วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

CEO Guide: 3 วิธีสรรหาสินค้านำเข้าจากจีน

ceo 3 วิธีสรรหาสินค้านำเข้าจากจีน
โฮเรส กรีเลย์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ New York Tribute กล่าววลีอันโด่งดังไว้เมื่อ 200 ปีก่อนว่า “อยากรวยต้องทำอย่างไร?… ก็มุ่งหน้าสู่โลกตะวันตกสิสหาย!” (“Go west, young man!”) แต่ในปัจจุบัน เมื่อมีถามว่าอยากรวยต้องทำอย่างไร วลีกลับตาลปัดเป็น “ก็มุ่งหน้าสู่ตะวันออกสิท่านผู้ประกอบการ!
อเมริการุ่งเรืองสุดขีดในยุคอุตสาหกรรม ในฐานะผู้นำทรัพยากรและเทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อเมริกาเป็นแหล่งสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมหนักเพื่อขายในประเทศและส่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก อีกทั้งเป็นแหล่งแรงงานที่มีความต้องการคนทำงานมาก ความรู้สึกของคนเอเชียที่มีต่อการได้ไปทำงานที่อเมริกาคือ ไปแล้วรวย!
แต่ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียพัฒนาตัวเองขึ้นไปมาก ประเทศในแถบเอเชียเข้าถึงเทคโนโลยีเดียวกับตะวันตก ทำให้มีความสามารถและประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าสูงขึ้นในระดับที่ยอมรับได้ แต่ที่โดดเด่นกว่าคือ แรงงานราคาถูกกว่าในอเมริกาหลายเท่า เป็นเหตุให้อเมริกาและยุโรปที่เป็นทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้าและแหล่งผลิต ย้ายแหล่งผลิตไปตั้งโรงงานในเอเชียและใช้เป็นศูนย์กลางการจัดส่ง (Distribution Center) ไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งนำเข้ามายังประเทศตนเอง โรงงานและ DC ได้แก่ จีนและเวียดนาม เป็นต้น
จากนั้นเป็นต้นมา ตลาด Import / export ก็คึกคักขึ้นเรื่อยๆเพราะทั่วโลกสามารถสั่งผลิตและสั่งซื้อสินค้าได้ในราคาถูก มีศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ส่งไปทางตะวันตกก็ได้ ส่งภายในแถบเอเชียก็ดี สมมุติถ้าสั่งของจากอเมริกามาไทย ใช้เวลาเดินทางเกือบสองเดือน แต่ถ้าส่งออกมาจากโรงงานในจีน ใช้เวลาเดินทางเพียงสองสัปดาห์ แถมมีโอกาสได้สิทธิเรื่อง Free trade อีกต่างหาก!
เจ้าของแบรนด์สินค้าระดับโลกยังคงรักษาชื่อแบรนด์ตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ย้ายฐานผลิตมาสู่จีน ผลิตสินค้าในราคาถูกกว่าผลิตในบ้านตัวเองและขายในราคาปลีกที่แพงลิบแก่พวกเราเหมือนเดิม ส่วนต่างของกำไรก็เอาไปทำการตลาดให้หรูหรามากขึ้นกันสิครับ!
แต่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ก็ไม่น้อยหน้า “อ๋อ กระเป๋านี้ ร้องเท้านี้ เฟอร์นิเจอร์นี้ ผลิตจากจีนแม่มหมดเลยนี่หว่า” — งั้นเอาบ้าง โมดิฟายสไตล์ สร้างแบรนด์ของเราเอง แล้วสั่งผลิตจากจีน นำเข้ามาขายในประเทศในราคาที่ถูกกว่า Top brand เล็กน้อย สนุกล่ะครับ นี่แหละโลกธุรกิจ!
ปัจจุบัน จีนกลายเป็นศูนย์รวมความสนใจทั้งผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกรายเก่าเก๋าเกม และรายใหม่ไฟแรง ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวเทียบชั้นสหรัฐอเมริกา เกิดธุรกิจโรงงานผลิตและค้าส่งสินค้าเพื่อการส่งออกมากมายภายในประเทศ ต่อไปนี้เป็นแนวทางพื้นฐานในการสรรหา (Sourcing) คู่ค้าจากประเทศจีน

