24 กันยายน 2015
อิสรนันท์
ขณะที่ “ขบวนการหักเขี้ยวเสือและเด็ดปีกแมลงหวี่แมลงวัน”ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งและแผ่ขยายวงกว้างมากขึ้นไปเกือบทั่วทุกวงการ ไม่ใช่แต่ในหมู่ข้าราชการทั้งพลเรือนและทหารและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนในตอนแรกเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงธุรกิจภาคเอกชน มาเฟีย วงการศาสนาหรือแม้กระทั่งในครอบครัว จนเริ่มมีเสียงเปรยด้วยความสงสัยว่าขบวนการหักเขี้ยวเสือและเด็ดปีกแมลงวันจะรุดหน้าไปถึงระดับใด สิ้นสุดตรงจุดไหน ที่สำคัญ จะบานปลายกลายเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งที่ 2 หรือไม่ ตามอย่าง “แก๊ง 4 คน” นำโดยนางเจียง ชิง ภริยาอดีตประธานเหมา เจ๋อตง เพียงแต่อาจจะโชคดีกว่าตรงที่เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมของฝ่ายธรรมะ ไม่ใช่ฝ่ายมารซ่อนรูปเหมือนในอดีต
ข้อสังเกตนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้นำเสนอบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งของกู่ โป๋จง ซึ่งพีเพิลเดลีไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเป็นใคร ผิดจากปรกติที่มักจะบอกว่าเป็นใคร ทำงานที่ไหน แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสมาคมนักเขียนจีนระบุว่าเป็นข้าราชการคนหนึ่งซึ่งประจำการที่ฝ่ายการเมืองทั่วไปในกองทัพ ในบทความชิ้นนี้ที่ไม่ปรากฏในสื่ออื่นได้ประณามอดีตผู้นำหลายคนโดยไม่ระบุชื่อว่ายังคงยึดติดในอำนาจและสร้างความแตกแยกขึ้นภายในพรรค
บทวิจารณ์ใน “หน้าทฤษฏี” ของพีเพิลเดลีซึ่งมีทุกวันยกเว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์กล่าวว่า “ผู้นำบางคนไม่เพียงแต่สร้างบริวาร (ที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ) และสั่งให้สร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้พวกเขายังคงมีอิทธิพลต่อไปในอนาคตเท่านั้น แต่ยังต้องการจะเข้าไปแทรกแซงในปัญหาสำคัญๆ ในองค์กรต่างๆ ที่พวกเขาเคยทำงานอยู่ แม้ว่าจะเกษียณมาแล้วหลายปีดีดักแล้วก็ตาม”
กู่ โป๋จง ให้ความห็นว่าการกระทำของอดีตผู้นำเหล่านั้นทำให้ผู้นำรุ่นใหม่รู้สึกเหมือนกับถูกมัดมือมัดเท้า ต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขและความกังวลทั้งๆ ที่ไม่ควรจะบังเกิดขึ้น
“นอกจากนี้ อดีตผู้นำเหล่านี้ยังทำให้บางองค์กร…เกิดแตกแยกเป็นกลุ่มๆ จนเจ้าหน้าที่เริ่มรู้สึกท้อแท้หรือขวัญเสีย ส่งผลกระทบต่อการประสานงานและศักยภาพ”
บทวิจารณ์ของกู่ยังได้เปรียบเทียบอดีตผู้นำที่เกษียณแล้วว่าเหมือนกับน้ำชาที่หายร้อนแล้ว ซึ่งไม่ถือเป็นน้ำชาที่ดีอีกต่อไป “ควรจะสร้างเป็นปทัสถานใหม่ว่าเมื่อคุณพ้นจากตำแหน่งแล้ว คุณก็ควรทิ้งความเห็นต่างๆ ไว้เบื้องหลัง”
ปรากฏว่า มีการอ้างอิงคำอุปมานี้บนทวิตเตอร์ของจีนอย่างซิน เว่ยโป๋ ที่โพต์ข้อความหนึ่งว่า “แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากชาขิง (คำว่าขิงในภาษาจีนออกเสียงว่าเจียง พ้องกับเสียงของเจียง เจ๋อหมิน) ยังต้องการเป็นชาขิงร้อนๆ ต่อไปเหมือนก่อนหน้า ในกรณีนี้ ก็ควรจะเททิ้งเสีย”
