วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เกมธุรกิจลูกหนังไทย

Date: 2 ตุลาคม 2015
ครึ่งหนึ่งจากทีมฟุตบอลอาชีพระดับชาติของไทย ทั้ง 38 ทีม มีนักการเมืองเป็นเจ้าของ แต่เหตุใดถึงไม่มีใครประสบความสำเร็จเท่า “เนวิน ชิดชอบ”
หลายสโมสรทุ่มเงินทำทีมเทียบเท่าหรือมากกว่า แต่ทำไมความสำเร็จที่จับต้องได้ถึงไม่มากเท่า “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด”
บางจังหวัดวางแผนที่จะใช้กีฬาเป็นเครื่องมือพัฒนาท้องถิ่นเช่นกัน …แต่เพราะอะไร ผลลัพธ์ที่ได้ถึงไม่เด่นชัดเท่า จ.บุรีรัมย์ ?
อะไรคือเคล็ดลับในการทำทีมฟุตบอลที่มีสไตล์การเล่นน่าตื่นตาตื่นใจ จนประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศ (11 แชมป์ใน 6 ปี) และกลายเป็น “จุดขาย” ที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างทันตาเห็น
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ไปนั่งคุยกับเนวินที่โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด football hotel หนึ่งเดียวของทวีปเอเชีย ในค่ำคืนก่อนเกมการแข่งขันนัดสำคัญ
โยน “คำถาม” ข้างต้นเข้าสู่วงสนทนาเพื่อหา “คำตอบ” ที่ได้ทั้งเคล็ดลับ เบื้องลึก เบื้องหลัง และวิธีคิด จากอดีตนักการเมืองวัย 56 ปี คนนี้
พร้อมเป้าหมายต่อไปที่ไม่ได้อยู่แค่ “ในระดับประเทศ” อีกต่อไปแล้ว
581002เนวิน1
นายเนวิน ชิดชอบ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/BuriramUTD/photos/a.732894476830497.1073742214.104581442995140/732910336828911/?type=3&theater

ไทยพับลิก้า: กีฬามีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อย่าง จ.บุรีรัมย์ที่ตั้งแต่มีทีมฟุตบอล ก็ดูเหมือนการท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าสมัยก่อน

กีฬาสำหรับผมมีไว้สำหรับสร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ไม่ใช่แค่กับสโมสร แต่มันสร้างให้กับทุกคนในเมืองนี้ ตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดก็คือการมีทีมฟุตบอล มีสนามแข่งรถ ทำให้ value assets ของคนบุรีรัมย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 200% อย่างที่ดินตรงสนามไอ-โมบาย สเตเดียม หลังจากมีทีมฟุตบอลและมีสนามแข่งรถมาจะครบปี จากสมัยก่อน ราคาไร่ละ 2 ล้าน ตอนนี้ขึ้นเป็นไร่ละ 10 ล้านบาท แล้วมันก็นำมาซึ่งนักท่องเที่ยว คนที่มาทำกิจกรรมมาใช้ชีวิตในเมืองนี้ ก่อนมีบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มา จ.บุรีรัมย์อยู่ที่แค่ปีละ 6 แสนคน หลังจากมีทีมฟุตบอลก็เพิ่มเป็นปีละ 1.8 ล้านคน พอมีสนามแข่งรถ แม้ตัวเลขจะยังไม่ออก แต่ผมคิดว่าน่าจะทะลุปีละ 2.5 ล้านคน สมมุติถ้าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 2,000 บาท ก็จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในจังหวัดอย่างน้อยปีละ 4-5 พันล้านบาท

ไทยพับลิก้า: คุณเนวินเคยให้สัมภาษณ์ว่า สมัยก่อน จ.บุรีรัมย์เป็นแค่เมืองผ่าน แต่ปัจจุบันเมืองนี้กลับมีลมหายใจเป็นฟุตบอล อะไรคือสิ่งที่ทำให้ “นิยาม” ของมันเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้

