วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ฟรีแลนซ์: เมื่อทุกอย่างแม่งโดนรีทัช


ฟรีแลนซ์: เมื่อทุกอย่างแม่งโดนรีทัช
(ขอโทษนะคะที่พูดคำว่าแม่ง)
---

เวลา:
ส่วนตัวแล้วคิดว่าตัวละครหลักในหนังเรื่องนี้คือ “เวลา” ซึ่งเป็นแกนกลางของสรรพสิ่ง ตั้งแต่เปิดเรื่องจนถึงจบ หนังเปิดเรื่องด้วยข้อมูลจากสาธารณสุขว่า “คนเราควรนอนวันละ 6-8 ชั่วโมง” ซึ่งข้อมูลนี้ก็ถูกล้มล้างด้วยการทำลายสถิติของยุ่นซึ่งทำสถิติอดนอนสูงสุด 5 วัน

หลังจากนั้นเราจะเห็น “นาฬิกา” หลอกหลอนอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ราวกับโลกใบนี้ถูกควบคุมด้วย “เวลา” และทุกคนก็ไม่ต่างจากทาสที่ต้องปฏิบัติตามเจ้านายล่องหนที่ตัวเองมองไม่เห็น

บทสนทนาส่วนใหญ่ของยุ่นกับเจ๋ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องของ “เวลา” ซึ่งจะต้องทำงานให้ทันตามกำหนดส่ง พอยุ่นถามเจ๋ว่า “แฟนมึงนี่เลือกแล้วใช่ไหม” เจ๋ก็ตอบว่า “ไม่มีเวลาไปหา ก็อยู่แต่กับมึงนี่แหละ”

การพบกันของยุ่นกับหมออิมก็ถูกกำหนดด้วย “เวลา” จะคุยกันนานนักก็ไม่ได้ เพราะเวลาระหว่างหมอกับคนไข้ถูกกำหนดไว้แค่นั้น ยังมีคนไข้คนอื่นรอคิวอีกเยอะแยะ (ฉะนั้นคนไข้จึงควรรีบถกจู๋ให้หมอตรวจนะคะ)

และสุดท้าย ก็เป็น “เวลา” นี่เองที่เกือบเป็นมัจจุราชมาเอาชีวิตของยุ่นไป

“เวลา” จึงไม่ใช่เวลาเฉยๆ แต่มันได้ถูกอะไรบางอย่างในสังคมทุนนิยมและสังคมเมืองรีทัชมันให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างศิโรราบ อาจเพราะจำนวนของผู้คนที่มากมายในเมือง (เหมือนในโรงพยาบาล) อาจเพราะการแข่งขันที่ใครทำได้ดีกว่าเร็วกว่าก็จะเป็นผู้ชนะ “เวลา” จึงเป็น “ของมีค่า” ที่มีค่าเกินกว่าที่เราจะใช้มันไปกับการนอน จ้องดวงอาทิตย์ตกดิน หรือกระทั่งเดินสยาม (รวมถึงพี่สุชาติที่ไม่มีเวลาถอดหมวกกันน็อก)

กระทั่งการมีแฟนก็ยังเป็นเรื่อง “เสียเวลา” อย่างที่ยุ่นถามเจ๋ว่า “มีแฟนนี่มันไม่เสียเวลาเหรอวะ”

“เวลา” จึงไม่เพียงเป็นเงินเป็นทอง แต่มันแทบจะเป็นทุกอย่างของชีวิต เป็นโอกาส เป็นอนาคต เป็นช่องทางของการเอาชนะ และอื่นๆ อีกมากมายที่มีคุณค่า มนุษย์ในโลกใบนั้นจึงไม่ต้องการ “มีเวลา” แต่ต้องการ “ใช้เวลา” เพื่อทำอะไรที่มีประโยชน์ มีคุณค่า ในมุมของเขา