1. กูเกิ้ลลิ่ง และ กูเกิ้ลอิท

image 01
บางคนอาจจะ “อะไรฟะ กูเกิ้ลลิ่ง กูเกิ้ลอิท
กูเกิ้ล กลายเป็นคำกิริยาใหม่ของพจนานุกรม แปลว่า การค้นหาข้อมูลในกูเกิ้ล ยกตัวอย่าง…
I am Googling new pair of jeans.
If you don’t know the answer, just Google it!
การค้นหารายชื่อคู่ค้าในจีนเป็นวิธีที่ ง่ายและประหยัดที่สุด แต่ผมขอย้ำว่า ง่ายและประหยัด ไม่ได้รวมกับคำว่า เร็วและปลอดภัย งาน Supplier Sourcing เป็นงานที่ใช้เวลาในการดำและงมมากๆ ต้องไล่หา ไล่ดูไปเรื่อยๆ จดรายชื่อ จดข้อมูลที่แสดงบนหน้าเว็บไซต์ จดค่า Range ของราคาขาย (ถ้าเขาแสดงไว้) เพื่อเปรียบเทียบ จากนั้นก็ติดต่อไปทีละเจ้าที่คุณสนใจ
และที่สำคัญ ซัพพลายเออร์จีนจำนวนมากไม่ใช่พวก Tech เหมือน ซัพพลายเออร์อเมริกัน บริษัทจีนที่ผมเคยร่วมงานด้วยรับงานผลิตสินค้าส่งทั่วโลกเป็นมูลค่ามหาศาลแต่อาจไม่มีเว็บไซต์
โชคดีปัจจุบันมีเว็บไซต์ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวมรายชื่อซัพพลายเออร์ในจีน หลักๆ ได้แก่…
เว็บไซต์เหล่านี้เสมือน Directory ซัพพลายเออร์จีนไว้ที่เดียวและมีระบบการกรองระดับความน่าเชื่อถือ เช่น Gold member, Verified seller, accredited supplier เป็นต้น และอาจมีระบบ Black list จัดเก็บรายชื่อผู้ขายที่ถูกแบน
Global Sources ให้ข้อมูลความน่าเชื่อถือโดยการแสดงรายงาน ความสามารถในการผลิต และคุณภาพการผลิตสินค้าของซัพพลายเออร์
ข้อควรระวังคือ คำว่า Verified นั้นไม่ได้หมายความว่าทางเจ้าของเว็บไซต์ได้เข้าไปตรวจสอบถึงโรงงานเพื่อทำการ Verified supplier รายนั้นๆ การ Verified เป็นการตรวจสอบสถานการดำเนินกิจการเบื้องต้นของผู้ขายนั้นๆ
และเนื่องจากเว็บไซต์เป็นศูนย์รวมของผู้ค้าส่งจากทุกสารทิศ ผู้ค้าส่งหลายรายเป็น คนกลาง ที่รับต่อมาจากโรงงานอีกทอดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ราคาที่ดีที่สุด ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องทำการตรวจสอบและศึกษาหาข้อมูลผู้ขายให้มาก

