จากโพสเดิมที่ผม (ธนาวัฒน์) เคยเขียนไว้เมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้วว่าด้วย “ดิจิตอลอีโคโนมี” สำคัญกับประเทศไทยอย่างไร? ผมพูดถึงหนึ่งในสามปัจจัยที่สำคัญในการสร้างดิจิตอลอีโคโนมี นั่นคือ การส่งเสริมให้เกิดการสร้างเทค สตาร์ตอัพ ในไทยให้เติบโตมากขึ้น โพสนี้ผมอยากลงลึกในหัวข้อนี้มากขึ้นว่า “เทค สตาร์ตอัพ” (Tech Startup) มีสำคัญกับระบบเศรษฐกิจอย่างไร? ทำไมต้องสนใจ? ทำไมถึงสำคัญ?
นี่คือบทความจาก คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา (ไว) CEO และ Co-founder Priceza ที่ให้เกียรติมาเขียนใน Guest Post พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากจะเขียนหรืออยากถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ได้บอกเล่าอย่างเต็มที่ ข้อความทั้งหมดเป็นสิทธิของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว หากต้องการนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ รบกวนแจ้งกลับมาที่ techsauce ด้วยนะครับ
แล้วเตรียมพบกับคุณธนาวัฒน์ ที่จะมาแชร์เรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่งาน Start it Up Conference 2015 เปิดรับลงทะเบียนแล้วที่ techsauce.co/startitup/
ผมไปเจอรายงานฉบับนึงชื่อว่า The Global Startup Ecosystem Ranking 2015 ที่จัดทำโดยหน่วยงาน Compass.co ทำการสรุปสาระใจความไว้ได้อย่างดีมากๆ มีข้อมูลมาสนับสนุน ผมจึงขอสรุปและเรียบเรียงใจความสำคัญจากรายงานฉบับนี้มาเพื่อตอบคำถามดังกล่าวครับ
โลกเราในศตวรรษที่ 21 นี้เป็นโลกที่ปัจจุบันทันด่วนเอามากๆ การเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดขึ้นรวดเร็ว ผู้คนเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างง่ายดายด้วยเทคโนโลยีมากมายทั้งโทรศัพท์มือถือและสังคมออนไลน์ ในโลกธุรกิจ คู่แข่งเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมาจากทุกทิศทุกทางทั้งจากในประเทศเองและจากต่างชาติที่เหาะมาแข่งกับเราได้ง่ายๆจากทั่วโลก อินเทอร์เน็ตช่วยทำให้โลกเราทั้งใบใกล้กันมากขึ้น และก่อให้เกิดบริษัทไฮเทคโนโลยีที่เข้ามาก่อให้เกิดการปฏิวัติในตลาดต่างๆอย่างกว้างขวาง ทั้งในตลาดหนังสือพิมพ์ บันเทิง พลังงาน การสาธารณสุข การศึกษา ก่อสร้าง การคมนาคม ค้าปลีก การเงิน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐบาลเองก็ตาม และการปฏิวัติครั้งใหญ่ในหลายๆวงการเหล่านี้ล้วนเกิดจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ไม่กลัวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง (Disruption) ในทุกวงการที่เค้าอยากท้าทายความเชื่อเดิมๆหรือสิ่งเดิมๆที่ทำต่อๆกันมา
การเปลี่ยนผ่านครั้งมหึมาผ่านจากยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) มาเป็นยุคของการปฏิวัติของข้อมูลสารสนเทศ (Information Revolution)
