- ภาพ
รูปภาพ :
มติบอร์ดสปสช.เห็นชอบกระจายงบให้ท้องถิ่น 500 ล. ดูแลผู้สูงอายุระยะพึ่งพิง ตก 5,000 บาทต่อคนต่อปี
เมื่อวันที่ 14 กันยายน ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2559 จะเป็นปีแรกที่จะเปิดงานการดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย โดยเริ่มต้นจากผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม). อนุมัติงบ 600 ล้านบาทเพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัวให้ สปสช.ดำเนินการครอบคลุมผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงจำนวน 100,000 คน หรือร้อยละ 10ของกลุ่มเป้าหมายและจะขยายให้ครบทุกคนภายใน 3 ปี โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งงบนี้จะแบ่งเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล/เทศบาลขนาดใหญ่ 1,000 แห่ง จำนวน 500 ล้านบาท และอีก 100 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 1,000 แห่ง เพื่อทำงานเชิงรุกป้องกันสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง เป็นต้น
“การบริการเบื้องต้นในปี 2559 จะดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 1 แสนคน ก่อนจะขยายต่อไป โดยหากคิดเป็นอัตราค่าหัวจะเฉลี่ย อัตรา 5,000 บาท ต่อผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 1 รายต่อปี เพื่อจัดบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ด้านการแพทย์ที่ได้กำหนดไว้ เช่น ตรวจคัดกรอง ประเมินความต้องการดูแล การเยี่ยมบ้าน สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อุปกรณ์เครื่องช่วยทางการแพทย์ ทั้งนี้ เดิมในปี 2559 การดูแลอาจได้เฉพาะผู้สูงอายุสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทอง แต่จากการพิจารณา บอร์ดฯ เห็นว่าไม่ควรจำกัดสิทธิ โดยต้องขยายให้ครบทุกสิทธิสุขภาพของไทย จึงได้ให้สปสช.ประสานกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และอาจต้องเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาขยายสิทธิประโยชน์การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงนี้ให้ครบทุกสิทธิ”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. และรักษาการเลขาธิการฯ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จะแบ่งกรอบระยะเวลา 3 ปี คือ ปีแรกเริ่มปี 2559 เน้นในผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 100,000 คน หรือ 10%ของผู้สูงอายุ ในปี 2560 เพิ่มเป็น 500,000 คน หรือ 50% และจะเพิ่มเป็น100% หรือ 1 ล้านคนในปี 2561 เบื้องต้นในปี 2559 จะมีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุขึ้นในชุมชนที่มีผู้จัดการศูนย์ที่เป็นมืออาชีพ หรือ Care manager และจะมีอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Care Giver โดยศูนย์นี้มีบทบาทจัดทำข้อมูลและแผนดูแลกลุ่มเป้าหมายเป็นรายคน ทำหน้าที่ฟื้นฟูและมีกิจกรรมบำบัดผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ฯลฯ โดยจะมีการดำเนินการปีแรกประมาณ 1,000 ตำบล โดยพื้นที่นำร่อง 1,000 แห่งนั้น จะมีหลักเกณฑ์การเลือก โดยต้องเป็นพื้นที่ที่นำร่องและทำงานด้านดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มีการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพระดับดี เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น