วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

"Henry Ford กับ การตัดสินใจทางธุรกิจ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล"



"Henry Ford กับ การตัดสินใจทางธุรกิจ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล"

ปี 1914, Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ Ford ได้ทำการตัดสินใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างนึง และ เป็นสิ่งที่ถูกได้รับการยกย่องว่า เป็น เรื่องที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยสิ่งที่ Henry Ford ได้ ทำลงไป นั่นคือ การประกาศนโยบาย ขึ้นค่าแรง พนักงานทุกคน จาก $ 2.5 เป็น $ 5 เหรียญ

ทำไม แค่การขึ้น ค่าแรงเท่าตัว จึงกลายเป็น เรื่องที่ถูกจัดว่า เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการตัดสินใจทางธุรกิจ ลองอ่านเรื่องราวนี้ดูครับ

ในช่วงปี 1913 รถยนต์ของ Ford ในรุ่น Model T ได้รับความนิยมสูงมาก ยอดขายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีก่อนหน้านั้น Henry Ford ได้เพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 2 เท่าตัว ด้วยการเพิ่มจำนวนแรงงานไป 2 เท่า และในรอบนี้ เขาก็เพิ่มกำลังการผลิตไปอีกเท่าตัว แต่จำนวนพนักงานในรอบนี้ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร ซึ่งการผลิตในรอบนี้ เรียกได้ว่า ระบบการผลิตในแบบ Assembly Line ของ Ford นั้นมีประสิทธิภาพสูงมากๆ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีปัญหาตามมา ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ อัตราการลาออก (Employee Turnover) นั้นสูงมากๆ อยู่ที่ประมาณ 370% เรียกได้ว่า พนักงานหมุนเวียนเปลี่ยนกันแทบจะทั้งปี นอกจากนั้นในทุกๆวันจะมีพนักงานขาดงานประมาณ 10% ส่งผลให้บริษัท ต้องคอยหาพนักงานมาทดแทนกันอยู่ตลอดเวลา (แรงงานเสริมต้องหาเผื่อไว้ 1,300 – 1,400 คน ตลอดเวลา) เมื่อไปดูที่ปัญหาของการลาออกของพนักงาน ก็พบว่า เป็นเพราะ เริ่มเบื่องาน ทำงานซ้ำๆ ไม่มีแรงจูงใจ ก็เลยเกิดอาการขาดงาน เปลี่ยนงาน

ช่วงปลายปี 1913 Ford จะแจกโบนัสให้กับพนักงานที่ทำงานได้ดี จากพนักงาน 15,000 คน แต่มีเพียงแค่ 640 คนหรือ 4-5% เท่านั้น ที่ผ่านเกณฑ์ในการได้รับโบนัส

Henry Ford พบว่า นี่คือ ปัญหาใหญ่ !!!

ปัญหาของพนักงาน ของคน จะส่งผลต่อองค์กรอย่างร้ายแรงในอนาคตอย่างแน่นอน

วันที่ 5 ม.ค. 1914 Henry Ford ประกาศนโยบายใหม่ ให้กับพนักงาน สื่อมวลชน และ สังคมทราบ โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งสิ่งที่เป็นนโยบายใหม่ของ Ford มี 3 อย่างคือ

1. ปรับลดชั่วโมงทำงานจาก 9 ชั่วโมง เป็น 8 ชั่วโมง

2. ปรับเพิ่มจำนวนกะ จาก 2 กะ เป็น 3 กะ และเปิดรับพนักงานใหม่ เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อรอบการผลิต

3. ปรับอัตราค่าแรงจากเดิม $2.5 เหรียญ เป็น $5 เหรียญ (ในยุคนั้น ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณคือ $2 เหรียญกว่าๆ)

ซึ่งการปรับนโยบายใหม่จะทำให้ Ford ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีก $10 ล้านเหรียญต่อปี เรียกได้ว่า บริษัทจ่ายเพิ่มให้พนักงาน $10 ล้านเหรียญต่อปี เพื่อเพิ่มรายได้และปรับปรุงชีวิตการทำงานให้ดีขึ้น (ให้เวลากับชีวิตส่วนตัวมากขึ้น)

หลังจากข่าวออกไปในวันแรก ไม่กี่วันถัดมา มีกองทัพแรงงานมาสมัครงานกับ Ford มากกว่า 12,000 คน และ มีส่งเป็น จดหมายมาอีกกว่า 14,000 คน

เมื่อมีคนไปสอบถามกับทาง Henry Ford ถึงแนวคิดนี้ ทำไมถึงต้องปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นสูงขนาดนั้น เขาได้ให้ความเห็นไว้ว่า

"การที่เพิ่มรายได้ให้กับพนักงาน ก็คือ การกระตุ้นทางเศรษฐกิจอีกทางนึง เมื่อพนักงานมีเงินมากขึ้น ก็สามารถที่จะใช้จ่ายได้มากขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น และสุดท้าย พนักงานก็จะสามารถมาเป็นลูกค้าซื้อรถของ Ford ได้เช่นกัน"