ขณะที่สื่อตะวันตกนำมาขยายความต่อบทความของกู่ โป๋จง ว่า โจว หย่งคัง อดีตผู้นำหมายเลข 3 ของจงหนานไห่ และอดีต “ซาร์ความมั่นคง” นั้น เป็นที่รู้กันไปทั่วว่าเป็นพันธมิตรกับอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ซึ่งบริหารแดนมังกรระหว่างปี 2532-2545 แต่ก็ยังคงมีอิทธิพลคอยชักใยอยู่เบื้องหลังตลอดช่วงทศวรรษให้หลังช่วงที่หู จิ่นเทา ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน
สื่อตะวันตกยังรายงานด้วยว่า มีการตั้งข้อสงสัยไปทั่วว่าอดีตประธานาธิบดีเจียงจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะถูกสี จิ้นผิง และคณะกรรมการตรวจสอบวินัยประจำคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือผู้คุมกฎของพรรค (ซีซีดีไอ) เล่นงานย้อนหลังหรือไม่ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ. ซีซีดีไอได้โพสต์บทความชิ้นหนึ่งบนออนไลน์ถึงเรื่องราวของมหาขุนนางกังฉินผู้ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดการคอร์รัปชันในสมัยราชวงค์ชิง ซึ่งผู้สันทัดกรณีหลายคนเชื่อตรงกันว่าเป็นการตีกระทบชิ่งถึงเซิง ชิงหง อดีตรองประธานาธิบดีผู้เป็นมือขวาของเจียง
ขณะเดียวกัน ก็แทบไม่น่าเชื่อว่าการกวาดล้างการทุจริตอาจจะขยายวงกว้างลามไปถึงวงการศาสนาแล้ว เมื่อมีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งซึ่งแทบไม่เป็นที่สังเกตของใครๆ ว่าพระมหาเถระสือ หย่งซิน เจ้าอาวาสวัดเส้าหลินหรือเสี้ยวลิ้มยี่แห่งเขาซงซาน มณฑลเหอหนาน ทางภาคกลางของแดนมังกร จู่ๆ พลันงดภารกิจเดินทางเยือนไทยในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่าติดภารกิจ แล้วมอบหมายให้พระมหาเถระสือ หย่งฟู รองเจ้าอาวาสทำหน้าที่แทน นำคณะพระสงฆ์จากแดนมังกร 40 รูป พร้อมด้วยนักธุรกิจอีกกว่า 80 คน เดินสายคารวะศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญหลายแห่งในหลายจังหวัดของแดนดินถิ่นลุ่มเจ้าพระยา
ข่าวเล็กๆ ชิ้นนี้ปรากฏในหนังสือพิมพ์ไชนาเดลีเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่เพิ่งผ่านมา จากนั้น สำนักข่าวตะวันตกรวมไปถึงซีเอ็นเอ็นและข่าวออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนท์ ได้นำไปต่อยอดว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งปวง อาจเป็นเพราะพระมหาเถระ สื่อ หย่งซิน วัย 50 ปี เจ้าของฉายา “พระซีอีโอ” หรือ “ซีอีโอกังฟู” อาจจะกำลังถูกตรวจสอบตามนโยบาย “หักเขี้ยวเสือ” ของสี จิ้นผิง
ทั้งซีเอ็นเอ็นและสำนักข่าวตะวันตกต่างอ้างเอกสารของผู้ใช้นามแฝงว่าสือ เจิ้งยี่ ที่อ้างว่าเคยเป็นผู้คุมกฎของวัดเส้าหลิน ที่โพสต์ลงในอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา กล่าวหาพระมหาเถระสือ หย่งซิน ว่าเป็น “บรรพชิตจอมปลอม”เนื่องจากทำผิดศีลหลายข้อ โดยเฉพาะศีล 2 ข้อสำคัญ ได้แก่ ศีลข้อ 2 อทินนาทานา เวรมณี ที่ห้ามลักทรัพย์ หรืองดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ แต่จากรายงานของหนังสือพิมพ์สเปนฉบับหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กล่าวหาพระมหาเถระสือ หย่งชิน ว่าได้ แอบยักยอกทรัพย์ของวัดเส้าหลินไปเป็นสมบัติส่วนตัว โดยซุกซ่อนเงินไว้ในบัญชีลับส่วนตัวในต่างประเทศหลายบัญชีด้วยกัน รวมแล้วกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือนับแสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้นำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อบ้านพักสุดหรูไว้ทั้งในสหรัฐฯ และเยอรมนี บ้านบางหลังได้กลายเป็นรังรักสำหรับเสพสุขกับภริยาลับบางคน
