วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กองทัพมะกันสั่งทำ "เครื่องแบบล่องหน"

updated: 10 มิ.ย. 2558 เวลา 14:55:17 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
กองทัพสหรัฐอเมริกาออกหนังสือเชิญชวนให้บริษัทเอกชนนำเสนอ "เครื่องแบบ" ใหม่ที่ทำให้ทหารในกองทัพ "ล่องหน" ได้ โดยกำหนดระยะเวลาในการพัฒนา 18 เดือน ก่อนคัดเลือกต้นแบบของเครื่องแบบซึ่งใช้เทคโนโลยีในการผลิต "เมทาแมทีเรียล" ที่ดีที่สุดมาทดสอบการใช้งาน
"เมทาแมทีเรียล" หรือวัสดุระดับ "ซุปเปอร์" ที่มีโครงสร้างซึ่งปรับตัวได้สูงมากนี้ เคยถูกนำออกมาสาธิตเป็นครั้งแรกในปี 2006 เพื่อแสดงให้เห็นว่ามันไม่สะท้อนแสง แต่หักเหแสงให้โค้งไปโดยรอบผู้สวมใส่ ซึ่้งเป็นเหตุผลที่ทำให้วัสดุดังกล่าว "มองไม่เห็น" เมื่อมองจากมุมมองจำเพาะมุมหนึ่งหรือมากกว่า 1 มุมมอง

หลังจากการสาธิตประสิทธิภาพในครั้งนั้น เทคโนโลยีผลิตวัสดุดังกล่าวนี้ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวรุดหน้าไปกว่านั้น สาเหตุสำคัญเนื่องจากวัสดุใหม่นี้ส่วนใหญ่ "ล่องหน" ได้ดีภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งสภาพแวดล้อมถูกควบคุมอย่างแน่นหนา หรือไม่ก็สามารถล่องหนได้เฉพาะแสงในบางสเปกตรัมเท่านั้น



อย่างไรก็ตาม หนังสือเชิญชวนของกองทัพอเมริกันแสดงให้เห็นว่า ทางกองทัพต้องการ "เครื่องแบบล่องหน" นี้ และหาลู่ทางเพื่อทำให้เทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้ ถ้าหากไม่สามารถทำให้ทหารอเมริกันล่องหนได้โดยสิ้นเชิง อย่างน้อยก็ต้องทำให้ทหารที่สวมใส่เครื่องแบบดังกล่าวนี้กลายเป็นทหาร "ไร้เงา" ในช่วงความยาวคลื่น (เวฟเลนจ์) ที่แน่นอนบางช่วงได้

ตามสเปกที่กองทัพสหรัฐกำหนดไว้ในหนังสือเชิญชวน ทางเพนตากอนต้องการให้ผลิตเครื่องแบบล่องหนที่สามารถทำงานได้ดีในทุกระดับอุณหภูมิ ตั้งแต่ระดับจุดเยือกแข็งเรื่อยไปจนถึงอุณหภูมิเกินกว่า 35 องศาเซลเชียส ต้องทำงานได้ในทุกสภาพอากาศ ตั้งแต่ลมกระโชกแรง เรื่อยไปจนถึงในสภาพพายุ, พายุทะเลทราย หรือหมอกลงจัด นอกจากนั้นต้องทำงานได้ทั้งในภูมิประเทศแบบในเมือง, ในป่า, บนภูเขา และในทะเลทราย และจะดีที่สุดถ้าไม่จำเป็นต้องใช้พลังงาน แต่หากจำเป็นต้องใช้แหล่งจ่ายพลังงาน ต้องสามารถใช้งานต่อเนื่องได้อย่างน้อย 4 ชั่วโมง และน้ำหนักรวมทั้งหมดไม่ควรเกิน 2 ปอนด์ (ไม่ถึง 1 กิโลกรัม) ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ประจำตัวทหารในกองทัพอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วได้สมบูรณ์แบบ

มาร์ติน เวเกเนอร์ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งคาร์ลสรูห์ ให้ความเห็นว่า เครื่องแบบที่ทำให้ผู้สวมใส่ "ล่องหน" โดยสมบูรณ์แบบนั้น ไม่น่าจะมีใช้กันภายในไม่ช้าไม่นานนี้ และยืนยันว่าการทำให้วัตถุขนาดใหญ่ "ไม่สามารถมองเห็นได้" ในทุกสภาวะแสงและสีนั้น โดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่อง "เป็นไปไม่ได้" ทีมของเวเกเนอร์เองเคยประสบความสำเร็จในการสร้าง "เสื้อคลุมล่องหน" ที่ผลิตจากวัสดุที่เรียกว่าคริสตอลโฟโตนิค ก็ "มองไม่เห็น" ในช่วงความยาวคลื่นจำเพาะช่วงหนึ่งเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม มีผู้ผลิตบางรายอย่างเช่น บริษัท "ไฮเปอร์สเตลธ์ ไบโอเทคโนโลยี" ของประเทศแคนาดา ซึ่งอ้างว่าเคยเข้าไปสาธิต "ซุปเปอร์วัสดุ" ให้นักวิทยาศาสตร์ของกองทัพอเมริกันได้รับทราบคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว และยืนยันว่ากำลังก้าวไปสู่ระดับที่ทางกองทัพอเมริกันกำหนดไว้แล้วในเวลานี้

ซึ่งคงต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าล่องหนได้จริงหรือไม่ และล่องหนได้มากน้อยแค่ไหนกัน




ที่มา : นสพ.มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น