วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สุปรียา กณิกนันต์ Startup ไทยแข่งขันได้

 
0
22
“Startup” คำพูดยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ และรัฐบาล ที่พยายามพูดเหลือเกินว่า ต้องการส่งเสริมคนกลุ่มนี้ แต่ลองมาคุยกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ “สุปรียา กณิกนันต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โพโมะเฮ้าส์ จำกัด
เธอเริ่มทำธุรกิจด้วยตัวเอง หลังจากรับจ้างองค์กรไอทีใหญ่ๆ มาพักใหญ่ ทั้ง โอกิลวี่ วัน เวิลด์ไวด์ นิวยอร์ค ฮัจชิสัน ประเทศไทย ในที่สุดเธอก็ออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง ร่วมกับพาร์ตเนอร์และคู่ชีวิต Startup ด้วยการตั้งบริษัท Idea-Pop ทำธุรกิจเกี่ยวดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง และ CRM Agency และต่อยอดไปสู่บริษัทในเครือ คือ บริษัท โพโมะเฮ้าส์ จำกัด และบริษัท โพโมะ เฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
“สุปรียา” จบการศึกษา นิเทศศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และ จบโท Integrated Marketing Communications เอก Direct Marketing จาก Northwestern University สหรัฐอเมริกา เธอบอกว่า มีบริษัทในเครือ ทำเอเยนซี ทำบิ๊กเดต้า ซีอาร์เอ็ม และทำสตาร์ตอัพ โมบายแอพ เหมือน Silicon Valley ในสหรัฐอเมริกา ที่คิดแอพพลิเคชันใหม่ๆ เน้นแอพพลิเคชันไอที เมื่อมีนักลงทุนสนใจในไอเดีย ก็จะมาลงทุน และซื้อต่อไอเดียนี้ไปทำ
“เราคอนเวอร์เจนซ์กัน มีโปรแกรมเมอร์ทำเรื่องพัฒนา แอพพลิเคชัน เป็นกลุ่มสตาร์ตอัพแอพพลิเคชัน และล่าสุด คือการพัฒนาแอพพลิเคชัน ที่ใช้กับนาฬิกา โพโมะคิดส์ นาฬิกา โทรศัพท์ และ GPS tracker เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ที่พ่อแม่ใช้ติดต่อสื่อสารกับเด็ก โดยทีมโปรแกรมเมอร์คิดพัฒนาแอพพลิเคชัน เพื่อรองรับการใช้งานต่างๆ”
วิธีการทำงานของนักบริหารรุ่นใหม่ ใช้วิธีการ Empowerment กระจายงาน มอบอำนาจให้กรรมการผู้จัดการของแต่ละบริษัททำหน้าที่บริหารงาน โดยคุมแนวความคิดและเป้าหมายให้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การตอบโจทย์ธุรกิจ ความต้องการของลูกค้า และสังคม จากความที่คนในองค์กรล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ การสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับสังคมและธุรกิจ ทำให้พนักงานเหล่านั้นเกิดแรงบันดาลใจที่จะร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เพราะนอกจากมีรายได้แล้ว ยังช่วยเหลือสังคมได้อีกส่วนหนึ่ง
“สุปรียา” พูดคุยถึง โพโมะคิดส์ ที่ถือเป็นสินค้าตัวแรกที่จับต้องได้ที่เธอภาคภูมิใจมาก เพราะถือเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์แนวคิด Family is all Around การทำธุรกิจที่นอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ช่วยให้ครอบครัวมีความสุขได้ด้วย จากไอเดียที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดูแลคนในครอบครัว ดูแลเด็กเล็กที่อาจพลัดหลงจากพ่อแม่ นำมาพัฒนาเป็นนาฬิกาและโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับติดตามตัวเด็ก ให้เด็กและผู้ปกครองสามารถสื่อสารกันได้ แม้จะอยู่กันคนละที่
1IMG_0946
หลังจากสินค้าวางตลาดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สินค้าของเธอได้รับความนิยมจากผู้ปกครองอย่างมาก และไม่ใช่เพียงประเทศไทย ขณะนี้มีพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศ เริ่มติดต่อเพื่อนำสินค้าตัวนี้ออกไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งเธอตั้งเป้าว่า ปีนี้จะทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาทสำหรับในประเทศ และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท จากตลาดต่างประเทศ