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้ การจ้างงานและการเติบโตของเศรษฐกิจปริมาณมหาศาลของ USA ล้วนเกิดจากธุรกิจไฮเทค เช่น Apple, Amazon, Google, Salesforce, VMware, Facebook, Twitter, Groupon, Zynga ลองนึกดูว่า GDP ของ USA เท่ากับ $15 trillion ถ้าลองนับเฉพาะเก้าบริษัทนี้ที่เพิ่งเกิดมาในช่วงไม่ถึง 15 ปีที่ผ่านมา แต่กลับสามารถสร้าง GDP ให้เกือบ $1 trillion! โลกเราเกิดอะไรขึ้น? ทำไมบริษัทที่เพิ่งแจ้งเกิดมาได้ไม่นานกลับเป็นตัวขับเคลื่นเศรษฐกิจของ USA ได้เยอะถึงขนาดนี้? คำตอบคือโลกเราตอนนี้กำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาสู่การปฏิวัติของข้อมูลสารสนเทศ โลกเราตอนนี้มีผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจำนวนมากกว่า 2,000 ล้านคน และมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนอีกหลายพันล้านคนและมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดการมาของยุคข้อมูลสารสนเทศอย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญในยุคนี้เป็นอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหลายๆอย่าง และนำมาซึ่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในหลายๆภาคธุรกิจ
ขาลงของบริษัทมหาอำนาจ
ทีนี้เราจะมาดูกันครับว่าทำไมบรรลังของบริษัทมหาอำนาจทั้งหลายถึงสั่นคลอน? ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1965 เทียบกับปี 2010 ประสิทธิภาพของแรงงานเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 100% แต่กลับกลายเป็นว่าผลตอบแทนจากสินทรัพย์ของธุรกิจ หรือก็คือ Return on Assets (ROA) ของบริษัทต่างๆกลับลดลง 75% และอายุเฉลี่ยของกิจการที่ได้การจัดอันดับอยู่ใน S&P 500 ลดลงถึง 80% เหลืออายุเฉลี่ยที่ 15 ปี
คำถามคือทำไมประสิทธิภาพของแรงงานดีขึ้นแต่กลับกลายเป็นว่าบริษัทใหญ่ๆเหล่านี้เจอปัญหาเข้าอย่างจัง?
ลองมาดูปัจจัยต่างๆที่ส่งผลให้เกิดเรื่องนี้กัน
- การแข่งขันที่สูงมากขึ้น – เทคโลโลยีปัจจุบันนี้ช่วยให้คู่แข่งเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อก่อน ด้วยการใช้ Cloud-based Server, Freelances, บริการต่างๆที่เป็น SaaS (Software as a Service)
- ความโปร่งใสของข้อมูลสารสนเทศ – ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆได้ง่ายดายทุกที่ทุกเวลา เวลาจะเดินไปเลือกซื้อสินค้าซักอย่างก็สามารถเช็คและเปรียบเทียบราคาได้ ทำให้บริษัทค้าปลีกต่างๆเริ่มตั้งราคาฟันกำไรผู้บริโภคได้ยากขึ้นทุกที ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งข้อมูลรีวิวร้านอาหารและบริการต่างๆได้ง่ายดายว่ามีบริการเป็นอย่างไร การสร้างแบรนด์เริ่มมีความสำคัญลดน้อยลงไป สิ่งที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆคือคุณภาพของสินค้าและบริการที่สร้างประสบการณ์ชั้นยอดให้กับผู้บริโภคได้จริงๆนั่นแหละที่ผู้บริโภคต้องการ
- การลดลงของการบริโภค – ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจของการแบ่งปันมากขึ้น โมเดลยุคก่อนที่ผู้ผลิตกับผู้บริโภคอยู่กันคนละฝั่งเปลี่ยนไปแล้ว บริษัทที่เติบโตได้ดีในยุคนี้ไม่จำเป็นต้องถือครองทรัพย์สินจริงๆแต่กลับเป็นตัวกลางที่ช่วยอำนวยให้ผู้บริโภคเข้าถึงทรัพย์สินที่จับต้องได้นั้นๆแทน
