หลังจากตระเวนหาที่อยู่อาศัยอยู่พักหนึ่ง ในบรรดาตัวเลือกทั้งหมดผู้ซื้อจะสามารถตัดสินใจเลือกบ้านที่เหมาะสมกับตนเองได้ในท้ายที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อและผู้ขายจึงมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายขึ้น พร้อมกับวางมัดจำกันไว้ พร้อมกำหนดเวลาที่แน่นอนที่จะให้มีการทำสัญญาซื้อขายกันขึ้นต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน ซึ่งระยะเวลาระหว่างนี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้ซื้อที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะซื้อบ้านด้วยเงินสด ที่จะต้องติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ขอกู้ซื้อบ้าน ซึ่งในการขอสินเชื่อฯ นั้นผู้ขอสินเชื่อมักจะรู้สึกกังวลว่าคำขอสินเชื่อฯ ของตนอาจไม่ได้รับการอนุมัติ รวมไปถึงใช้ระยะเวลานานกว่าจะทราบผลการพิจารณา ซึ่งความรวดเร็วและการพิจารณาอนุมัตินั้นเริ่มต้นตั้งแต่การยื่นเอกสารที่ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งการเตรียมเอกสารขอสินเชื่อฯ นั้นไม่ยุ่งยากเกินความสามารถของผู้ซื้อบ้านมือใหม่เช่นคุณ DDproperty จึงอยากชวนมาเตรียมเอกสารขอสินเชื่อฯ ไปพร้อมๆ กันครับ
เพื่อให้สามารถจัดเอกสารได้สะดวกขึ้น เราจะแบ่งเอกสารออกเป็น 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ เอกสารชุดนี้คือเอกสารที่จะระบุตัวตนว่าผู้ที่กู้เป็นใคร และพักอาศัยอยู่ที่ใด เอกสารในกลุ่มที่ 1 ซึ่งผู้ขอสินเชื่อต้องจัดเตรียมเพื่อยื่นประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อมีดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวข้าราชการ เตรียมให้พร้อมทั้งต้นฉบับและสำเนา
2. ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ทั้งต้นฉบับและถ่ายสำเนาทุกหน้า
3. กรณีที่เปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุล ให้เตรียมใบจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อและนามสกุล ทั้งต้นฉบับและสำเนา ใช้ทั้งหมดไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อกี่ครั้ง
4. กรณีสมรส เตรียมทะเบียนสมรส ทั้งต้นฉบับและสำเนา
5. กรณีหย่า เตรียมทะเบียนหย่า ทั้งต้นฉบับและสำเนา
6. กรณีคู่สมรสเสียชีวิต เตรียมมรณะบัตรของคู่สมรส ทั้งต้นฉบับและสำเนา
7. กรณีแยกกันอยู่กับคู่สมรส เตรียมใบแจ้งความแยกกันอยู่ ทั้งต้นฉบับและสำเนา
กลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน เอกสารชุดนี้จะให้ข้อมูลด้านรายได้และศักยภาพในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อ รวมไปถึงหลักทรัพย์ต่างๆ
กรณีเป็นพนักงานประจำสังกัดองค์กร ให้เตรียมเอกสารดังนี้
1. หนังสือรับรองเงินเดือน ฉบับจริง
2. เพย์เมนต์สลิปเงินเดือน หรือใบแจ้งการจ่ายค่าจ้างจากหน่วยงานย้อนหลัง 3 เดือน ฉบับจริงและสำเนา
3. สมุดบัญชีแสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งฉบับจริงและสำเนา
4. กรณีรับเงินเดือนเป็นเงินสด ให้เตรียมแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีหรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ทั้งต้นฉบับและสำเนา
กรณีประกอบธุรกิจส่วนตัว ให้เตรียมเอกสารดังนี้
1. สำเนาทะเบียนการค้า ทะเบียนพาณิชย์ หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (หนังสือบริคณห์สนธิ) กรณีที่มีการจดทะเบียน
2. สมุดบัญชีแสดงการเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน ทั้งบัญชีส่วนตัวและบัญชีกิจการ ทั้งฉบับจริงและสำเนา
3. บัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน และวงเงินเบิกเกินบัญชี
4. หลักฐานอื่นๆ เกี่ยวกับกิจการ เช่น ภาพถ่ายกิจการ 5 ภาพ รายชื่อผู้ถือหุ้น งบการเงิน หลักฐานรายได้และทรัพย์สินอื่นๆ หลักฐานแสดงการเสียภาษี (ภ.พ. 30) เป็นต้น
กรณีประกอบอาชีพอิสระ ให้เตรียมเอกสารดังนี้
1. บัญชีเงินฝากแสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งฉบับจริงและสำเนา
2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร ทนาย สถาปนิก เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 เอกสารแสดงรายละเอียดหลักทรัพย์ ในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นสถาบันการเงินจะถือเอาอสังหาริมทรัพย์ที่กู้เงินไปซื้อนั้นมาเป็นหลักประกัน ดังนั้นเอกสารที่แสดงรายละเอียดหลักทรัพย์ก็คือ เอกสารที่ระบุถึงอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ
1. กรณีที่อสังหาริมทรัพย์คือที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้าน ทาว์นเฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ เป็นต้น ให้เตรียมสำเนาเอกสารสิทธิที่ดิน โฉนดที่ดิน (น.ส. 4 จ.) หรือหนังสือแสดงสิทธิ์ใน ที่ดิน (น.ส. 3 ก.) ถ่ายสำเนาทุกหน้าจำนวน 2 ชุด
2. กรณีที่อสังหาริมทรัพย์คือห้องชุด ให้เตรียมหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อ.ช. 2) ถ่ายสำเนาทุกหน้า จำนวน 2 ชุด
3. แผนที่ตั้งโดยสังเขปของอสังหาริมทรัพย์
4. รูปถ่ายของอสังหาริมทรัพย์
5. สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญามัดจำ หรือหลักฐานการชำระเงินดาวน์
6. กรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์มือสอง เป็นการซื้อต่อที่ไม่ได้ซื้อโดยตรงจากโครงการจัดสรร ให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้จะขาย
7. สำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง เช่น สัญญาซื้อขายที่ดิน (ทด. 13) ใบอนุญาตปลูกสร้างบ้าน ใบคำร้องขอเลขที่บ้าน เป็นต้น
กรณีมีผู้กู้ร่วม ให้ผู้กู้ร่วมทุกคนจัดเตรียมเอกสารในกลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ และเอกสารในกลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน ตามวิธีการและรายละเอียดที่ให้ไว้ด้านบน
หลังจากเตรียมเอกสารทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอสินเชื่อควรตรวจสอบเอกสารอีกครั้งเพื่อความแน่ใจว่าเอกสารถูกเตรียมไว้อย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ทั้งเอกสารที่ต้องการต้นฉบับไปแสดงและเอกสารที่ใช้สำเนา ให้ผู้ขอสินเชื่อลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ
ถึงแม้ว่าผู้ขอสินเชื่อจะเตรียมเอกสารครบถ้วนตามรายการแล้ว แต่สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกขอเอกสารหรือหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติม ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ในกรณีเช่นนี้ผู้กู้ควรรีบดำเนินการนำเอกสารส่งต่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อภายใน 3 วัน เพื่อความต่อเนื่องของกระบวนการพิจารณา
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์ นักเขียนออนไลน์ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ chetapol@ddproperty.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น