วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558

The Martian


The Martian คือ เรื่องราวของ มาร์ค วัทนีย์ นักบินอวกาศซึ่งเดินทางไปทำภารกิจบนดาวอังคาร และต้องติดอยู่บนนั้นคนเดียว หลังจากอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้เพื่อนๆ ของเขาต่างเข้าใจว่า เขาเสียชีวิตไปแล้ว 

แม้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ใน The Martian จะเกิดขึ้นบนดาวอังคารซึ่งอยู่ห่างไกลจากโลกไปหลายล้านไมล์ แต่เรื่องราวของมาร์คก็ให้บทเรียนอะไรกับเราหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้เช่นเดียวกัน 

โดยแก่นของมัน The Martian คือ เรื่องราวของ ความหวัง การต่อสู้กับอุปสรรค และความหมายของการมีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ ณ มุมไหนของจักรวาลนี้

The Martian เป็นหนังอวกาศอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากไม่แพ้ Gravity และ Interstellar และ ผมก็อยากจะขอทำโพสต์นี้เพื่อสรุปข้อคิดดีๆ หลายๆ อย่างที่หนังเรื่องนี้มอบให้กับเรา

** เนื่องจากในโพสต์นี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญหลายๆ อย่างภายในเรื่อง เพื่อไม่ให้เสียอรรถรส ผมอยากจะแนะนำให้เพื่อนๆ ดูหนังกันก่อนเข้ามาอ่านนะครับ


เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา งั้นเรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ 


ไม่ว่าเราจะเก่งมาจากไหน สัจธรรมอย่างหนึ่งที่เราทุกคนต้องยอมรับก็คือ มันมีอะไรหลายๆ อย่างในชีวิต ที่เราไม่อาจควบคุมได้ 

พายุที่พัดเข้ามาอย่างทันไม่ตั้งตัว และการถูกทิ้งไว้บนดาวอังคาร คือ เหตุสุดวิสัย ที่อยู่เหนือการควบคุมของทุกคน และมาร์คก็ไม่เคยโทษใคร แม้แต่เพื่อนๆ ของพวกเขา 

แทนที่จะก่นด่าต่อโชคชะตา สิ่งที่มาร์คเลือกที่จะทำก็คือ การยอมรับในสถานการณ์ และโฟกัสไปที่ การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และการหาทางกลับบ้านให้ได้

ในชีวิตจริง เราทุกคนล้วนต้องเจอกับเรื่องไม่คาดฝันอยู่เสมอ และสิ่งที่เราควรจะทำก็คือการเลิกใช้เวลาและพลังงานไปกับการกังวลใน ‘สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้’ และโฟกัสมันไปใน ‘สิ่งที่เราควบคุมได้’ ให้ดีที่สุด

นักเดินเรือผู้เชี่ยวชาญ ย่อมเข้าใจว่าตนเองไม่อาจควบคุม ‘สภาพอากาศ’ ให้ดีอยู่เสมอได้ แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้ก็คือการ ‘ปรับใบเรือ’ เพื่อรับมือกับสภาพอากาศในทุกรูปแบบ

ในทำนองเดียวกัน นักธุรกิจผู้มีประสบการณ์ ก็ย่อมรู้ดีว่าเขาทำอะไรได้ไม่มากนักเกี่ยวกับ ‘เศรษฐกิจ’ แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้ก็คือการ ‘ปรับกลยุทธ์’ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในสภาพเศรษฐกิจนั้นๆ

ทุกปัญหาที่ผ่านเข้ามาคือ ‘บททดสอบ’ ของชีวิต และแม้ว่าเราจะเลือก ‘โจทย์’ ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้เสมอก็คือการพยายาม ‘หาคำตอบ’ ที่ดีที่สุดให้กับมัน


ในยามคับขัน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ ความฉลาดทางปัญญา (IQ) ในการคิดแก้ปัญหาก็คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ซึ่งช่วยให้เรามี พลังใจ ในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา 

การมองโลกในแง่ดี คือ คุณสมบัติสำคัญของมาร์คที่เราได้เห็นตลอดทั้งเรื่อง และไม่ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเลวร้ายสักเพียงใด มาร์คก็มักจะมองเห็นอารมณ์ขันและแง่มุมดีๆ ในสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ 

ในความคิดของผม การมองโลกในแง่ดีที่มีความหมาย ก็คือ การตั้งความหวัง วางแผน และ ลงมือทำ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่การฝันกลางวัน แล้วรอคอยให้มันเป็นจริงอย่างลมๆ แล้งๆ