เท่านั้นยังไม่พอครับ..
เมื่อ Henry Ford เริ่มให้ความสำคัญกับชีวิต และ ความเป็นอยู่ของพนักงาน บริษัท Ford ก็เริ่มมีการลงทุนในด้านต่างๆ เพื่อให้พนักงานได้รับสิ่งดีๆในการทำงานมากขึ้น เช่น การปรับสภาพสถานที่ทำงานให้น่าอยู่ สวยงาม ปลอดภัย, การสร้างพื้นที่ออกกำลังกาย, การปรับระบบโบนัส ระบบการรักษาพยาบาลให้พนักงาน

แต่การจ่าย $5 เหรียญ ก็มีเงื่อนไขนะครับ คือว่า $2.4 เหรียญ จะมีการจ่ายให้ทันทีตามการทำงานปกติ แต่ อีก $2.6 เหรียญ จะจ่ายให้หลังจากนั้น 6 เดือน ซึ่งถือว่าเป็น กำไรที่จะได้รับ โดยพนักงานที่จะได้รับสิทธิ์ในการทำงาน และ ได้ $5 เหรียญ นั้นต้องถือได้ว่า รับเฉพาะ “คนดี คนสะอาด และ มีการทำชีวิตให้ดีขึ้น”

คนที่จะสามารถทำงานและได้รับรายได้ 5 เหรียญต่อวัน ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ครับ
- ผู้ชายที่แต่งงานแล้ว และต้องดูแลครอบครัว
- ผู้ชายที่ยังไม่แต่งงาน แต่ต้องอายุต่ำกว่า 22 ปี และต้องดูแลครอบครัว เช่น คุณแม่, น้องชาย, น้องสาว
- ผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัว ไม่จำกัดอายุ
- พนักงานต้องไม่ดื่มเหล้า ติดสุรา หรือ มีการทำร้ายบุคคลในครอบครัว
- มีหลักฐานในการออมเงิน
- ดูแลรักษาที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี สะอาด และ เป็น คนดีมีคุณธรรมในสังคม
(ส่วนหนุ่มโสด สาวโสด ทางบริษัทอาจจะมองว่า ยังไม่มีภาระมากเท่าไหร่ เลยให้ความสำคัญกับ คนที่ต้องมีภาระจริงๆก่อน)

เรียกได้ว่า หากอยากจะได้รายได้ดี ผลตอบแทนดี คุณต้องเป็นคนที่ดีของสังคมด้วย ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์หลักของ Ford ที่ว่า จะช่วยส่งเสริมในเรื่องของการเงิน และ ชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น และ Ford ได้มีการจัดตั้งทีมงานในการตรวจสอบ ชีวิตของพนักงานทั้งหมดอยู่เรื่อยๆ โดยจะมีการสุ่มโทรไปเช็คอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ Ford ได้ทำลงไปนั้น เป็นมากกว่า แค่ เรื่องของธุรกิจ แต่มันกลับรวมไปถึง สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม ของพนักงาน ซึ่งที่ผ่านมา ในการขึ้นค่าแรง คนส่วนใหญ่ก็จะห่วงแต่ต้นทุน และ ผลกำไรที่จะได้รับ

ท้ายที่สุด ผลทางธุรกิจที่ Ford ได้รับคือ

“อัตราการลาออกลดลงจาก 370% เป็น 16%”
.
“ประสิทธิภาพสูงขึ้น 40%”
.
“จำนวนพนักงานใหม่ลดลงจากเดิมที่ต้องหาปีละ 53,000 คน เหลือเพียง 2,000 คน”
.
และหลังจากนั้น สองปี “ผลกำไร ของ Ford เพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านเหรียญ เป็น 60 ล้านเหรียญ”

ในปีแรกที่เริ่มนโยบายนี้ มีการแจกเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น คืนไป $11.2 ล้านเหรียญ สูงกว่า งบประมาณที่ให้กับพนักงานซะอีก.. (จ่ายพนักงาน $10 ล้านเหรียญ)

แนวคิดนี้ ก็คุ้นๆกับเรื่องที่เกิดในบ้านเราครับ เมื่อไม่นานมานี้ มีนักธุรกิจท่านนึงออกมาบอกว่า ค่าแรงบ้านเราควรจะปรับสูงขึ้น แต่บริษัทของท่านผู้นั้นก็ยังไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้เพิ่มอะไรให้กับพนักงาน ต่างกันกับของ Henry Ford ที่เขาไม่ได้ออกมาประกาศว่าอะไรควรจะเป็นอย่างไร แต่เค้าลงมือทำก่อนเลย

อ่านถึงตรงนี้แล้ว คิดยังไงกับเรื่องนี้กันบ้างครับ
คิดว่า เรื่อง เป็น การตัดสินใจที่ยอดเยี่ยม เหมือนกับที่ได้รับการยกย่องกันหรือไม่ครับ

สำหรับผม จากที่ได้อ่านหนังสือ The Greatest Business Decisions of All Time มาทั้งเล่ม และ จากที่ได้เคยอ่านกรณีศึกษาต่างๆมามากมาย
ผมว่า เรื่องนี้ ถือว่า เป็นการตัดสินใจ ที่สุดยอดจริงๆครับ เพราะเป็นการที่ทำแล้ว ได้ผลดี กับทั้งตัวองค์กรเอง พนักงาน สังคม และ กลายเป็น แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ให้กับทั้ง สังคม และ เศรษฐกิจการปกครองได้อีกด้ว

ที่มา: หนังสือ The Greatest Business Decisions of All Time

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น