วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สรุปช่วง “SME กลายพันธุ์” จากงาน FIVE FEST เทศกาลความรู้ครั้งแรกในประเทศไทย


หัวข้อที่ผมหยิบมาพูดใน session นี้ ก็คือ “SME กลายพันธุ์”
เพราะในยุคนี้กลายเป็นว่า “ขนาดนั้นไม่สำคัญอีกต่อไป ถ้าขนาดนั้นไร้คุณภาพ”
แบรนด์ขนาดเล็กอาจจะได้เปรียบบริษัทใหญ่ ๆ ที่มียอดขายมหาศาล
แต่อาจจะแทบไม่มีกำไร
กลายเป็นว่าแบรนด์ที่ดูเล็ก แต่เร็วและมีความคล่องตัว
กลับสร้างยอดขายแบบมีคุณภาพ และดูมีทิศทางในการเติบโตที่ดี
ซึ่งข้อคิดของ SPEAKER แต่ละคนมีดังนี้ครับ
SPEAKER คนแรก พี่โซอี้ เภสัชกรหญิง โสภา พิมพ์สิริพานิชย์
เจ้าของผ้าพันคอ Zoe scraf
และเป็นผู้แต่งหนังสือ [แอบทำ] 1 ชั่วโมงต่อวัน ฝันเปลี่ยน
เป็นผู้หญิงที่ทำให้คำว่า “แม่ค้า” ดูไฮโซขึ้น 10 เท่า
ผมมีความสงสัยว่า ทำไมแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์มักจะไปไม่รอด
ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีอัตราการซื้อมากกว่า ผ้าพันคอ ที่พี่โซอี้ทำอยู่
แต่ผ้าพันคอ Zoe scarf กลับโตเอา ๆ ถึงขั้นส่งออกไปต่างประเทศด้วยซ้ำ
พี่โซอี้ก็เลยให้ทิปไว้ 3 ข้อ นั่นก็คือ
1.แบรนด์ต้องมี identity ชัดเจน
ไม่ใช่วันนี้เป็นแนวเรียบหรู พรุ่งนี้พาสเทลฟรุ้งฟริ้ง
อย่าง coach ,chanel , hemes แบรนด์เหล่านี้ไม่เคยหลุดคอนเซปต์ของตัวเอง
เมื่อเราชัดเจนลูกค้าก็จะไม่สับสนว่า แบรนด์นี้ใช้ของเราหรือเปล่า
ผมชอบประโยคที่พี่โซอี้บอกไว้ว่า
“เมื่อเราทำธุรกิจไปถึงระดับนึง แบรนด์จะเป็นของลูกค้า”
เค้าจะมีความชอบพอ อาจจะมี feedback มาหาเรา
ถ้าเราผิดจากมาตรฐาน หรือผิดจากเส้นทางเดิมด้วยซ้ำ
..
2.แบรนด์ต้องโตไปเรื่อย ๆ พร้อมกับลูกค้า
ทำให้ลูกค้าเห็นว่า แบรนด์มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ
แพคเกจดูดีขึ้น ดีไซน์สวยงามมีระดับ มีการเล่นลูกเล่นใหม่ ๆ
ใส่นวัตกรรมเข้ามา อย่างเช่น ผ้าพันคอ Zoe scarf
ที่มีชื่อ Collection ว่า ”Enchanted31”เป็นผ้าพันคอที่ปรับอุณหภูมิ ได้
เมื่อหนาวเราจะอุ่น เมื่อร้อนเราจะเย็นสบาย เป็นต้น
..
3.แบรนด์ต้องมีลูกค้าใหม่อย่างสม่ำเสมอ
พี่โซอี้ให้ข้อสังเกตว่า สมัยนี้จะไม่มีใครที่ใช้กระเป๋าแบรนด์เดียวเป็นสิบใบ
เช่น chanel ก็ chanel รวด 10 ใบ นั่นแสดงให้เห็นว่า
ลูกค้ามี loyalty ต่ำลงเรื่อย ๆ ดังนั้นเราต้องไปหาลูกค้าใหม่
เพื่อมาเติมให้ยอดขายนั้นเติบโตตลอดเวลา
..
SPEAKER คนที่ 2 พี่พูม ชินโชติกร (ผู้แต่งหนังสือ ทำงานออฟฟิศให้เป็นธุรกิจร้อยล้าน)
ที่ผมให้นิยามแกไว้ว่า “เห็นเงียบ ๆ ทำโรงแรมเพียบนะครับ”
ก็เพราะผมรู้มาว่า พี่พูมได้ทำโรงแรมบูติคมาถึง 3 แห่งแล้ว (ขายไป 1 แห่ง บริหารอยู่อีก 2 แห่ง )
วันนั้นผมก็เลยถามแกว่า
พี่พูมครับ สำหรับอสังหาริมทรัพย์หลาย ๆ ยูนิตแบบอพาร์ทเม้นต์หรือโรงแรมบูติคเนี่ย
“วันนี้ ยังคงเป็นของมนุษย์เงินเดือนอยู่หรือเปล่า?”