ครั้งหนึ่ง มาร์คได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเอาชีวิตรอดของตัวเองเอาไว้ว่า มันจะมีจุดหนึ่งในชีวิต ที่อุุปสรรคต่างๆ นั้นถาโถมเข้ามาใส่เรา จนเราคิดว่า นี่แหละคือจุดจบของเรา และ ณ จุดนั้นเอง ที่เราต้องเลือกว่า เราจะยอมแพ้ตรงนั้น หรือว่าจะสู้ต่อไป

การเอาชีวิตรอดบนดาวอังคารเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังใจอย่างมหาศาล และในช่วงเวลาที่ไม่มีใคร คนๆ เดียวที่จะให้กำลังใจมาร์คได้ก็คือ ตัวเขาเอง

ถ้าหากว่า ความคิด ของคนเรานั้นเป็น ‘เครื่องยนตร์’ พลังใจ ของเราก็เปรียบเสมือน ‘เชื้อเพลิง’ ที่ช่วยขับเคลื่อนเครื่องยนตร์นั้นให้เดินต่อไปได้

และไม่ว่าเราจะมี ‘ไอเดีย’ ที่ดีแค่ไหน มันก็คงไร้ความหมาย ถ้าเราขาดซึ่ง ‘กำลังใจ’ ในการทำมันให้เป็นจริง


ในช่วงเวลาวิกฤติ ปัญหาต่างๆ มักจะรุมเร้าเข้ามาพร้อมๆ กันจนมืดแปดด้าน 

สิ่งที่มาร์คทำก็คือ การตั้งสติและแบ่ง ‘ปัญหาใหญ่’ ออกเป็น ‘ปัญหาย่อย’ ที่เขาสามารถจัดการได้ แล้วค่อยๆ แก้ไขมันไปทีละปัญหา โดยเริ่มจากปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดก่อน 

ในทันทีที่คืนสติ สิ่งแรกที่มาร์คทำก็คือ การพาตัวเองเข้าไปใน แฮ็บ เพื่อให้ตัวเองหายใจได้อย่างปกติอีกครั้ง ก่อนที่จะทำการปฐมพยาบาลแผลที่ท้องให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเสียเลือด

หลังจากแก้ ‘ปัญหาเฉพาะหน้า’ ได้แล้ว ต่อมาก็คือการแก้ ‘ปัญหาระยะสั้น’ ซึ่งมาร์คได้ใช้ความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์และเคมีของเขา ในการจัดเตรียมปัจจัยที่จำเป็นที่สุดต่อการดำรงชีวิตอย่าง อาหาร

อย่างไรก็ตาม มาร์คก็รู้ดีว่า เขาไม่มีทางอยู่รอดบนดาวอังคารไปตลอดได้ ด้วยการแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ แบบวันต่อวัน ดังนั้น สิ่งต่อมาที่เขาทำก็คือ การวางแผน เพื่อแก้ ‘ปัญหาระยะยาว’ ด้วยการหาทางติดต่อกับนาซ่า และพาตัวเองกลับบ้านให้ได้

และแม้ว่ามาร์คจะติดต่อกับนาซ่าได้สำเร็จ และมีแผนระยะยาวแล้ว แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และนั่นก็ทำให้มาร์คและทีมของเขาต้องย้อนกลับมาแก้ไข ปัญหาเฉพาะหน้า และ ปัญหาระยะสั้น รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนแผนระยะยาวอีกหลายครั้ง เพื่อให้ภารกิจในครั้งนี้ลุล่วงไปได้



ความจริงข้อหนึ่งที่มาร์ครู้อยู่เสมอก็คือ ถึงแม้ว่าเขาจะทำทุกอย่างได้ตามแผน แต่ทั้งหมดก็คงไม่มีความหมายอะไร ถ้าเขาไม่สามารถติดต่อกับนาซ่าได้ 

คนๆ หนึ่งที่มาร์คต้องขอบคุณเป็นพิเศษก็คือ มินดี้ พาร์ค พนักงานศูนย์ควบคุมดาวเทียม ซึ่งเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงจากภาพถ่ายดาวเทียม และเชื่อว่ามาร์คยังคงมีชีวิตอยู่ 

ความช่างสังเกต คือ คุณสมบัติสำคัญของนักวิทยาศาสตร์และอาชีพทุกอาชีพ เพราะหลายครั้ง รายละเอียดที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จและล้มเหลวของสิ่งที่เราทำ