จูนความเข้าใจเบื้องต้น Alibaba.com

ในบรรดาวิธีสรรหาผู้ค้าจีนที่เล่ามาทั้งหมด Alibaba.com ยังคงเป็นวิธีที่คนคิดถึงมากที่สุด เพราะเป็นที่รู้จักอย่างดีโดยคนไทยและทั่วโลก เป็นศูนย์รวม ซัพพลายเออร์จีนมากมายมหาศาลในที่เดียว แต่ก็ตามมาด้วยข่าวเรื่องการหลอกลวงและปัญหาสินค้าคุณภาพต่ำ ต่อไปนี้คือ การจูนความเข้าใจเบื้องต้น Alibaba.com
จูนความเข้าใจเรื่อง Gold Member
คนเชื่อว่าจะปลอดภัยหากใช้ซัพพลายเออร์ที่เป็น Gold Member ทำให้นักธุรกิจใหม่พุ่งเป้าและฝากความหวังไปที่ Gold Member จนลืมทำการบ้านของตัวเองให้ดีพอ ผลสุดท้ายคือผิดหวัง
Gold Member คือ ซัพพลายเออร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ Alibaba.com พวกเขาต้องจ่ายเงินค่าขึ้นทะเบียนปีละ 5,000-10,000 เหรียญ และยื่นเอกสารให้ทาง Alibaba.com ตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท และทุนจดทะเบียน เพื่อให้แน่ใจว่า ซัพพลายเออร์มีตัวตนจริงและถูกต้องตามกฎหมาย
แต่การตรวจสอบโดย Alibaba.com ไม่ได้รวมไปถึงการตรวจสอบ คุณภาพ ศักยภาพการผลิต และไม่รวมไปถึง นิสัย สันดอน สันดาน ของซัพพลายเออร์!! อายุ Gold Member 3 ปีไม่ได้แปลว่าเชื่อใจได้ 100%
การตรวจสอบประวัติกิจการระดับลึก คุณภาพ การคุยสเป็ก เช็คราคา และความสามารถในการทำงานของซัพพลายเออร์เป็นหน้าที่ที่คุณต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง
จูนความเข้าใจเรื่อง Manufacturer
บางคนคิดว่า Alibaba.com มีแต่ พ่อค้าคนกลาง อันที่จริงแล้ว ผู้ผลิต ก็มี เพียงแต่มีน้อยกว่ามาก
หลักการสังเกตเบื้องต้น ไม่ใช่เฉพาะ Alibaba แต่รวมไปถึงซัพพลายเออร์ทั่วโลกคือ ผู้ผลิตสินค้ามักเป็น Industrial niche คือผลิตสินค้าในขอบเขตความสามารถที่ตนเองมีมายาวนาน เช่น ตรานกพิราบ ผลิตอาหารกระป๋อง ซึ่งโฟกัสเพียงไม่กี่ประเภทหลัก ได้แก่ ผักกาดดอง พืชผักแปรรูป ปลากระป๋อง และผลไม้กระป๋อง
โรงงานผลิตน้ำผลไม้ ผลิตน้ำผลไม้อย่างเดียว โรงงานผลิตล้อรถยนต์ ผลิตล้อและอะไหล่ที่เกี่ยวข้องกันเป็นหลัก
แต่พ่อค้าคนกลาง หรือ Whole seller หรือ Trader จะมีความหลากหลายของสินค้าในพอร์ตโฟลิโอมากกว่า มากเป็นพันๆ รายการและมีสินค้ากระจายหลายนิชจนกลายเป็นเป็ด จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าเชี่ยวชาญสินค้าอะไรเป็นพิเศษเพราะ มีทุกอย่างและห่วยทุกอย่าง! ให้หาคนที่เชี่ยวชาญในสินค้าของเขาดีกว่าครับ
จูนความเข้าใจเรื่อง Scam
ชื่อ”เสีย”อย่างหนึ่งของจีนคือ “การโกง” แต่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมในข้อกล่าวหานี้