ในโพสต์ของสือ เจิ้งยี่ ยังได้กล่าวหาเจ้าอาวาสวัดเส้าหลินว่าทำผิดศีลข้อที่ 3 กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม แต่เจ้าอาวาสกลับแอบมีเมียเก็บหลายคน ในจำนวนนี้มีพิธีกรชื่อดังและแม่ชีรวมอยู่ด้วย แถมยังมีลูกนอกกฎหมายกับลี่ จิงเชียง นักศึกษาจีนคนหนึ่งที่กำลังเรียนอยู่ที่เยอรมนี โดยเจ้าอาวาสเป็นผู้ส่งเสีย ไม่นับรวมไปถึงการแอบไปซื้อบริการโสเภณีในมณฑลเหอหนาน ซึ่งโชคร้ายถูกจับได้เพราะบังเอิญตำรวจไปกวาดล้างโสเภณีในช่วงนั้นพอดี แต่วัดเส้าหลินช่วยกันกลบข่าวนี้ อ้างว่าที่เจ้าอาวาสไปยังสถานที่อโคจรแห่งนั้นก็เพื่อไปทำพิธีทางศาสนาเท่านั้น
สื่อออนไลน์ยังโพสต์ข้อความที่กล่าวหาเจ้าอาวาสวัดเส้าหลินว่าไม่ทำตัวให้สำรวมสมกับเป็นเจ้าอาวาสวัดเก่าแก่มีอายุยาวนานว่า 1,500 ปี ภาพที่เห็นเป็นประจำในสื่อต่างๆ ก็คือภาพของเจ้าอาวาสกำลังถือไอโฟนสาละวนอยู่กับการต้อนรับผู้นำโลกและผู้นำยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรม ตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ไปจนถึงทิม คุก ซีอีโอของบริษัทแอปเปิล หรือภาพการรับมอบของถวายที่สุดหรูหรา อาทิ รถรถโฟล์กสวาเกนสุดหรูมูลค่า 1 ล้านหยวน (ราว 5 ล้านบาท) หรือการสั่งทอจีวรทองคำผืนหนึ่งในราคา 160,000 หยวน (ราว 800,000 บาท) เฉพาะค่าด้ายทองคำอย่างเดียวก็ตกถึง 50,000 หยวน (ราว 250,000 บาท) เป็นต้น
แม้จะมีข่าวลือหนาหูมานานกว่า 4 ปี แต่สำนักงานกิจการศาสนาของจีนเพิ่งจะแถลงเป็นครั้งแรกว่ากำลังตรวจสอบข่าวนี้ ขณะที่วัดเส้าหลินได้แถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงหวังทำลายชื่อเสียงของเจ้าอาวาสรวมทั้งชื่อเสียงของวัดเส้าหลิน ทั้งยังตั้งรางวัล 50,000 หยวน (ราว 250,000 บาท) ให้กับผู้ที่สามารถกระชากหน้ากากตัวการปล่อยข่าวลือเหล่านี้ได้
อันที่จริงสารพัดข่าวฉาวโฉ่นี้เริ่มแพร่สะพัดนับตั้งแต่พระมหาเถระสือ หย่งซิน ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี 2542 จากนั้นก็เริ่มแปลงวัดเส้าหลินให้เป็นพุทธพาณิชย์ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท สมกับที่เป็นพระมหาเถระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ
เริ่มตั้งแต่การปรับค่าเข้าชมวัดคนละ 100 หยวน (ราว 500 บาท) ทำให้แต่ละปี วัดเส้าหลินมีรายได้จากค่าเข้าชมกว่า 750 ล้านบาท วัดเส้าหลินอ้างว่ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากบัตรผ่านประตู ได้นำไปมอบให้กับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้ทันสมัย
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการส่งพระเส้าหลินเดินสายไปแสดงศิลปะกังฟูยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จนทำให้ศิลปะการต่อสู้แบบกังฟู โดยเฉพาะเพลงหมัดมวยที่ดัดแปลงมาจากสัตว์ ไม่ว่าจะเพลงหมัดพยัคฆ์ เพลงหมัดงู เพลงหมัดตั๊กแตน ท่านกกระเรียน เพลงหมัดวานร หรือเพลงหมัดเมา ศีรษะเหล็ก ฯลฯ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รวมทั้งยังร่วมการแข่งขันชกมวยในลาสเวกัส หรือทำธุรกิจดันดารากังฟูให้ดังอย่างเฉินหลงและหลี่เหลียงเจี๋ย หรือเจ็ต ลี ศิษย์สายตรงรุ่นใหม่ ซึ่งชำนาญในเพลงหมัดมวยและวิทยายุทธเกือบทุกด้าน นอกเหนือจากแตกฉานในอาวุธ 18 ประเภท
