“ร้านไอศกรีม” หนึ่งธุรกิจในฝันของนักลงทุนทั้งหลาย เมื่อคิดจะมีกิจการเป็นของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่คนที่เป็นเจ้าของมักจะเริ่มเข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วยความชอบเป็นหลัก แต่เมื่อดูที่มูลค่าตลาดและแนวโน้มการเติบโตที่มีสูงขึ้นทุกปี และเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ธุรกิจไอศกรีมยิ่งทวีความน่าสนใจในมุมมองของนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตามก้าวแรกในการประกอบธุรกิจไอศกรีมต้องไม่ละเลยถึงการเรียนรู้ตลาด และการศึกษาเส้นทางของนวัตกรรมไอศกรีม โดยตลาดไอศกรีมได้แบ่งออกเป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ ไอศกรีมยุคโบราณ ไอศกรีมยุคปัจจุบัน และไอศกรีมยุคใหม่
ไอศกรีมโบราณ เป็นยุคแรกของไอศกรีมที่มีจุดขายในด้านรสชาติ ส่วนใหญ่แล้วเป็นรสกะทิสด และจะอยู่ในแบบแท่งตัด และแบบตัก
ไอศกรีมแบบตักเป็นรูปแบบที่หลากหลายกว่าแบบอื่นๆ เช่น ตักใส่โคนธรรมดา ใส่ขนมปัง สามารถเลือกเติมส่วนผสมเพิ่ม เช่น ผลไม้เชื่อม ข้าวเหนียว ถั่วลิสง ฯลฯ โดยเฉลี่ยมีราคาขายเริ่มต้นอยู่ที่ 10 บาท ปัจจุบันที่ยังคงยืนหยัดอยู่มีหลายแบรนด์ เช่น ไผ่ทอง, ทิพย์สุคนธ์, ณ สยามไอศกรีม, นครไอศกรีม เป็นต้น ส่วนใหญ่แบรนด์เหล่านี้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก สามารถขยายสาขาได้ง่ายกว่าร้านไอศกรีมรูปแบบอื่นๆ เพราะลงทุนไม่สูงนัก
ต่อมาคือ ไอศกรีมยุคปัจจุบัน ไอศกรีมกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงจากไอศกรีมในยุคแรกอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนรสชาติของไอศกรีม รูปแบบของการรับประทาน และราคา ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ ตลาดในยุคปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือ ตลาดไอศกรีมพรีเมียม ซึ่งเป็นการให้บริการรูปแบบร้านนั่งรับประทานเบอร์หนึ่งของกลุ่มนี้คือ สเวนเซ่นส์ และมีแบรนด์อื่นๆ อีกเช่น ฮาเก้นดาส และบาสกิ้น-รอบบิ้นส์ เป็นต้น
กลุ่มที่สอง คือ ไอศกรีมแมส ประกอบด้วยคู่แข่งหลักๆ คือ วอลล์ และเนสท์เล่ ปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง ทั้งการโฆษณา และโปรโมชั่นราคา เมื่อรวมกับรายการเล็กๆ อีกหลายแบรนด์ เช่น แม็กโนเลีย, ครีโม ทำให้ตลาดไอศกรีมกลุ่มนี้แทบไม่มีที่ยืนสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่เท่าไหร่นัก
จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงของไอศกรีมก้าวสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรมใหญ่มากขึ้น เมื่อเทียบกับไอศกรีมโบราณ ซึ่งจะเป็นลักษณะ อุตสาหกรรมครัวเรือน และรูปแบบการทำธุรกิจแบบนี้เองที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในตลาดไอศกรีมยุคใหม่
ไอศกรีมยุคใหม่ เป็นไอศกรีมที่เกิดขึ้นพร้อมความต้องการของลูกค้าที่คำนึงถึงเรื่องสุขภาพ ทำให้ไอศกรีมในยุคนี้ถูกผลิตออกมาในลักษณะพิเศษแตกต่างกันไป เช่น ไอศกรีมที่ผลิตจากผลไม้, ไอศกรีมจากน้ำเต้าหู้, ไอศกรีมชูก้าร์ฟรี รวมถึงสเวนเซ่นส์เองก็มีตัวแทนอยู่ในกลุ่มนี้เป็นไอศกรีมโยเกิร์ต โยเก้นฟรุ้ต มีจุดขายในเรื่องไขมันต่ำ
ผู้ประกอบการไอศกรีมยุคใหม่เหล่านี้ต่างเรียกตัวเองว่าเป็น “ไอศกรีมโฮมเมด” (Homemade) ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นสินค้าพรีเมียม ตัวแทนของกลุ่มนี้ทีเห็นได้ชัด คือ ไอเบอร์รี่ (Iberry) ที่สามารถตั้งราคาขายได้สูงเทียบเท่าไอศกรีมแบรนด์นอก และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าคนไทย หรือเอเต้ (e’te’) ไอศกรีมที่เน้นส่วนผสมนมสดจากฟาร์มปักธงชัยเป็นที่นิยมในตลาดไอศกรีมโฮมเมดมานานกว่า 5 ปีแล้ว และไอศกรีมโฮมเมดนี้เองได้กลายเป็นธุรกิจในฝันของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเองในวันนี้