โดยนิตินัยทีมนี้เป็นของผม แต่โดยพฤตินัย คนบุรีรัมย์ทุกคน รวมถึงคนที่ชอบฟุตบอลในจังหวัดอื่นๆ หรือของประเทศไทย คิดว่าบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คือทีมของเขา เวลาไปแข่งต่างประเทศหรือต่างจังหวัด ในทุกสนามจะมีแฟนบอลของเราไปดูไม่ต่ำกว่า 5,000 คน จนกลายเป็นสถิติผู้ชมสูงสุดของทีมเจ้าบ้านในปีนั้นๆ แฟนบอลของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คือผู้เล่นคนที่ 12 ข้างหลังเสื้อแข่งจะเขียนว่า GU12 เพราะเบอร์ 12 คือหมายเลขของพวกเขา จะเห็นว่าในทีม ไม่มีใครใส่เบอร์ 12 เลย เพราะมันเป็นเบอร์ของแฟนคลับ

ไทยพับลิก้า: ในทางธุรกิจ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถือว่ามาถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง

ยัง สำหรับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แน่นอนเราเป็นสโมสรที่ทำธุรกิจเต็มตัว ไม่ได้ทำแค่เอามันเอาสนุกอย่างเดียว สิ่งที่สะท้อนคือ ถ้าไปดูโครงสร้างทางธุรกิจ ปี 2557 สโมสรมีรายได้ทั้งหมด 470 ล้านบาท มาจากการขายเสื้อ 4.6 แสนตัว เฉพาะยอดขายเสื้อทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีมเดียว มีมากกว่าของอีก 17 ทีมในไทยลีกที่เหลือ และ 20 ทีมในลีกวันรวมกัน ปี 2558 ก็หวังว่าจะให้แตะ 5 แสนตัว
แล้วเราอาจจะมีเป้าหมายแตกต่าง ถ้าไปดูทีมในไทยลีก ทุกทีมก็อาจจะหวังแชมป์ใดแชมป์หนี่ง แต่สำหรับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป้าหมายคือ Top 5 ของเอเชีย คือเราไม่มองเรื่องในประเทศแล้ว
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) จะเปิดปลายปี 2558 เราตั้งเป้าว่าจะขยายฐานแฟนบอลไปในอาเซียน ใน 3 ปี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะต้องมีแฟนบอลในอาเซียนไม่ต่ำกว่า 2% ของประชากรทั้งหมด หรือจาก 600 ล้านคนจะเป็นแฟนบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อย่างน้อย 12 ล้านคน แล้วใน 12 ล้านคน ถ้ามีสัก 20% มาดูบุรีรัมย์ตัวเป็นๆ เล่นในสนามไอ-โมบาย สเตเดียม ทุกปี เราก็จะมีแฟน 2.4 ล้านคนต่อปี ที่มาดูบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในบ้าน ซึ่งใน 2.4 ล้านคน เราตั้งเป้าหมายว่าสัก 50% หรือ 1.2 ล้านคน จะซื้อเสื้อของบุรีรัมย์ ซึ่งมันไม่จริง เพราะมาเท่าไรก็ซื้อหมด แต่เราก็ตั้ง target ว่า เราจะขายเสื้อปีนึงประมาณ 1.2 ล้านตัว นี่คือ target ในทางธุรกิจของบุรีรัมย์
ต้นปี 2559 เราจะเริ่มทำตามเป้าหมายนี้ ในช่วง pre-season เรากำหนดไว้ 4 เกม เกมแรกเตะกับทีมปัตตานี เป็น CSR ของสโมสร เพราะเราถือเป็นภารกิจที่จะไปเยียวยาพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายได้ทั้งหมดยกให้เขา และทำให้เชื่อว่าพื้นที่นั้นปลอดภัย อีก 3 เกม เราจะไปเตะที่กัมพูชา เวียดนาม ลาว เป็นการเปิด AEC เป็นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทัวร์ เวลาเราไป เราก็เอาสปอนเซอร์ไปพร้อมเลย เรานัดอุ่นเครื่อง แล้วสปอนเซอร์เรา ทั้งช้าง ยามาฮ่า ไอ-โมบาย ฯลฯ ทั้งหมด ก็ไปทำ marketing พร้อมกับบุรีรัมย์
เราไม่มีสปอนเซอร์ เรามีแต่ partner หลักคิดมันต่างกันระหว่างบุรีรัมย์กับทีมฟุตบอลอื่นๆ ในไทย คนอื่นได้สปอนเซอร์มาก็แปะไว้บนเสื้อ ก็จบกัน ไม่เคยคิดจะทำอะไรอย่างไร แต่สำหรับบุรีรัมย์ คุณคือ partner ทำอย่างไรถึงจะ win-win ทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้แฟนบอลมี brand loyalty กับพวกคุณ เหมือนกับที่มีให้กับทีม ดังนั้น ตัวเลขที่เราได้จากสปอนเซอร์ปีละ 200 กว่าล้าน อย่าแปลกใจ อย่างปีนี้ก็ 230 ล้านบาท จากรายได้ที่เราประมาณการว่าทั้งปีน่าจะได้ 560 ล้านบาท โตขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 90 ล้านบาท แล้วมันก็จะโตไปเรื่อยๆ
ผมวางแผนจะเอาบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2560- 2561 ซึ่งจะทำให้เราแข็งแรงขึ้น และสามารถหานักฟุตบอลที่เกรดสูงกว่าที่มีอยู่มาเล่นให้แฟนบอล เพราะเขาเสียเงิน เสียเวลามาดูเกม ปรัชญาของเราจึงไม่ใช่เล่นเพื่อผลการแข่งขัน แต่ต้องเป็น entertainment game ด้วย จะเห็นว่าบุรีรัมย์เล่น 90 นาที ไม่มีหมด ไล่ตลอด ชนะก็ไม่ผ่อน