ยุ่นจึงมองโลกใบนี้ด้วยการวัดหน่วยเวลาเป็น “ปริมาณงาน” ที่เขาจะทำได้ อย่างที่เขาคำนวณการเสียเวลาเป็น "งาน" ที่สามารถลบสิว อัพนม ได้กี่จุด กี่เต้า

ยุ่นอาจคิดหน่วยเวลาเป็น “งาน” แต่สิ่งที่แฝงฝังอยู่ในงานนั้นคืออีกหลายสิ่งที่ถูก "รีทัช" ผนวกรวมเข้าไปใน “งาน” ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ ชื่อเสียง การเป็นที่หนึ่ง รางวัล การเอาชนะคนอื่น การได้รับการยอมรับ (เหมือนรางวัลโฆษณาที่ตั้งเรียงรายเป็นแบ็กกราวนด์ตอนที่เขาคุยกับพี่เป้งที่เอเจนซี่)

ในโลกใบนี้ “เวลา” มิได้มีหน่วยเป็นวินาที นาที ชั่วโมง แต่มันมีหน่วยเป็นคุณค่าเหล่านั้น ยุ่นจึงไม่ยอมสูญเสียมันไปเพื่อแลกกับการบูรณะฟื้นฟูร่างกายของตัวเอง เพราะเขาอยู่ในโลกที่เวลาถูก “รีทัช”

...

ร่างกาย:
ชอบอาชีพของพระเอกมาก มือรีทัชที่คอยขัดถูให้ผิวหนังคนอื่นเรียบเนียน แต่ตัวเองกลับมีผื่นขึ้นเห่อเต็มไปหมด ส่วนตัวคิดว่า “การรีทัช” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในหนังเรื่องนี้ เพราะมันคือการกลบเกลื่อนความจริง และสร้างภาพลวงตาขึ้นมา แล้วพวกเราก็อยู่กับภาพลวงจนเผลอคิดไปว่ามันคือความจริง ทั้งที่หลายสิ่งในชีวิตนั้นไม่ใช่ “ความจริง” แต่อย่างใด แต่เราชินกับมันจนมันกลายเป็น “ความจริง” ของชีวิต

โมเมนต์การตัดสินใจว่าจะนอนให้ตรงเวลาที่หมอกำหนดหรือจะรีทัชเล็บน้องนางแบบให้สวยงาม สะท้อนให้เห็นว่า ยุ่นไม่ได้เป็นเจ้านายของตัวเอง คำว่า “ฟรีแลนซ์” ที่แปลว่า “อาชีพอิสระ” นั้น มิได้เป็นอิสระเหมือนชื่อของมัน ความยึกยักยึดยื้อในช่วงเวลานั้นเหมือนการชักกะเย่อกันระหว่างตัวเอง (ที่ต้องดูแลตัวเอง) กับเจ้านาย-ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ผู้ว่าจ้าง แต่ยังหมายถึงคู่แข่งในสายอาชีพ โอกาสที่จะหายไป ความยอมรับในตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากความเป็น “ฟรีแลนซ์” ซึ่งต้องแบกรับภาระและความรับผิดชอบเหล่านี้ไว้กับตัวเอง

ยุ่นจึงใช้เวลาไปกับการรีทัชร่างกายคนอื่นมากกว่าที่จะมาใส่ใจกับร่างกายตัวเอง เพราะเขาไม่ได้เป็นเจ้าของร่างกาย และเขาไม่ได้เป็นอิสระ

...

ร่างกายภายใต้บงการหมอ:
เมื่อไปอยู่ในโรงพยาบาล ร่างกายของยุ่นก็ตกอยู่ภายใต้บงการของหมอ สั่งให้เปิดเสื้อ หันหลัง กระทั่งถอดกางเกงก็ต้องทำตาม นี่คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโรงพยาบาล ที่คนไข้ตกอยู่ภายใต้บงการของหมอเสมอ

