ชื่อผลงาน : เกราะกันกระสุนน้ำหนักเบาสมรรถนะสูง
เสื้อเกราะแข็งน้ำหนักเบาเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการใช้งานด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารในกองทัพไทย รศ.ดร.ศราวุธ ริมดุสิต และคณะจึงได้พัฒนาเกราะกันกระสุนคอมพอสิทชั้นสูง ต้นแบบเพื่อให้มีระดับการป้องกันกระสุนในระดับสูงสุดของเกราะประเภทเดียวกันตามมาตรฐาน NIJ (U.S. National Institute of Justice) ซึ่งเป็นมาตรฐานเก่าแก่และแพร่หลายมากที่สุด
คณะวิจัยได้พัฒนาเกราะพอลิเมอร์คอมพอสิทจากเมตริกชนิดพอลิเบนซอกซาซีนและพอลิเบนซอกซาซีนอัลลอย โดยได้ปรับหาสัดส่วนองค์ประกอบที่เหมาะสมระหว่างเรซินดังกล่าวกับสารดัดแปร เพื่อทำเป็นตัวประสานเส้นใยเสริมแรง เช่น เส้นใยกลุ่มอะรามิดโดยควบคุมให้มีระดับการยึดเกาะกับเส้นใยที่ไม่มากหรือน้อยเกินไปทำให้ได้ระดับการป้องกันกระสุน และการทรงรูปของเกราะที่สูง โดยงานวิจัยนี้ได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากเอ็มเท็คซึ่งพัฒนาส่วนที่เป็นวัสดุเซรามิกส์และโลหะ โดยในระยะแรกทีมวิจัยได้ลงนามความร่วมมือกับโรงงานซ่อมสร้างรถยนต์ทหาร กรมสรรพาวุธทหารบก ในการพัฒนาเกราะกันกระสุนต้นแบบ เพื่อประกอบและติดตั้งบนยานพาหนะ ตลอดจนทำการทดสอบประสิทธิภาพการขับเคลื่อนของยานพาหนะ พบว่าสามารถเพิ่มกลไกในการสลายแรงปะทะจากกระสุนปืนได้อย่างชัดเจน ทำให้เกราะคอมพอสิทที่ได้สามารถพัฒนาให้มีจำนวนชั้นความหนาไม่มากและมีระดับการป้องกันการเจาะทะลุและการทรงรูปที่สูงไว้ได้ ขณะที่กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ได้นำเกราะกันกระสุนไปติดตั้งที่รถกระบะของหน่วยงานเพื่อใช้ขนส่งกำลังพล และมีแนวโน้มนำไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จะเห็นได้ว่าเป็นการพัฒนาเกราะกันกระสุนจากวัสดุที่นักวิจัยไทยสามารถสังเคราะห์ได้เอง ช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ในเชิงวิชาการยังถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับในวารสารทางวิชาการระดับสากล โดยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล SCI 5 เรื่อง และยื่นจดสิทธิบัตรอีก 2 เรื่อง ได้แก่ “เกราะกันกระสุนพอลิเมอร์คอมพอสิทจากเบนซอกซาซีน-ยูรีเทนอัลลอยและเส้นใยทนแรงขีปนะ” และ “เกราะกันกระสุนพอลิเมอร์คอมพอสิทเสริมแรงด้วยเส้นใยทนแรงขีปนะและเมตริกพอลิเมอร์ผสมชนิดพอลิคาร์บอเนตและพอลิอคริโลไนไตรด์ บิวตะไออีนสไตรีน โคพอลิเมอร์”
นอกเหนือจากผลกระทบที่สำคัญในการสร้างบุคลากรวิจัยอันจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในสังคมฐานความรู้แล้ว ผลงานที่ได้จากโครงการวิจัยยังสามารถต่อยอดไปใช้ในการผลิตเกราะกันกระสุนที่สามารถผลิตได้ง่ายและต้นทุนการผลิตไม่มาก แต่ให้ระดับการป้องกันเทียบเท่าเกราะประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น องค์ความรู้ที่ได้จึงถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การผลิตวัสดุขึ้นมาใช้เองในประเทศ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถจัดหาอุปกรณ์มาใช้งานให้มีจำนวนที่เพียงพอกับบุคลากรผู้ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะในงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ ส่งผลในการบรรเทาความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้
หัวหน้าโครงการ / นักวิจัย
หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.ศราวุธ ริมดุสิต
นักวิจัย
1. ดร.กุลจิรา สุจิโรจน์ 2. นางสาวสมศิริ ปฐมทรัพย์
3. นางสาวผกาวัลย์ กมลชัยวานิช 4. นางสาวชาลินี เลี้ยงวชิรานนท์
โครงการที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาเกราะกันกระสุนพอลิเมอร์คอมพอสิทน้ำหนักเบาจากเมตริกประเภทเบนซอกซาซีนอัลลอยโดยใช้เส้นใยเสริมแรงชนิดต่าง ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น