ไทยพับลิก้า: แต่ถ้ามองอีกแง่ ลีกฟุตบอลอาชีพสูงสุดของไทยมีทั้งหมด 18 ทีม ถ้าแข็งแรงแค่ทีมเดียว ลีกจะยั่งยืนได้อย่างไร

ก็ไม่เป็นไร La Liga ของสเปน ก็แค่บาร์เซโลน่าแข่งกับเรอัล มาดริด อยู่ 2 ทีม Bundesliga ของเยอรมัน ก็เหลือบาเยิร์น มิวนิก ทีมเดียว ยังไม่เห็นเป็นอะไรเลย แฟนบอลชอบเชียร์ทีมเก่ง เขาไม่ได้สนใจหรอกว่าคู่แข่งจะสู้ได้หรือไม่ได้ เขาสนใจแค่ว่าทีมที่กูเชียร์ต้องแชมป์ ต้องชนะ

ไทยพับลิก้า: ที่พูดมาทั้งหมด ไม่เห็นคุณเนวินพูดเรื่องการช่วยเหลือจากภาครัฐเลย เพราะอะไร

ไม่เคยใส่ใจ เรายืนด้วยขาตัวเราเอง เราจะมั่นคง ยั่งยืน และแข็งแรง เมืองนี้มันเดินมาถึงวันนี้ได้เพราะเอกชน ไม่ใช่เพราะงบประมาณหรือนโยบายของรัฐ เมืองนี้ฝ่ายรัฐต้องวิ่งตามเอกชน วันก่อนทางผู้ว่าราชการ จ.บุรีรัมย์ ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจัดทำแผนของจังหวัด ก็ต้องมาเชิญผมไปให้นโยบายว่าทิศทางของจังหวัดในอีก 5 ปีข้างหน้าควรจะเดินไปอย่างไร รัฐและส่วนราชการต่างๆ ควรจะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ทันเอกชน นี่มันกลับข้างเลย เพราะเมืองอื่นๆ จะไปรอดูว่า รัฐมีนโยบายอย่างไร จะมีงบลงมาไหม แต่เมืองนี้คือไม่สน รัฐต้องวิ่งตามเอกชนให้ทัน รัฐเป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุน
สำหรับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป้าหมายคือ Top 5 ของเอเชีย คือเราไม่มองเรื่องในประเทศแล้ว