สถานะเหนือกว่า-ต่ำกว่าระหว่างคนไข้กับหมอในหนังเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะมันค่อยๆ แปรเปลี่ยนให้กลายเป็นระนาบเดียวกัน กระทั่งหมอบอกคนไข้ว่า “เฮ้ย ไม่ต้องไหว้ เป็นเพื่อนกันแล้ว” ความสัมพันธ์ตรงนี้น่าสนใจมาก และทำออกมาได้ดีมาก (เชื่อว่าผู้ชายหลายคนฝันถึงคุณหมอแบบนี้ ผู้หญิงก็ด้วยแหละ) เพราะมัน “เซอร์เรียล” มาก ถ้าว่ากันตามประสบการณ์การหาหมอที่เราเคยผ่านกันมา แต่หนังสามารถเล่าความสัมพันธ์ “เซอร์เรียล” นี้ให้เชื่อว่าจริงได้ ให้เชื่อว่ามีหมอแบบนี้อยู่บนโลกใบนี้ด้วย หมอที่พูด “แม่ง / เสือก / กวนตีน” เป็นกันเองสุดๆ ใครจะไม่รักหมอแบบนี้ได้ลงคอ (อันนี้เป็นคาแรกเตอร์ในหนัง ซึ่งสนุกและดูเป็นเพื่อนกันดี แต่แน่นอนว่าความเป็นกันเองอาจไม่ต้องพูดคำหยาบก็ได้ ผู้ใหญ่ทั้งหลายไม่ต้องตกใจไป)

ฉะนั้น ทั้งชีวิตของยุ่นจึงไม่ได้เป็นเจ้าของร่างกายของตัวเองเลย ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน กระทั่งตอนหลับ งานก็ยังตามไปหลอกหลอนให้ต้องตื่นขึ้นมาทำ ที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของ “ร่างกาย” ก็อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นเจ้าของ “ความคิด” ของตัวเองด้วย

ทั้งร่างกายและความคิดของยุ่นอยู่ภายใต้โครงสร้างความคิดและระบบบางอย่างที่กำหนดคุณค่าให้เขาต้องใช้ชีวิตไปตามนั้น โดยไม่เหลือพลังและเวลามานั่งตั้งคำถามกับโครงสร้างล่องหนที่ว่า หรืออาจจะไม่มีทางเลือกก็เป็นได้

...

คนป่วย:
นับเป็นบทสนทนาที่ทั้งน่ารักและน่าเศร้าในคราวเดียวกัน ตอนที่หมออิมพยายามอธิบายว่าการตรวจคนไข้ก็ไม่ต่างจากการที่คุณทำงาน เราต่างก็อยากทำงานให้ออกมาดีที่สุด พร้อมบอกว่าหมอกับคนไข้ก็คือเพื่อนร่วมงานกัน (ตรงนี้ก็เจ๋งอีกแล้ว) ทำให้เราเห็นว่าไม่ว่ามือรีทัชหรือว่าหมอก็ถูกคุณค่าของการงานกดดันให้ทำให้ดีที่สุดเช่นกัน เหมือนตอนที่หมอรู้สึกเฟลมากที่วินิจฉัยโรคให้หลานลุงคนนั้นผิด จนต้องได้รับการรักษาจากยุ่นบ้าง ทำให้เห็นว่าในชีวิตที่ต้องแบกรับความกดดัน ความรับผิดชอบ และต้องทำให้ดีที่สุดตลอดเวลา เราต่างก็เป็น “คนป่วย” ด้วยกันทั้งนั้น

...

ปากกาไฮไลท์เข็มฉีดยา:
(ชอบมุกรูปปั้นเซอร์ไอแซ็ก นิวตันโคตรๆ) ตอนที่ยุ่นไปหาของขวัญปีใหม่ให้หมออิม โดยมีเกณฑ์ว่า “มีอะไรที่เป็นส่วนผสมของศิลปะและวิทยาศาสตร์บ้าง” ตรงนี้ทั้งตลกและทั้งเศร้า เขาคาดหวังว่า “ปากกาไฮไลท์รูปเข็มฉีดยา” จะช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่าง “ศิลปะ” และ “วิทยาศาสตร์” ได้บ้าง

