2015/10/14 10:02 PM
นครปฐม 14 ต.ค.-ช่วงประเทศไทยต้องไปต่อในวันนี้ ไปดูการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับงานวิจัย ปีงบประมาณ 59 รัฐเพิ่มงบเพื่อการวิจัยอีกถึงร้อยละ 20 หรือกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อให้ผลจากการวิจัยใช้พัฒนาประเทศได้จริง เช่น การช่วยเกษตรกรลดการใช้สารเคมี
เกษตรกรเร่งฉีดปุ๋ยมูลไส้เดือน บำรุงแปลงนาข้าวหอมมะลิ ที่กำลังแตกยอด ชูใบสีเขียวชอุ่ม อีกแค่ 2 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ นี่เป็นการปลูกข้าวครั้งแรกของเกษตรกรที่ตำบลห้วยขวาง จ.นครปฐม หลังจากก่อนหน้านี้พื้นที่กว่า 3 ไร่ ทำสวนเกษตรแบบอินทรีย์มาร่วม 2 ปีแล้ว ปลูกเพียงแค่ผักและผลไม้
รูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้านที่นี่ จะทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายชนิดสลับกัน เพื่อใช้ธรรมชาติเป็นตัวป้องกันแมลงและโรคที่จะมาทำลายผลผลิตเหล่านี้โดยไม่ใช้สารเคมีช่วย เกษตรกรเล่าว่า ในอดีตการทำสวนต้องใช้สารเคมี รายได้เมื่อหักค่ายาค่าปุ๋ยแทบไม่เหลือ ร่างกายที่แข็งแรงกลับทรุดโทรม ที่สุดตัดสินใจหยุด และหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทน
“เมื่อก่อนแค่พ่อให้มาช่วยฉีดยา โดนละอองที่หน้าผื่นแดงก็ขึ้นหมด คือเราก็คิดว่า โห…หน้าเรายังขนาดนี้ แล้วถ้าสะสมในผักกินเข้าไปมันจะเป็นยังไง”
การทำเกษตรอินทรีย์ใน จ.นครปฐม เป็นหนึ่งในงานวิจัยการยกระดับคุณค่าเพิ่มการผลิตผักอินทรีย์ในเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีทำเกษตร ภายใต้ชื่อโครงการสามพรานโมเดล ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. และภาคเอกชนที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยง หาช่องทางกระจายผลผลิตการเกษตร ให้ได้ราคาดีมีตลาดรองรับ และไม่ให้เกษตรกรหันไปใช้สารเคมีแบบเดิม เพราะจำหน่ายยาก โดยกำหนดราคากลาง ไม่ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง จนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 80 คนแล้ว
“จับมือกับเกษตรกรเหมือนมาโยงกัน แต่ไม่ได้ช่วยเหลือกัน ไม่ได้ช่วยกัน แต่เรามาทำธุรกิจร่วมกัน เหมือนเราดึงเกษตรกรเข้าบิสซิเนสโมเดลของเรา ซึ่งจะยั่งยืนกว่าไม่ใช่ใครอุ้มใคร”
เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. บอกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับงานวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งในปีงบประมาณ 59 รัฐบาลบูรณาการเพื่อการวิจัย ได้งบเพิ่มร้อยละ 20 คิดเป็นเงินกว่า 24,000 ล้านบาท ให้แก่ วช.ที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายด้านวิจัย จัดสรรทุนวิจัยให้เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ 6 แห่ง
“ในเงินงบประมาณ 60% ของ 24,000 บาท ซึ่งที่เรามองก็คือว่าเราเองจะต้องตั้งเป้าว่าจะมีการวิจัยในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากนี้นอกเหนือจากที่ได้เรียนแล้วก็คือเรื่องของเป้าหมายหลักของประเทศ คือเรื่องพืชผลทางการเกษตร”
ในแต่ละปีมีงานวิจัยกว่า 1,000 ชิ้น แต่เลขาธิการ วช.บอกว่า มีเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งหลังจากนี้จะมุ่งทำวิจัยอย่างมีเป้าหมาย สามารถนำมาต่อยอดในอนาคต เพื่อใช้งานวิจัยเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปสู่อนาคตที่ดีกว่า.-สำนักข่าวไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น