ไทยพับลิก้า: โมเดลบุรีรัมย์ จังหวัดอื่นๆ เอาไปใช้ได้ไหม

ไม่เคยสงวนสิทธิ์ แต่การที่คุณจะรวมหัวใจคนในจังหวัดให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน คุณชนะใจคนได้หรือเปล่า เราชนะใจคนในเมืองนี้แล้ว แล้วเราได้สร้างความภาคภูมิใจร่วมกันให้คนเมืองนี้ คน จ.บุรีรัมย์เดี๋ยวนี้เวลาไปไหนแล้วมีคนถามว่ามาจากไหน กล้าตอบเลยว่า จ.บุรีรัมย์ เพราะมันเท่มาก ทีมฟุตบอลเก่งมากๆ สนามแข่งรถดีโคตรๆ ลูกหลานบุรีรัมย์มีความภาคภูมิใจ แล้วนี่แหละมันเป็นความร่วมแรงร่วมใจของทุกคน แต่เราไม่ปิดกั้นว่าแฟนบอลทีมบุรีรัมย์จะมีเฉพาะคนบุรีรัมย์ เรา welcome คนทุกคนที่เชียร์บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
แล้วสิ่งที่เราทำก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเสื้อทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเท่าเทียมกันของคน จ.บุรีรัมย์ เถ้าแก่ก็ใส่เสื้อบุรีรัมย์ คนใช้ คนขับรถ เด็กเสิร์ฟ ก็ใส่เสื้อบุรีรัมย์ นี่คือความเสมอภาค เวลาเขาไปงานที่ไหน ขึ้นบ้านใหม่ เผาศพ ทุกคนก็จะใส่เสื้อสโมสรไป แล้วความรู้สึกของคนมันไม่แตกต่าง ไม่ต้องไปยืนหลบ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนใส่เสื้อแบรนด์เนมหรู กับเสื้อโบ๊เบ๊ แบ่งชนชั้นตามฐานะ แต่วันนี้ เมืองนี้มันเท่ากันหมดเวลาใส่เสื้อบุรีรัมย์ไปไหน ในแง่เศรษฐกิจ มนุษย์เงินเดือนซื้อเสื้อได้ 3 ตัว เสื้อบุรีรัมย์ ทั้งชุดเหย้า ชุดเยือน ชุดที่สาม อยูได้ทั้งปี ค่าใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้าปีนึง 1,500 บาท ไปที่ไหนก็เท่ ไม่น้อยหน้าใคร ผมเองก็ใส่เสื้อยืดบุรีรัมย์ไปทุกงาน ฉะนั้น คนใส่เสื้อบุรีรัมย์ไปงานไหนก็เป็นเรื่องธรรมดา นี่คือแง่เศรษฐกิจพอเพียง
และเหตุผลนี้ทำให้ตัวเลขเสื้อบุรีรัมย์ขายได้เยอะ เพราะเสื้อฟุตบอลทีมของไทย คนจะใส่ได้แค่ 2 ครั้ง คือไปดูฟุตบอล กับไปเล่นฟุตบอล แต่เสื้อทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ใส่กันทุกวัน ไปทำงาน ไปติดต่อราชการ ไม่มีการมองว่าแต่งตัวไม่สุภาพ เลยทำให้ตัวเลขบุรีรัมย์โตขึ้นๆ แต่นี่ยังไม่สุดนะ ประชากร จ.บุรีรัมย์มี 1.6 ล้านคน ที่เราเดินมาวันนี้ คน จ.บุรีรัมย์อาจจะใส่เสื้อบุรีรัมย์แค่ 20-25% เท่านั้น แต่ในที่สุดก็จะครอบคลุมทั้งหมด

ไทยพับลิก้า: สมัยเล่นการเมือง ก็อาจจะมีคนอยู่ตรงข้ามกับคุณเนวิน แต่พอมาทำกีฬา คนที่เห็นต่างกลับหันมาเชียร์ทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นเพราะอะไร

คนเขาเห็นว่าเราสร้างชื่อเสียงให้กับคน จ.บุรีรัมย์ เราสร้างเศรษฐกิจให้กับคนบุรีรัมย์ เราไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไรตอบแทนจากเขา เพราะผมได้แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมทุกคน ยกตัวอย่างโรงแรมอมารีที่เรานั่งอยู่ มีแค่ 60 ห้อง ผมทำเพื่อตอบโจทย์คนที่ไม่เคยมา จ.บุรีรัมย์ หรืออยากจะมา จ.บุรีรัมย์แต่บอกว่าที่พักดีๆ ไม่มี พี่ก็ทำให้เห็นว่า อย่ามาบอกว่าไม่มีที่พักดีๆ ไม่มี เพราะโรงแรมอมารีนี่ระดับ 5 ดาว นี่คือมิติที่จะบอกนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ในมิติของเมือง ผมเชิญคนทำธุรกิจมาบอกว่า เฮ้ย คุณทำโรงแรม ไม่ต้องกลัวมาแข่งกับผม เพราะเห็นไหมว่าผมทำแค่ 60 ห้อง ทั้งที่จะทำ 500 ห้องก็ได้นะ แต่ไม่ทำ ผมทำแค่นี้ เพราะต้องการให้ทุกคนรวย ทุกคนมีอาชีพ ทุกคนมีรายได้ ไม่ต้องกลัวแข่งกับผม

