“เห็นได้ชัดว่า ยานาอิ เป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ และ Uniqlo ต้องยกย่องเขาและแนวทางในการบริหารงานของเขา ซึ่งไม่ค่อยเห็นในองค์กรใหญ่ๆ เขาทำให้ทีมงานมีความมั่นใจพอที่จะปล่อยให้ Designer มีอิสระจนสามารถแสดงตัวตนออกมา และพวกเขาตั้งใจผลิตสินค้าคุณภาพดีในราคาเหมาะสมตรงตามที่ลูกค้าต้องการ มันโล่งจริงๆ ที่ไม่ถูกปิดกั้นความคิดจากสายการบริหารอันซับซ้อนและมีอิสระที่จะ Design ได้ตามที่ฉันต้องการ ฉันได้รับอนุญาตให้ออกแบบแม้กระทั่งหน้าต่างร้านสาขา ซึ่งมันถือเป็นครั้งแรกของฉันเลย” Celia Birtwell Designer ชาวอังกฤษ กล่าวถึง Brand เสื้อผ้าค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่นที่กำลัง Hot สุดในปัจจุบัน และ ทาดาชิ ยานาอิ ผู้ก่อตั้งวัย 64 ปี ซึ่งล่าสุดติดอยู่ 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของนิตยสาร Time เมื่อปี 2013อีกด้วย
การได้ไปเรียนรู้งานที่ Barney ร้านเสื้อผ้าค้าปลีกของสหรัฐฯในนิวยอร์กสมัยหนุ่ม ทำให้บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์และการเมือง จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ นำมาใช้เป็นองค์ความรู้ในการกระโจนเข้าสู่วงการธุรกิจไปพร้อมกับการสานต่อร้านสูทสั่งตัดของผู้เป็นบิดา โดยเจ้าตัวเผยว่า ประสบการณ์ที่ร้าน Barney เป็นประโยชน์มากต่อการทำการตลาดและขยายกิจการจากร้านตัดสูทไปเป็นเสื้อผ้ากีฬา และเสื้อผ้าสตรี ตามลำดับ จนถึงปี 1985 ยานาอิ ก็ตัดสินใจเปิดร้าน Casual Wear ที่ใส่ได้ทั้งหญิงและชายขึ้นมาที่เมืองฮิโรชิม่า ภายใต้ชื่อ Uniqlo (Unique Clothing Warehouse)
ต่อมาในปี 1991 เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Ogori Shoji (OS) ชื่อร้านเดิมของพ่อเป็น Fast Retailing และเมื่อถึงปี 1994 ก็มีสาขาอยู่ทั่วประเทศกว่า 100 สาขา และจากการขายสินค้าราคาถูก ทำให้ในปลายยุค 90 บริษัทสามารถทำเงินได้ถึงหลัก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้เป็นครั้งแรก พร้อมกับรอดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศได้อย่างงดงาม
ในปี 2002 ยานาอิ ตัดสินใจเปิดสาขาต่างประเทศเป็นครั้งแรก เริ่มจากในนครเซี่ยงไฮ้ 1 สาขาและในกรุงลอนดอนอีก 4 สาขา แต่หลังยอดขายของสาขาในอังกฤษตกลง ถึง 2 ปีติดจนสินค้าล้นสต็อก จากวิกฤติใหญ่ดังกล่าวทำให้ต้องถอยกลับมาตั้งหลักบ้านเกิดและจับมือกับ Designer ทั้งในและต่างประเทศจนพ้นมรสุมลูกนี้ไปได้ โดยนักธุรกิจชาวเมืองอูเบะกล่าวถึงนิสัยพร้อมกับความเสี่ยงว่า “ผมเป็นคนชอบเสี่ยง เพราะธุรกิจทุกอย่างเป็นเรื่องของความเสี่ยงทั้งนั้น ยิ่งเสี่ยงมากความเป็นไปได้ในการทำกำไรก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น” และย้ำเรื่องการทำงานแบบใส่ใจรายละเอียดว่า “ผู้จัดการที่ดีต้องใส่ใจในรายละเอียดของร้าน, ผลิตภัณฑ์ และการทำการตลาด การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่เป็นสิ่งจำเป็น เราคงไม่สามารถเรียกผู้บริหารคนไหนว่าเป็นผู้บริหารที่ดีได้ ถ้าเข้าไม่ใส่ใจในรายละเอียด”
ปัจจุบัน Uniqlo คือร้านค้าปลีกเสื้อผ้าอันดับ 1 ของเอเชีย มีสาขาอยู่กว่า 1,400 แห่ง ใน 16ประเทศ ขณะที่ตัว “ยานาอิซัง” ก็ครองตำแหน่งบุคคลที่รวยที่สุดในญี่ปุ่นและอันดับที่ 41 ของโลกปี 2015ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 20,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 646,400 ล้านบาท) ตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbesแต่เขาก็ยังเป็นคน Low Profile ชอบทำตัวเป็นลูกค้าและโทรศัพท์ไปร้องเรียนกับ Call Center บริษัทตัวเอง สำหรับโครงการในอนาคตเขาเผยว่า อย่างแรก จะไม่ให้ลูกชาย 2 คนเข้ามาสานต่อกิจการแม้ทั้งคู่มีหุ้นอยู่ในบริษัท เพราะเกรงว่าบริษัทจะพบวิกฤติเหมือน Panasonic ส่วนโครงการที่ 2 คือการขยับจากร้านเสื้อผ้าค้าปลีกอันดับ 4 ของโลกขึ้นไปเป็นอันดับ 1 ภายในปี 2020 แซงหน้า Zara, H&M และ Gap อันดับ 1, 2 และ 3 ในปัจจุบันให้ได้ ผ่านแนวคิด LifeWare เสื้อผ้าคุณภาพดี ราคาเข้าถึงได้ ไม่ตกเทรนด์แฟชั่น สวมใส่สบาย ใช้ได้ในทุกโอกาสและทุกช่วงวัย
แม้จะเป็นคนที่ชอบเสี่ยง แต่ ทาดาชิ ยานาอิ ก็เสี่ยงอย่างรอบคอบ และมีแผนรองรับ โดยในส่วนของโครงการแรก เขาได้เปิดสถาบันพัฒนาผู้บริหาร เพื่อผลักดันคนในองค์กรให้มีความก้าวหน้า ส่วนการขึ้นเป็น Fashion Retail เบอร์ 1 ของโลกนั้นก็ดูจะมีอนาคตสดใส ด้วยการเปิดสาขาในสหรัฐไปแล้ว 7 แห่ง และมีสาขาบนขนาด 1,800 ตารางเมตรใน Central WestGate ของไทยซึ่งเปิดวันนี้ (4 กันยายน 2015) วันแรก เป็นสาขาล่าสุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น