วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ก้าวสู่โลกใต้ดินของพิพิธภัณฑ์ท่อระบายน้ำสุดลึกลับแห่งปารีส


“…ปารีส มีอีกปารีสหนึ่งอยู่ด้านใต้ เป็นปารีสแห่งท่อระบายน้ำ ที่มีถนน ทางแยก จัตตุรัส และตรอกซอยเป็นของตัวเอง มีเส้นเลือดและระบบไหลเวียน ซึ่งเป็นน้ำเมือกที่ปราศจากร่างมนุษย์”
...นี่คือประโยคหนึ่งจาก Les Misérables นวนิยายชื่อก้องโลกผลงานของ Victor Hugo นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสผู้ให้รายละเอียด “ท่อระบายน้ำ” แห่งกรุงปารีสเอาไว้ในลักษณะที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าใดนัก

 
พิพิธภัณฑ์ท่อระบายน้ำแห่งปารีส หรือ Le Musée des Égouts de Paris คือพิพิธภัณฑ์ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ซุ้มเล็กๆในย่าน Quai d'Orsay ริมแม่น้ำ Seine ที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยได้ยินหรือมองข้ามไป โดยที่หารู้ไม่ว่าใต้พื้นดินของซุ้มเล็กๆแห่งนี้นั้น คือโครงข่ายขนาดใหญ่ของระบบระบายน้ำความยาวหลายร้อยกิโลเมตร ที่ซอกซอนไปทั่วทุกพื้นที่ของเมือง เสมือนเป็นเงาสะท้อนด้านมืดที่ถูกซ่อนไว้ของปารีสบนผืนดินที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา อุโมงค์เบื้องล่างนี้ใหญ่พอที่คนจะเดินได้อย่างสบายๆ แบ่งเป็นถนนย่อยมากมายหลายเส้นทาง ขนาดที่แต่ละถนนต้องมีป้ายชื่อของตัวเอง ท่อน้ำทิ้งจากแต่ละอาคารต้องมีระบุที่อยู่เช่นเดียวกับบ้านเรือนบนดินเลยทีเดียว
 

 
 
 
 
เอกลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อาจไม่ใช่วัตถุชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ ผลงานศิลปะหายาก หรือของสะสมปริมาณมหาศาลเหมือนพิพิธภัณฑ์อื่นทั่วไป สิ่งสำคัญเพียงหนึ่งเดียวที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีให้ได้ชม คือ ตัวมันเอง ซึ่งเมืองเทียบจากความเก่าแก่ และ ขนาดที่เรียกได้ว่าใหญ่เท่าเมืองทั้งเมือง ประสบการณ์ที่ผู้เข้าชมจะได้รับจากการผจญภัยในโลกใต้ดินอายุกว่า 600 ปีซึ่งเป็นสุดยอดผลงานทางวิศวกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นแห่งนี้ ถือได้ว่ามีคุณค่าไม่แพ้ที่ไหนแน่นอน
ระบบระบายน้ำของปารีส เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในช่วงปีค.ศ. 1200 เมื่อถนนต่างๆในเมืองเริ่มถูกปูพื้นด้วยหิน การระบายน้ำในยุคนั้นเป็นเพียงการสร้างรางน้ำทิ้งไว้ที่กลางถนน ซึ่งนอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพแล้วยังกลายเป็นที่บ่มเพาะเชื้อโรค มีส่วนทำให้การระบาดของกาฬโรค (Black Death) ในช่วงปีค.ศ. 1346-1353 ในทวีปยุโรปรุนแรงยิ่งขึ้น จนกระทั่งในปีค.ศ. 1370 ปารีสถึงได้สร้างระบบท่อระบายน้ำใต้ดินขึ้นเป็นครั้งแรกที่ถนน Montmartre หลังจากนั้น 400 ปีการพัฒนาระบบท่อระบายน้ำของปารีสถึงได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งในยุคการปกครองของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตในช่วงต้นคริสตศตวรรตที่ 19 โครงข่ายท่อระบายน้ำใต้ดินถูกขยายออกไปเป็นระยะกว่า 30 กิโลเมตรทั่วกรุงปารีส
ในช่วงปีค.ศ. 1805 Pierre Bruneseau ได้รับคำสั่งให้สำรวจโครงข่ายท่อระบายน้ำใต้ดินทั่วกรุงปารีส ซึ่งในตอนนั้นถือเป็นสถานที่ลึกลับที่แม้แต่ตำรวจยังไม่อยากเข้าไป Bruneseau ใช้เวลา 7 ปี (ค.ศ. 1805-1812) ในการสำรวจโลกใต้ดินแห่งนี้จนทะลุปรุโปร่ง ซึ่งระหว่างการสำรวจเขาได้พบสิ่งแปลกประหลาดมากมาย ตั้งแต่เพชรนิลจินดา โครงกระดูกลิงอุรังอุตัง ไปจนกระทั่งคุกใต้ดินเก่าแก่สมัยยุคกลาง ชื่อของ Bruneseau ยังปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่อง Les Misérables และชาวฝรั่งเศสจดจำเขาในฐานะนักผจญภัยผู้กล้าที่พิชิตดินแดนใต้ดินที่ไม่มีใครกล้าสัมผัสอีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งในปีค.ศ. 1850 เมื่อ Baron Haussmann และวิศวกร Eugène Belgrand ออกแบบระบบน้ำทิ้งขึ้นใหม่ ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ มีการแยกน้ำดีน้ำเสียด้วยท่อโลหะ และขยายระบบให้เข้าถึงพื้นที่ได้มากขึ้น เมื่อถึงปีค.ศ. 1878 ระบบท่อระบายน้ำของปารีสพัฒนาขึ้นจนมีความยาวถึง 600 กิโลเมตร และได้ขยายต่ออย่างไม่หยุดยั้งจนในปัจจุบัน ระบบมีความยาวรวมถึง 2,100 กิโลเมตร เทียบแล้วยาวกว่าระยะทางจากจังหวัดนราธิวาสถึงเชียงราย ใต้สุดถึงเหนือสุดประเทศไทยเสียอีก
 
 
 
 
 
เมื่อระบบน้ำทิ้งถูกพัฒนาให้ทันสมัย ระบบอุโมงค์ระบายน้ำแห่งปารีสก็เริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในช่วงแรกผู้เข้าชมสามารถนั่งรถลากขนาดเล็กเพื่อเดินทางในอุโมงค์ หลังจากนั้นในช่วงปีค.ศ. 1970 ก็เปลี่ยนมาเป็นเรือซึ่งล่องไปตามคลองในท่อขนาดใหญ่ราวกับเป็นเรือกอนโดล่าของปารีส แต่ในปัจจุบันระบบอุโมงค์ระบายน้ำปิดไม่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถมาสำรวจตามอิสระได้แล้ว ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลงไปในระบบอุโมงค์นี้ มีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐ 800 คนและผู้เข้าชมเฉพาะจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เท่านั้นที่สามารถลงไปได้ ดังนั้นใครอยากสัมผัสบรรยากาศของระบบอุโมงค์ยักษ์แห่งนี้ ก็ต้องมาที่ Le Musée des Égouts de Paris เท่านั้น
 
Image credit: Stephan van Es, DR.JÉJÉ, Soundlandscapes, Ignis (via Wikimedia), Rag picking history

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น