ไทยพับลิก้า: อะไรที่ทำให้คุณเนวินมี passion หรือมี drive เกี่ยวกับกีฬาขนาดนี้

ก็ชอบฟุตบอล ชอบขี่มอเตอร์ไซค์ ทำอะไรที่เรารักเราชอบ

ไทยพับลิก้า: หลายคนบอกว่าสไตล์การเล่นของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีบุคลิกคล้ายคนชื่อเนวินมาก เอาตัวเองใส่เข้าไปในทีมได้อย่างไร

อะไรที่เรารัก เราก็ต้องทำให้มันดีที่สุด ผมเป็นคนที่ถ้าทำแล้วไม่ดีจะไม่ทำ ถ้าทำแล้วต้องสุด เห็นได้จากทีมฟุตบอลหรือสนามแข่งรถ คือสุดไปเลยเท่าที่จะทำได้

ไทยพับลิก้า: แต่นักฟุตบอลก็มาจากร้อยพ่อพันแม่ ไม่รวมถึงนักเตะต่างชาติอีก รวมกันอย่างไรให้ออกมาเป็นทีมของเนวิน

หลักการก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้เล่นทุกคนที่มาอยู่ที่นี่ ว่าปรัชญาและแทกติกของทีมต้องอยู่เหนือผู้เล่น เราไม่เคยเปลี่ยนแทกติกการเล่นเมื่อซื้อซูเปอร์สตาร์มา 1 คน รู้แต่ว่าเมื่อวางกรอบไว้ วิธีการก็เหมือนสร้างภาพภาพหนึ่งด้วยระบบจิ๊กซอว์ ผู้เล่น สตาฟ โค้ช ทุกอย่างก็เหมือนกับ jigsaw ที่จะมาต่อภาพนี้ให้สวยงาม คุณเป็นได้แค่จิ๊กซอว์ตัวหนึ่งเท่านั้น คุณไม่สามารถเป็นคนมากำหนดทิศทางหรือสร้างภาพอะไรได้ ไม่ว่าใครจะไปใครจะมา บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็ยังมีสไตล์เป็นของตัวเอง
เราเอาใจแฟนคลับ เราไม่ได้เอาเงินเขา ผมอาจจะแตกต่างเวลาทำทีม ไม่มีเจ้าของทีมที่ไหนในโลกจะไปนั่งข้างสนามทุกนัดที่มีการแข่งขัน นั่งอยู่ข้างสนามทุกวันที่มีการซ้อม ผมกำหนดแทกติกร่วมกับโค้ช พูดคุยแก้ปัญหาให้กับโค้ช ใครจะคิดว่าระบบอาชีพควรจะวางบทบาทกันอย่างไรระหว่างเจ้าของทีมกับโค้ช ก็เรื่องของคุณ
สำคัญที่สุด จุดบอดของทุกทีมในโลกคือแพ้ทางซูเปอร์สตาร์ เวลาได้นักเตะระดับ big name มาก็มักจะให้อภิสิทธิ์ มีความเป็นตัวตนสูง จนเป็นสาเหตุให้แทกติกการซ้อม วิธีการเล่นของทีม มีปัญหา โค้ชส่วนใหญ่ก็กลัวซูเปอร์สตาร์ ทำให้ระบบทีมไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น กูเป็นซูเปอร์สตาร์ กูไม่มาซ้อม กูเก่งแล้ว แต่ที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะไม่มี เพราะปัญหาเหล่านี้โค้ชไม่ต้องพูดเลย ผมพูดเอง ผมจ่ายเงินจ้างคุณนะ กินเงินเดือนนะ ยิ่งเป็นซูเปอร์สตาร์รับเงินเดือนมากกว่าคนอื่นก็ยิ่งต้องทำมากกว่าคนอื่น ฉะนั้นใครจะมาเกเรไม่ได้
เหมือนกองหน้าชาวบราซิลรายหนึ่ง คิดว่าเล่นฟุตบอลที่เมืองไทย ไม่ต้องซ้อมก็ได้ หนีเที่ยวพัทยา สุดท้ายเลยโดนไล่ออก
นักฟุตบอลไทย โดยเฉพาะเด็กๆ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คุณต้องทำงาน full time นะ ไม่ใช่คิดว่าคุณเป็นนักฟุตบอลแค่ในสนาม หน้าที่คือซ้อมแล้วไปแข่ง แต่กิจกรรมอื่นๆ ที่สโมสรกำหนด ทั้งฟิตเนส การพักผ่อน การกิน การซ้อม ทุกอย่างต้องทำตามคู่มือของสโมสร