จาก 3 ปัจจัยหลักที่กล่าวมานี้ ทำให้บริษัทมหาอำนาจที่เชื่องช้าต้องพยายามรัดเข็มขัดโดยการลดต้นทุนมากขึ้น พยายามขึ้นราคาสินค้ามากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก็ทำได้มากสุดระดับหนึ่งที่สูงที่สุดที่ผู้บริโภคจะรับได้ แล้วคำถามคือจะพัฒนาต่อไปอย่างไรล่ะถ้าถึงทางตันแล้ว? คำตอบคือต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดเดิมๆไปเลย และในยุคของการปฏิวัติข้อมูลสารสนเทศนี้เอง ผู้ที่จะสร้างนวัตกรรมได้คือผู้ที่ต้องใช้กรอบแนวคิดใหม่ วิธีการทำงานใหม่ เครื่องมือใหม่ เพื่อสร้างนวัตกรรมชั้นยอดได้
การมาของสตาร์ตอัพ
บริษัทไฮเทคโนโลยีล้วนเข้าไปแทรกแซงและแผ่กระจายแทบจะในทุกสังคมในยุคนี้ และถ้ามองให้ดีแล้วล่ะก็บริษัทที่ตกต่ำย่างแรงในยุคนี้ล้วนแล้วแต่มีบริษัทไฮเทคโลยีที่ประสบความสำเร็จเข้ามามดแทน เพราะสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภคได้อย่างยอดเยี่ยม เช่น
- Kodak > Instagram (Photography)
- Borders Books > Amazon (Books)
- Tower Records > Apple, Spotify (Music)
- Hotel Chains > Airbnb (Travel)
- Taxis > Uber/Lyft (Transportation)
- Resumes & Recruiters > LinkedIn (Human Resources)
- Newspapers > Social media (Information Consumption)
- Retail stores > eCommerce (Shopping)
คุณ Steve Blank ซึ่งเป็นผู้ประกอบการมาแล้วด้วยตัวเอง และยังเป็นนักคิดและอาจารย์ที่ Stanford และ Berkeley ได้เสนอ 4 ปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัพดังเป็นพลุแตกในยุคนี้
- สตาร์ตอัพสามารถสร้างได้ด้วยเงินที่น้อยกว่ายุคก่อนมาก – ต้นทุนในการสร้างสตาร์ตอัพลดลงมากกว่า 10 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
- แหล่งเงินทุนของสตาร์ตอัพมีมากมาย – การที่ต้นทุนในการเริ่มสตาร์ตอัพลดน้อยลง ทำให้เงินทุนตั้งต้นที่ใช้ในการลงทุนจาก VC น้อยลงไปด้วย คือตั้งแต่ราวๆ $10,000 – $500,000 ทำให้ VC สามารถลงทุนในสตาร์ตอัพได้หลายๆราย พร้อมกับมี Angel Investos และ Accelerators เกิดขึ้นมาสนันสนุนสตาร์ตอัพมากขึ้นด้วยเช่นกัน
- สตาร์ตอัพเรียนพัฒนาวิธีการสร้างธุรกิจใหม่ด้วยวิธีการที่แตกต่างและได้ผล – สตาร์ตอัพพัฒนาศาสตร์การสร้างสตาร์ตอัพที่เหมาะสมกับยุคนี้ซึ่งเรียกว่า Lean Startup
- ผู้บริโภคเปิดตัวเองสู่เทคโนโลยีมากขึ้น – ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมานี้ องค์กรธุรกิจต่างเปิดเปิดรับที่จะลองใช้บริษัทหน้าใหม่ที่มีบริการที่ดีๆและแตกต่าง แทนที่จะจ้างบริษัทเดิมด้วยงบเยอะๆ เช่น McKinsey/Accenture ทำให้สตาร์ตอัพมีโอกาสแจ้งเกิดได้ง่ายขึ้นถ้าพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นได้ว่ามีสินค้าชั้นยอดที่แตกต่างมานำเสนอ ในขณะเดียวกันในมุมมองผู้บริโภค พวกเราๆก็เปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น ใครๆก็เริ่มมาใช้สมาร์ทโฟน โลกเชื่อมถึงกันด้วยเทคโนโลยี ใครไม่เข้ามาใช้ก็กลายเป็นคนที่ตามไม่ทันคนอื่น
สตาร์ตอัพมีบทบามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการสร้างงานอย่างไร?