สินค้าไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่ได้คุณภาพ ไม่ตรงสเป็ก อาจเกิดจากการสื่อสารไม่ชัดเจน หรือการที่ผู้ซื้อบีบเรื่องราคาต้นทุนกับผู้ขายมากเกินไป
คำว่า คุณภาพ สำหรับกลุ่มลูกค้าหนึ่งอาจต่างจากอีกกลุ่มลูกค้าหนึ่ง ผู้ประกอบการต้องชัดเจนในกลุ่มลูกค้าของตัวเอง สื่อสารเรื่องสเป็กสินค้ากับผู้ขายให้เข้าใจ ขอดูสินค้าตัวอย่าง ตกลงเงื่อนไขการรับประกันและการเคลมหากไม่ได้สเป็กหลังจากสั่งจริงตามที่ตกลงกันไว้ และสุดท้ายของคุณภาพสูงราคาถูกสุดนั้นไม่มี หรือถ้ามีก็อาจจะส่งของห่วยมาให้คุณแล้วก็ชิ่งเลย!
เรื่องการจ่ายเงิน เคยมีกรณี ผู้ซื้อโอนเงินไปแต่ผู้ขายไม่ได้เงิน เหตุการณ์นั้นเกิดจากพนักงานในบริษัทเข้าไปแก้ไขข้อมูลการชำระเงินใน Proforma invoice (ใบแจ้งหนี้เพื่อให้ชำระเงินค่าสินค้าล่วงหน้า) แล้วให้ผู้ซื้อโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของพนักงานคนนั้นเอง
เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้เป็นข้อควรระวัง ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนการชำระเงิน ตัวผมเองก็เคยประสบเหตุการณ์ผู้ขายจีนเจ้าเดียวเปลี่ยนบัญชีการโอนเงินถึง 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 6 เดือน เมื่อเห็นแบบนี้ต้องรีบถามไปยังต้นทางทันทีว่าเปลี่ยนเพราะอะไร เปลี่ยนใหม่จริงหรือไม่เป็นต้นครับ
ปัญหาสินค้านำเข้าไม่ได้มีเฉพาะแค่ Alibaba หรือ ประเทศจีน เป็นได้กับทุกประเทศ ผมสั่งสินค้าประเภทเครื่องนอนจากโรงงานอินโดนีเซีย ย้ำว่าสั่งตรงจากโรงงาน สินค้ามูลค่ารวมกว่าครึ่งล้านบาท มาถึงพบว่ามีตำหนิเสียหายไม่ได้คุณภาพ 90% เป็นมหากาพย์ปัญหาที่เสียเงินเสียเวลามากครับ สินค้าไม่สามาถนำไปขายได้หลายเดือนเพราะมานั่งคุยเรืองความรับผิดชอบ
ให้ส่งกลับไปซ่อม ผู้ผลิตก็ไม่เอา — เขาให้ส่วนลดเพื่อเราไปขายตามสภาพ เราก็รับไม่ได้ – สุดท้ายเขาส่งอะไหล่มาให้เราซ่อมเองและเก็บค่าใช้จ่ายที่เขาทั้งหมด
เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่อาจเรียกว่า Win-Win เพราะเสียเงินเสียทองเสียเวลาเสียโอกาสในการขายมาก ต่างฝ่ายต่างไม่แฮปปี้ ตีค่าเสียโอกาสธุรกิจมูลค่าเป็นหลักล้านบาทครับ
การเลือกหาซัพพลายเออร์จึงต้องดูดีๆ คุยเยอะๆ และควรได้เจอตัวหรือแม้แต่ไปเยี่ยมชมสถานที่ของเขา กรณีนี้ทาง Sourcing agent ของเราก็ไปหาซัพพลายเออร์ที่โรงงาน ที่เลือกอาจเพราะราคาถูกที่สุดครับ สุดท้ายปัญหาตามมาเพียบ

