วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558

๒๔ กันยายน..วันมหิดล..รำลึกพระกรุณาสมเด็จพระบรมราชชนก

tnews_1259830130_9894

       “วันมหิดล” ตรงกับวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงมีคุณูปการต่อการแพทย์สมัยใหม่ 

        และทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ” สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ สมเด็จพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน 

       พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีพระนามเดิมว่า “ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ” ทรงเป็นต้นสกุล “ มหิดล ” 

Mahidol_Bio_2

        เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และเสด็จไปศึกษาวิชาการทหารบกที่ประเทศเยอรมัน โดยในปีสุดท้ายได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาการทหารเรือแทน และสำเร็จการศึกษาในปีพ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งในปีสุดท้ายนี้ทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำด้วย 

        ทรงได้รับยศเป็นนายเรือตรีในกองทัพเรือเยอรมัน และได้รับพระราชทานยศจากเมืองไทยเป็น นายเรือตรีแห่งราชนาวีไทยเมื่อพระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปีพ.ศ. ๒๔๕๗ พระองค์จึงได้ลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน และเสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท 

        สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสนพระทัยและเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่งซึ่งทรงศึกษามาจากเยอรมันมาก ในขณะนั้นรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชประสงค์จะบูรณะกองทัพเรือ พระองค์ก็ได้ถวายความเห็นว่าเมืองไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่มีฐานทัพเรือหรืออู่ใหญ่ๆ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้เรือรบใหญ่ ควรใช้เรือเล็กๆ เช่น เรือดำน้ำ หรือตอร์ปิโด ซึ่งเข้าแม่น้ำได้สะดวกกว่า และมีประโยชน์มากกว่า 

        แต่เนื่องจากสมัยนั้น ผู้ใหญ่ส่วนมากจบจากอังกฤษ และเห็นว่าควรมีเรือใหญ่ เพื่อฝึกทหารไปในตัว ก็ทรงยอมรับฟัง แต่ก็ทรงน้อยพระทัยว่าอุตส่าห์ไปศึกษาวิชานี้มาโดยตรงจากเยอรมัน ครั้นถึงเวลาปฏิบัติจริงกลับไม่ได้ใช้ ต่อมาจึงทรงลาออกจากประจำการ เนื่องจากมีทรงอาการประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ 

วันมหิดลๅ

        ครั้นต่อมา สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองและผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ขณะนั้นทรงพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนแพทย์ของไทยอยู่ในฐานะล้าหลังมากเมื่อเทียบกับทางยุโรป จึงตกลงพระทัยจะปรับปรุงเป็นการใหญ่ 

        แต่มีอุปสรรคคือ หาผู้มีวิชามาเป็นอาจารย์ไม่ได้ จึงได้ทรงกราบทูลวิงวอนสมเด็จพระบรมราชชนกให้ทรงช่วยจัดการเรื่องการแพทย์ ซึ่งเมื่อพระองค์ได้รับทราบถึงความขาดแคลนต่างๆในด้านการแพทย์ และการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ศิริราช จึงตกลงพระทัยจะทรงช่วย โดยเสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขและเตรียมแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๐ 

        ซึ่งในระหว่างศึกษาต่อนี้ พระองค์ยังได้พระราชทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ อีกด้วย และที่สำคัญคือยังมีนักเรียนพยาบาลอีก ๒ คนที่ได้รับทุนจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าซึ่งหนึ่งในนั้น คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ(ชูกระมล)ในขณะนั้น) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนของพระองค์อย่างดี 

         ทรงรับสั่งเตือนสติเสมอว่า “ เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินราษฎรเขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นพวกเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ” 

       ในปีพ.ศ.๒๔๖๓ ได้เสด็จนิวัติพระนคร เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ ในระหว่างนี้ได้ทรงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อโรคบิดอะมีบาและตัวเชื้อโรคไข้มาลาเรีย และยังทรงสอนนักศึกษาเตรียมแพทย์ และทรงปลีกเวลาเรียบเรียงเขียนเรื่องโรคทุเบอร์คุโลลิส หรือโรคฝีในท้อง (วัณโรค) ด้วย 

family3

         ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาว สังวาลย์ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก่อนเสด็จกลับไปศึกษาต่อ จนสำเร็จการศึกษาสาธารณสุข ได้รับประกาศนียบัตร C.P.H. เมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๔ จากนั้นได้เสด็จยุโรปพร้อมพระชายาประทับอยู่ที่เอดินเบอร์ก แต่เดิมที่เสด็จยุโรปครั้งนี้ ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาแพทย์ให้จบ 

         แต่เนื่องจากทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะ กอปรกับอากาศที่อังกฤษหนาวชื้น ไม่เหมาะกับโรค จึงได้เสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งเมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๖ และรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระองค์ท่านเป็น อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ต่อมาได้ทรงสอนวิชาว่าด้วยกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และวิชาประวัติศาสตร์แก่นักเรียนเตรียมแพทย์ ครั้นพ้นตำแหน่งเดิมก็ทรงได้รับตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป อันเป็นตำแหน่งเฉพาะพระองค์ 

