วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คำโกหกที่มองไม่เห็นใน Silicon Valley Startup

479150608_1280x720
Silicon Valley คือสถานที่ที่คนที่ทำงานด้านเทคโนโลยีใฝ่ฝันจะได้ไปทำงานที่นั่น หรืออย่างน้อยๆ ได้ไปเหยียบที่นั่นสักครั้งในชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มคน Startup แต่สำหรับคนที่มีโอกาสได้ไปคลุกคลีแล้ว สิ่งที่เขาพบมันอาจไม่สวยหรูดั่งใจที่ใครหลายคนวาดฝันเอาไว้ และนี่คือการบอกเล่าจากคนที่กำลังทำงานและเห็นความเป็นไปของ Startup ที่นั่น…
นี่คือบทความจาก แชมป์ ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ที่ให้เกียรติมาเขียนใน Guest Post พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากจะเขียนหรืออยากถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ได้บอกเล่าอย่างเต็มที่ ข้อความทั้งหมดเป็นสิทธิของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว หากต้องการนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ รบกวนแจ้งกลับมาที่ techsauce ด้วยนะครับ

แล้วมาพบกับแชมป์ ปุณยธร ที่จะมาแชร์เรื่องราวในการทำ Startup ใน Silicon Valley ที่ได้ที่งาน Start it Up Conference 2015 ซื้อบัตรได้ที่ techsauce.co/startitup/

เรารู้จัก Startup ที่ล้มเหลวกันจริงๆ สักกี่แห่ง?
รู้จักไม่ใช่เคยได้ยิน รู้จักคือการได้เกาะขอบเวที ติดตามตั้งแต่เกิดจนดับ ได้เรียนรู้เสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง
คงไม่เยอะสักเท่าไหร่
เพราะฉะนั้นเราคงมีแต่ “สมมติฐาน” ว่า “ทำไม” Startup ถึงได้ไปไม่ถึงฝั่ง
ผมจะไม่เสแสร้ง แกล้งทำเป็นรู้ถึงเหตุผลเหล่านั้น แต่สิ่งที่ผมพอจะรู้คือ
“อะไร”คือคำโกหกที่มองไม่เห็นใน Silicon Valley Startup
ผมมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อยูกิ นากาซาโตะ ยูกิเป็นคนติดบุหรี่จัด เขาสูบมามากกว่า30ปี และต่อให้เขารู้ว่าบุหรี่จะส่งผลต่อร่างกายของเขาและครอบครัวเพียงไร ยูกิก็ไม่ยอมหยุด
จนกระทั่งวันที่ยูกิได้ยินเสียงร้องแรกเกิดของลูกคนแรก
วันนั้น ทุกอย่างหยุดนิ่งลง ยูกิ นากาซาโตะเดินออกไปนอกบ้าน หยิบบุหรี่มวนสุดท้ายของเขาออกมาสูบ
และไม่เคยหันกลับไปแตะบุหรี่อีกเลย
คุณมีเพื่อนอย่างยูกิบ้างไหม? เพื่อนที่ไม่ว่าคุณจะว่ากล่าวตักเตื่อนหรือพรรณาสรรพคุณอย่างไรก็ไม่ยอมหยุดสูบบุหรี่
เพราะว่าเพื่อนคนนั้นเขายังไม่ “พร้อม” ที่จะหยุด
เรื่องของยูกิเป็นภาพสะท้อนอย่างดีของ Startup ที่พยายามจะแก้ปัญหาให้กับ users ที่ไม่อยากให้คนมาแก้ปัญหาให้ เราอาจจะมีสินค้าที่ดีที่สุด ทีมที่คมเก่งที่สุด การสื่อสารที่กินใจที่สุด แต่ยูกิก็คงจะยังเอื้อมมือลงไปหยิบบุหรี่มวนต่อไปขึ้นมาสูบ ไม่มีอะไรที่คุณ หรือผม จะสามารถทำได้ เพราะว่ายูกิยังไม่พร้อมที่จะให้เราแก้ปัญหาให้กับเขา
นั้นคือคำโกหกที่มองไม่เห็นใน Silicon Valley Startup
เพราะความสำเร็จแท้จริงแล้วอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับไอเดีย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ Product-Market Fit เสมอไป และอาจไม่ได้แม้แต่จะขึ้นอยู่กับทีมหรือเงินทุนด้วยซ้ำไป เพราะบางทีสิ่งสำคัญอาจอยู่ที่ “จังหวะและเวลา”
“จังหวะ” ว่าโลก “พร้อม” ให้คุณแก้ปัญหาให้หรือยัง
Adam Cheyer เข้าใจถึงความสำคัญของจังหวะและเวลาดีกว่าคนทั่วๆไป สองอาทิตย์หลังจากที่เขานำ Siri ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นเพียง app ใน Apple Store ออกตลาด เขาก็ได้รับโทรศัพท์ปริศนา
“Adam เป็นไงบ้าง นี่ Steve เอง”
อดัมงงเล็กน้อย “Steve ไหน(วะ)” แต่ก่อนที่อดัมจะวางสายทิ้งไปเพราะนึกว่าเป็นเซลส์ที่ไหนโทรมา ชุมสายโทรศัพท์ปริศนาก็ตัดบทพูดต่อ
“นี่ Steve Jobs จาก Apple Adam เสาร์อาทิตย์นี้ คุณว่างมั้ย ผมอยากชวนคุณมานั่งจิบไวน์ที่บ้านหน่อย”
สองเดือนต่อมา Siri ถูกขายให้ Apple ในราคากว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผมแอบดีใจแทน Adam ที่ไม่ได้ตัดสายทิ้งในตอนนั้น
เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของ Adam Cheyer กันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าจริงๆแล้วอดัมสร้างต้นแบบของ Siri มาตั้งแต่ปี 1993 สิบเจ็ดปีก่อนที่ของจะนำ Siri ออกสู่ตลาด แล้วจะมีอีกกี่คนที่รู้ว่าต้นแบบของ Siri แทบไม่ได้แตกต่างอะไรจาก Siri ที่เราเห็นในปัจจุบัน เราสามารถพูดคุยกับ Siri ตัวต้นแบบได้ สามารถออกคำสั่งให้ Siri ตัวต้นแบบ “ลงตารางประชุมให้ตอน 6 โมง” เหมือนกับที่เราสามารถทำได้กับ Siri ในทุกวันนี้ตั้งแต่ปี 1993 แต่ Adam ไม่เคยนำ Siri ออกตลาด เพราะเขารอ และรอ… เพื่อวันที่โลกพร้อมสำหรับ Siri
“ผมเชื่อว่าถ้าผมนำ Siri ออกสู่ตลาดก่อนปี 2010 ผมคงล้มเหลวไม่เป็นท่า” Adam Cheyer กล่าว
และนั่นคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไมได้ตระหนักถึง – ว่าบางที “เร็วคือช้า” และ “ช้าคือเร็ว”
ถ้า AirBnB ไม่ได้เริ่มธุรกิจในฤดูร้อนปี 2008 ในช่วงที่เกิดวิกฤตซัพไพรม์ซึ่งทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก คงเป็นการยากที่ AirBnB จะโน้มน้าวเจ้าของที่พักให้ปล่อยให้คนแปลกหน้ามานอนบนโซฟาในบ้านของตัวเอง ความขัดสนเป็นตัวจุดชนวนให้คนลองทำสิ่งแปลกใหม่อย่างให้คนแปลกหน้ามานอนในบ้านหรือขับรถรับ-ส่งคนแปลกหน้าในยามว่าง ซึ่งทำให้ทั้ง AirBnB และ ​Uber สามารถสร้างฐานเจ้าของที่พักและคนขับ Uber ด้วยต้นทุนที่ถูกและส่งผลให้ทั้งสองบริษัทแข่งขันและเติบโตได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหนึ่งใน Startup ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก
หาก AirBnB และ Uber เริ่มธุรกิจเร็วกว่านี้ จังหวะอาจไม่เอื้อให้ทั่งคู่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างที่เกิดขึ้นก็เป็นได้
เรามักจะได้ยินเสมอว่าจะทำ Startup ได้สำเร็จจะต้องมีไอเดียที่แปลกใหม่ มีทีมที่มากด้วยความสามารถและประสบการณ์ มีนวัตกรรมเชิง business model และสายป่านที่ยาวพอที่จะขับเคลื่อน startup ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
และนั่น… คือคำโกหกที่มองไม่เห็น
มองไม่เห็น เพราะจริงๆแล้วไม่ได้โกหกแต่มันทำให้เรามองข้าม “ความจริง” อย่างอื่นและลืมถามคำถามที่ควรจะถาม
คำถามที่ว่า “โลกพร้อมสำหรับเราแล้วหรือยัง?”
เพราะถ้าจังหวะไม่ถูก ลูกค้าก็อาจยังไม่พร้อมต่อสินค้า และคงเป็นการยากที่จะขายวิสัยทัศน์เราให้คนเก่งคนอื่นๆ มาร่วมทีม หรือให้ VC มาร่วมลงทุน ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่เพียงแต่ลูกค้าต้องพร้อม แต่สิ่งอื่นๆใน ecosystem ก็ต้องพร้อมด้วยเช่นกัน ถ้า YouTube เริ่มธุรกิจก่อนที่ Adobe จะแก้ปัญหา codex ได้เสร็จ สัญญาณ broadband ก็คงยังไม่ได้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย และ YouTube ก็คงไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนกระทั่งถูก Google ซื้อไปในราคา 1.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาเพียง 17 เดือน
หากการสร้าง Startup ให้ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาจริง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าไอเดียของเราออกมาในจังหวะที่ดีที่สุด
ผมว่าเราคงไม่มีทางรู้ได้จนกระทั้งมันเกิดขึ้นแล้ว
แต่นั่นไมได้หมายความว่าเราทำอะไรไม่ได้ เพราะหากเราตรากตรำทำการทดลองและ pivot ให้เร็วที่สุด ลูกค้าจะเป็นผู้นำทางเราไปสู่ครึ่งหนึ่งของคำตอบ
ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีวินัยในการสะท้อนและสำรวจตัวเองได้ดีแค่ไหน
Lean Manufacturing ซึ่งเป็นรากฐานของ Lean Startup ให้ความสำคัญต่อเรื่องสองเป็นอย่างมาก อย่างแรกคือการ “ลงไปดูความเป็นจริงบนหน้างาน” (Genchi Genbutsu) และอย่างที่สองคือการ “สะท้อนและสำรวจตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง” (Hansei)
จะสร้าง Startup ให้สำเร็จเราต้องเรียนรู้ที่จะฟังจาก “ลูกค้า” และ “ตัวเอง”
ลูกค้าให้ insight เพื่อให้เรารู้ว่าเขา “พร้อม” สำหรับไอเดียเราแล้วหรือยัง ส่วนสัญชาตญาณที่สุขุมจะสอนให้เรารู้ว่าสิ่งไหนที่ลูกค้าพูดที่เราควร “เชื่อ” และสิ่งไหนที่ควร “เพิกเฉย”
โลก Startup เป็นโลกที่ประหลาด เป็นโลกที่ท้้าทายให้เรามีความทะเยอทะยานและความเชื่ิอมั่นว่าเราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้
แต่ก็เป็นโลกที่เราต้องมีความถ่อมตนมากพอที่จะได้ยินคำโกหกของตัวเองและมีความกล้าที่จะมองหาคำตอบจากข้างใน
นี่คือที่ๆ ความเข้าใจในลูกค้าพบกับสัญชาติญาณของผู้ก่อตั้ง
นี่คือที่สำหรับคนที่รู้ว่าเมื่อไหร่โลกจะพร้อมที่จะถูกเปลี่ยนเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนั้น