บนดาวอังคาร อุบัติเหตุแฮ็บระเบิดก็เกิดจากรูรั่วเพียงเล็กน้อยที่มาร์คไม่ทันสังเกตเห็น เช่นเดียวกับ การระเบิดในการทดลองผลิตน้ำครั้งแรกของมาร์ค ซึ่งเกิดจากการคำนวณออกซิเจนที่ผิดพลาดไปเพียงนิดเดียว

แม้แต่ทีมของนาซ่าเองก็ยังทำพลาดครั้งใหญ่กับยานส่งเสบียง ซึ่งเกิดขึ้นจากเวลาในการทำงานที่จำกัด จนทำให้พวกเขาต้องข้ามขั้นตอนการทดสอบก่อนการปล่อยยาน และทำให้ยานเกิดระเบิดขึ้นในที่สุด


หลายครั้ง เรามักจะมองว่า ข้อจำกัดต่างๆ นั้นคือ อุปสรรค ต่อความคิดสร้างสรรค์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อจำกัดต่างๆ นั่นเองที่เป็น แรงผลักดัน ซึ่งนำไปสู่ ความคิดสร้างสรรค์ ที่แท้จริง 

บนดาวอังคาร มาร์คมีปัจจัยในการดำรงชีวิตที่จำกัด และนั่นก็ทำให้เขาต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็น การสร้างน้ำและอาหารขึ้นมาเอง การใช้พลูโตเนียมในการให้ความอบอุ่นแก่รถโรเวอร์ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การหาวิธีติดต่อสื่อสารกับโลกผ่าน พาธไฟน์เดอร์ ด้วยการใช้เลขฐาน 16

ในภารกิจการช่วยเหลือมาร์ค นาซ่าเองก็ต้องพบกับข้อจำกัดหลายอย่าง และมันก็ทำให้เกิดการระดมความคิดซึ่งนำไปสู่ทางออกในการแก้ปัญหาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงรถโรเวอร์ให้ขับได้ไกลขึ้น การลดน้ำหนักยานนำขึ้น MAV ให้เบาลง และอื่นๆ อีกมากมาย

กลับมาที่ชีวิตจริง โปรแกรม LINE ที่เราทุกคนรู้จักกันดีนั้นก็มีจุดกำเนิดมาจาก เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้การสื่อสารทางสายโทรศัพท์นั้นถูกตัดขาด และทำให้บริษัท NHN ต้องทำการพัฒนาการสื่อสารบนอินเตอร์เน็ตขึ้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อสื่อสารกับคนในครอบครัวได้

ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์ คือสิ่งมีชีวิตที่พยายามเอาชนะ ‘ข้อจำกัด’ ของตัวเองอยู่เสมอ

เมื่อไหร่ก็ตามที่ประตูบานหนึ่งปิดลง มนุษย์ก็มักจะหาทางออกให้กับตัวเองด้วยการสร้าง ‘ประตูบานใหม่’ ขึ้นมา และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้ วิวัฒนาการ ต่างๆ นั้นเกิดขึ้นบนโลกใบนี้


แม้ว่าไอเดียของมาร์คจะดีแค่ไหน แต่มันก็คงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเขาไม่ลงมือทำมันให้เป็นจริง 

ในการนำเอาไอเดียมาปฏิบัติ แน่นอนว่าความผิดพลาดต่างๆ นั้นย่อมเกิดขึ้นได้ ดังเช่นที่เราเห็นได้จากเหตุการณ์ระเบิดในการทดลองผลิตน้ำครั้งแรกของมาร์ค 

ขึ้นชื่อว่าการทดลองแล้ว บ่อยครั้งที่มันมักจะไม่ให้ผลอย่างที่ต้องการ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในทุกครั้งที่ข้อผิดพลาดนั้นเกิดขึ้น เช่นเดียวกับ เอดิสัน ที่ทดลองสร้างหลอดไฟนับพันครั้ง กว่าที่เขาจะทำมันได้สำเร็จ

ก่อนที่จะนำรถโรเวอร์ออกเดินทางไกล มาร์คเองก็ได้ทดลองขับมันหลายครั้ง เพื่อปรับสภาพรถให้เหมาะกับการเดินทางไกลมากที่สุด และมันก็ทำให้เขาได้ค้นพบวิธีการให้ความร้อนภายในรถด้วยพลูโตเนียม ซึ่งช่วยให้เขาประหยัดพลังงานจากการใช้ฮีทเตอร์ และขับมันไปได้ไกลมากขึ้น

ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ชีวิตก็เป็นเรื่องของ การลองผิดลองถูก ด้วยตัวของมันเอง