นักบริหารรุ่นใหม่คนนี้บอกว่า เธอและทีมงานไม่หยุดคิดและพัฒนาในสินค้าตัวเดิม จะมี เวอร์ชันใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง และยังจะมีผลิตภัณฑ์เพื่อคนในครอบครัวแบบอื่นๆ ออกมาอีก ทั้งสำหรับ ผู้สูงอายุ สาวโสด และสัตว์เลี้ยง โดยทุกครั้งของการพัฒนาโปรดักต์ จะต้องมีการวิจัยตลาด การทำผลิตภัณฑ์ที่เป็น prototype หรือตัวต้นแบบมาทดลองมาใช้ก่อน ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เช่นเดียวกับการพัฒนา โมบายแอพพลิเคชัน หรือสตาร์ตอัพแอพพลิเคชัน ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่องเช่นกัน โดยได้แนวคิดมาจาก สตีฟ จ็อบส์ ที่คิดและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เสมอ และยังมี บิล เกตส์ ที่ทำธุรกิจเชื่อมโยงสังคมไปกับการทำ โซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ ไปพร้อมๆ กัน
“สุปรียา” ใช้ความสามารถด้านการวิเคราะห์ตลาด งานที่เคยทำเกี่ยวกับบิ๊กเดต้า วิเคราะห์ข้อมูล มาช่วยสร้างแบรนด์และทำตลาดให้กับสินค้าที่เธอพัฒนาขึ้นได้เป็นอย่างดี เธอบอกว่า มันเป็นความภูมิใจอย่างมาก เมื่อสินค้าของเธอออกไปทำตลาดต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยเป็นรู้จักมากขึ้น ขยายไปตลาดเออีซี ตลาดต่างประเทศ และถือเป็นความโชคดีที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมเรื่องเอสเอ็มอี
“เราเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีไอเดีย เราไม่แคร์เรื่อง Silicon Valley นะ แต่เรื่องโอกาส และทรัพยากร เป็นสิ่งสำคัญ การทำด้วยเงินทุนส่วนตัว มันก็ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้ามีรัฐบาลช่วย มีนักลงทุนมาช่วยหนุน ก็จะทำให้เราเติบโตได้…หลังปรับรัฐบาล เชื่อว่าปีหน้าก็ยังไปได้ดี เรากระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศ อย่างอเมริกา ไปมาเลเซีย ฐานผู้ใช้ที่เราเจาะไว้ก็ 10-20 ล้านคนแล้ว เมียนมาก็แข็งแรง ตอนนี้เศรษฐกิจเขาดีมาก ตอนนี้เราเริ่มคุยกับพาร์ตเนอร์เราแล้ว เราไม่ได้พึ่งแค่ในประเทศอย่างเดียว”
ถ้าจะแข่งกับสิงคโปร์ เกาหลีใต้ Silicon Valley รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย มาส่งเสริม เราคิดอย่างเดียว มันไปไม่ไกล ไปไม่ถึง …ชีวิตเอสเอ็มอี เจอปัญหาเรื่องภาษี เรื่องเงินลงทุน ขณะที่สิงคโปร์ รัฐบาลช่วย Subsidize เรื่องภาษีและต้นทุนให้ถึง 40% เลยทีเดียว
นักธุรกิจรุ่นใหม่ วางแผนลดความเสี่ยงสำหรับโปรดักต์ใหม่ ด้วยการเตรียมช่องทางต่างประเทศไว้ พร้อมๆ กับการพลิกโมเดลธุรกิจ จากการเป็นเพียงการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชันแบบเมื่อก่อน ที่สร้างยอดขายเติบโตได้ปีละ 10-20% แต่ตอนนี้พลิกโมเดลมาเป็นสตาร์ตอัพ หาคนมาร่วมทุน หรือซื้อโมเดลสตาร์ตอัพที่ทีมงานของเธอพัฒนาขึ้น ก็จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ 30-40% ขึ้นไป ฐานลูกค้าจะเยอะขึ้น มีรายได้มากขึ้น
นี่เป็นเทรนด์สำหรับคนไอที แต่รัฐบาลต้องสนับสนุน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทยต้อง Empowerment ช่วยกันคิดในระดับชาติ ไอทีต่อไปมันเป็นอนาคต มันฝังอยู่ในธุรกิจทุกอย่าง รัฐบาลต้องลงมาทำความเข้าใจ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3096 วันที่ 15 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น