2. งานแสดงสินค้า

image 03
วิธีหาซัพพลายเออร์จากงานแสดงสินค้า คุณต้องลงทุนเดินทางไปร่วมงานด้วยตนเอง แต่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในแง่ของการได้ไปถึงประเทศจีน สัมผัสบรรยากาศและได้พูดคุยกับพวกเขาซึ่งหน้า ช่วยให้คุณได้สักถามข้อสงสัย เงื่อนไข และรายละเอียดได้มากเท่าที่คุณต้องการ ทำให้คุณสามารถประเมินจุดเด่นจุดด้อยและความน่าเชื่อถือของซัพพลายเออร์แต่ละรายด้วยตัวเอง
หัวข้อหลักๆ ที่คุณควรถามซัพพลายเออร์ได้แก่…
  • ประวัติบริษัท
  • สถานะการค้า อาทิ เป็นผู้ผลิต, หรือเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว, หรือเป็นแค่พ่อค้าคนกลาง
  • ประเภทสินค้า
  • ความสามารถในการผลิต
  • คุณภาพ และการรับประกันคุณภาพ
  • ความสามารถในการใช้สิทธิงดเว้นภาษีนำเข้า
  • การจัดการด้านการจัดส่ง (Logistic)
  • เงื่อนไขการชำระเงิน
  • ฯลฯ
งานแสดงสินค้าหลักๆในจีนได้แก่…
  • Canton Fair เป็นงานใหญ่ที่สุด จัดปีละสองครั้งที่ กวาง เจา (Guangzhou)
  • รองลงมาคือ The East China Fair จัดปีละครั้งที่ เซียงไฮ (Shanghai)
  • นอกจากนั้นยังมีงานแสดงสินค้าย่อยๆ อีกพอสมควร คุณสามารถ Google-it ได้โดยการพิมพ์คำว่า “China Sourcing Fairs”
งานแสดงสินค้าเป็นวิธีที่สรรหาซัพพลายเออร์ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะพวกเขาได้พบหน้า แบบตัวต่อตัวและสามารถพูดคุยจนพอใจเพื่อนำข้อมูลไปตัดสินใจได้
ข้อควรระวังคือ… ซัพพลายเออร์จีนจำนวนไม่น้อยมีทักษะภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง หากคุณพูดภาษาจีนได้จะดีมาก แต่หากไม่ได้ อย่างน้อยภาษาอังกฤษต้องได้เพื่อสามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง และอย่าลืมตรวจสอบว่า ซัพพลายเออร์ตรงหน้าคุณ เป็น ผู้ผลิต หรือ พ่อค้าคนกลาง เพราะมีผลกระทบส่วนต่างเรื่องราคาพอสมควร

ซื้อกับผู้ผลิต

คุณอาจพบผู้ผลิตโดยตรงจากงานแสดงสินค้า หรือจากการแนะนำผ่านช่องทางเครือข่ายธุรกิจอื่นๆ ก็แล้วแต่ การดีลตรงกับผู้ผลิตมีข้อดีคือ ได้ราคาโรงงาน เป็นต้นทุนค่าซื้อสินค้าที่ดีที่สุด และทำให้คุณได้ส่วนต่างกำไรดีเมื่อนำมาขายปลีกต่อในไทย
ข้อจำกัดคือ ผู้ผลิตจีนอาจไม่ได้มีความเป็นมืออาชีพรอบด้านเหมือนผู้ผลิตในอเมริกา คำว่า “ผู้ผลิต” อาจไม่ได้หมายถึงโรงงานใหญ่อันทันสมัยครบวงจรเสมอไปแต่อาจมาในรูปของอุตสาหกรรมครอบครัว
  • พวกเขาอาจสื่อสารภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ต้องมีการพูดคุย ช้าๆ ซ้ำๆ ในระหว่างร่วมงานกัน
  • ไม่เชี่ยวชาญงานเอกสาร Free trade คุณอาจต้องช่วยเขาตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสาร
  • หรือ ผู้ผลิตบางรายอาจมีจำนวนสั่งขั้นต่ำ หรือ Minimum order quantity (MOQ) เป็นจำนวนมาก
  • ฯลฯ

