วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558

วิศวกรสอนชาวนา ปลูกข้าวลดต้นทุน

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 16 ก.ย. 2558 05:01
32,496 ครั้ง


“จบวิศวะไฟฟ้าได้เงินเดือนสูงก็จริง แต่เบื่อต้องทำงานตามคำสั่ง ไม่อิสระ เลยลาออกมาทำนาเหมือนพ่อ ตั้งข้อสงสัยพ่อแม่เราขยันทำนามาตั้งนาน แต่ทำไมไม่รวยเสียที พอมาทำเองถึงได้รู้ สาเหตุมาจากขาดระบบจัดการที่ดี”
นายนพดล สว่างญาติ อดีตวิศวกร ปัจจุบันชาวนา ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนชาวนา เข้าแข่งขันปลูกข้าว (THE SUPER FARMER) จัดโดย กรมการข้าว บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และฟาร์ม แชนเนล
ด้วยสามารถบริหารจัดการลดต้นทุนทำนา จากไร่ละ 4,800 บาท เหลือแค่ 3,000 บาทต่อไร่ และได้ผลผลิตไร่ละ 1,100–1,200 กก.
นายนพดล สว่างญาติ อดีตวิศวกร

เขามีวิธีบริหารจัดการยังไง...นพดล บอกว่า การปลูกข้าวให้ได้รวงดี มีน้ำหนัก ปัจจัยสำคัญคือ เมล็ดพันธุ์ต้องมีคุณภาพ แต่ได้เมล็ดพันธุ์ดีมาแล้ว การปลูกไม่ใช่แค่หว่านๆ แล้วข้าวงอก เพราะข้าวบางเมล็ดไม่สมบูรณ์ ปลูกแล้วซดปุ๋ยพอๆต้นสมบูรณ์ แต่ออกรวงไม่เท่ากัน กลายเป็นต้นทุน จึงแก้ปัญหาด้วยการชวนเพื่อนบ้านรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนพันธุ์ข้าวไทย เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์
“คนไทยทำนาปลูกข้าวเก่ง แต่ขาดผู้นำและการจัดการ ปลูกข้าวสะเปะสะปะ แบบไหนว่าดีแห่ตามกัน ไม่เป็นขั้นเป็นตอน การรวมกลุ่มจึงไม่ใช้วิธีบังคับให้ทำตาม เพราะนิสัยคนไทยไม่ชอบ แต่ถ้าเห็นว่าใครทำแล้วได้ดี ถึงยอมทำตาม”
เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ต้องเริ่มตั้งแต่ เตรียมดิน เมื่อก่อนหลังเกี่ยวข้าวหมด เอาเร็วเข้าว่าเพื่อให้ได้ทำนาหลายรอบ เลยใช้วิธีเผาตอซัง เลยทำให้ปุ๋ยที่หว่านไป 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค้างในตอซังและดินถูกเผาไปด้วยและยังทำให้หน้าดินเสีย
นพดล จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการหมัก หลังเกี่ยวข้าวเสร็จจะตีฟางให้กระจายเพื่อให้ย่อยสลายง่าย ปล่อยทิ้งไว้ 1 เดือน แล้วจะใช้รถไถนาย่ำขี้เทือก 1ครั้ง พร้อมจะราดน้ำหมักหน่อกล้วย 5 ลิตรต่อไร่พร้อมกัน...วิธีนี้ทำให้ฟางข้าวย่อยสลายเร็ว ปล่อยไว้ 15วัน ปล่อยให้ฟางย่อยเต็มที่ก่อนไถปรับเทือกเลน อีกครั้ง
แช่เมล็ดพันธุ์ในถังน้ำดีกว่าแช่ในบ่อน้ำหรือบ่อซีเมนต์

และเพื่อให้เมล็ดพันธุ์เกิดการงอกที่ดี...ต้องนำเมล็ดพันธุ์มาแช่น้ำในถัง เพราะเก็บในที่ร่มได้ สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดีกว่าแช่ในบ่อน้ำหรือบ่อซีเมนต์ที่โดนแดดเผาแล้วอุณหภูมิน้ำจะไม่เสถียร ทำให้เกิดเชื้อรา ต้นข้าวโตเป็นโรคระบาดง่าย
“พื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 15 กก.น้อยกว่าเดิมที่เคยใช้เมล็ดพันธุ์ 25 กก.ต่อไร่ เพราะเมล็ดข้าวยิ่งหว่านห่างจะแตกกอใหญ่ รากหากินไกล ลำต้นแข็งแรง ชาวนาบ้านเราชอบเผื่อทุกอย่าง หว่านมากๆ เผื่อนกกิน เผื่อไม่ขึ้น เป็นความคิดที่ผิด เพราะเมล็ดข้าวหนาตา กลายเป็นเป้าหมายนกมองเห็นชัด แต่ถ้าหว่านน้อยและใช้เทคนิคปรับเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ให้จมดิน นกไม่สนใจเพราะมองไม่เห็น วิธีนี้ใช้ได้ผลทดลองมาแล้ว เมื่อเทียบกับแปลงนาข้างๆที่ถูกนกจิกกินหมด”
หว่านเมล็ดข้าวยิ่งห่างจะแตกกอใหญ่ รากหากินไกล ลำต้นแข็งแรง

การใส่ปุ๋ยก็เหมือนกัน อย่าใช้ความรู้สึก...เมื่อต้นข้าวอายุ 25 วัน ต้องวัดค่าดิน เพื่อให้รู้ว่าค่า ph เพราะมีผลต่อการละลายของปุ๋ย หากค่า ph 5.5 ทำให้ปุ๋ยไนโตรเจนละลายได้ 80% ฟอสฟอรัสละลาย 30% โปแตสเซียม 70% ท้ายสุดนับถอยหลังก่อนเกี่ยว 60 วัน ใช้แถบวัดใบข้าวที่กรมการข้าวคิดค้นว่า ควรใส่ปุ๋ยตัวไหน เพราะหากใส่ไม่ตรงตามความต้องการของข้าว มีแต่จะสูญเงินค่าปุ๋ยไปโดยใช่เหตุ
ชาวนาท่านไหนที่ยังปลูกข้าวแบบเดิม ตามหลักวิชา “เขาว่ามา”...ทราบแล้วเปลี่ยนซะ.

เพ็ญพิชญา เตียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น