ไม่ว่าเราจะทำอะไร นอกเหนือไปจากการ วางแผน (plan) และ การลงมือปฏิบัติ (do) แล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อมาก็คือ การตรวจสอบ (check) ผลที่เกิดขึ้น และ ปรับปรุง (action) เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด โดยขั้นตอนทั้งสี่นั้นทำงานร่วมกันเป็น ‘วงจร’ ที่เรียกว่า PDCA (Plan-Do-Check-Action)

แม้จะดูเหมือนการเดินวนเป็น ‘วงกลม’ แต่ความจริงแล้ว วงจร PDCA นั้นกลับทำงานเหมือน ‘เกลียว’ ที่ผลักดันตัวเองให้สูงขึ้นทุกครั้ังที่มันหมุนครบ 1 รอบ ซึ่งหมายถึง การพัฒนาความเข้าใจในสิ่งที่เราทำ ในทุกครั้งที่เราได้ลงมือทำ

การเรียนรู้จากความผิดพลาดก็เหมือนกับการ ‘ล้มไปข้างหน้า’ ซึ่งแม้จะทำให้เราเจ็บ แต่อย่างน้อย มันก็ช่วยให้เราก้าวเข้าใกล้จุดหมายมากขึ้นอีกก้าวหนึ่

ป.ล. เรื่องวงจร PDCA นี่ผมเอามาจากหนังสือเรื่อง ‘ไม่ต้องฉลาด ก็อ่านปัญหาได้ขาดกว่าคนอื่น’ ของ โคมิยะ คาสุโยชิ ครับ ถ้าใครสนใจ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้นะครับ



หลายครั้ง ‘ความชำนาญ’ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็กลายมาเป็นข้อจำกัดในตัวเอง เพราะมันมักจะทำให้เราแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีแบบเดิมๆ ที่เราเคยใช้ได้ผลมาก่อน 

ความจริงก็คือ สถานการณ์ต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ และมันก็มักจะนำไปสู่ ‘ปัญหาใหม่ๆ’ ซึ่งต้องการ ‘ทางออกใหม่ๆ’ เพื่อแก้ไขมัน 

แม้ว่า นาซ่า จะเป็นองค์กรอวกาศที่ดีที่สุดในโลก แต่เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทาย ในการพามาร์คกลับมาจากดาวอังคารด้วยทรัพยากรและเวลาอันจำกัดแล้ว พวกเขาก็ต้องพบกับทางตันหลายต่อหลายครั้ง

ในช่วงแรก ทางออกที่นาซ่าคิดอยู่เสมอก็คือ การส่งเสบียงไปให้แก่มาร์ค เพื่อให้เขาอยู่รอดจนกว่า ทีมแอรีส 4 จะเดินทางไปถึงดาวอังคาร และมันก็มาถึงทางตัน ในวันที่จรวดนำเสบียงของพวกเขาเกิดระเบิดขึ้น

จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องเกิดขึ้นจาก ริช เพอร์เนล ผู้เชี่ยวชาญด้านแอสโตรไดนามิกส์ ซึ่งเป็นคนเสนอไอเดียการพาตัวมาร์คกลับมา ด้วยการใช้แรงดึงดูดของโลกส่งยาน เฮอร์มีส กลับไปรับเขาอีกครั้ง

ทางออกของริชนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่าแผนเดิม และ มันก็ประจวบเหมาะกันพอดีกับความช่วยเหลือทางด้านจรวดเชื้อเพลิงที่ องค์กรบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ได้เสนอเข้ามา

แม้จะเป็นไอเดียที่ดี แต่มันก็เป็นความคิดที่ เทดดี้ ผู้บริหารนาซ่านั้นไม่ยอมรับ และ ฮีโร่อีกคนที่ทำให้แผนนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ก็คือ มิตช์ ซึ่งเชื่อในไอเดียใหม่นี้ และแอบส่งแผนไปให้แก่ทีมแอรีส 3 โดยไม่บอกให้ใครรู้


แม้ว่ามาร์คจะต้องอยู่คนเดียวบนดาวอังคาร แต่เขาก็ไม่เคยโทษเพื่อนๆ ในทีม เพราะเขาเชื่อว่า การตัดสินใจของลูอิสนั้นถูกต้องที่สุดแล้ว ในสถานการณ์แบบนั้น 

เมื่อรู้ว่ามาร์คยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนในทีมต่างก็รู้สึกผิดที่ทิ้งให้มาร์คต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะ ลูอิส ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจนำทีมออกจากดาวอังคารในครั้งนั้น 