ซื้อกับผู้ค้าส่ง

ผู้ค้าส่ง หรือ Whole seller/Trader เป็นพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นโมเดลการค้าขายที่นิยมไปทั่วโลก เพราะพ่อค้าคือคนในพื้นที่ มีคอนเนคชั่นกับผู้ผลิตน้อยใหญ่ ทำหน้าที่ดีลสินค้ามาไว้ในพอร์ตโฟลิโอของตนเองและนำเสนอขายแก่ผู้ประกอบการแบบ One-stop-service คือ มีสินค้า มีความเชี่ยวชาญด้านภาษา และมีความรู้ในการจัดการส่งออก โดยบวกกำไรของเขาลงไปในตัวสินค้า
การซื้อต่อจากผู้ค้าส่งจึงอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และลดภาระเรื่องจำนวนสั่งขั้นต่ำได้พอสมควรโดยคุณต้องแลกกับราคาซื้อที่สูงขึ้นเล็กน้อย
แม้แต่การสั่งซื้อสินค้าจากอเมริกาเอง ผมก็ทำงานกับผู้ค้าส่ง เพราะจำนวนสั่งสินค้าขั้นต่ำจากโรงงานในอเมริกานั้นสูงมาก บางแห่งต้องสั่งกันเป็นหลักสิบหรือหลักร้อยลังต่อไอเทม และต้องสั่งกันอย่างน้อย 1-2 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อครั้งซึ่งทางฝั่งเราก็รับไม่ไหว
ในขณะที่ผู้ค้าส่งเข้ามารับรองส่วนนี้ให้เรา โดยเขาไปดีลกับลูกค้าหลายๆรายแล้วทำการรวมออเดอร์จำนวนมากไปสั่งกับผู้ผลิตแล้วนำออเดอร์ไปกระจายแก่ลูกค้าเหล่านั้นตามสัดส่วน

3. ตัวแทนสรรหาสินค้า


ตัวแทนสรรหาสินค้า ไม่ได้มีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอของตัวเองเพื่อขาย แต่มีความรู้ความชำนาญในพื้นที่และสามารถสรรหาสินค้าอิงตาม Requirement ของลูกค้า ตัวแทนสรรหา แบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

Commission-based sourcing agent

มีความรู้ในการสรรหาสินค้าและมีคอนเน็คชั่นกับผู้ผลิต ช่วยหาผู้ผลิตตามราคาและคุณภาพที่คุณระบุสเป็ค โดยเก็บค่านายหน้า 3-10% ต่อการสั่งซื้อ
ทั้งนี้คุณควรระมัดระวัง เพราะ Commission-based agent มีรายได้จากการสั่งซื้อ เขาอาจสร้างเงื่อนไขเล็กๆน้อยๆ เช่น จำนวนการสั่งซื้อขั้นต่ำที่สูงเกินไป หรือบวกราคาทุนลงไปอีกเล็กน้อย เพื่ออัพยอดรวมค่านายหน้าในการสั่งซื้อนั้นๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาเปรียบเทียบหลายๆทาง และเมื่อเริ่มทำงานไปสักพัก คุณจะรู้สึกได้ว่า นายหน้ารายนั้นๆ ทำงานอย่างเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น

Sourcing service provider

ให้บริการสรรหาครบวงจร ตั้งแต่สรรหาผู้ผลิตและสินค้าตามที่ระบุ ตรวจสอบคุณภาพของผู้ผลิต เจรจาต่อรองราคา ไปจนถึงการจัดการด้าน Global logistic คือทำการส่งออกให้ด้วย พูดง่ายๆ เขาคือผู้ช่วยประจำตัวคุณในการทำธุรกรรมการค้าในจีน
บริการนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแบบ Commission-based agent เพื่อแลกกับความสะดวก ข้อเสียอีกประการคือ คุณจะไม่มีโอกาสเรียนรู้และสร้างประสบการณ์การทำธุรกิจกับจีนเหมือนกับการไปสรรหาด้วยตัวเอง
ผู้ให้บริการด้านนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนจีนเสมอไป แต่อาจเป็นชาวตะวันตกที่มีประสบการณ์การสรรหาและส่งสินค้าออกจากจีน อาทิ www.kekaiexpress.com

