วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

"บีโอไอ" เจาะลึก CLMVI ยิงตรงธุรกิจไหนน่าลงทุน

updated: 10 ก.ย. 2558 เวลา 22:15:41 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อีกไม่กี่วันประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะเปิดอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งคงเป็นอานิสงส์ให้หลายบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ ที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านานหลายปีแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยหลายรายเพิ่งเริ่มทยอยเดินทางเข้าไปลงทุน ขณะที่อีกหลายคนยังกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นตรงจุดไหนอย่างไร

ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จึงได้จัดงานสัมมนา"เสริมฐาน-สร้างโอกาส-ตลาดอาเซียน : โอกาสการลงทุนในตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย" ขึ้น เพื่อฉายมุมมองและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจให้นักลงทุนหน้าใหม่

นางสาวชลลดา อารีรัชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอ เปิดเผยถึงภาวการณ์ลงทุนไทยในต่างประเทศว่า จากสถิติล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2557 พบว่า นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศกว่า 15,701.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 550,000 ล้านบาท) โดยกิจการที่ไทยออกไปลงทุนมากที่สุดเป็นกิจการการผลิตอาหาร 45% ธุรกิจการเงินการธนาคาร การประกันภัย 13% และกิจการการขนส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ 11%

ในอาเซียนกลุ่มประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย (CLMVI) ถือเป็นกลุ่มประเทศที่เหมาะเข้าไปลงทุนมาก เพราะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูงเฉลี่ยปีละ 10% มีการค้าเติบโตเฉลี่ยปีละ 16% และมีมูลค่าการลงทุนตั้งแต่ปี 2553-2556 จากต่างประเทศรวมกว่า 1.17 แสนล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องถึง 9% ต่อปี เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจและกำลังซื้อเติบโตเร็วมาก

ทั้งนี้ คนไทยถือเป็นนักลงทุนอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย โดยมีสัดส่วนการลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับ 2 ลงทุนใน สปป.ลาวเป็นอันดับ 2 ลงทุนในกัมพูชาเป็นอันดับ 6 ลงทุนในเวียดนามเป็นอันดับ 10 และลงทุนในอินโดนีเซียเป็นอันดับ 15

สำหรับต้นทุนในการทำธุรกิจนั้นในเรื่องของค่าแรง ประเทศเมียนมามีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุด 56 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน รองลงมาเป็น สปป.ลาว 75 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน กัมพูชา 128 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน อินโดนีเซีย 145 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และเวียดนาม 174 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 274 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

จากการศึกษาอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพในการออกไปลงทุน 3 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งในอุตสาหกรรมอาหารควรเข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตในท้องถิ่น ธุรกิจร้านอาหารไทย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เหมาะเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โรงงานผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ รวมทั้งศูนย์บริการและซ่อมบำรุง

ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มควรเข้าไปลงทุนโรงงานผลิตเส้นใย โรงงานทอผ้า ย้อมผ้า และโรงงานตัดเย็บ นอกจากนั้น ตลาด CLMVI ยังมีจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานมาก แต่มีอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ นักลงทุนไทยจึงควรเข้าไปขยายฐานการผลิตและการบริการ เพราะเป็นการสร้างโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบเหล่านี้

นายชลิต เตชัสอนันต์ ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสาขาจาการ์ตา อินโดนีเซียกล่าวว่า ตลาดอินโดนีเซียกำลังเติบโต โดยเฉพาะสินค้าอาหารฮาลาลแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยส่วนมากจะส่งวัตถุดิบเข้าไปขาย นอกจากนี้ มีธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีทรัพยากรที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนอุปสรรคในการเข้าไปลงทุนส่วนใหญ่จะเรื่องภาษา เพราะคนอินโดฯส่วนมากจะใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร

นายธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสาขาโฮจิมินห์ เวียดนามกล่าวว่า การลงทุนที่เวียดนามตอนนี้คึกคักมาก มีผู้ประกอบการไทยจำนวนมากเข้ามาปรึกษาเรื่องพื้นที่ การเงิน ทั้งธุรกิจอะไหล่รถยนต์ ร้านอาหาร ท่องเที่ยว โรงงาน โดยอุปสรรคการดำเนินธุรกิจจะเป็นเรื่องของภาษาและผู้ประกอบการรายเล็ก ยังต้องการในเรื่องการอำนวยความสะดวก ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนด้านข้อมูลด้วย

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า ปีนี้นักลงทุนไทยคึกคักกับการออกไปลงทุนต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพร้อมของผู้ประกอบการ ขณะที่ AEC กำลังจะเปิดและเพราะโอกาสมาถึง ส่วนใหญ่สนใจที่เมียนมาเพราะเป็นตลาดใหม่ แต่ยังคงยืนยันว่าประเทศไทยเองยังมีศักยภาพพอที่จะลงทุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น