"อุ๊คบี" เปิดเกมใหม่สมรภูมิ "อีคอมเมิร์ซ" ต่อยอดธุรกิจจากฐานลูกค้า "อีบุ๊ก" กว่า 7 ล้านไอดี ดึงประสบการณ์พันธมิตรใหม่ "ทรานสคอสมอส" เมืองปลาดิบสร้าง "อุ๊คบีมอลล์" ชูโมเดลการขายสินค้าแบบ "ครอสบอร์เดอร์" ส่งตรงจากญี่ปุ่นถึงมือขาช็อป พร้อมสร้างแพลตฟอร์มใหม่ขยายฐานคอนเทนต์และปั้นคอมมิวนิตี้ "นักเขียน-ศิลปิน" เพิ่มเติม ทั้งเร่งเครื่องขยายตลาดอีบุ๊กตั้งเป้ายึดผู้นำอาเซียนหลังครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งในไทย นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด เปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังเปิดให้บริการแพลตฟอร์ม "อีบุ๊ก" มา 4 ปี มีลูกค้าสะสมกว่า 7 ล้านไอดี เป็นผู้ที่มีการใช้งานต่อเนื่อง 2.3 ล้านไอดี/เดือน ล่าสุดได้เปิดแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ ภายใต้ชื่อ Ookbee Mall (อุ๊คบีมอลล์) หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เน้นจำหน่ายสินค้าจับต้องได้จากประเทศญี่ปุ่น เช่น เครื่องสำอาง, แก็ดเจตต่าง ๆ เป็นต้น เพราะเห็นโอกาสจากตลาดอีคอมเมิร์ซที่ค่อนข้างเปิดกว้าง และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศไทย โดยได้ตั้งบริษัทใหม่"อุ๊คบีมอลล์" จดทะเบียนบริษัทที่ประเทศสิงคโปร์ หลังได้กลุ่มทุนใหม่" ทรานสคอสมอส"จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญบริการเอาต์ซอร์ซด้านไอทีสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ ต่อจากกลุ่มอินทัช เปิดเกมรุก "อีคอมเมิร์ซ" โดยเข้ามาถือหุ้นออกใหม่ของอุ๊คบี 16,674 หุ้นหรือคิดเป็นสัดส่วน 11.11% หลังเพิ่มทุนด้วยมูลค่าการลงทุน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 161.6 ล้านบาท) ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของอินทัชในอุ๊คบีลดลงจาก 25.03% เหลือ 22.26% ซึ่งอุ๊คบีมีโอกาสนำความรู้ความชำนาญ และระบบการบริหารจัดการด้านการตลาดดิจิทัล, โฆษณา, การวิเคราะห์ข้อมูล, การจัดการลูกค้า และใช้เครือข่ายของทรานสคอสมอสในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจเพื่อให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร (Global E-Commerce One-Stop Services) ได้ "อุ๊คบีมอลล์เริ่มทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่ปลาย ก.ค. โดยสินค้าที่ขายจะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดไม่มีสต๊อกในประเทศไทย เป็นรูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า "ครอสบอร์เดอร์" หรือขายส่งสินค้าตรงจากเจ้าของสินค้าถึงมือผู้ซื้อโดยตรง ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตเร็วมาก แม้จะมีกลุ่มทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเป็นเจ้าตลาดอยู่แต่เชื่อว่าความแตกต่างของสินค้าที่มีจะตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดีและการสั่งตรงจากญี่ปุ่นทำให้ได้ราคาถูกกว่าหาซื้อในไทยประกอบกับผู้ลงทุนรายใหม่ของเรามาจากญี่ปุ่นจึงช่วยได้มากอุ๊คบีมอลล์ขอเวลาไม่นานในการหาพื้นที่ยืนในตลาดอีคอมเมิร์ซและแข่งขันกับเจ้าตลาด" สำหรับสินค้าที่จะนำมาขายบน"อุ๊คบีมอลล์"จะพิจารณาจากการนำข้อมูลฐานผู้ใช้งานอุ๊คบีมาประมวลผลเช่นกลุ่มผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ชาย และชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับรถยนต์จะนำเข้าอุปกรณ์ตกแต่งหรือดูแลรักษารถยนต์จากญี่ปุ่นมาจำหน่าย และโปรโมตสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ไลน์ และแพลตฟอร์มอีบุ๊ก โดยขณะนี้ "อุ๊คบีมอลล์" ยังอยู่ในช่วงทดลองตลาดจนถึงสิ้นปีจึงจะสรุปอีกครั้งว่าจะมีการปรับรูปแบบการจัดส่ง หรือมีการลงทุนเพิ่มคลังสินค้าในประเทศไทยหรือไม่ ปั้นคอมมิวนิตี้ "นักเขียน-ศิลปิน" นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า ในฝั่งแพลตฟอร์มจำหน่ายอีบุ๊กได้ขยายขอบเขตเพิ่มเติมโดยลงทุนสร้างสังคมออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ผู้ชอบอ่านหนังสือได้แก่OokbeeComicsแพลตฟอร์มใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักวาดการ์ตูนส่งผลงานมาให้ผู้อ่านทั่วไปอ่านฟรีได้ มีทั้งผ่านแอปพลิเคชั่น และหน้าเว็บไซต์ หากมีชื่อเสียงก็จะต่อยอดไปจำหน่ายบน "อุ๊คบี" ได้ และเว็บไซต์ tanwalai.com (ธัญวลัย) แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ที่ให้นักเขียนมาแต่งเรื่องแชร์ให้ผู้ที่สนใจอ่านได้ฟรี