- แม้ Google, Facebook, Amazon จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน แต่มีโอกาสเป็นอย่างสูงมากๆเลยที่บริษัทที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใีปี 2025 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมาจากบริษัทที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อนในวันนี้ บริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้เกิดมาได้จากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย บราซิล สิงค์โปร หรือมาจากสตาร์ตอัพอีโคซิสเตมต่างๆที่ตื่นตัวในการสร้างสตาร์ตอัพ ด้วยประโยชน์มหาศาลของการสร้างสตาร์ตอัพที่มีโอกาสสร้าง GDP ให้ในระดับ Trillion USD (ล้านล้าน USD) ทำให้รัฐบาลตื่นตัวกับเรื่องนี้จริงจังมากขึ้นด้วย
- นอกจากในแง่ของการสร้างงาน มีการศึกษาจาก Kauffman ว่าในช่วง 28 ปีที่ผ่านมานี้ การสร้างงานใหม่ใน USA ทั้งหมดล้วนมาจากสตาร์ตอัพทั้งสิ้น ส่วนบริษัทในยุคอุตสาหกรรมมีแต่ตัดตำแหน่งงานทิ้งลดจำนวนคนมากกว่าจ้างงานใหม่
โดยสรุปแล้ว ในทศวรรษที่กำลังมาถึงนี้ ประเทศใดๆก็ตามที่สามารถสร้างสตาร์ตอัพให้เกิดขึ้นได้สำเร็จจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าอย่างมาก
บทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของสตาร์ตอัพอีโคซีสเทม (Startup Ecosystem)
คำถามสำคัญคือถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับการเติบโตของสตาร์ตอัพ แล้วเราจะสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ตอัพได้อย่างไร? คำตอบก็คือด้วยการสร้างสตาร์ตอัพอีโคซีสเตมที่เป็นแหล่งกำเนิดของมันนั่นเอง
สตาร์ตอัพอีโคซีสเตม ประกอบไปด้วยหลายๆส่วนที่สำคัญ เช่น
- Venture Capital (VC) – สตาร์ตอัพต้องการเงินทุนตั้งต้นในการสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ธุรกิจสตาร์ตอัพโดยปกติแล้วเป็นธุรกิจที่ยากนักที่จะขอแหล่งเงินทุนจากธนาคาร เพราะธนาคารไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงสูงแบบสตาร์ตอัพได้ จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีนักลงทุนที่เข้าใจในธุรกิจสตาร์ตอัพเข้ามาสนับสนุนเงินทุน
- Angel Investors และ Accelerators – นักลงทุนแบบ Angels และ Accelerators จะเข้ามาลงทุนในระดับแรกๆด้วยเงินทุนจำนวนน้อยกว่า VC แต่เน้นลงทุนในจำนวนมากๆหว่านไปกับหลายสตาร์ตอัพเพื่อคาดหวังว่าจะมีซักสตาร์ตอัพที่ดังเป็นพลุแตกและทำให้เกิดผลตอบแทนกลับมาชดเชยสตาร์ตอัพที่พลาดเป้าหมายไป
- Talents – ทีมงานก่อตั้งเป็นเรื่องที่คัญมากอันหนึ่ง ถ้าไม่มีทีมที่เหมาะสมทั้งในแง่ของทัศนคติและทักษะแล้ว สตาร์ตอัพก็เกิดยาก
โดยสรุปแล้ว จากหลายๆปัจจัยที่กล่งถึงนี้ ทำให้มีบางที่ในบางประเทศที่เป็นแหล่งเหมาะสมอย่างยิ่งในการสร้างสตาร์ตอัพ และมีการรวมตัวกันของสตาร์ตอัพอย่างเข้มข้น เช่น Silicon Valley ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าการสร้างอีโคซีสเตมที่ประสบความสำเร็จจะเป็นการการันตีการขับเคลื่นของเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่แน่นอนคืออีโคซีสเตมเป็นโรงงานปั๊มสตาร์ตอัพออกมาปริมาณเยอะมากๆและช่วยเป็นเบ้าหล่อหลอมให้สตาร์ตอัพเหล่านั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จมาก หรือแม้กระทั่งประสบความสำเร็จอย่างบ้าคลั่ง!
บทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกที่ waiwaiworld blog
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น