19 พฤษภาคม 2015
อิสรนันท์
2 ปีนับตั้งประกาศวาระแห่งชาติว่าต้องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้พ้นไปจากแดนมังกร โดยจะกระชากตัวเหล่ากังฉินที่โกงกินบ้านเมืองมาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็น “พยัคฆ์ร้าย” ตัวใหญ่ หรือนัยหนึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ระดับสูง อาทิ เลขาธิการพรรคประจำมณฑลหรือนายทหารระดับสูง และ “แมลงหวี่แมลงวัน” ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับล่างในท้องถิ่น อาทิ ครูหรือข้าราชการท้องถิ่น หรือพวก “หมาจิ้งจอก” หรือข้าราชการขี้ฉ้อราว 16,000-18,000 คน ที่หอบเงินที่ได้จากการกินสินบาทคาดสินบนรวมกันแล้วกว่า 8 แสนล้านหยวนหนีไปเสวยสุขในต่างประเทศระหว่างช่วงกลางทศวรรษ 2543–2551 ปรากฏว่าระหว่างเดือน ก.ค. ถึงสิ้นปีที่ผ่านมา จีนสามารถนำตัวผู้ต้องหา 680 คน กลับไปดำเนินคดี ในจำนวนนี้ราว 40 เปอร์เซ็นต์ สมัครใจขอกลับไปดำเนินคดีในประเทศหลังได้รับการเกลี้ยกล่อมจากตำรวจที่ให้ความหวังว่าจะได้รับลดหย่อนผ่อนโทษหนักเป็นเบา
ขณะนี้ สี จิ้นผิง ผู้นำหมายเลขหนึ่งแห่งทำเนียบจงหนานไห่ ได้ยกระดับการกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันสู่ระดับการปราบปรามข้ามพรมแดน ด้วยการร่วมกับนานาประเทศให้ช่วยส่งตัวกังฉินเหล่านั้นกลับมารับโทษในประเทศ โดยไม่ปล่อยให้เสวยสุขในฐานะผู้ลี้ภัยในประเทศนั้นๆ อีกต่อไป
พูดง่ายๆ ก็คือ จากแผนบันไดขั้นแรกภายใต้รหัส “ปฏิบัติการปราบพยัคฆ์และแมลงหวี่แมลงวัน” สู่บันไดขั้นที่ 2 ภายใต้ชื่อรหัส “ปฏิบัติการล่าหมาจิ้งจอก” ผู้นำจงหนานไห่ได้เริ่มแผนบันไดขั้นที่ 3 ภายใต้ชื่อรหัสว่า “ปฏิบัติการตาข่ายใหญ่เท่าฟ้า” หรืออาจจะเรียกด้วยสำบัดสำนวนว่า “แหเหินหาว” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “สกายเน็ต” โดยดึงมาจากสำนวนจีนที่ว่า “ตาข่ายฟ้าแม้กว้างใหญ่แต่ไร้รูรั่ว” ทั้งนี้เพื่อจะอุดรูรั่วหรือช่องโหว่ต่างๆ ระหว่างเหวี่ยงแหหรือตาข่ายจับกังฉินที่หลบหนีไปต่างประเทศ ภายใต้การร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ช่วยตามจับผู้ต้องหาที่หลบหนีคดี ตลอดจนเดินหน้ากวาดล้างธนาคารใต้ดินหรือโพยก๊วนและบริษัทที่ช่วยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ยักย้ายถ่ายเทโอนเงินที่ยักยอกไปไว้ในต่างประเทศด้วย
จากรายงานของหนังสือพีเพิลเดลีบ่งบอกว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในปฏิบัติการ “แหเหินหาว” ประกอบด้วยคณะกรรมการตรวจสอบวินัยกลางของพรรคหรือผู้คุมกฎ โดยมี หวัง ฉีซาน สมาชิกคณะกรรมการประจำในคณะกรมการเมืองหรือโปลิตบุโร อดีตหัวหน้าคณะเจรจาด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ผู้เป็นคนสนิทของสี จิ้นผิง เป็นหัวหน้าในการรณรงค์แบบครบวงจร นอกจากนี้ ยังมีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะหรือกระทรวงตำรวจสันติบาล ที่เคยรับผิดชอบโดยตรงในปฏิบัติการ “ล่าหมาจิ้งจอก 2557” มีกระทรวงต่างประเทศ และสำนักงานองค์กรของคณะกรรมการกลางพรรค ที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราเอกสารเดินทาง เพื่อป้องกันผู้ต้องสงสัยหลบหนีไปต่างประเทศแบบ “วันเวย์ทิกเก็ต” คือไปแล้วไปลับไม่กลับมา รวมทั้งมีหน้าที่เจรจาต่อรองกับรัฐบาลนานาประเทศให้ส่งตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดีในประเทศ และร่วมกันสอบสวนความผิดของผู้ต้องหา ที่ขาดไม่ได้คือสำนักอัยการของศาลสูงที่จะดูแลกระบวนการยุติธรรม ธนาคารประชาชนจีน หรือธนาคารกลาง ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการบรรดาธนาคารเอกชนผิดกฎหมายและตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนอกอาณาเขต
