วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การออมเงิน หนทางสู่ความมั่งคั่งในอนาคต พร้อมไฟส์ การคำนวณ

หลังจากที่ผมห่างหายไปจาก Pantip ไปนานมาก เพื่อไปประกอบอาชีพด้านอื่นๆ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสฟัง พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนวันเฉลิม ก็คิดว่า ขนาดท่านป่วยขนาดนี้ ท่านยังพยายามเป็นผู้ให้ตลอดเวลา ตัวผมก็เลยมีความตั้งใจว่า อยากจะลองเป็นผู้ให้ โดยแบ่งปันความรู้และประสพการณ์ สู่สังคมบ้าง ก็เลยต้งใจที่จะพยายามเขียนบทความให้ได้สัก สัปดาห์ละครั้ง ซึ่งก็หวังว่าการแบ่งปันนี้จะเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่ง ที่อาจจะทำให้สังคมดีขึ้นมาบ้าง

วันนี้อยากจะมาคุยเรื่องการออมเงินในสังคมไทย ซึ่งตัวผมเองหลายๆ วันที่ผ่านมานี้ได้คุยกับพนักงานในบริษัทและได้ถามถึงการออมเงิน ส่วนใหญ่พนักงานระดับล่างจะไม่ค่อยได้ออมในรูปแบบของเงินสด (เพราะใช้หมด) แต่เป็นการลงทุนในการปลูกบ้านในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนระดับสูงขึ้นมาหน่อยมักจะนิยมซื้อรถ แต่พอถามเพิ่มเติมสำหรับคนที่มีบ้านแล้วกลับไม่ค่อยเห็นการออมในรูปแบบอื่นๆ เท่าไหร่นัก


ซึ่งทำให้ค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจในอุปนิสัย การออมโดยทั่วๆ ไปของคนไทย ว่าจะเหมือนพนักงานที่บริษัท หรือไม่อย่างไร ผมก็เลยมาลองค้นคว้าดูเพิ่มเติม พอดูแล้วค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากการสำรวจของ เอแบคโพล1 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,674 ตัวอย่าง ในปี 2555  ปรากฏว่ามีเพียง 28% ที่มีเงินออม โดยเฉลี่ยออมเงินเพียงเดือนละ 3,122 บาทต่อเดือน อีก 72% ของกลุ่มตัวอย่างไม่มีเงินเหลือที่จะออมเลย  ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับ GNS – Gross Domestic Saving ซึ่งสูงถึง 31% ของ GDP 2 เลยทีเดียว แต่พอมาเทียบว่าเงินออมภาคครัวเรือนของคนไทย กลับมีเพียงแค่ 8.5% ของ GDP 3 เท่านั้น (ที่เหลือจะเป็นการออมภาครัฐ และ การออมของบริษัทเอกชน)


เมื่อ เอแบคโพล ถามกลุ่มตัวอย่างว่าแบ่งว่าเอาเงินออมไปทำอะไร ส่วนใหญ่มักที่จะเลือกการออมเงินในแง่ ฝากเงินในธนาคาร การทำประกันชีวิต และ ออมด้วยสลากออมสิน เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วดูน่าเป็นห่วงอย่างมากเพราะว่าอัตราผลตอบแทนในการออม 3 อย่างหลักที่กล่าวมาเป็นดังนี้

อัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยธนาคาร:



อัตราผลตอบแทนประกันชีวิต:

สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 4% IRR + ผลตอบแทนจากการลดหย่อน + การประกันความเสี่ยง 

อัตราผลตอบแทนสลากออมสิน 4 :

ประมาณ 2% IRR + โอกาสลุ้นรางวัล


ถ้าเรามองว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงการออมเงินเท่าไหร่นัก ก็เพราะว่าเรามักจะมองความสำคัญของตัวเราในปัจจุบันมากกว่า ตัวของเราในอนาคต ซึ่งหลายๆ คนยังไม่ได้คิดถึงความเกี่ยวเนื่องกับตัวเราในตอนนี้เท่าไหร่นัก แต่จริงๆ แล้วตัวเราในอนาคตนั้น บางทีกลับน่าเป็นห่วงมากกว่าตัวเราเองในปัจจุบันเสียอีก ลองนึกถึงว่าถ้าวันนึงเราไม่มีรายได้ แต่เราต้องการใช้เงินเราจะเอาเงินจากไหน?