ตลาดไอศกรีมและโอกาสทางธุรกิจ
การก้าวสู่ยุคดิจิตอลได้มาพร้อมกับกระแสการดูแลสุขภาพ ที่รวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน ไม่เว้นแม้แต่ของหวานอย่างไอศกรีมที่นัยว่าให้ความอร่อยชื่นใจมากกว่าประโยชน์ของร่างกาย จึงเป็นที่มาของผู้ประกอบการที่ต่างคิดค้นสูตรไอศกรีมผลไม้ ไอศกรีมสมุนไพรออกมาแข่งขันในตลาด ยิ่งแข่ง ตลาดก็ยิ่งโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งได้ติดตามประเมินตลาดไอศกรีมในประเทศไทยมาโดยตลอด ได้เผยแพร่ผลการวิจัยวิเคราะห์ตลาดไอศกรีมไว้อย่างน่าสนใจว่า ทุกครั้งที่ฤดูร้อนมาเยือน ไอศกรีมจะเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้ายอดฮิตที่มียอดจำหน่ายสูงในช่วงนี้ อันเป็นสาเหตุให้มูลค่าของตลาดไอศกรีมขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี และการแข่งขันในตลาดไอศกรีมจะมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ต่างปรับกลยุทธ์เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ การสร้างตราสินค้า และการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า
อีกประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจไอศกรีมก็คือ ตลาดไอศกรีมของไทยเป็นหนึ่งในตลาดเอเชียที่เป็นที่สนใจของบรรดาผู้ผลิตไอศกรีมจากต่างประเทศ ทำให้ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีไอศกรีมพรีเมียมต่างประเทศหลากหลายยี่ห้อเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ส่งผลให้ตลาดไอศกรีมพรีเมียมในไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้หากใครที่มองไปถึงตลาดต่างประเทศ การส่งออกไอศกรีมก็เป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ อัตราการขยายตัวของการส่งออกไอศกรีมเติบโตในลักษณะก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา และเป็นที่คาดการณ์ว่าการส่งออกไอศกรีมจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะไทยมีปัจจัยหนุนหลายประการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางการส่งออกไอศกรีมในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะไอศกรีมที่ใช้วัตถุดิบจากผลไม้ไทย รวมทั้งการได้รับสิทธิ์ในการขยายสาขาในภูมิภาคของไอศกรีมที่ได้แฟรนไชส์จากต่างประเทศ
ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยจะสังเกตได้จากมีไอศกรีมยี่ห้อที่มีชื่อเสียงหลายยี่ห้อ เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ขณะที่ผู้ประกอบการคนไทยเราก็ไม่น้อยหน้า ได้เปิดสาขาจำหน่ายไอศกรีมโฮมเมดมากขึ้น โดยกลยุทธ์สำคัญของผู้ประกอบการไอศกรีมในกลุ่มพรีเมียมเน้นการขยายสาขา โดยเฉพาะการเปิดสาขาในทำเลที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมาย
กอปรกับผู้ประกอบการไอศกรีมพรีเมียม เริ่มเพิ่มการลงทุนเพื่อการพัฒนาการผลิต และการตลาด รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ โดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงการรุกตลาดซื้อกลับบ้านหรือตลาดเทคโฮม (Take home) เป็นช่องว่างทางการตลาด ที่ยังไม่มีผู้นำตลาดที่ชัดเจนในช่องทางจำหน่ายนี้ และยังเป็นการรุกเข้าไปกินส่วนแบ่งการตลาดของไอศกรีมระดับกลางบางส่วนด้วย
ผู้เล่นสำคัญในตลาดพรีเมี่ยม นี้คือ สเวนเซ่นส์, ฮาเก้นดาส, บาสกิ้น-รอบบิ้นส์, ไอเบอร์รี่, โบนิโต้, เอเต้, บูโอโน่, เจลาโต้ และอึ้มม! มิลล์ เป็นต้น
