วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเตรียมตัวนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

เมื่อครั้งตั้งบริษัทใหม่ๆ ผู้ก่อตั้งซึ่งมักจะเป็นคนรุ่นพ่อแม่ของเรานั้น เชื่อว่า ณ ช่วงเวลานั้นเมื่ออายุสัก 30-40 ปี มักจะไม่ได้มองถึงการสืบทอดบริษัทสู่ลูกหลานนัก แต่เมื่ออายุเริ่มเข้าสู่วัย 50-60 ปีแล้ว หลายท่านเริ่มกังวลว่าใครจะเป็นผู้สืบทอดกิจการของครอบครัวให้คงอยู่อย่างมั่นคงต่อไปได้เช่นเดียวกับรุ่นพ่อแม่ที่อุตส่าห์สร้างสมไว้ให้ หลายท่านเริ่มมองถึงการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการระดมทุนเพื่อขยายบริษัทให้ยิ่งใหญ่ต่อไปได้อีกแล้วยังเป็นรักษาบริษัทให้คงอยู่ต่อไปได้อีกด้วย

เมื่อพูดถึงการเอาธุรกิจครอบครัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำการแปรสภาพจากบริษัทธรรมดาเป็นบริษัทมหาชน สมาชิกครอบครัวคงต้องคิดกันอย่างหนัก เพราะถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ซึ่งจะมีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทไปอย่างถาวร และจะมีคนภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารกิจการของครอบครัวมากขึ้น ยังไม่นับรวมการที่เอาบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นก็มีขั้นตอนกระบวนการหลายขั้นตอน และมีต้นทุนอีกมากมายทั้งการจัดจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน การปรับโครงสร้างของบริษัททางกฎหมายให้เหมาะสม และที่สำคัญคือการจัดโครงสร้างทางบัญชีใหม่ จากบัญชีที่บางบริษัทครอบครัวอาจจะมีสองเล่ม ลดลงเหลือเล่มเดียว ซึ่งนั้นหมายถึงสิ่งที่เคยเรียกว่ากงสีจะต้องมีการปรับปรุงกันขนานใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้างที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องเอามานั่งถกกันก่อนที่จะตัดสินใจ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการสืบทอดธุรกิจครอบครัวเท่านั้น “ธุรกิจครอบครัวมีทางเลือกหลากหลายทางในการสืบทอดธุรกิจของตระกูล ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวก็คือการรักษาและถ่ายทอดความมั่งคั่ง รวมถึงชื่อเสียงที่บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวได้สร้างสมมาจากรุ่นสู่รุ่น และเมื่อมองลึกลงไปในเป้าหมายของการรักษาและถ่ายทอดความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น ทางเลือกต่างๆ ของธุรกิจครอบครัวก็มีตั้งแต่การผลักดันให้ลูกหลานก้าวขึ้นมารับช่วงสืบทอดกิจการ หรือการหามืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารงาน ไปจนถึงการขายกิจการครอบครัวซึ่งถือเป็นวิธีแปลงความมั่งคั่งในรูปของธุรกิจไปอยู่ในรูปของตัวเงินแทน โดยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นทางเลือกที่อยู่ระหว่างกลางของขั้วทั้งสอง

การตัดสินใจในเรื่องการสืบทอดธุรกิจจะสะท้อนแนวคิดของเจ้าของ ซึ่งแต่ละคนจะรู้ถึงความต้องการของธุรกิจของตนเองได้ดีที่สุด แต่นอกจากความต้องการทางธุรกิจแล้ว เจ้าของยังต้องมองในมุมของครอบครัวที่หลายท่านมีความตั้งใจที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเหตุผลสำคัญคือเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างลูกหลานเมื่อความข้นของเลือดเจือจางลงในทายาทรุ่นต่อๆ ไป