อยากนำเข้าสินค้า จับตลาดสินค้านำเข้าไหนดี

กลุ่มตลาดสำหรับสินค้านำเข้ามาหลากหลาย ต่างคนต่างสไตล์และต่างความถนัด ผมเชื่อว่าผู้สนใจนำเข้าทุกคนมีไอเดียสินค้าและตลาดเป้าหมายในใจอยู่แล้ว ต่อไปนี้เป็นภาพรวมกว้างๆ ว่าด้วยตลาดสินค้านำเข้าต่างๆ

Industrial

กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานผลิตและประกอบ เครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ฯลฯ เหล่านี้มีการผสมผสานระหว่างชิ้นส่วนในประเทศและชิ้นส่วนนำเข้า พวกเขาอาจมีฝ่ายจัดซื้อของตนเองและมีการสั่งนำเข้าจากผู้นำเข้าเช่นคุณที่สามารถทำราคาได้ดีกว่าหรืออำนวยความสะดวกได้มากกว่า
นอกจากนั้นยังอาจหมายรวมไปถึง ลูกค้าสำนักงาน สั่งซื้ออุปกรณ์บางอย่างไปใช้งาน หรือ ลูกค้าโรงแรมที่พักอาศัย สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ไปตกแต่งสถานที่ ในปริมาณมากๆ

Retailer

กลุ่มลูกค้าปลีก ได้แก่ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร พูดง่ายๆ คือคุณเป็นผู้ค้าส่งแก่พวกเขานำไปขายปลีกตามสภาพ หรือแปรรูปก่อนขายปลีก (กรณีร้านอาหาร)
สินค้าในตลาดนี้เป็นสินค้าสำเร็จ ได้แก่ ข้าวของเครื่องใช้ อาหารแห้ง อาหารสด อาหารแช่แข็ง เสื้อผ้า เครื่องประดับ ฯลฯ

Direct Sales

การขายตรง ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง Multi-level marketing แต่หมายถึงผู้นำเข้าขายให้แก่ลูกค้าโดยตรงผ่านทางเว็บไซต์ เรียกว่า E-Commerce ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างสูง เป็นสินค้าประเภท ข้าวของเครื่องใช้ สินค้าแฟชั่น อาหารเสริม ความสวยความงาม เครื่องประดับ ฯลฯ กล่าวโดยสรุป นำเข้ามาขายตรงแก่ End-customer
สืบเนื่องจากการขาย Retail มีค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าเข้าไปวางขายในห้างสรรพสินค้าสูง และมีเครดิตเทอมนานหลายเดือน คุณอาจต้องมีเงินสดหลักล้านบาทในช่วงเริ่มต้นโดยยังไม่รวมกับเงินลงทุนสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ในขณะที่การทำเว็บไซต์ขายสินค้าด้วยตนเองใช้เงินลงทุนเบื้องต้นเพียงหลักหมื่นเท่านั้น!
ผู้ประกอบการใหม่จึงสามารถนำเงินสดอันแทนที่จะต้องไปจ่ายให้กับห้างสรรพสินค้ามาลงทุนกับกิจกรรมอื่นได้อีกมากมาย อาทิ ค่าสั่งซื้อสินค้า ค่านำเข้า ค่าการตลาด ฯลฯ

สรุป

การทำการค้าไม่ว่าจะกับจีน หรือกับประเทศใดๆก็ตาม เป็นความรับผิดชอบสูงสุดของผู้ดำเนินกิจการในการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องและตัดสินใจที่จะกระทำการต่างๆ
การทำธุรกิจสมัยนี้เริ่มต้นง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าทำง่ายและประสบผลลัพธ์เร็ว กฎเหล็กตลอดกาลในการทำงานคือ ศึกษาข้อมูลให้ดี ทั้งขาซื้อ (ซัพพลายเออร์) และขาขาย (ลูกค้า) เพื่อให้แน่ใจในระดับหนึ่งว่าคุณจะได้ของดีและมีคนซื้อ
http://www.ceoblog.co/1509005/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น