และนั่นเป็นเพียงครั้งเดียวในเรื่อง ที่ยุ่นพยายามจะเข้าหา “คน” โดยไม่มีโหมดคิดเรื่อง “งาน” อยู่ในหัว

ที่จริงแล้ว ห้องตรวจเล็กๆ ห้องนั้นไม่ได้รักษา “ร่างกาย” แต่เยียวยา “จิตใจ” ของยุ่นต่างหาก เพราะมันเป็นเพียงสถานที่เดียวและช่วงเวลาเดียวเท่านั้นที่เขามีโอกาสได้ “แลกเปลี่ยน” กับมนุษย์อีกคนในฐานะเพื่อนมนุษย์ (แม้มีโอกาสกับเจ๋บ้าง แต่ก็มีเพียงเศษเสี้ยวระหว่างการตามงานอีก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์)

เพราะหมออิมไม่ได้ตรวจ “โรค” แต่ตรวจ “คน”
ไม่ได้ถามไถ่ “อาการ” แต่ถามไถ่ “ชีวิต”

ปากกาไฮไลท์เข็มฉีดยาจึงไม่เพียงเชื่อม “ศิลปะ“ กับ “วิทยาศาสตร์” แต่มันยังเป็นอุปกรณ์เชื่อมช่องว่างระหว่างยุ่นกับอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันด้วยงาน

...

หนังเรื่องนี้ได้จำลองโลกของคนป่วย สังคมที่เต็มไปด้วยคนป่วยที่ไม่รู้ตัวว่าป่วย ป่วยเพราะหมกมุ่นกับคุณค่าและแรงกดดันที่ไม่อาจปฏิเสธจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทุ่มเทร่างกายและจิตวิญญาณให้กับคุณค่าที่ถูก “รีทัช” ขึ้นมาจนไม่มีเวลาให้กับ “ความจริง” ง่ายๆ อย่างการนั่งคุยกัน มองตากัน สัมผัสมือกันและกัน

ความจริงง่ายๆ ที่เยียวยากันและกันได้

ห้องตรวจนั้นจึงเหมือนเป็นโอเอซิสในชีวิตอันแห้งแล้ง เป็นพื้นที่แห่งการเยียวยา มิเพียงของคนไข้ แต่ยังรวมถึงของตัวหมอเอง หากมีโอกาสได้เล่าเรื่องราวของตัวเองให้ “เพื่อนร่วมงาน” (คนไข้) ฟัง

ด้วยสถานะเช่นนี้ หมอจึงไม่ได้ทำหน้าที่ “หมอ” และไม่ได้เห็นคนไข้เป็น “ลูกค้า” หรือ “วัตถุ” ที่ต้องซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ หรือ “การงาน” ที่ต้องทำให้เสร็จๆ ไป

ทั้งคู่จะกลายเป็น “มนุษย์” ที่ปฏิสัมพันธ์กันอย่างสิ่งมีชีวิตที่มีหัวจิตหัวใจ

เมื่อนั้นหมอเองก็จะได้รับการเยียวยาไปพร้อมๆ กัน เมื่อปฏิสัมพันธ์กันบน “ความจริง” ที่ไม่ได้ถูก “รีทัช” โดยระบบ การงาน หน้าที่ เงินเดือน อำนาจ สถานะ และอีกสารพัดสิ่ง

หมอก็ไม่ใช่หมอ คนไข้ก็ไม่ใช่คนไข้ แต่ต่างเป็นเพื่อนกัน
ร่วมทุกข์ร่วมสุข แชร์ชีวิต แชร์ความทุกข์กัน

...