ถ้าจะมองในแง่ธุรกิจ ข้อดีของการนำธุรกิจหรือบริษัทของตระกูลเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็คือ เป็นแหล่งระดมเงินทุน เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายกิจการ ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และเป็นวิธีในการลดหนี้ทางหนึ่ง นอกจากนั้นยังสามารถกู้เงินได้โดยไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกัน ลดภาระความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาลงได้มาก แล้วยังทำให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทดูดีขึ้นในสายตาของผู้ให้เงินกู้ คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และสังคม และยังสามารถดึงดูดคนดีมีความสามารถเข้ามาร่วมงาน รวมถึงอาจดึงดูดให้ลูกหลานอยากร่วมงานมากขึ้นด้วย

ข้อดีในแง่ของครอบครัว ก็คือเป็นทางออกจากธุรกิจหากสมาชิกครอบครัวไม่ต้องการถือหุ้นอีกต่อไป ก็ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แล้วเอาเฉพาะเงินไป และราคาหุ้นที่ซื้อขายก็ถูกกำหนดมาแล้วชัดเจนโดยตลาด ทำให้พี่น้องไม่ต้องมาถกเถียงกัน จึงเป็นการลดประเด็นความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวลงได้ ที่สำคัญคือการบริหารงานมีความโปร่งใส ชัดเจน มี คณะกรรมการส่วนกลางช่วยลดประเด็นความขัดแย้งภายในครอบครัว

ส่วนข้อเสียก็มีเช่นกัน ในแง่ของธุรกิจ แน่นอนว่าสัดส่วนของการถือหุ้นจะต้องลดน้อยลง ต้องมีการแบ่งกำไรให้กับผู้ถือหุ้นบริษัทรายอื่นๆ ด้วย และที่สำคัญก็คือ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ ซึ่งอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและยังต้องเปิดเผยข้อมูลบางส่วนของบริษัท และยอมให้มีการเข้ามาตรวจสอบโดยองค์กรกลางต่างๆ เช่น ก.ล.ต. ทำให้เจ้าของกิจการเกิดความรู้สึกสูญเสียความอิสระในการบริหารงานไป

ข้อเสียในแง่ของครอบครัวก็เช่น มีความเสี่ยงในการถูกเข้าเทกโอเวอร์ได้ง่าย เพราะหุ้นอาจถูกเปลี่ยนมือซื้อขายออกไปได้โดยง่าย รวมถึงมูลค่าหุ้นอาจผันแปรไปได้ตามภาวะเศรษฐกิจและผันผวนไปตามภาวะของตลาดหุ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้อาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวธุรกิจเลยก็ได้ และที่สำคัญคือ อำนาจในการตัดสินใจจะทำอะไรเกี่ยวกับบริษัทต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนมากขึ้น หลายท่านอาจทำใจไม่ได้ก็ตรงจุดนี้ล่ะครับ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่จะสามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน จะต้องมีลักษณะสามประการ คือ หนึ่งจะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแสคือได้รับความนิยมตลอดเวลา สองคือจะผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในการบริหารกิจการให้อยู่ในกระแสได้ และสามคือจะต้องสามารถหาคนที่เหมาะสมมาสืบทอดกิจการต่อจากตนเองได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหัวใจสำคัญของการสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืนก็อยู่ที่คนนั่นเอง

ผมเชื่อว่าทุกครอบครัวคงอยากให้มีลูกหลานที่เก่งและมีความสนใจในธุรกิจเข้ามาสืบทอดกิจการของครอบครัว แต่ความสามารถและความสนใจในธุรกิจนั้นไม่ได้ถ่ายทอดกันทางดีเอ็นเอนะครับ ลูกของคุณอาจไม่ได้ชื่นชอบหรือมีใจรักในการทำธุรกิจเช่นเดียวกับคุณก็ได้ แต่เขาอาจจะเก่งในด้านอื่นๆ เขาอาจเป็นแพทย์ เป็นครู หรือทำงานด้านศิลปะอื่นๆ ได้ดี ดังนั้น ผมคิดว่าคนที่เป็นพ่อๆ ทั้งหลาย อาจตั้งความหวังไว้ได้ แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้บ้าง คิดพิจารณาถึงทางเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้สำหรับการสืบทอดธุรกิจครอบครัว กรณีที่ไม่มีสมาชิกคนใดในครอบครัวที่เหมาะสมสามารถเข้ามารับหน้าที่ผู้นำธุรกิจต่อจากท่านได้ บางครั้งการนำบริษัทเข้าตลาดฯ ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้องค์กรสามารถดึงคนที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาทำหน้าที่ผลักดันธุรกิจครอบครัวต่อจากท่านได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรักษาและถ่ายโอนความมั่งคั่งของครอบครัวให้ก้าวข้ามจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน

ผมขอทำความเข้าใจสักเล็กน้อยครับว่าตลาดหลักทรัพย์ปีนี้อายุ 39 ปีแล้วครับ และมีผู้ดูแลกำกับตลาดหลักทรัพย์ชื่อว่าสำนักงานก.ล.ต. แต่ระบบซื้อขายทุกอย่างอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ หากท่านต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การซื้อขายทุกอย่างจะต้องผ่านไปที่ก.ล.ต.ก่อนเพื่อให้มีการอนุมัติเอกสาร แต่หลังจากอนุมัติแล้ว การทำซื้อขายต่อวันทำกันที่ตลาดหลักทรัพย์ 

ในตลาดหลักทรัพย์มี 2 ตลาดอยู่ภายใน ตลาดแรกเป็นตลาดใหญ่เรียกว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดเล็กเรียกว่า ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ แตกต่างกันที่ทุนจดทะเบียนถ้าเกิน 300 ล้านจะทำการซื้อขายกันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ้าต่ำกว่านั้นจึงจะที่ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ 

ทุกวันนี้มีบริษัทจดทะเบียนอยู่กว่า 600 บริษัท กลุ่มธุรกิจไอทีและธุรกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงต่างต้องการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพราะยิ่งกำไรเติบโตมากขึ้น มูลค่าธุรกิจมากขึ้น สามารถใช้มูลค่าตรงนี้ไปต่อยอดทำธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างสบาย จึงเห็นได้ว่าบริษัทสมัยนี้เข้าไปทำธุรกิจในลาว พม่า เวียดนามมากขึ้น โดยใช้ความเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นฐานสร้างความเชื่อมั่น และน่าเชื่อถือในการก้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมั่นคง แต่สิ่งที่คุณต้องแลกมาก็คือระบบบัญชีที่ถูกต้อง และการจ่ายภาษีที่ถูกต้อง แต่ยิ่งวันนี้ที่ภาษีอยู่ที่อัตรา 20% และสรรพากรของเรามีความเชี่ยวชาญมากขึ้น หลายบริษัทยอมที่จะเข้ามาจดทะเบียน และปัจจุบันเรามีกฎกติกามารยาทกับสรรพากรว่าถ้าบริษัทที่เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนและจดทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว จะไม่เข้ามาเล่นภาษีย้อนหลัง 

สุดท้ายนี้ผมก็ขอเชิญชวนนะครับขอให้ท่านลองกลับไปพิจารณากันดู สำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่ากิจการของตนเหมาะสมกับตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ผมขอแนะนำว่าท่านต้องตอบคำถามที่ว่า จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ทำไมให้ได้ก่อน โดยต้องมองภาพให้ชัดเจนว่าการเข้าตลาดจะสามารถช่วยกิจการได้อย่างไร ต้องมองความพร้อม ทั้งบุคลากรและ Business Model ว่าเหมาะสมกับตลาดหรือไม่ สามารถสร้างการเติบโตได้หรือไม่เพราะนั่นคือสิ่งที่นักลงทุนมอง และต้องตรวจสอบว่าทีมบัญชีของบริษัทมีความพร้อมในการปรับตัวหรือไม่ เพราะสิ่งที่ต้องเปลี่ยนมากที่สุดในการเข้าตลาด คือระบบบัญชี หากสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ทั้งหมด การดำเนินขบวนการเข้าตลาดที่เหลือนั้นเชื่อว่าผู้ประกอบการสามารถจัดการได้ด้วยวิธีของตนเองครับ หรือหากท่านติดขัดมีข้อสงสัยกังวลใดๆ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีทีมงานที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาร่วมในตลาดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น