่งเบื้องหลังคุณภาพดังกล่าว ประธานบริหาร ให้ข้อมูลว่า

"ปตท.-จิฟฟี่ มีฝ่ายทีมวิจัยและพัฒนาสูตรหมูปิ้งเอง ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร โดยมีโรงงานตั้งอยู่จังหวัดนครราชสีมา ทางบริษัทใช้ระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งกับฟาร์มหมู รับเนื้อหมูสดใหม่ทุกวัน เฉลี่ยวันละตัน ใช้หมูส่วนสันนอก น้ำหนักต่อไม้ 42 กรัม ผ่านกรรมวิธีหมัก ปรุงรสชาติและฟรีซมาจากโรงงานเลย จากนั้นจะลำเลียงมายังกรุงเทพฯ แล้วกระจายไปตามสาขาต่างๆ ปัจจุบันหมูปิ้งมีวางจำหน่าย 150 ปั๊ม"

และก็ไม่น่าเชื่อว่า "หมูปิ้ง" จะเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ ปตท.-จิฟฟี่ ภาคภูมิใจ เพราะทำรายได้ให้ธุรกิจน็อนออยล์ชนิดเติบโตก้าวกระโดด โดยคอนเซ็ปต์ของหมูปิ้งคือ "สดใหม่ ปิ้งแล้ว กินเลย" ด้วยคุณภาพและชื่อเสียงที่ ปตท.-จิฟฟี่ สั่งสมมานาน ทางผู้บริหารยืนยันว่า ไม่ว่าลูกค้าจะกินสาขาไหน รสชาติก็เหมือนกันหมด ภายใต้คุณภาพเดียวกัน



เทรนด์ใหม่ แวะปั๊มไม่เติมน้ำมัน

หาของกิน และซื้อของ

มีเคล็ดลับที่ทำให้เนื้อหมูฟู ชุ่มฉ่ำ น่ารับประทานคือ ก่อนปิ้งใช้มือตบหมูเพื่อให้หมูได้รูป จากนั้นปิ้งบนเตาที่ความร้อนสม่ำเสมอ ส่วนข้าวเหนียวที่ขายในปั๊มนี้เป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงู พันธุ์เสถียร หลังจากหุงเสร็จ จะอบด้วยอุณหภูมิคงความชื้น เรียกว่าทั้งนุ่มและหอม คัดคุณภาพมาเพื่อเสิร์ฟลูกค้าโดยเฉพาะ

เมื่อตลาดตอบรับหมูปิ้งดีขนาดนี้ แบรนด์เป็นที่รู้จักแล้ว ทางคุณจักรกฤช บอกว่า จะเพิ่มเมนูไก่ปิ้ง เป็นทางเลือกแก่ผู้ที่ไม่ทานหมู รวมถึงอาจจะมีเมนูปิ้งเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะเข้าใจว่าธรรมชาติคนสมัยใหม่เบื่อง่าย ขณะเดียวกัน ต้องการของกินอร่อยในเวลารวดเร็ว อีกทั้งปลายปี 2558 เล็งขยายธุรกิจรูปแบบ แฟรนไชส์ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของ ปตท. ค้าปลีกโดยตรง

"กลุ่มคนที่เข้าปั๊มน้ำมันมี 2 กลุ่มคือ ไม่มีเวลามาเพียงเติมน้ำมัน 5-10 นาทีแล้วไป กับคนที่แวะเพื่อพักและซื้อของ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะใช้เวลาในปั๊มอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป ซึ่งผมมีความเชื่อว่าเทรนด์ในอนาคตคนกลุ่มที่แวะปั๊มเพื่อพักจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน พื้นที่ในปั๊มจะกลายเป็นทำเลทองของบรรดาธุรกิจค้าปลีก"

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการลงทุนของ PTTRM ผู้บริหารระดับสูง กล่าวว่า ทางบริษัทจะมุ่งให้มีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยยังคงศึกษาความเป็นไปได้ และมองหาโอกาสที่จะขยายธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ ทั้งการสร้างแบรนด์ของตัวเอง การร่วมมือกับพันธมิตร การร่วมลงทุนลักษณะซื้อแฟรนไชส์ เป็นต้น





ดัชนีชี้วัดความขายดี

พฤติกรรมของคนที่เข้าปั๊มน้ำมันนับวันเปลี่ยนแปลงไป บ้างก็เติมน้ำมันอย่างเดียว บ้างก็แวะพักเข้าห้องน้ำ หรือแวะซื้อขนมขบเคี้ยวอย่างเดียว นั่นก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีแบรนด์ปั๊มน้ำมันในใจ จะเติมน้ำมันก็ยี่ห้อหนึ่ง เข้ามินิมาร์ทก็อีกยี่ห้อหนึ่ง ห้องน้ำสะอาดก็ต้องปั๊มประจำเท่านั้น ส่งผลให้ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันต้องปรับตัว

คุณจักรกฤช จารุจินดา ประธานบริหาร บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด ยกตัวอย่าง ปั๊มน้ำมันที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ครบ อยู่ภายในโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ THE CRYSTAL PTT ถนนชัยพฤกษ์

ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ นอกจากจำหน่ายน้ำมันได้เดือนละ 1 ล้านลิตร ยังมีรายได้จากชานมไข่มุกวันละ 100 แก้ว หมูปิ้งเฉลี่ยวันละ 1,500 ไม้ ร้านสะดวกซื้อ ค่าเช่าของบรรดาร้านรวง ไม่เว้นแม้แต่ค่าเช่าแผงลอตเตอรี่

คิดเล่นๆ รายได้แต่ละวันที่เข้าปั๊มนี้ น้ำมันเดือนละ 1 ล้านลิตร เท่ากับว่า แต่ละวันจะขายน้ำมันได้ 33,000 ลิตร ชานมไข่มุกวันละ 100 แก้ว ราคาแก้วละ 30 บาท ก็วันละ 3,000 บาท หมูปิ้งไม้ละ 10 บาท เดือนละ 2 ล้านไม้ ถัวเฉลี่ยวันละ 66,600 ไม้ หรือเกือบวันละ 666,000 บาท ค่าป้ายโฆษณาหน้าปั๊มอีกเดือนละ 150,000 บาท แล้วไหนจะค่าเช่าแผงอีก ฯลฯ

และในบรรดาร้านที่ฝังตัวอยู่ในปั๊ม ดูเหมือนว่า "แผงลอตเตอรี่" จะมีห้วงเวลาทำงานน้อยที่สุด หนำซ้ำไม่ทำให้พื้นที่เปรอะเปื้อน นั่นคือทำงานเพียงเดือนละ 8 วัน ขายลอตเตอรี่เพียงงวดละ 4 วันเท่านั้น แผงลอตเตอรี่ขายดี ค่าเช่าแพงสุดเมื่อเทียบกับระยะเวลาขายเพียง 2-3 วันก่อนหวยออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น