วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Fuji Fujisaki : การบริหารจัดการน้ำแบบญี่ปุ่น

เรื่องโดย : Fuji Fujisaki จากรายการดูให้รู้ www.marumura.com



ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งซึ่งเคยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ และยังเป็นประเทศที่มีโอกาสเสี่ยงน้ำท่วมมาก เนื่องจากมีปริมาณฝนตกเป็นอันดับ 3 ของโลก ประสบการณ์จากการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ทำให้ญี่ปุ่นพยายามที่จะบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นก็สามารถจัดการกับปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทรงประสิทธิภาพ เราไปดูให้รู้กันว่าที่ญี่ปุ่นเค้ามีระบบป้องกันน้ำท่วมกันอย่างไรบ้างครับ





ที่มาของระบบการจัดการน้ำแบบญี่ปุ่น

ระบบการจัดการน้ำในประเทศญี่ปุ่น ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุว่า เมื่อปีค.ศ. 1959 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เมืองโตเกียว ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบทำให้บ้านเรือนเสียหาย ผู้คนเสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก เพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองโตเกียวมีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ เมื่อเวลาเกิดน้ำท่วมจึงทำให้น้ำระบายออกได้ยาก เมื่อเป็นดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้สร้างคันกั้นน้ำที่แน่นหนา ซึ่งสามารถป้องกันและต้านทานแรงดันน้ำได้เวลาเกิดน้ำท่วม  





คันกั้นน้ำที่มากด้วยประโยชน์

คันกั้นน้ำที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้สร้างขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่นนั้น จะมีลักษณะคล้ายเนินภูเขาซึ่งมีความสูงประมาณ 10 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะล้นมาท่วมที่พักอาศัยของชาวบ้านได้ และเพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย และพื้นที่ด้านล่างของคันนั้นจะเป็นพื้นที่ราบ ซึ่งบริเวณนั้นจะมีต้นไม้ปลูกไว้ ถ้าในช่วงเวลาที่ไม่มีน้ำท่วม บริเวณที่ราบแนวคันกั้นน้ำ ก็จะกลายเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อมที่สามารถใช้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ เล่นกีฬา อย่างเช่น ฟุตบอล เบสบอลและทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น เป็นการผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน การเรียนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่ามากเลยทีเดียว








อุโมงค์ยักษ์

อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่นี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ระบายน้ำออกจากเมืองได้อย่างรวดเร็วเมื่อเวลาเกิดฝนตกหนักหรือมีน้ำท่วม ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นในเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว โยโกฮาม่า เป็นต้น ซึ่งอุโมงค์มีความลึกจากพื้นดินลงไปกว่า 50 เมตร และในอุโมงค์ก็จะมีแทงก์น้ำขนาดใหญ่ เพื่อรองรับน้ำและชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงเพื่อที่จะสามารถรับมือกับการป้องกันน้ำท่วมได้ทันในเวลาที่มีฝนตกในปริมาณมาก ขนาดของแทงก์น้ำ มีความกว้างถึง 30 เมตร ลึก 70 เมตร ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 6 แทงก์ กระจัดกระจายไปตามทางที่อุโมงค์ผ่าน ซึ่งแต่ละแทงก์ ก็จะสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ถึง 130,000 ลูกบาศก์เมตร คิดรวมๆ แล้ว จะเปรียบเสมือนเขื่อนเล็กๆ ใต้ดินก็ว่าได้ 








ระบบการผันน้ำออกจากอุโมงค์ยักษ์ 

ห้องเครื่องของระบบการระบายน้ำออกจากอุโมงค์ขนาดใหญ่นี้ คนญี่ปุ่นได้นำเอาเครื่องยนต์ของเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ โบอิ้ง 737 มาดัดแปลงเพื่อใช้ในการระบายน้ำออกจากอุโมงค์ ซึ่งในห้องเครื่อง จะมีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่นี้ทั้งหมดจำนวน 4 เครื่อง แต่ละเครื่องจะมีพลังแรงม้าถึง 14,000 แรงม้า ซึ่งสามารถระบายน้ำออกจากอุโมงค์ได้ถึง 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าเป็นระบบระบายน้ำที่น่านำมาดัดแปลงใช้ในประเทศไทยมากเลยทีเดียว เพราะประเทศไทยก็เคยประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักเหมือนกัน ถ้ามีระบบการป้องกันแบบนี้ คิดว่าประเทศไทยก็คงไม่เกิดน้ำท่วมอีก





ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์

ในสถานีควบคุมระบบการเปิดปิดประตูระบายน้ำนั้น จะควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อสัญญาณเตือนกับโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ด้วย เมื่อมีระดับน้ำเกินกว่าที่กำหนดไว้ โทรศัพท์ก็จะเตือนให้กับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้เตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันที  ถึงแม้ว่าในสถานีควบคุมระบบจะมีการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์อันทันสมัยก็ตาม แต่เมื่อมีฝนตกก็ต้องมีคนเฝ้าสังเกตการดูปริมาณน้ำอยู่ตลอดเวลาเพื่อความไม่ประมาทเหมือนกัน  








ความร่วมมือในระเบียบเพื่อให้เป็นระบบ

ในประเทศญี่ปุ่น ทุกคนก็มีส่วนช่วยเหลือในการป้องกันน้ำท่วมได้ เช่น ในการสร้างบ้านเรือนจะมีกฎหมายบังคับไว้ว่า ต้องมีแหล่งกักเก็บน้ำจำนวนหนึ่งในเวลาที่เกิดฝนตกหนัก เพื่อช่วยลดหรือชะลอการไหลของน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกระทันหัน เมื่อหลังเกิดฝนตกหนักก็สามารถปล่อยน้ำที่กักเก็บเอาไว้ออกไปได้ ในแผนที่ของประเทศญี่ปุ่น แต่ละพื้นที่จะระบุให้รู้ว่าพื้นที่ไหนเป็นแหล่งเกิดน้ำท่วมได้ง่ายบ้าง จึงทำให้เวลาจะสร้างบ้านเรือนก็สามารถสร้างสิ่งป้องกันการเกิดน้ำท่วมได้อย่างเหมาะสม








คนญี่ปุ่นมักจะนำบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตนเอง และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแบบเดิมๆ ขึ้นอีก ทำให้รู้สึกได้ว่า “ประวัติศาสตร์นั้น...มีค่าเสมอ” เป็นเรื่องที่น่านำมาเป็นแบบอย่างจริงๆ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น