ที่เห็นผลมากที่สุดก็คือโครงการแปลงวัดเป็นคอมเพล็กซ์ ต่อยอดจากโครงการเร่งขยายสาขาของวัดเส้าหลินไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมแล้วราว 40 แห่ง อาทิที่สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี อาร์เจนตินา หรือแม้กระทั่งที่ประเทศไทย ราวกับแฟรนไชส์ของแม็คโดนัลด์ สตาร์บัคส์ เคเอฟซี หรือต้องการแข่งกับสวนสนุกของดิสนีย์แลนด์ที่ภายในทำเป็นคอมเพล็กซ์เช่นกัน ฯลฯ เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พระมหาเถระสือ หย่งซิน เพิ่งเซ็นเช็คงวดแรก 3 ล้านดอลลาร์ จาก 297 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างคอมเพล็กซ์สาขาใหม่ที่ออสเตรเลีย ซึ่งภายในมีทั้งวัดเส้าหลิน โรงแรม โรงเรียนสอนกังฟู และสนามกอล์ฟ
ที่ก้าวไกลไปกว่านั้นก็คือ การนำวัดเส้าหลินไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ในฐานะเป็นบริษัทท่องเที่ยว ปรากฏว่าเพียงแค่วันแรกๆ ก็สามารถขายหุ้นที่เปิดขายต่อสาธารณะได้กว่า 100 ล้านหยวน
หลักฐานทั้งหมดนี้จึงทำให้หลายคนเชื่อว่าพระมหาเถระสือ หย่งซิน อาจจะกำลังถูกทางการสอบสวนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเงียบๆ อยู่จริง แต่สื่อทางการยังไม่รายงานยืนยันหรือปฏิเสธข่าวลือนี้
ยังไม่เลิกรา จับข้าราชการกังฉินต่อ
ในช่วงไล่เลี่ยกัน ทางการแถลงว่าสามารถยึดเงิน 6,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 216,628 ล้านบาท) ที่ได้จากเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตคอร์รัปชันกลับเป็นของรัฐ โดยข้าราชการกังฉินตลอดจนนักธุรกิจและประชาชนทั่วไปที่ได้รับการยกเว้นภาษีโดยไม่มีเหตุอันควรจะต้องคืนที่ดินและทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายแก่รัฐบาล
ด้านสำนักข่าวปักกิ่งนิวส์ได้เปิดเผยสถิติที่น่าสนใจของการกวาดล้างทุจริตในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐอาวุโสระดับมณฑล เขตปกครองตนเอง และเทศบาลนครทั่วประเทศ พบว่ามณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้นำโด่งเป็นอันดับหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการมากถึง 90 คน
อันดับสองเป็นของมณฑลหูเป่ยทางภาคกลาง มีเจ้าหน้าที่ถูกสอบสวน 61 คน ส่วนอันดับรองลดหลั่นลงมา ได้แก่ มณฑลเสฉวน 54 คน มณฑลเหอหนาน 52 คน และมณฑลซานซี 50 คน ตามลำดับ ทั้งนี้ ยูนนานกับเหอเป่ยมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกสอบสวนในข้อหาคอร์รัปชันน้อยที่สุด 29 ราย จากสถิตินี้ยังสะท้อนให้เห็นว่ามีการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 20 คน ในมณฑลต่างๆ ถึง 15 แห่งด้วยกัน
ส่วนความคืบหน้าในการจับกุมข้าราชการกังฉินนั้น ล่าสุดสำนักงานอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้อง 2 คนสนิทของโจว หย่งคัง อดีตผู้นำหมายเลข 3 ของทำเนียบจงหนานไห่ คนแรกได้แก่หลี่ ตงเซิง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจวัย 59 ปี ในข้อหาใช้ตำแหน่งหน้าที่อันมิชอบเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนแลกกับผลประโยชน์มหาศาล ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งที่สถานีโทรทัศน์กลางแห่งชาติจีน (ซีซีทีวี) กระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ สำนักการเมืองและกฎหมายกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์
