updated: 17 ก.ย. 2558 เวลา 15:20:55 น.
ห้วงเวลาแห่งการ "ปฏิรูป" ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 จะสิ้นสุดในอีก 1 ปีข้างหน้า (30 ก.ย. 2559) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เริ่มกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับใหม่ ก่อนประกาศใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป ล่าสุด วันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา สศช.จัดประชุมเรื่อง"ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)" ขึ้น โดยชักชวนคนไทยก้าวขึ้น "รถไฟขบวนที่ 12" นำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมาย "ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานและร่วมแสดงปาฐกถา
ดันลงทุน 1.765 ล้านล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากให้มองไปข้างหน้า 20 ปีในการวางยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศให้ดีขึ้นทุก ๆ ด้าน โดยต้องมองให้สอดคล้องระหว่างภายในและภายนอกประเทศ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงการค้าการลงทุน เศรษฐกิจตลาดเดียว โดยระยะยาวจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทางด้านนวัตกรรม จะต้องมีตัวชี้วัดชัดเจนในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ให้อันดับของประเทศดีขึ้น
"การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมี 18 โครงการ วงเงินรวม 1.765 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนระยะยาว ใช้ทั้งเงินงบประมาณ เงินกู้ หรือร่วมทุน ไม่ให้เกินตัวเลขหนี้สาธารณะ ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ อาทิ รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รถไฟไทย-จีน การขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่ 2 การทำสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์ แอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมต่อถึงสนามบินดอนเมือง เป็นต้น
สศช.สร้างรูปธรรมลงทุนในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เพื่อให้แผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 เป็นรูปธรรม "จับต้องได้" การลงทุน 5 ปีต้องชัดเจน โดย สศช.จะระบุทั้งแผนแม่บทการลงทุนรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ แผนพัฒนาระบบราง 5-10 ปีข้างหน้า แผนพัฒนาพลังงาน ฯลฯ ไม่ให้เกิดปัญหาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาบริหารก็ต้องทำตามแผน อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีนโยบายให้ดูแลการก่อหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 50% ของ GDP เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลัง
นายอาคมกล่าวว่า สถานะประเทศไทยในปัจจุบันได้ยกระดับเป็นประเทศ "รายได้ปานกลางตอนบน" แล้ว แต่มีคำถามว่า จะหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางเมื่อไหร่ ดังนั้นต้องกำหนดเป้าหมายเติบโตด้านเศรษฐกิจไว้ในแผนฯฉบับที่ 12 ด้วย เพื่อเป็นตัวชี้วัด
"ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดเป้าชัดเจน แต่มีสมมุติฐานว่า ถ้าเศรษฐกิจโต 5% ต่อปี ก็จะหลุดพ้นเกณฑ์การเป็นประเทศรายได้ปานกลางในปี 2569 หรืออีก 10 ปี หากโตแค่ 3% เวลาก็ทอดออกไปอีก 5 ปี"
ขณะเดียวกันยังคงเน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยึดคนเป็น "หัวใจ" หลัก สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงระดับสากลที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้ปี 2558 เป็นปีสุดท้ายของ"การพัฒนาแห่งสหัสวรรษ" จากนี้อีก 15 ปีจะต้องอยู่ภายใต้การพัฒนาอย่างยั่งยืนแทน ด้านการแก้ปัญหาประชากรสูงอายุจะต่ออายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 65-70 ปี หรือจะมีงานให้ทำหรือไม่
สร้าง คนดี-เก่ง ขับเคลื่อนประเทศ
"นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา" ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจฯ กล่าวว่า แผนพัฒนาฯ 12 ให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้ประชาชนให้สูงขึ้น มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ยกระดับคุณภาพและศักยภาพของคนทุกช่วงวัย ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร เศรษฐกิจต้องเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งต้องเตรียมการพัฒนาพื้นที่และภาคต่าง ๆ เพื่อการเชื่อมโยงการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทั้งหมดนี้ต้องสร้าง "คนดี" และ "เก่ง" ขึ้นมาขับเคลื่อน
เน้นเชื่อมโยงภูมิภาค
ส่วนของการเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคนั้น นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการ สศช. ชี้ว่าจะมุ่งเน้นพัฒนาและการเชื่อมโยงภูมิภาคมากขึ้น ให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเร่งผลักดันการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน แก้ไขความแออัดหน้าด่าน ฯลฯ เพราะเป็นเครื่องยนต์ลำดับต้น ๆ ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นพัฒนาทางหลวงสายระเบียงเศรษฐกิจ GMS ที่สำคัญต่อการค้าการลงทุนในอนาคต เดินหน้ารถไฟทางคู่ เพิ่มโอกาสแข่งขันด้านโลจิสติกส์ ซึ่งแผนเร่งด่วนจะพัฒนา 6 เส้นทาง คือ 1.ฉะเชิงเทรา-แก่งคอย 2.จิระ-ขอนแก่น 3.ประจวบฯ-ชุมพร 4.นครปฐม-หัวหิน 5.มาบกะเบา-จิระ และ 6.ลพบุรี-ปากน้ำโพ พัฒนารถไฟไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น พัฒนาทางหลวง 4 ช่องจราจร เชื่อมโยงฐานการผลิต รวมถึงโครงข่ายทางน้ำ เช่น ท่าเรืออ่างทอง ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมได้มาตรฐาน ระบบขนส่งสาธารณะทั่วถึง และเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
เอกชนชี้แผนพัฒนาชาติยังไม่ชัดเจน
นายอิสระว่องกุศลกิจประธานหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า ไทยมีความพร้อมหลายด้าน โดยภาคเกษตรไทยมีพื้นที่ต่อประชากรมากที่สุดในอาเซียน เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก เป็นผู้ส่งออกอันดับ 14 ของโลกในเรื่องของอาหาร ส่วนเรื่องการค้าเป็นศูนย์กลางกลุ่มอาเซียน ภาคบริการถือว่ามีศักยภาพสูง แต่ความสามารถในการแข่งขันจากการจัดอันดับของ IMD อยู่อันดับที่ 30 ลดลงจากปีก่อน รัฐจึงควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศ
IMD จัดไว้ว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องของการลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ การวิจัย การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี ดิจิทัลอีโคโนมี ซึ่งถือเป็น Soft Infrastructure ขณะที่การลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้านคมนาคมขนส่ง พลังงาน ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรให้สามารถก้าวข้ามจากปัจจุบันไปมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนต่อปีมากกว่า 12,700 ดอลลาร์สหรัฐ และกระจายรายได้ไปทั่วประเทศ
ภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 เช่น การผ่อนคลายกฎหมาย ลดระเบียบการค้า การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ระเบียบผังเมือง โดยต้องให้ชัดเจนและไม่มีข้อจำกัด นอกจากนี้ต้องการให้ผลักดันภาคอุตสาหกรรม พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ไอซีที ลดการใช้แรงงาน รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ส่วนการพัฒนาภาคการเกษตรยังไร้การเชื่อมโยง การผลิตด้านอุตสาหกรรมการเกษตรมีมาก แต่รายได้น้อยลง หลายอุตสาหกรรมมีโรงงานจากต่างประเทศมาตั้งฐานผลิตสินค้าแปรรูปตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งที่ไทยสามารถพึ่งพาเองได้ ขณะเดียวกันนอกจากลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งต้องใช้งบฯมหาศาลแล้ว ที่ไม่ควรมองข้ามคือการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา
ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น