ความคิดในการกำจัดก๊าซคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศโลก เพื่อลดวิกฤติที่เกิดขึ้นกับโลก เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเนื่องจากภาวะเรือนกระจกอันเกิดจากการสะสมของก๊าซคาร์บอนชนิดต่างๆ ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกหลากชนิด ตั้งแต่คลอรีน ฟลูออรีน และอื่นๆ เกิดขึ้นในหัวของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกอยู่เสมอ
แต่ความคิดเหล่านั้นยากที่จะเกิดขึ้นได้จริงหากไม่มีเงินทุนสนับสนุน แปลงความคิดเหล่านั้นให้กลายเป็นอาวุธในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นผลดีต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกเหล่าในโลกเบี้ยวๆ ใบนี้
อย่างไรก็ตามในโลกนี้ยังมีเศรษฐีที่เห็นความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างนายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และกลุ่มนักลงทุนที่เป็นพันธมิตร ร่วมผลักดันความคิดในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนในอากาศของนายเดวิด คีธ นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้เกิดขึ้นจริง
ด้วยการก่อตั้งบริษัทและโรงงานคาร์บอน เอนจิเนียริ่ง ในเมืองคัลการี ประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี 2552 ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการดูดซับก๊าซคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศและเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนที่ได้นั้นเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงที่ใช้ได้จริง
โรงงานแห่งนี้จะดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมาผสมกับก๊าซไฮโดรเจนเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงปลอดก๊าซมลภาวะ ผลที่ได้ก็คือเชื้อเพลิงที่ใช้ได้กับยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทุกชนิดตั้งแต่รถยนต์จนถึงเครื่องบิน เพียงปรับสูตรของเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์แต่ละแบบเท่านั้น
ทั้งยังสามารถจำหน่ายเชื้อเพลิงที่ผลิตออกมาได้ผ่านทางสถานีบริการน้ำมันและเครื่องมือที่ใช้ในสถานีบริการน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วไป โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม
นายเอเดรียน คอร์เลส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คาร์บอน เอนเนอร์จี กล่าวว่า เชื้อเพลิงที่ผลิตจากก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเป็นทางเลือกใหม่ที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงขุมพลังจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตพลังงานทดแทน เช่น กังหันลมผลิตไฟฟ้า หรือเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
ซึ่งเชื้อเพลิงเหล่านั้นไม่สามารถใช้ได้กับเครื่องบินและรถยนต์ทั่วไปได้ แต่สำหรับเชื้อเพลิงที่คาร์บอน เอนเนอร์จี ผลิตออกมาได้นั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับตน
นอกจากนั้นนายคอร์เลส ยังเปิดเผยด้วยว่า โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตเชื้อเพลิงออกมาได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 และสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้แล้ว 10 ตัน และมีแผนที่จะขยายโรงงานจนมีกำลังการผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรกในปี 2560 โดยใช้เงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ทั้งยังมีกำหนดการขายเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากก๊าซคาร์บอนในอากาศได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
cr:http://www.komchadluek.net/detail/20151017/215285.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น