เคยมีคำกล่าวจากนิรนามในวงการธุรกิจไว้ว่า “Investors don’t invest in business. They invest in stories about business.” เหล่านักสร้างสรรค์และเจ้าของไอเดียต่างๆ ที่ต้องการทุนงบประมาณในการผลิตสินค้าจึงต้องงัดกลยุทธ์ในการนำเสนอเพื่อ “โน้มน้าวใจ” สิ่งนั้นเรียกว่าการพิช (pitch) นั่นเอง โดยส่วนใหญ่แล้วในวงการธุรกิจหรือสตาร์ทอัพนั้นต้องเจอกับการพิชงานให้กับกลุ่มนายทุนตลอดจนกลุ่มสื่ออย่างเจ้าของสำนักพิมพ์ ที่เปิดโอกาสรับฟังและเป็นเจ้าของอำนาจในการตัดสินใจว่าจะเผยแพร่เรื่องราวของเราหรือไม่
30 วินาทีแรกคือโลกทั้งใบของการนำเสนอ
ใจความที่สำคัญต้องถูกนำมาบอกเล่าทีละเรื่องอย่างเป็นลำดับขั้น เปิดตัวด้วยการนำเสนอข้อดีของบริษัทและตัวคุณ พูดอย่างไม่โอ้อวด แต่ให้พูดด้วยความมั่นใจในจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบที่มี ดึงดูดความสนใจด้วยผลงานที่ประสบความสำเร็จ เพื่อการันตีในความเชี่ยวชาญที่บริษัทของคุณมีอยู่ สิ่งที่ทำให้ลูกค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจเจ้าอื่นๆ ให้ความเชื่อมั่น อาจจะยกตัวอย่างเป็นตัวเลขหรือภาพจากสื่อต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ
อย่าประมาทที่จะไม่ซ้อมจังหวะการพูดให้ลงตัวกับพรีเซนเทชั่น
ไม่ว่าคุณจะเป็นตัวแทนนำเสนอคนเดียวหรือนำเสนอพร้อมกันเป็นทีม สไลด์หรือพรีเซนเทชั่นที่เตรียมมาอย่างดีอาจหมดความหมายถ้าเจอกับความตะกุกตะกัก ความไม่เป็นหนึ่งกับเนื้อหา หรือความไม่มั่นใจในข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนสไลด์ นั่นหมายความว่าการซักซ้อม 2-3 วันก่อนหน้าเพื่อเตรียมตัวทำความคุ้นเคยและทำความเข้าใจอย่างแท้จริงกับเนื้อหา ไม่สำคัญว่าคุณจะประสบการณ์มากหรือมีตำแหน่งสูง การซักซ้อมจนแม่นยำนั้นคือสิ่งจำเป็น เพราะการกดข้ามสไลด์เพียงหน้าเดียวอาจลดความเชื่อมั่นที่ผู้ฟังมีให้กับเราได้ทันที
เตรียมตัวตอบคำถาม... ให้ตรงคำถาม
ทุกครั้งในการพิชนั้น กรรมการ เจ้าของบริษัท ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องย่อมมีการถามคำถามในระหว่างการนำเสนอ นอกเหนือจากการซ้อมที่ต้องเผื่อเวลาการถาม-ตอบนี้เข้าไปด้วยแล้ว ก่อนวันนำเสนอลองให้ทีมทดลองตั้งคำถามที่อาจถูกถาม ลองตอบด้วยคำตอบที่เหมาะสมและเข้าเป้า ขอแนะนำว่าข้อมูลพื้นฐานบางอย่างเช่น อัตราการเติบโตของบริษัท รายรับต่อปี โอกาสทางการตลาด หรือคู่แข่งในอุตสาหกรรม ข้อมูลเหล่านี้สามารถจัดวางลงในสไลด์ด้วย infographic ที่น่าสนใจไว้ได้ก่อน วิธีการแบบนี้จะทำให้เรามีความเป็นมืออาชีพ พร้อมตอบคำถามอื่นๆ ได้อย่างมั่นใจ
ปิดท้ายอย่างน่าประทับใจ
นึกไว้เสมอว่าอย่าจบการพิชงานด้วยการโจมตีคู่แข่งอย่างไร้สติ หรือการลืมตัวจนพูดคุยอย่างเป็นกันเองล้ำเส้นมากเกินไป เพราะในหนึ่งวันนั้นมีทีมที่พิชงานมากมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะปิดท้ายการนำเสนอของเราด้วยเรื่องราวดีๆ ที่น่าประทับใจ เป็นได้ตั้งแต่เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นภายในทีมงาน หรือการที่บริษัทของคุณนั้นทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม เพียงเท่านี้ก็จะทำให้การนำเสนองานของคุณนั้นเป็นที่จดจำได้อย่างง่ายดาย
cr:http://www.tcdcconnect.com/article/Know-What/8784-Perfect-Pitch-?bitrix_include_areas=Y&ID=8784-&CateName=Know-What&clear_cache=Y
เครดิตภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น