ตอนต่อไป!

คนที่เคยตั้งบริษัทตัวเองหรือเคยทำงานอยู่ใน Startup ตั้งแต่ตอนต้นคงรู้ดีว่าการทำ Startup ก็เหมือนกับขึ้นรถไฟเหาะ ต่างกันที่ Startup เป็นรถไฟเหาะนาน 3-4ปี ดังนั้นคนที่ทำ Startup จึงต้องผ่านความท้าทาทางอารมณ์และคุณลักษณะในแบบที่ึคนทั่วไปมักคาดไม่ถึง
ในฐานะของคนที่ได้ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวมานานกว่า 10ปี และได้ทำงานและลงทุนใน Startup ที่ Silicon Valley ผมได้มีโอกาสประยุกต์ศาสตร์การต่อสู้ที่มีพื้นฐานบนหลักการของ Zen เข้ากับโลกของ Startup ที่ซึ่งความสำคัญของการรู้จักตัวเองนั้นสำคัญไม่แพ้ไปกว่าความสำคัญของการรู้จักลูกค้า
ในซี่รีย์ที่จะตามมา ผมอยากจะนำเสนอหลักปฏิบัติที่จับต้องได้และใช้ได้จริง อันเป็นการผสมผสานและเชื่อมโยงระหว่างบทเรียนที่ผมได้เรียนรู้มาจาก โลก Startup เข้ากับมุมองของการพัฒนาตนจากข้างในจากโลกของศิลปะการต่อสู้
เป็นที่ๆความยอมรับจากโลกภายนอกเจอกับการรู้แจ้งจากภายใน
เป็นที่ๆภูมิปัญญา 4,000 ปีเจอกับไหวพริบของยุคศตวรรษที่ 21
เป็นที่ๆ Martial Arts เจอกับ Startup

cr:http://techsauce.co/startup101/invisible-lie-word-in-silicon-valley/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น