ปฏิบัติการ “สกายเน็ต” นี้จะทำควบคู่กันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ในระดับประเทศนั้นจะมีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นในทุกมณฑลเพื่อช่วยในการส่งนักโทษหนีคดีกลับประเทศ รวมทั้งเป็นยามเตือนภัยล่วงหน้า ต้องรีบแจ้งให้ทางการทราบภายใน 24 ชั่วโมงหากผู้ต้องหาหลบหนี
เพียงไม่กี่วันหลังประกาศ “ปฏิบัติการสกายเน็ต” ตำรวจสากลหรืออินเตอร์โปลในจีนก็สามารถจับกุม ไต้ ซื่อหมิน อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนในเซี่ยงไฮ้ ที่ต้องสงสัยว่ายักยอกเงิน 11 ล้านหยวน (ราว 55 ล้านบาท) ได้เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ในข้อหาพยายามลอบกลับเข้าประเทศโดยใช้บัตรประจำตัวและพาสปอร์ตปลอม หลังจากหนีการไล่ล่ามาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2544 เชื่อว่าไปกบดานอยู่ที่สหรัฐฯ เบลิซ และเกาหลีใต้ ถือเป็นอาชญากรเศรษฐกิจคนแรกที่ถูกจับตามปฏิบัติการสกายเน็ต และนับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในเจียงสู เซี่ยงไฮ้และอานฮุย อีกทั้งยังถือเป็นสัญญาณดีของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆ
ส่วน “สกายเน็ต” ในระดับระหว่างประเทศนั้น เริ่มเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เมื่อคณะผู้คุมกฎพรรคและอินเตอร์โปลจีนได้เผยแพร่ 100 รายชื่อผู้ต้องหาที่พัวพันการทุจริตคอร์รัปชันที่ต้องการตัวมากที่สุด พร้อมกับขอให้อินเตอร์โปล ออกหมายแดงหรือหมายจับเพื่อให้ประเทศสมาชิกของอินเตอร์โปลให้ความร่วมมือตามจับกุม รวมทั้งเปิดเจรจากับ 39 ประเทศที่ได้ทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน และอีก 52 ประเทศที่ทำสนธิสัญญาความช่วยเหลือด้านการดำเนินคดีทางอาญา กับอีก 91 ประเทศภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ ที่ได้ลงนามข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจ ตลอดจนกับประเทศที่ไม่ได้ทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน อาทิ สหรัฐฯ คานาดา อังกฤษ และฝรั่งเศส ขอให้ส่งตัวอาชญากรเศรษฐกิจและการเงินเหล่านี้กลับมารับโทษในประเทศ
นอกเหนือจากการหาหนทางนำทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบกลับคืนจากต่างประเทศ ถือเป็นความคืบหน้าจากเดือน ต.ค. ปีที่แล้วเป็นต้นมา ที่จีนสามารถนำตัวอาชญากรทางการเงิน 49 คน จาก 17 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ แคนาดา และ ออสเตรเลีย กลับมาดำเนินคดีในประเทศ อีกทั้งยังได้ยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการรับสินบนหรือยักยอกกองทุนสาธารณะรวม 3,000 ล้านหยวน (ราว 15,000 ล้านบาท) ในต่างประเทศ
สำหรับผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ 100 ผู้ต้องสงสัยพัวพันการยักยอกทรัพย์ รับสินบน และฟอกเงิน แยกเป็นผู้ชาย 77 คน ผู้หญิง 23 คน ในบัญชีดำนี้จะมีทั้งภาพถ่ายของผู้ต้องสงสัย หมายเลขบัตรประชาชน พาสปอร์ต จุดหมายเดินทาง และอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ในจำนวนผู้ต้องหาทั้ง 100 คน ซึ่งมีทั้งข้าราชการ ตำรวจ นักบัญชี ฯลฯ เชื่อว่ากบดานอยู่ในสหรัฐฯ และแคนาดา มากถึง 66 คน ที่เหลือกระจายกันอยู่ในเอเชีย และมีเพียงน้อยนิดไม่กี่คนหนีไปซูดาน, กานา, เบลิซ และ เซนต์ คิตส์ แอนด์ เนวิส
บีบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาจีนได้ส่งรายชื่อ 150 ผู้ต้องหาให้สหรัฐฯ และอีก 50 คนให้กับอังกฤษ ซึ่งต่างตั้งเงื่อนไขว่ายินดีให้ความร่วมมือหากทางการจีนจะพิจารณาคดีโดยยุติธรรมและงดเว้นการลงโทษหนักนั่นก็คือประหารชีวิต เช่นเดียวกับฝรั่งเศสซึ่งได้แบะท่าเมื่อปลายปีที่แล้วว่ายินดีจะร่วมมือในการจับกุมกังฉิน 10 คนที่หนีมากบดานในฝรั่งเศสภายใต้เงื่อนไขว่าจีนจะต้องไม่ตัดสินประหารชีวิตผู้ต้องหาเหล่านี้ ด้านแคนาดาและออสเตรเลีย อันเป็น 2 ประเทศที่เชื่อว่ามีอาชญากรการเงินจีนหนีไปอยู่มากที่สุดต่างประกาศว่ายินดีให้ความร่วมมือภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่ต้องโทษประหารชีวิต
เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา อิตาลีได้ส่งสัญญาณอันดีด้วยการส่งกลับผู้ต้องหาหญิงชาวจีนกลับไปดำเนินคดีในข้อหายักยอกเงินกว่า 1.4 ล้านหยวน (ราว 7 ล้านบาท) นับเป็นรายแรกที่ถูกส่งกลับและเชื่อว่าจะมีตามมาอีกหลายราย
ส่วนที่คานาดา ทางการกำลังจับตามองไมเคิล ชิง โม่ เอี๋ยง หรือเจิ้ง มู่หยาง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 45 ปีในแวนคูเวอร์ ที่ได้รับสิทธิให้พำนักในประเทศนี้เป็นการถาวรในฐานะผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2539 แม้จะปฏิเสธไม่ให้สัญชาติแคนาดาก็ตาม หลังจากหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ ที่เกาะติดเรื่องการคอร์รัปชันในแดนมังกรเปิดโปงว่าชิง โม่ เอี๋ยง กับเจิ้ง มู่หยาง ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ 100 ผู้ต้องหาที่จีนต้องการตัวมากที่สุดในข้อหารับสินบนและแอบโยกย้ายทรัพย์สิน เป็นคนคนเดียวกัน โดยเป็นบุตรชายของเจิ้ง เว่ยเกา อดีตเลขาธิการพรรคผู้ทรงอิทธิพลในเหอเป่ยแต่ถูกขับออกจากพรรคเมื่อปี 2546 หลังถูกสอบในคดีคอร์รัปชัน ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อปี 2553 หลังจากจำนนต่อหลักฐาน ชิง โม่ เอี๋ยง ก็ยอมรับสารภาพเมื่อต้นเดือน พ.ค. ว่าเป็นคนที่จีนต้องการตัวจริง แต่ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอะไรผิด
ส่วนแดนอินทรีอเมริกานั้น ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ที่ปลอดภัยของบรรดากังฉินที่หอบเงินไปเสพย์สุขในประเทศนี้ผ่านการฟอกเงินและธนาคารใต้ดิน นอกจากเป็นเพราะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายกับจีนแล้ว ยังเป็นเพราะท่าทีของสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างปกป้องผู้ต้องหาเหล่านี้โดยอ้างว่ากฎหมายของจีนยังมีมาตรฐานต่ำ ที่สำคัญก็คือมความเชื่อผิดๆ ว่าจีนจะดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยอย่างไม่เป็นธรรม และมักจะตัดสินประหารชีวิตซึ่งเป็นโทษสูงสุดที่สหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ด้วยจุดยืนดังกล่าว ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงมีผู้ต้องหาจีนเพียง 2 คนถูกนำตัวจากสหรัฐฯ กลับไปดำเนินคดีในแดนมังกร จากทั้งหมดกว่า 150 คนที่ทางการจีนเชื่อว่าได้หลบหนีอยู่ในประเทศนี้ แถมบางคนยังได้กรีนการ์ด หรือวีซ่าพำนักถาวรแล้ว โดยผู้ต้องหา 2 คนที่ถูกส่งตัวกลับจีนแก่หยู เจิ้นตง อดีตประธานสาขากวงตั้ง ไคผิง ของแบงก์ ออฟ ไชนา ที่กบดานอยู่ในแดนอินทรี มานาน 3 ปี อีกคนหนึ่งก็คือเฉียน เจี้ยนจวิน อดีตเจ้าหน้าที่บริษัทคลังธัญพืช ที่ต้องสงสัยฟอกเงิน 300 ล้านหยวน (ราว 1,500 ล้านบาท) และได้วีซ่าเข้าสหรัฐฯ โดยไม่ถูกต้อง
จากปฏิบัติการสกายเน็ต ทำให้สหรัฐฯ ได้จับกุมนางเจ้า ซือหลิน อดีตภรรยาของเฉียน เจี้ยนจวิน ในข้อหาแอบอ้างว่าได้สมรสกัน และแจ้งเท็จเกี่ยวกับแหล่งเงิน เพื่อให้ได้รับวีซ่าเข้าประเทศ ผ่านโครงการนักลงทุนเพื่อการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ ทั้ง 2 คนถูกฟ้องในข้อหาสมรู้ร่วมคิดเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และข้อหาฟอกเงิน โดยศาลห้ามประกันตัวเพราะเกรงว่าจะหลบหนี
ในส่วนของการอายัดทรัพย์สินของข้าราชการขี้ฉ้อที่หมกเม็ดอยู่ในต่างประเทศนั้น รัฐบาลได้เดินหน้าว่าจะอายัดคฤหาสน์หรูในเมืองคานส์มูลค่า 6.95 ล้านอียูของป๋อ ซีไหล อดีตโปลิตบุโรที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต แม้ว่าจะมีการประกาศขายเมื่อปลายปีที่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมอายัดคฤหาสน์หรูขนาด 4,000 ตารางฟุตในลอสแอนเจลิสของจาง ชูกวาง อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงรถไฟ ซึ่งถูกประหารชีวิตเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้วในข้อหาคอร์รัปชัน
พร้อมๆ ไปกับการไล่ล่าและจับกุมกังฉิน ทางการปักกิ่งยังได้ทำสงครามจิตวิทยาควบคู่กันไปด้วยเพื่อข่มขวัญผู้ที่คิดจะหนีไปกบดานในต่างประเทศให้คิดทบทวนใหม่ให้ดี โดยเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของคณะผู้คุมกฎได้เผยแพร่คำสารภาพของหวัง กั๋วเชียง อดีตเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเหลียวหนิง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงชีวิตความเป็นอยู่ของหมาจิ้งจอกขณะกำลังหลบหนีการไล่ล่าของตำรวจ โดยหวังยอมรับว่าได้แอบขนเงินกว่า 200 ล้านหยวน (ราว 1,000 ล้านบาท) ออกนอกประเทศและหลบหนีไปเสพสุขที่อเมริกานาน 3 ปี
ในคำสารภาพของหวังกล่าวว่า “การที่ต้องเช่าบ้านอยู่กับคนแปลกหน้านั้นแสนเลวร้ายยิ่ง เจ้าของบ้านเป็นคนร่างสูงใหญ่เหมือนกับม้าและชอบจ้องมองภรรยาของผมด้วยสายตาหื่นกระหาย ทำให้พวกเรากลัวกันมาก ภรรยาของผมอยู่ด้วยความอกสั่นขวัญแขวนตลอดเวลา ผมเองก็พร้อมจะรับมือกับสิ่งเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น” ท้ายสุดตัวเองเริ่มมีอาการซึมเศร้ากระทั่งตัดสินใจยอมมอบตัว ผู้คุมกฎให้ความเห็นว่าเอกสารให้การนี้สะท้อนภาพที่ชัดเจนมากที่กังฉินที่ซ่อนตัวอยู่ในต่างประเทศควรจะอ่าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น