ซึ่งจะต่อยอดไปจำหน่ายในอุ๊คบีได้เช่นกัน และเว็บไซต์ storylog.co แพลตฟอร์มที่เปิดให้ทุกคนมาแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ยังข้ามไปยังธุรกิจเพลงด้วยการลงทุนสร้างแพลตฟอร์มฟังเพลงนอกกระแสในชื่อ "ฟังใจ" (Fungjai.com) ใช้ได้ทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นเพื่อสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีรายได้มาจากการจัดคอนเสิร์ต เพราะเพลงทั้งหมดฟังได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่อุ๊คบีมีรายได้จากส่วนแบ่งในการจำหน่ายดิจิทัลบุ๊กของแต่ละสำนักพิมพ์ หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ รวมถึงนิตยสารที่ขายผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น อิมเมจ, แม็กซิม รวมถึงเอไอเอส ชูโมเดล "บุฟเฟต์" บูมอีบุ๊ก โดยบริษัทไม่มีรายได้จากการออกแบบแอปพลิเคชั่นจำหน่ายอีบุ๊กให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ เนื่องจากจุดประสงค์หลักคือขยายช่องทางจำหน่ายให้มากขึ้น ดังนั้นจึงออกแบบแอปพลิเคชั่นทั้งหมดให้ฟรี และเพื่อให้ธุรกิจเติบโตขึ้นจึงเพิ่มการขายในรูปแบบ "บุฟเฟต์" หรือเหมาจ่ายรายเดือน ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นที่ 290 บาท/เดือน ปัจจุบันมีนิตยสารให้อ่านมากกว่า 10,000 ฉบับ ขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ก้าวขึ้นไปดิจิทัลเต็มตัว เช่น เพลง และภาพยนตร์ ต่างได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เมื่อใช้รูปแบบการขายแบบบุฟเฟต์ และหนังสือก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน "โลกดิจิทัลในอนาคตจะเป็นแบบบุฟเฟต์ หนังสือก็เหมือนเพลงและหนัง แต่เนื่องจากเป็นของใหม่มากทำให้เราต้องเจรจากับสำนักพิมพ์เยอะเพื่อให้เขาเข้าใจว่าทำไมต้องขายบุฟเฟต์ ปกติพวกเขาขายหนังสือได้เล่มละหลักร้อยมาเปลี่ยนเป็นขายแบบบุฟเฟต์ 290 บาท ต้องปรับความเข้าใจกันใหม่ ทุกครั้งที่มีรูปแบบการขายแบบใหม่จะทำให้อุ๊คบีมีรายได้ลดลงในช่วงแรก เพราะกินธุรกิจตัวเองแต่จะทำให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนี้รายได้จากบุฟเฟต์แซงการขายทีละเล่มไปแล้ว" สำหรับตลาดรวมอีบุ๊กในประเทศไทยปีนี้มีมูลค่าประมาณ500ล้านบาทมีผู้เล่น4-5 ราย ปัจจุบันอุ๊คบีมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าครึ่ง แต่ลดลงจาก 3-4 ปีก่อน ที่มีส่วนแบ่งตลาด 80-90% เพราะมีคู่แข่งน้อยราย อย่างไรก็ตาม ตลาดอีบุ๊กยังเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากอุปกรณ์ที่มีราคาถูกลง, ความเร็ว และความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตทั้งไร้สาย และมีสายทำให้ผู้บริโภคเข้ามาอ่านอีบุ๊กมากขึ้น ย้ำภาพผู้นำอีบุ๊กอาเซียน นายณัฐวุฒิกล่าวต่อด้วยว่าอุ๊คบีให้ความสำคัญกับการทำตลาดในต่างประเทศด้วยโดยที่ผ่านมาเข้าไปบุกเบิกตลาดในหลายประเทศเช่นเวียดนาม,มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จนประสบความสำเร็จด้วยดี และมีแผนจะขยายบริการไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกเพื่อให้เป้าหมายให้การเป็นผู้นำบริการอีบุ๊กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในแต่ละประเทศที่เข้าไปจะมีทีมงาน 30-40 คน ดูแลระบบ และเจรจากับสำนักพิมพ์ระดับท้องถิ่นเพื่อนำหนังสือขึ้นมาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มอีบุ๊ก สำหรับแผนการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ยังคงมีอยู่แต่ยังไม่ได้ระบุระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการภายในเมื่อใดเพราะตนมองว่าแม้จะมีบริษัทสตาร์ตอัพเกิดขึ้นจำนวนมากแต่ประเทศไทยยังไม่เข้าใจธุรกิจสตาร์ตอัพว่าเป็นอย่างไรประกอบกับสถานการณ์ตลาดหลักทรัพย์ฯยังไม่ดีหากนำบริษัทไประดมทุนในขณะนี้มีแต่ผลเสีย "ถ้าผมยังสร้างความเชื่อใจให้นักลงทุนได้ว่าเข้ามาลงทุนกับเราแล้วได้ประโยชน์เราก็ไม่จำเป็นต้องเร่งนำบริษัทเข้าไปเสี่ยงในตลาดหลักทรัพย์ฯ"
ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline ทวิตเตอร์ @prachachat |
วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558
"อุ๊คบี"เปิดเกมใหม่สมรภูมิอีคอมเมิร์ซ ชูโมเดล"ครอสบอร์เดอร์"มัดใจขาช็อปต่อยอดอีบุ๊ก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น