ผมมีเพื่อน หลายๆ คนที่นึกว่าพวกเขาเองคงไม่ได้อยู่ถึงเป็นผู้สูงวัย ซึ่งเป็นแนวคิดที่แตกต่างกับหลักสถิติที่แสดงอย่างชัดเจนว่า คนไทย (และทั่วโลก) ต่างมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้นเป็นอย่างมาก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จากตัวอย่างด้านล่าง ประเทศไทยในปี 2549 มีอายุคาดเฉลี่ย ของประชากรหญิงที่ 77.6 ปี และ ประชากรชายที่ 69.9 ปี ซึ่งอัตรานี้ตรงข้ามกับเวลาที่เราจะใช้ทำงาน ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเวลาที่เราใช้ในการเรียนที่มากขึ้นอย่างมาก 


 

อายุคาดเฉลี่ยของประชากร 5




สมมุติว่าเด็กที่จบปริญญาตรีวันนี้อายุประมาณ 22 ปี เขาจะมีเวลาหาเงินจนถึงเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี เป็นเวลา 38 ปี ถ้ามองจากอายุเฉลี่ยของผู้ชายที่อายุ 70 ปี แสดงว่าเขาต้องเลี้ยงตัวเองเฉลี่ยไปอีก 10 ปี แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะต้องเลี้ยงตัวเองเฉลี่ยไปอีก 18 ปี เลยทีเดียว ซึ่งแนวโน้มนี้ยิ่งวันก็จะยิ่งสูงขึ้นเนื่องจากความเจริญทางการแพทย์ ที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว


เราจะมาดูว่าถ้าเขาจะต้องเก็บเงินเท่าไหร่ และมีผลตอบแทนเท่าไหร่ ถึงจะมีชีวิตที่ต้องการ หลังจากเกษียณ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ?


อันแรกผมลองตั้งสมมุติฐานว่า

เด็กคนนี้เริ่มงานด้วยเงินเดือน = 15,000 บาท
มีอัตราขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยที่ = 5%
เงินเฟ้อเฉลี่ย = 3.5%
เงินออมต่อเดือน = 10%
ผลตอบแทนของการออม + ลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ = 4%
ต้องการใช้เงินเท่ากับมูลค่าปัจจุบัน = 20,000 บาทต่อเดือน


แล้วลองใช้ Excel คำนวณดูว่าเด็กคนนี้จะใช้ชีวิตได้กี่ปีหลังการเกษียณ

พอลองกดดูก็จะเห็นว่าจริงๆ เขาจะมีเงินเก็บตอนเกษียณถึง 3.7 ล้านบาท เลยทีเดียว แต่เดือนๆ นึงต้องใช้ ถึง76,500 บาท  ตอนอายุ 61 ปี และเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต 38 ปีจะหมดตอนที่เขาอายุ 64 ปี เท่านั้น !!


ต่อจากนี้ผมจะสมมุติให้  เงินเดือนฐาน เงินเฟ้อ และ อัตราขึ้นเงินเดือน คงที่เพื่อลดความซับซ้อนของระบบ

แสดงว่าเด็กคนนี้จะสามารถเลือกทำได้ 3 อย่าง 

1. ออมมากขึ้นอย่างเดียว


ลองมาเริ่มด้วยการออมให้มากขึ้นก่อน จากตารางคำนวณเขาต้องออมถึง 25% เพื่อให้ใช้เงินหมดตอนอายุ 70 ปี แต่ถ้าต้องการอยู่ถึง 78 ปี จำเป็นต้องออมถึง 42% ของรายได้เลยเชียวล่ะ แต่ถ้าจะอยู่ให้ได้ถึง 100 ปีแล้วล่ะก็ น้องเขาต้องออมถึง 86% ของรายได้ เชียวล่ะ


