วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อบจ.นนท์ลุยโรงไฟฟ้าขยะไฮเทค4,000ล้าน ปักหมุด"ไทรน้อย"เปิดทางเอกชนสัมปทาน20ปี

updated: 06 ต.ค. 2558 เวลา 09:00:10 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อบจ.นนทบุรีเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ มูลค่า 4,142 ล้านบาท จับมือท้องถิ่นเซ็นเอ็มโอยูป้อนขยะวันละพันตัน คาด 6 เดือนร่างทีโออาร์-หาผู้ร่วมทุนได้ เผยไร้ปัญหาชาวบ้านต้าน ไปได้สวยเตรียมก่อสร้างปี"59 ดึงเอกชนลงทุนเต็ม 100% บริหารเบ็ดเสร็จ 20 ปี

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมได้มีการพิจารณาแผนลงทุนโครงการของรัฐหลายโครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะนนทบุรี เงินลงทุน 4,142 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าขยะนครราชสีมา ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อให้บริการทางสังคม

พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันจังหวัดนนทบุรีมีการกำจัดขยะแบบรวมศูนย์ โดยทุกเทศบาลจะเป็นผู้จัดเก็บขยะมาส่งในพื้นที่กำจัดขยะแบบฝังกลบในตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย พื้นที่ราว 400 ไร่ และ อบจ.นนทบุรี จะเป็นผู้ดำเนินการกำจัด โดยมีปริมาณขยะวันละ 1,200 ตัน คาดว่าปัจจุบันมีขยะที่ฝังกลบไปแล้วจำนวนหลายแสนตัน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปี 2550 จังหวัดนนทบุรีจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 1,000 ล้านบาท รวมกับงบประมาณของ อบจ.อีก 200 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนการกำจัดขยะด้วยการนำไปหมักให้เกิดแก๊ส และนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ประกอบกับได้ดำเนินการฝังกลบมาหลายสิบปี จนขณะนี้พื้นที่ฝังกลบสามารถฝังได้อีกไม่เกิน 10 ปี ทำให้ต้องหาเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทน



ทั้งนี้ อบจ.นนทบุรีได้ริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ผ่านการตรวจสอบและปรับปรุงจากหลายหน่วยงาน กระทั่งล่าสุดปีนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีแบบไพโรไลซิส และแก๊สซิฟิเคชั่น (Pyrolysis Gasification) เป็นการเผาแบบจำกัดปริมาณออกซิเจน แล้วนำไอน้ำความร้อนที่ได้จากการเผาไปปั่นกระแสไฟฟ้า สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 20 เมกะวัตต์ต่อวัน ซึ่งทาง อบจ.ได้ทำเอ็มโอยูร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดหาขยะเข้าสู่ระบบวันละ 1,000 ตัน โดยที่ตั้งโครงการจะอยู่ในพื้นที่ฝังกลบขยะเดิม ซึ่งแบ่งพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้ 57 ไร่

"ขณะนี้ไม่มีอุปสรรคจากการต่อต้านโดยชาวบ้านในพื้นที่ ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและเสียสละเป็นอย่างดี เพราะได้รับความไว้วางใจจาก อบจ.ที่ได้ดูแลและชดเชยให้ชาวบ้านที่เสียสละ โดยมีการแบ่งรายได้จากการกำจัดขยะให้ อบต.คลองขวาง เจ้าของพื้นที่ 30 บาทต่อตัน รวมทั้งการดูแลแจกปุ๋ย ยา เพื่อการเกษตร ให้เป็นการชดเชยด้วย" นายก อบจ.นนทบุรีกล่าว

ขณะที่นายอุดร ระโหฐาน ผู้อำนวยการกองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อบจ.นนทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา สภาพัฒน์ได้เข้ามาตรวจสอบและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ไป อบจ.นนทบุรีจะจัดทำทีโออาร์ (TOR) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และหลังจากนั้นจะเปิดประมูล เพื่อเฟ้นหานักลงทุนที่มีศักยภาพตามเงื่อนไข รวมระยะเวลาให้เอกชนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะรวม 22 ปี โดย 2 ปีแรกเป็นการก่อสร้าง และเริ่มดำเนินงานบริหารจัดการขยะในปีที่ 3 เป็นต้นไป

"เงินทุนก่อสร้างจะเป็นของนักลงทุน 100% รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่และจัดทำระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเอกชนต้องจ่ายค่าเช่าที่ให้กับ อบจ.ปีละประมาณ 300,000 บาท ขณะที่เอกชนจะมีรายได้จากค่ากำจัดขยะ ซึ่งกำหนดเพดานไว้ที่ 300 บาทต่อตัน ค่ากระแสไฟฟ้าที่จำหน่ายให้หน่วยงานต่าง ๆ และค่ารีไซเคิลขยะ"
 นายอุดรกล่าวและว่า

หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผน คาดว่าไม่เกินปี 2559 จะเริ่มก่อสร้างได้ ซึ่งนนทบุรีจะได้ความยั่งยืนด้านการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยตนเองไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่มีปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำชะขยะ รองรับอนาคตที่จังหวัดนนทบุรีจะเติบโตเป็นเมืองมากขึ้น โดยปัจจุบันโซนที่มีปริมาณขยะมากที่สุด คือ เทศบาลนครนนทบุรี มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 หรือปริมาณ 300 ตันต่อวัน อีกทั้งปริมาณขยะในจังหวัดนนทบุรียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปีละไม่ต่ำกว่า 10% จากการเกิดขึ้นของศูนย์การค้า และคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า

ด้าน ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่จังหวัดนนทบุรีขณะนี้ผ่านการพิจารณาอีเอชไอเอ (EHIA) แล้ว โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯช่วยตรวจสอบด้านเทคโนโลยี แต่สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้นั้น เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนมักนำเสนอขายเทคโนโลยีที่สูงเกินจริงแต่ไม่ผ่านมาตรฐาน รวมทั้งปัญหาด้านผังเมือง ด้านพื้นที่ และปัญหามลพิษ รวมทั้งความชัดเจนในการบริหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น