และในทันทีที่รู้ว่ายานเฮอร์มีสสามารถย้อนกลับไปยังดาวอังคารได้อีกครั้ง ทุกคนในทีมก็ตัดสินใจร่วมกันที่จะกลับไปช่วยมาร์คโดยไม่ลังเล แม้ว่ามันจะต้องแลกมาด้วย การเสี่ยงชีวิต การกลับบ้านล่าช้า หรือแม้แต่ บทลงโทษจากการฝ่าฝืนคำสั่งนาซ่าก็ตาม

บทพิสูจน์มิตรภาพ ของพวกเขาได้มาถึงจุดสูงสุดในภารกิจสุดท้าย ซึ่งทุกคนในทีมยอมเสี่ยงอันตรายเพื่อช่วยมาร์คอย่างสุดชีวิต และนั่นก็รวมไปถึงการทำอะไรที่บ้าบิ่นอย่างเช่น การจุดระเบิดเพื่อใช้ความดันอากาศพายานไปรับมาร์คที่จุดนัดพบ

มิตรภาพในทีมแอรีส 3 ก็ไม่ต่างอะไรกับ มิตรภาพบนโลกใบนี้ ซึ่งเราจะเห็นมันได้ชัดที่สุด ก็ในยามที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด และมันก็คือช่วงเวลาที่แสดงให้เราได้เห็นว่า มีใครบ้างที่เป็นเพื่อนแท้ของเรา


แม้ว่า The Martian จะเป็นเรื่องราวการเอาตัวรอดของมาร์คบนดาวอังคาร แต่เมื่อเรามองในมุมที่กว้างขึ้น มันก็คือหนังที่ว่าด้วยความหวังของมนุษยชาติทั้งหมด 

นอกเหนือไปจากความช่วยเหลือของนาซ่า และเพื่อนๆ ในทีมแล้ว ความอยู่รอดของมาร์ค ยังเกิดขึ้นจากความช่วยเหลือจากคนอีกมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ องค์กรบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ซึ่งยอมเสียสละ จรวดเชื้อเพลิง เพื่อส่งเสบียงให้แก่ยานเฮอร์มีส 

มาร์คเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เขามีชีวิตรอดในครั้งนี้ก็คือ จิตใจที่ดีงามของมนุษย์ ซึ่งมีนำ้ใจหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่ผู้อื่นในยามลำบากเสมอ ดังที่เราเห็นในทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ขึ้น

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกไปถึง ความช่วยเหลือจากทั่วโลกที่ถูกส่งไปยังเนปาลในเหตุการณ์แผ่นดินไหว ผู้คนที่เดินทางออกมาบริจาคเลือดให้แก่ผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ และอีกหลายเหตุการณ์ในชีวิตจริง ที่แสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้ว ความดีงามก็ยังคงสถิตย์อยู่ในหัวใจของคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้

แม้ว่ามาร์คจะต้องอยู่คนเดียวบนดาวอังคารที่ห่างไกลออกไปหลายล้านไมล์ แต่ความดีงามของมนุษย์ก็ยังเดินทางไปถึงเขาได้ และมันก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่บนดาวอังคาร โลกก็ไม่ทอดทิ้งให้ใครต้องอยู่เดียวดายอย่างแท้จริง


ว่ากันว่า เมื่อคนเราอยู่ใกล้กับความตาย เรามักจะมองเห็น ความหมายของชีวิต ได้ชัดเจนมากขึ้น 

แม้ว่ามาร์คจะเป็นคนมองโลกในแง่ดีแค่ไหน แต่ลึกๆ แล้ว เขาก็รู้ดีว่า มันมีโอกาสสูงมาก ที่เขาจะต้องตายอยู่บนดาวอังคารนี้ 

ผมคิดว่า คำพูดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนของมาร์คอย่างแท้จริงก็คือ คำบอกลา ซึ่งเขาฝากลูอิสไปบอกกับพ่อแม่ของเขาว่า 

เขามีความสุขมากกับงานที่ทำ และถ้าหากต้องตายไปจริงๆ เขาก็ไม่เสียใจเลย เพราะเขาได้ตายเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม และมันก็คือการใช้ชีวิตเพื่อสิ่งที่มีความหมายมากกว่าตัวเขาเอง

สุดท้ายแล้ว เราทุกคนก็ต้องตายในสักวันหนึ่ง และคำถามสำคัญที่เราควรจะตอบตัวเองให้ได้ ก่อนที่เราจะตายก็คือ เราได้ใช้ชีวิตของเราที่ผ่านมา เพื่อสิ่งที่มีคุณค่าพอแล้วหรือยัง


cr: ทำเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องใหญ่
crile emoticon


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น