ซึ่งคำตอบของแกก็คือ “เป็นครับ”
แต่ต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่น ในเมื่อเราเงินน้อยกว่า
เราก็ต้องใช้เวลา สืบเสาะ ค้นหา ลงไปเดินจนเจอพื้นที่ ๆ น่าสนใจ
บางทีเราอาจจะเจอ คนร้อนเงินหรือได้มรดกมาแต่ไม่รู้จะทำยังไงกับที่ดิน
ซึ่งคนเหล่านี้จะทำให้เราได้ราคาพิเศษ ที่จะทำให้สร้างกำไรได้ง่าย
(ดอกเบี้ยจากเงินกู้จะเบาลง เพราะราคาที่ดินถูกกว่าปกติ)
แล้วแนวคิดที่แกใช้ จนทำให้โรงแรมเต็มตลอดเวลาก็คือ
โฟกัสไปที่ลูกค้าชาวต่างชาติแทน เพราะชาวต่างชาตินั้นจะสลับกันเข้ามาพักโรงแรมตลอดทั้งปี
แกบอกว่า 70% ที่โรงแรมในเมืองไทยเจ๊งก็เพราะโฟกัสคนไทยนั่นแหละ
..
เมื่อโจทย์มันชัดเจน วิธีการก็ตามมาสิครับ แทนที่พี่พูมจะอัดโฆษณามั่วซั่ว
พี่พูมก็ตามหาตัว “ผู้มีอิทธิพลกับลูกค้าแทน”
สมมติว่า ถ้าเป็นชาวจีน ก็ต้องไปค้นหาว่า
ผู้มีอิทธิพลในการตัดสินใจเข้าพักโรงแรมของชาวจีนอยู่ไหน
เขียนบล๊อกหรือเว็บไซต์อะไร แล้วจากนั้นก็ไปทิ้งร่องรอยของโรงแรมเราไว้ในนั้น
ดังนั้นลูกค้าก็จะหาโรงแรมของเราเจอง่าย ทำให้โรงแรมเต็มอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
..
และ SPEAKER ท่านที่ 3 พี่เซ็ธ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์
(กรรมการผู้จัดการบริษัท gnosis advisory)
แม่ทัพแห่ง SME เพราะคอยเป็นกุนซือช่วยให้เหล่า SME ขยายกิจการไปทั่วประเทศได้
ถ้าพูดถึงเรื่องแฟรนไชส์แล้ว ผมต้องย้ำอีกครั้งว่า มันไม่ใช่ธุรกิจ
แต่แฟรนไชส์คือ “กลยุทธ” ในการขยายธุรกิจ
ข้อดีของการขยายธุรกิจก็คือ
มีต้นทุนในเรื่องวัตถุดิบต่ำลง เพราะเรามีอำนาจการต่อรองกับ supplier มากขึ้น
และสร้าง Brand awareness ได้ง่าย
..
แต่สำหรับ SME กลายพันธุ์ แล้ว ถ้ายังใช้ความคิดแบบเดิม ๆ ที่ว่า
ต้องใช้เงินตัวเอง หรือครองชื่อใดชื่อหนึ่งของตัวเองไปตลอด
อาจจะไม่ทันคู่แข่งแล้วล่ะครับ “กติกามันเปลี่ยนไปแล้ว”
เราจะสังเกตได้ว่าบริษัทใหญ่ ๆ นั้น ไม่มีบริษัทไหนที่เติบโตได้ด้วยเงินของตัวเอง
และในเคสที่เรายกตัวอย่างในวันนั้นก็คือ chain ของร้านอาหารปิ้งย่าง
ที่ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จัก แต่เราไม่ขอออกชื่อแล้วกันครับ
แทนที่เค้าจะขยายสาขาไปเรื่อย ๆ ไปเป็นหลักหลายสิบ ถึงร้อยสาขา
กลับเลือกที่จะ “Exit” นั้นคือขายกิจการทิ้งให้กับคนอื่น
แล้วตัวเองก็มาช่วยบริหารแทน ทำให้ได้เงินทุนไปต่อยอดกับธุรกิจอื่น ๆ ต่อ
..
การทำ Mergers and acquisitions (ควบรวมกิจการ)
ก็เป็นวิธีที่หลาย ๆ บริษัททำอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเพื่อ ซื้อตัวทีมงาน , ซื้อสิทธิบัตร หรือเทคโนโลยีก็ตาม
ความคิดที่เราจะโตคนเดียว กินส่วนแบ่งเยอะ ๆ อาจจะล้าสมัยไปแล้ว
บางทีการกินส่วนแบ่งน้อย ๆ ในก้อนเงินที่ใหญ่มหาศาล
อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเป็นไหน ๆ ครับ
#ทำไมไม่บอกกู … หมอกิม
พูดคุยส่วนตัวพร้อมรับข้อคิดดีๆ
ได้โดยแอดไอดีของ OFFICIAL LINE
@whynottell (พิมพ์ @ ด้วยครับ)
หรือคลิกลิงค์ http://line.me/ti/p/@whynottell

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น