“พื้นที่เยียวยา” เช่นนี้หาได้ยากยิ่งในสังคมเมืองปัจจุบัน โอกาสและเวลาที่เราจะได้นั่งคุย บอกเล่าอาการของความทุกข์ในชีวิตให้อีกคนหนึ่งฟังนั้นหาได้ยากเย็นเหลือเกิน แต่ละคนพยายามจะ “รีทัช” ตัวเองให้ดูดี แข็งแรง แข็งแกร่ง และเก่งกาจ ผ่านทั้งทางภาพถ่าย สเตตัส และการแสดงออกผ่านการบริโภคสิ่งต่างๆ (ซื้อรองเท้ากีฬาแล้วโพสต์สเตตัสว่า "รองเท้าใหม่ ชีวิตใหม่")

เราต่างปกปิดความทุกข์และความห่วยแตกของตัวเองเอาไว้ และรีทัชกลบเกลื่อนมันด้วยรอยยิ้มใสๆ

ไม่มีพื้นที่ให้ความทุกข์
ไม่มีเวลาให้ความทุกข์ในสังคมนี้

หากมีความทุกข์ จงแก้ไขมันด้วยการทำงานหนัก
ทำแม่งให้ลืมไปเลยว่ากำลังทุกข์

...

สังคมจึงเต็มไปด้วยคนป่วยที่ไม่รู้ตัวว่าป่วย ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับคุณค่าที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ ทั้งสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จ การเอาชนะคะคาน การแข่งขัน การได้เป็นคนเก่ง คนเจ๋ง เสียงปรบมือชื่นชม เงินทอง เงินเดือน โอกาสที่ดีขึ้น เมื่อวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านั้นที่ถูกปั้นแต่งให้ดูสวยงามน่าไขว่คว้านานมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งหลุดออกมาได้ยากขึ้นเท่านั้น

เมื่อใช้เวลาไปกับสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น ก็มีเวลาให้กับผู้คนที่สัมพันธ์ด้วยน้อยลง

ญาติสนิทมิตรสหายค่อยๆ หล่นหายไปจากชีวิต รู้สึกตัวอีกทีก็ตกอยู่ในห้อมล้อมของรางวัลที่ตัวเองไม่อยากได้

เราไม่สามารถใช้ชีวิตกับ “ความจริง” ที่ไม่มีความหมายที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เลิศเลอได้อีกต่อไป

“ความจริง” อย่างการนั่งดูพระอาทิตย์ตกจึงไม่มีค่า
“ความจริง” อย่างการเดินสยามเพื่อเดินสยามจึงไร้ประโยชน์
“ความจริง” อย่างการไปทะเลจึงไม่รู้สึกผ่อนคลาย
เพราะใจเราติดอยู่กับ “ความหมาย” ที่สังคมหล่อหลอมให้เราให้คุณค่ากับมัน

รวมถึง “ความจริง” อย่างการยอมรับว่าตัวเองเป็นทุกข์ เปล่าเปลี่ยว และต้องการใครสักคน (หรือหลายคน) มานั่งข้างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนทุกข์สุขกัน เราไม่สามารถยอมรับ “ความจริง” นี้ได้ จึงพยายามกลบเกลื่อนมันด้วย “ความหมาย” บางอย่างที่แลกมาด้วยการทำงานหนัก ไม่ต่างจากการ “รีทัช” แผลเป็นหรือร่องรอยอันไม่น่าดู ไม่สมบูรณ์แบบให้เลือนหายไป

เราได้ภาพที่ดูน่าพอใจ
แต่เรารู้ดีแก่ใจว่าความจริงก่อนหน้ารีทัชมันเป็นอย่างไร

“ฟรีแลนซ์” เผยให้เราเห็นถึงความไร้อิสระในชีวิตของมนุษย์เมือง เห็นคนป่วยและสังคมป่วยๆ พร้อมหยิบยื่น “พื้นที่เยียวยา” มานำเสนอ

คำถามที่ผมได้ยินหนังเรื่องนี้เอ่ยถามก็คือ
คุณมีโอกาสได้เปิดเผย “ผื่น” ของคุณให้ "เพื่อน" ดูครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

และคุณมีความสุขดีอยู่ไหม กับการนั่งรีทัชตัวเองทุกวัน?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น