วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

ส่งออกข้าวโพดหวานภาคเหนือฉลุย1,500ล้าน"ซันสวีท"เพิ่มไลน์สินค้า-บุกแดนกิมจิ

updated: 07 ก.ย. 2558 เวลา 21:30:23 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
กลุ่มทุนเชียงใหม่ผงาด "ซันสวีท" ส่งออกข้าวโพดหวานฉลุย เผยผลประกอบการครึ่งปี"58 แตะ 900 ล้านบาท หลังเจาะตลาดกลุ่มตะวันออกกลางมาร่วม 2 ปี ล่าสุดเปิดดีลตลาดใหม่เยอรมนี คาดดันยอดส่งออกทะลุเป้าเกิน 1,500 ล้านบาท ชูโปรดักต์ใหม่ "Corn Pie-Corn Soup" บุกตลาดเกาหลี พร้อมลุยนำเข้าน้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวันจากตุรกีส่งขายทั่วอาเซียน ชี้ตลาดข้าวโพดหวานยังมีทิศทางสดใสมาก เหตุความต้องการบริโภคอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเตรียมขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่ม Ready to Eat เพิ่มเป็น 50%

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซันสวีท จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของประเทศ ภายใต้แบรนด์ "KC" ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลประกอบการของบริษัทในช่วง 2 ไตรมาสปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ราว 900 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจอย่างมาก เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดในแถบตะวันออกกลางคือ ประเทศอิหร่าน ที่เป็นคู่ค้ากันมาร่วม 2 ปี มีความต้องการสินค้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องและข้าวโพดหวานแช่แข็ง รวมถึงข้าวโพดหวานฝักในปริมาณมาก

ขณะที่ประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ปัจจุบันบริษัทมีตลาดหลักส่งออกคือ ประเทศตะวันออกกลาง (Middle East) รัสเซีย และเอเชีย ล่าสุดได้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ในประเทศเยอรมนี เพราะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพทางการตลาดและต้องการบริโภคข้าวโพดหวาน เพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารในหลากหลายรูปแบบซึ่งบริษัทเตรียมออกงานแสดงสินค้าระดับโลกที่ประเทศเยอรมนีเร็วๆ นี้ จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่ายอดการส่งออกในปี 2558 นี้จะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1,500 ล้านบาท

นายองอาจกล่าวต่อว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับแผนมุ่งสู่ไลน์การผลิตสินค้ากลุ่มพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) เพิ่มมากขึ้น โดยได้ผลิตข้าวโพดหวานฝักบรรจุถุงสุญญากาศพร้อมรับประทานเพื่อขยายตลาดส่งออก ซึ่งตลาดตอบรับเป็นอย่างดี ขณะนี้สัดส่วนของสินค้ากลุ่มพร้อมรับประทานอยู่ที่ประมาณ 30% ขณะที่สินค้าหลักคือ ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง มีสัดส่วน 50% โดยเตรียมขยายกำลังการผลิตสินค้า Ready to Eat ให้ขึ้นมามีสัดส่วน 50% เท่ากันด้วย

ดีมานด์ข้าวโพดหวานพุ่ง - พืชเศรษฐกิจอื่นอยู่ในภาวะขาลง แต่ข้าวโพดหวานยังขายดี เพราะตลาดต่างประเทศนิยมนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแบรนด์ KC ของนายองอาจ กิตติคุณชัย กลุ่มบริษัทซันสวีท ส่งออกไปญี่ปุ่น รัสเซีย ตะวันออกกลรงเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ปีละกว่า 1,500 ล้านบาท

สำหรับการพัฒนาไลน์การผลิตข้าวโพดหวานในกลุ่มสินค้า Ready to Eat ในขณะนี้ได้เตรียมนำสินค้าใหม่ออกจำหน่ายคือ Corn Pie และ Corn Soup บรรจุซองแช่แข็ง(Frozen) เน้นการส่งออก 100% โดยนำร่องประเทศเกาหลี ซึ่งได้เริ่มทำตลาด Corn Pie มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งคู่ค้าของบริษัทได้นำเข้าไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทุกแห่งของเกาหลี และร้านอาหารทั่วไป และจะนำ Corn Soup เข้าไปสมทบตลาดอีก 1 โปรดักต์ในช่วงปลายปี 2558

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายช่องทางการตลาด ด้วยการผันตัวเองเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศตุรกีในกลุ่มน้ำมันพืชจากดอกทานตะวันและข้าวโพด ภายใต้แบรนด์ "SUNAR" ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียวในเอเชีย มีเป้าหมายเจาะตลาดประเทศกลุ่มเออีซีเป็นหลัก ปัจจุบันทำตลาดในประเทศไทย เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งผลประกอบการในช่วง 2 ปีนี้มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 100 ล้านบาท และวางแผนทำตลาดให้ครอบคลุมทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้

"ภาพรวมยอดการส่งออกข้าวโพดหวานของบริษัท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ย 10-20%ซึ่งในปีนี้ผลผลิตที่ส่งออกคาดว่าจะมีราว 1 แสนตัน จากที่ประเมินว่าจะมีผลผลิตราว 120,000 ตัน เนื่องจากปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง แต่ยอดการส่งออกก็ถือว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเพราะความต้องการอาหารยังมีสูงมาก"
นายองอาจกล่าวด้วยว่าในปีนี้ได้ลงทุนด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิตประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้า Ready to Eat พร้อมทั้งเตรียมลงทุนขยาย Smart Farm บนพื้นที่ 20 ไร่ ที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำแปลงทดลองสายพันธุ์ ทดลองเมล็ดพันธุ์ของข้าวโพดหวาน เน้นเรื่องการวิจัยวิธีปลูก ปุ๋ย น้ำ ความชื้นและแสงแดดที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการควบคุม ซึ่งจะเป็นอีกจุดหนึ่งในการเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมทำ Contract Farming หรือเกษตรพันธสัญญากับบริษัทจำนวนมากกว่า 20,000 ราย และมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานทั้งหมด 50,000-100,000 ไร่กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน




ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น