          จากการที่ทรงตรากตรำทำงานอย่างหนักทำให้พระอนามัยทรุดโทรม แพทย์ได้กราบทูลแนะนำให้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ยุโรปหรืออเมริกาซึ่งมีอากาศเหมาะกับพระอาการ ในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ จึงได้เสด็จยุโรปพร้อมพระชายาและพระธิดา และในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้ศึกษาต่อวิชาแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระหว่างปีสุดท้ายทรงใช้เวลาและพละกำลังมากไปเกินเหตุ จนเป็นให้อาการพระโรคกำเริบขึ้น คณะแพทย์คิดว่าพระอาการจะไม่ฟื้นดีขึ้น จึงถวายคำแนะนำมิให้ทรงตรากตรำเข้าสอบไล่ 

         แต่ต่อมาพระอาการดีขึ้น จึงทรงเข้าสอบจนสำเร็จได้เกียรตินิยม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๑ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคมเกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ Alpha Omega Alpha ก่อนเสด็จนิวัติถึงพระนครเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๑ 

         ในครั้งนั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ทางการไม่อาจจะสนองพระราชประสงค์ได้ เนื่องจากติดเรื่องพระอิสริยยศและราชประเพณี เป็นเหตุให้ไม่พอพระราชหฤทัย จึงทรงเปลี่ยนความตั้งพระทัยเสด็จไปปฏิบัติหน้าที่แพยทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่แทน โดยเสด็จถึงเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๒ และทรงอยู่ร่วมกับครอบครัวดร.อี.ซี.คอร์ท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอมิคในครั้งนั้น 

king01

         ทรงมีมหาดเล็กรับใช้เพียงคนเดียว และทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญคนหนึ่ง แม้ว่าสุขภาพจะไม่อำนวย แต่ทรงมีความสุขเป็นอันมากกับการมีโอกาสเป็นหมออย่างเต็มที่ 

         ชั่วเวลาไม่นาน กิตติศัพท์ของพระองค์ก็แพร่หลายไปทั่วว่ามีแพทย์เป็นเจ้าฟ้ามาทรงปฏิบัติงานอยู่ที่นี่ ผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาโรคที่โรงพยาบาลครั้งนั้น จึงขนานนามพระองค์ท่านว่า “ หมอเจ้าฟ้า ” 

         เป็นที่น่าเสียดายว่าทรงประทับอยู่เชียงใหม่ไม่ถึงเดือนก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จกรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช 

         จากนั้นทรงประชวรหนัก และได้เสด็จทิวงคตด้วยพระอาการบวมน้ำในพระปัปผาสะ (ปอด) และพระหทัยวาย เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ 

         รวมสิริพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย 

         หลังจากทิวงคตแล้ว เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๗ได้สถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์พระองค์เป็น “ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ” 

         และในปีพ.ศ. ๒๔๗๗ รัชกาลที่ ๘ ได้ทรงสถาปนาเป็น “ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ” 

          ครั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้สถาปนาพระองค์เป็น “ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ” 

           จะเห็นได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไพศาล โดยเฉพาะด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และพระหฤทัย ตลอดจนทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อการแพทย์ไทยอย่างมากมายเกินกว่าจะกล่าวได้ นับตั้งแต่ทรงจบการศึกษาวิชาการทหารเรือและทรงรับราชการในกองทัพเรือ 

018

           จนเมื่อทรงประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ต้องลาออก แต่ด้วยพระหฤทัยมั่นที่จะทรงเกื้อกูลประเทศชาติ ประกอบกับทรงสนพระหฤทัยในกิจการแพทย์ ก็ทรงพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาก็ได้เสด็จกลับและทรงปฏิบัติงานร่วมกับกรมสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดเข้มแข็ง 

          ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช ประทานเงินส่วนพระองค์จัดสร้างตึกคนไข้ จัดหาที่พักสำหรับพยาบาลได้อาศัย 

          ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นทุนไว้สำหรับส่งนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลออกไปศึกษาต่อ ต่างประเทศ ประทานเงินจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับปฏิบัติการในโรงพยาบาล 

          ทรงเป็นผู้แทนติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเล่อร์ให้ดำเนินการช่วยเหลือการแพทย์และพยาบาลไทย โดยปรับปรุงการศึกษา และวางมาตรฐานจนสามารถรับรองกิจการแพทย์ของประเทศได้ดังปัจจุบัน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงได้พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ” 

          นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่างๆ ก็ได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช 

the-initiative

          และในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ นักศึกษาแพทย์ก็ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ 

          และต่อมาทางคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ก็มีความเห็นพร้องต้องกันว่าให้ยึดเอาวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันน้อมระลึกถึงพระองค์ โดยให้ชื่อว่า “ วันมหิดล ” และจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ 

           และเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี วันพระราชสมภพ องค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก 

           ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๑ กองทัพเรือก็ได้ขอพระราชทานพระยศ “ จอมพลเรือ ” 

           ขอเชิญชวนให้ประชนชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์ที่จะเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท 

          พระองค์ทรงกล่าวเสมอว่า “ อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวย ก็ควรประกอบอาชีพอื่น ” 
……………………………………………

ที่มา : อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
cr:http://welovethaiking.com/blog/%E0%B9%92%E0%B9%94-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A5-%E0%B8%A3%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B6-2/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น