updated: 01 ก.ย. 2558 เวลา 07:30:09 น.
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ผศ.ดร.รัชฎา ตั้งวงศ์ไชย ผู้ช่วยอธิการบดี มข. เป็นประธานแถลงข่าวเสื้อเกราะรังไหมกันกระสุนครั้งแรกของโลก ซึ่งทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ผลิตคิดค้นขึ้น และจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ มข.เรียบร้อยแล้ว ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า นวัตกรรมการพัฒนารังไหมให้เป็นเกราะกันกระสุนเกิดขึ้นจากสภาพพื้นที่โดยรวม ของขอนแก่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันมาก เมื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลและพูดคุยกับกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยเฉพาะกับกลุ่มหัตถกรรมผ้าของฝาก อ.ภูเวียง ทีมนักวิจัย มข. จึงนำเอาจุดเด่นของรังไหมที่มีความยืดหยุ่นน้ำหนักเบามาทดลองจนกลายมาเป็น แนวคิดการทำเสื้อเกราะกันกระสุนที่ทำจากรังไหม ด้วยสมมติฐานที่ว่ามีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ราคาถูก ต้านทานแรงกระแทกได้ดี จึงเริ่มทดสอบด้วยการนำรังไหมที่ยังไม่ผ่านการสาวไหม หรือที่ผ่านการสาวไหมแล้วแต่ต้องเหลือใยไหมอย่างใดอย่างหนึ่ง มาจัดวางลงในแม่พิมพ์ที่จัดทำขึ้นเฉพาะ จากนั้นเทเรซินชนิดพิเศษลงบนรังไหมเพื่อให้รังไหมยึดเกาะกัน ก่อนนำไปอัดด้วยเครื่องไฮโดรลิก และบ่มเป็นเวลา 8 ช.ม.ก็จะได้เกราะไหมกันกระสุนที่มีความหนาประมาณ 14-20 ม.ม. และมีน้ำหนักโดยรวมอยู่ที่ 2.5-4 ก.ก. ปัจจุบันการผลิตเกราะกันกระสุนดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง ซึ่งทีมนักวิจัย มข.จัดทำขึ้นเพียงรูปแบบเดียว คือรองรับและป้องกันเฉพาะในกลุ่มอาวุธปืนพกสั้น ประเภท .38 และ .22 ซึ่งได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ มข. เรียบร้อยแล้ว และจากนี้จะมีการพัฒนาเกราะกันกระสุนดังกล่าวให้สามารถรองรับการปฏิบัติงาน ในกลุ่มอาวุธหนักและอาวุธสงคราม โดยเฉพาะปืนเอ็ม 16 ให้ได้
แรงบันดาลใจของการพัฒนารังไหม ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านของภาคอีสานและพบมากที่ขอนแก่น จนกลายมาเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนที่ทำจากรังไหมครั้งแรกของโลก คงหนีไม่พ้นภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลต่อการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันเสื้อเกราะกันกระสุน โดยเฉพาะกลุ่มเกราะอ่อนก็มีน้ำหนักมาก บางประเภทไม่สามารถป้องกันการยิงซ้ำหรือต้านทานแรงกระแทกได้ บางชนิดสามารถใช้งานได้ไม่กี่ครั้งก็ไม่สามารถใช้งานได้อีก และที่สำคัญของดีมีราคาแพง จึงนำจุดเด่นของใยไหมมาวิจัยและจัดทำขึ้นตามหลักวิศวกรรมเคมี เพราะคุณสมบัติของรังไหมมีความแข็งแรงสูง ยืดหยุ่นได้ดีและยังคงสามารถหดตัวกลับคืนได้ทันที ซึ่งเมื่อผลิตเกราะกันกระสุนดังกล่าวแล้วเสร็จได้ทดสอบด้วยการใช้ปืนขนาด .38 และ .22 ด้วยกระสุนจริง จากการยิงพบว่าสามารถป้องกันการยิงได้ในระยะ 3 เมตร ซึ่งเป็นการป้องกันในระดับ 1 ตามมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันยังพบอีกว่าเสื้อเกราะรังไหมกันกระสุนมีคุณสมบัติเด่นเรื่องของ ความยืดหยุ่นตัวสูงมาก สามารถดูดหัวกระสุนไว้ในเกราะไม่ทำให้เกิดการแฉลบสู่บุคคลข้างเคียงอีกด้วย ผศ.ดร.พนมกรกล่าว
ผศ.ดร.พนมกรกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเกราะกันกระสุนโดยทั่วไปถึง 3 เท่า มีอายุการใช้งานทนทานกว่าเกราะกันกระสุนทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มประเภทแผ่นเหล็ก อย่างไรก็ตามจากนี้จะยกระดับการทดลองไปสู่การเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนใน กลุ่มอาวุธสงครามและอาวุธหนัก ไม่นับรวมกลุ่มประเภทระเบิด ให้ได้ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ งานวิจัยกังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัต กรรม ภาคอีสานตอนบน ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง มข.เตรียมพิจารณามอบสิทธิบัตรและแนวทางการวิจัยให้กับทหารและตำรวจเพื่อนำไป ใช้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ที่มา ข่าวสดออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น