2. ใช้เงินตอนเกษียณน้อยลงอย่างเดียว

ถ้าเขาใช้เงินให้น้อยลงตอนเกษียณ ก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เขาอยู่ได้ยาวขึ้นจากเงินที่มีอยู่ ถ้าจะให้ใช้เงินหมดตอนอายุ 70 ปี เขาจะต้องใช้เงินเท่ากับมูลค่าปัจจุบัน = 8,000 บาทต่อเดือน เท่านั้น แต่ถ้าจะให้อยู่ได้ถึง 78 ปี แล้วล่ะก็ จะต้องใช้เงินในมูลค่าปัจจุบันแค่เดือนละ 4,800 บาทเท่านั้น สมมุติว่าต้องการที่จะอยู่ให้ถึง 100 ปีล่ะก็ จะเหลือเงินให้ใช้เท่ากับมูลค่าปัจจุบันที่ 2,300 บาทเท่านั้น


3. ออม และ ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดีขึ้นอย่างเดียว

ถ้าต้องการจะอยู่ถึงอายุเฉลี่ยของผู้ชายที่ 70 ปี เด็กคนนี้ก็ต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 7.7% ต่อปี แต่ถ้าอยากจะอยู่ถึง 78 ปี ก็ต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ 9.1% ต่อปี นอกจากนี้เพียงแค่เพิ่มผลตอบแทนไปอีกนิดหน่อยให้เป็น 10.2% ต่อปีก็เพียงพอที่จะอยู่ได้เป็น 100 ปีแล้วล่ะครับ




สรุปการออมเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าต้องคำนึงด้วยว่า สิ่งที่เราออมให้ผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อ อย่างมีนัยยสำคัญ จริงหรือไม่ ? ถ้าไม่ เราจะทำวิธีไหนให้มี เงินเพียงพอที่จะอยู่ได้หลังเกษียณ อย่างน้อยๆ เท่ากับอายุเฉลี่ยของประชากร ชาย / หญิง หรือถ้าจะให้มั่นใจกว่านั้นคือต้องให้เพียงพอจนถึง 100 ปี

ในปัจจุบันผู้สูงอายุ ที่ยังต้องทำงานมีมากขึ้น และแนวโน้มยิ่งจะสูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากครอบครัวมีขนาดเล็กลง และ อายุเฉลี่ยมากขึ้น

ถ้าวันนี้ คุณเป็นลูกคนเดียว และ คุณมีลูกเพียงคนเดียว จะทำให้ลูก-หลาน 1 คน จะต้อง Support พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย จำนวน 6 คนด้วยตัวคนเดียว ถ้าทั้ง 6 คนไม่ได้คิดหาทางให้ตัวเอง มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ในวัยเกษียณ

แต่มันจะเป็นไปได้หรือ ที่คนวัยทำงาน 1 คน จะ Support คนอีก 6 คน ?


วันนี้คุณมีทางเลือกที่จะไม่สนใจ ตัวคุณในอนาคต และ ใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ตามที่ตัวคุณ ในปัจจุบัน อยากที่จะทำ แล้วรอพึ่งลูกหลาน หรือ จะกลับมามองถึงแผนการออม และการลงทุนในอนาคต ที่จะทำให้คุณมีความมั่งคั่ง เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้หลังเกษียณ


Edited: 

เห็นหลายท่านบ่นเรื่องไม่รู้จะหาวิธีไหนที่จะทำให้เงินออมเพิ่มขึ้นได้ โดยไม่เสี่ยงมาก ผมอยากแนะนำหนังสืออยู่ 1 เล่ม ที่ชื่อว่า the little book that beats the market ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนปีนี้ ผมจะหยิบมาเล่าให้ฟังในสักบทความนึงครับ

ไฟส์คำนวณ เพื่อแก้ไข Parameters ต่างๆ  สำหรับคนที่อยากลองสมมุติฐานอื่นๆ โหลดได้ที่ 
https://dl.dropboxusercontent.com/u/90106282/Saving-Calc.xls



Ref 1: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333078952&grpid=03&catid=&subcatid=

Ref 2: http://data.worldbank.org/indicator/NY.GDS.TOTL.ZS

Ref 3: http://www.fpo.go.th/S-I/Source/Article/Article142.pdf

Ref 4: http://www.gsb.or.th/lottery/lottery3.php

Ref 5: http://popcensus.nso.go.th/sub_topic.php?pid=1


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น