วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558

"ไม่เห็นโลงไม่หลั่งน้ำตา" "สมคิด" เตือนอุตฯไทย-ใกล้วิกฤต

updated: 24 ก.ย. 2558 เวลา 11:40:34 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
"สมคิด" ชี้อุตสาหกรรมไทยระวังวิกฤต "ไม่เห็นโลงไม่หลั่งน้ำตา" เผยต้องปรับตัวเน้นงานวิจัยมากขึ้นเพื่อก้าวสู่ระดับโลก เพราะที่ผ่านมายังพัฒนาแบบครึ่งๆ กลางๆ จนสู้ชาติอื่นไม่ได้ ย้ำอย่าหวังพึ่งแต่ภาครัฐ ชี้หากชักช้าอาจไม่ทันการณ์
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างการปาฐกถาหัวข้อ "ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมโลก" ระหว่างการเป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 ว่าประเทศไทยเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2-4 ซึ่งเปลี่ยนผ่านจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม

ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ถึง 40% อย่างไรก็ตามในอดีตอุตสาหกรรมไทยเติบโตขึ้นด้วยข้อได้เปรียบบางอย่าง เช่น ค่าจ้างแรงงานต่ำ ต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศที่ถูก รวมทั้งการรับจ้างผลิต (OEM) แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยไม่สามารถใช้ความได้เปรียบในในเรื่องเดิมๆ มาสร้างการแข่งขันเหมือนในอดีตได้อีก เนื่องจากต้นทุน ด้านต่างๆ เราแข่งขันไม่ได้

"อุตสาหกรรมของไทยอยู่ในระดับที่เรียกว่า start in middle หรือเป็นภาวะที่พัฒนาแบบครึ่งๆ กลางๆ จะต้นทุนถูกกว่าประเทศอื่น ก็ไม่ใช่ นวัตกรรมจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ก็ยังไม่ไปถึงขั้นนั้น ซึ่งภาวะแบบนี้ถือว่าแข่งขันยาก ซึ่งผมเคยยกตัวอย่างธุรกิจสิ่งทอที่เราเคย ยิ่งใหญ่ในเอเชีย แต่พอมีปัญหาเรื่องค่าแรงและการตีตลาดของสินค้าบางประเทศ ผู้ประกอบการเราจำนวนมากก็ปรับตัวไม่ได้"

นายสมคิดกล่าวว่า โอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ต้องพัฒนาตัวเองให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตระดับโลก ซึ่งการจะไปแบบนั้นได้ต้องลงทุนเรื่องการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม ซึ่งบริษัทของไทยแม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่แต่ยังลงทุนในส่วนนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับยอดขายในแต่ละปี

ขณะที่หลายๆบริษัทที่มีนวัตกรรมในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยสูงมาก เช่น บริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้ จัดสรรงบประมาณปีละ 10-20% ของผลกำไรในแต่ละปี ในเรื่องการลงทุนเพื่อการวิจัยในอุตสาหกรรมเอกชนจะรอการสนับสนุนจากรัฐอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว

บางบริษัทไม่ลงทุน พอจวนตัวก็ถามหามาตรการทางภาษีจากรัฐ แบบนี้ภาษาโก้วเล้งเขาเรียกไม่เห็นโลงไม่หลั่งน้ำตา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทั้งรัฐและเอกชนจะรอแต่ภาครัฐไม่ได้

การพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะต่อไปคือต้องดูว่าจะสร้างการแข่งขันอย่างไรจะทำกำไรเพิ่มขึ้นอย่างไร ขณะเดียวกันต้องอยู่บนหลักการความโปร่งใส การแสดงความรับผิดชอบต่อโลกและสังคม ซึ่งรัฐบาลพยายามดูว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง เช่นนโยบายการพัฒนาแบบคลัสเตอร์ การช่วยเอสเอ็มอีให้แข่งขันได้ สร้างการเติบโตไปข้างหน้าร่วมกัน



ที่มา : นสพ.ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น