อีกคนหนึ่งก็คือจี้ เหวินหลิน วัย 49 ปี อดีตรองผู้ว่าการมณฑลไหหลำ ที่ถูกตั้งข้อหาเดียวกันว่าได้กระทำความผิดในสมัยที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการประจำในคณะกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ มณฑลเสฉวน สำนักงานกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ และรัฐบาลท้องถิ่นไหโข่ว มณฑลไหหลำ
สื่อจีนรายงานว่า ศาลประชาชนในเมืองเทียนจินหรือเทียนสินซึ่งเคยพิพากษาลงโทษ โจว หย่งคัง จะเป็นผู้พิจารณาคดีนี้ แต่สื่อไม่ได้ให้รายละเอียดว่าทุจริตเป็นเงินก้อนใหญ่ขนาดไหนและการพิจารณาคดีจะมีขึ้นเมื่อใด
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือน ส.ค. คณะกรรมการตรวจสอบวินัยประจำคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซีซีดีไอ) ได้สั่งยึดเงินของข้าราชการระดับล่างในกรุงปักกิ่งคนหนึ่งที่ยักยอกเงินของแผ่นดินจำนวน 821 ล้านหยวน (ราว 4,105 ล้านบาท) นับเป็นหนึ่งในเงินก้อนใหญ่สุดที่รัฐได้คืนจากการปราบปรามการคอร์รัปชัน
ขณะที่สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทางการได้สั่งปลดจาง เพ่ยซาน อดีตข้าราชการระดับล่างที่ดูแลด้านเกษตรกรรม บริเวณชานกรุงปักกิ่งจากการเป็นสมาชิกพรรคและนำตัวฟ้องศาล หลังจากซีซีดีไอได้ทำการตรวจพบว่าจางได้ยักยอกเงิน 3 ล้านหยวน ในกองทุนเพื่อการลงทุนทางการเงินระหว่างปี 2551-2557 ไปเข้าบัญชีการลงทุนในชื่อของตัวเอง และได้ประโยชน์ก้อนมหาศาลกลับเข้ากระเป๋าตัวเองจากเงินลงทุนก้อนนี้ เพราะในช่วงนั้นราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จีนพุ่งเป็นจรวดกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ ภายในช่วง 12 เดือน ก่อนที่หุ้นเริ่มตกเมื่อกลางเดือน มิ.ย.
ในส่วนความคืบหน้าของ “ปฏิบัติการตาข่ายใหญ่เท่าฟ้า” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “สกายเน็ต” อันเป็นบันไดขั้นที่ 3 ของขบวนการหักเขี้ยวเสือ ด้วยการขอความร่วมมือจากนานาประเทศให้ส่งตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในจีนนั้น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลปักกิ่งเตือนไม่ให้ส่งสายลับไปตามล่าผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีไปกบดานอยู่ที่สหรัฐฯ พร้อมกับกล่าวหาสายลับกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่สังกัดกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ว่าเดินทางเข้าประเทศด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจ จากนั้นก็ใช้กลวิธีต่างๆ ข่มขู่หมายบีบคั้นให้ผู้ต้องหาจำยอมต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อไปรับโทษตามกฎหมาย อาทิ การขู่ทำร้ายลูกเมียหรือญาติสนิทมิตรสหายที่ยังอาศัยอยู่ในจีน ปรากฏว่านับวันปฏิบัติการข่มขู่ในทำนองนี้ยิ่งหนักข้อมากขึ้น ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ต้องหาที่หลบหนีคดียอมเดินทางกลับประเทศกว่า 930 คน นับตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา
http://thaipublica.org/2015/09/xi-jinping-6/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น