ไอศกรีมระดับกลางหรือไอศกรีมตลาดแมส มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3-5 แม้ว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าจะไม่สูง แต่ไอศกรีมระดับกลางนี้มีสัดส่วนตลาดมากที่สุด ในบรรดาตลาดไอศกรีมทั้งหมด และมีการแข่งขันที่ดุเดือด เนื่องจากผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดนี้ล้วนแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ และมีผู้ประกอบการมากหน้าหลายตา ยิ่งเฉพาะในระยะหลังผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มรุกเข้าตลาดระดับกลาง เพื่อหวังแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม หลังจากอิ่มตัวจากพรีเมียม หรือในบางรายที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในตลาดบน จึงโยกสินค้ามาจับกลุ่มลูกค้าในตลาดนี้
โดยการรุกตลาดนั้นเน้นกลยุทธ์การสร้างช่องทางการจำหน่าย และการกระจายสินค้าเป็นหลักโดยเฉพาะการกระจายจุดจำหน่ายตู้แช่การขายโดยอาศัยรถสามล้อจำหน่ายในแหล่งชุมชน ทั้งนี้เพื่อเน้นให้สินค้าเข้าถึงมือผู้บริโภคให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไอศกรีมระดับกลางหันมาเพิ่มมูลค่าการตลาด โดยการขยายเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดไอศกรีมระดับล่าง โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัด ด้วยการอาศัยตรายี่ห้อที่เป็นที่รู้จัก บวกกับความหลากหลายของรสชาติไอศกรีม และความสะอาดถูกสุขอนามัย ทำให้ตลาดไอศกรีมระดับกลางมีแนวโน้มเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดไอศกรีมระดับล่างได้อีกมาก
สำหรับผู้เล่นสำคัญในตลาดระดับกลาง หรือตลาดแมสนี้ คือ วอลล์, เนสท์เล่, ครีโม, แมคโดนัลด์, เคเอฟซี, แดรี่ควีน, มหาชัยไอศกรีม เป็นต้น
ไอศกรีมระดับล่าง มีมูลค่าการขยายตัวไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการไอศกรีมตลาดระดับกลางรุกคืบเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น ในขณะที่ตลาดไอศกรีมระดับล่างยังไม่มีผู้นำ ตลาดที่ชัดเจนผู้ประกอบการในตลาดนี้ส่วนใหญ่เป็นไอศกรีมที่ไม่มียี่ห้อ และการทำตลาดจะเป็นที่รู้จักเฉพาะในท้องถิ่น
นอกจากนี้ไอศกรีมตลาดล่างยังต้องเผชิญปัญหา เมื่อทางกระทรวงสาธารณะสุขเริ่มเข้มงวดมากขึ้น ในเรื่องคุณภาพของไอศกรีม กล่าวคือ กระทรวงสาธารณะสุขออกประกาศการกำหนดมาตรฐานการผลิตไอศกรีมตามประเภทไอศกรีมแต่ละชนิดทั้งในเรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษา เป็นผลให้ทางผู้ประกอบการไอศกรีมระดับล่างต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด โดยบางรายได้หันมาผลิตไอศกรีมโบราณ (ไอศกรีมห่อกระดาษไขตัดและใช้ไม้เสียบ และไอศกรีมปั่น) ถือเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการไอศกรีม และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่แทบจะไม่รู้จักไอศกรีมแบบนี้มาก่อน
ขณะที่ตลาดส่งออกไอศกรีมของไทยนั้นมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการในการจะก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางการส่งออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต เนื่องจากมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ มีวัตถุดิบหลากหลาย และต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
ประกอบกับประเทศในแถบเพื่อนบ้านของเรายังมีความต้องการบริโภคไอศกรีมเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับว่ามีตลาดรองรับอยู่แล้ว ทำให้มีนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตไอศกรีมในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ด้วยนั่นเอง
ที่มา : พ็อกเก็ตบุ๊ค ไอศกรีมโฮมเมด หวานชื่นฉ่ำ รวยชื่นใจ จากสำนักพิมพ์ พีเพิลมีเดียบุ๊ค
เรื่อง : วันที่ 2 ตุลาคม 2558
http://xn--72cfa1hey3b0dtji.com/detail.php?id=2420
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น