ไทยพับลิก้า: ที่บอกว่าบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่มีซูเปอร์สตาร์ เป็นเหตุผลของการที่นักฟุตบอลชื่อดังๆ ออกจากทีมในหลายปีที่ผ่านมาหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นขายออสมาร์ อิบันเญซ หรือชาริล ชัปปุยส์

มันเป็นเรื่อง commercial ด้วย ทุกครั้งที่เราตัดสินใจ ผมไม่ได้เห็นแก่เงิน แต่ทำด้วยเหตุผล 2-3 อย่าง การขายผู้เล่นดีๆ ไม่ว่าจะออสมาร์, ฆาเบียร์ ปาตินโญ่, แฟรงก์ อาชิมปง หรือฟรองก์ โอฮันด์ซ่า ในทางธุรกิจ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็มีกำไร แต่กำไรที่ได้ไม่ได้มีแค่เงินอย่างเดียว ยังรวมถึง brand ที่ทำให้บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นที่รู้จัก ใครจะคิดว่าทีมอย่าง FC Seoul ของเกาหลีใต้ Anderlecht ของเบลเยี่ยม Henan Jianye ของจีน จะมาซื้อผู้เล่นของเรา กลายเป็นว่าในแง่ brand บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สำหรับผู้เล่น ไม่ใช่มาเพื่อจบชีวิตนักเตะ แต่มาเพื่อไปต่อ ฟอร์มคุณอาจจะเคยดรอปลง แต่ทีมของผมจะทำให้คุณกลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้งแล้วไปต่อได้ ไม่เหมือนกับสโมสรอื่นๆ ในไทย ที่คิดว่ามาจบชีวิตค้าแข้ง
สิ่งที่จะตามมาก็คือ โอกาสที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะได้เซ็นสัญญากับนักเตะที่ดีกว่านี้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกคนยอมรับแล้วว่า ไม่ใช่ทีมที่จะมาจบชีวิต แต่มาเพื่อสร้างตัวเองขึ้นไปได้อีก มันเป็นอีกมิติหนึ่ง นี่คือภาพลักษณ์ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในสายตาผู้เล่น ขณะที่ในสายตาทีมฟุตบอลอาชีพด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาใต้ ก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น เวลาเราติดต่อซื้อใครหรือมีข้อเสนออะไรไป ทีมอื่นอาจจะยาก แต่เราง่าย
581002บุรีรัมย์1
แฟนบอลทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คือหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของทีม ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/BuriramUTD/photos/a.846418978811379.1073742293.104581442995140/847406928712584/?type=3&theater

ไทยพับลิก้า: ในขณะที่มองไปข้างหน้า วางแผนจะซื้อตัวผู้เล่นให้ดีขึ้นๆ อีก ในอีกด้านหนึ่ง ได้คิดถึงการดูแลความสัมพันธ์กับแฟนคลับของทีมอย่างไร

นักฟุตบอลของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไมได้เป็นแค่นักฟุตบอลในสนามเท่านั้น นอกสนามก็ยังต้องเป็น ต้องถ่ายรูป แจกลายเซ็น ทั้งก่อนและหลังแข่ง เรามีงาน meet and greet ทุกแมตซ์ เวลามีงานเทศกาล ผู้เล่นต้องไปร่วมกิจกรรม ปีใหม่ต้องมีโชว์เป็นของขวัญ สงกรานต์ต้องไปเล่นน้ำกับแฟนบอล วันพ่อต้องมาจุดเทียนกับแฟนบอล ถ้าวันซ้อมธรรมดา เราจะไปซ้อมที่สนามติดเนิน เปิดให้แฟนบอลเข้ามาดู ซ้อมเสร็จมีแฟนบอลมาขอถ่ายรูป ขอลายเซ็น ก็ต้องให้ นี่คือความผูกพันระหว่างผู้เล่นคนที่ 12 ถ้าไปดูทีมอื่นจะไม่เห็นเลยว่ามีผู้เล่นมาถ่ายรูป แจกลายเซ็น หลังจบเกม

ไทยพับลิก้า: ตอนที่เริ่มทำ คิดไว้ไหมว่า ทีมจะประสบความสำเร็จ และผลต่อ จ.บุรีรัมย์ จะมากมายขนาดนี้

จริงๆ ก็คิดแบบนี้ไว้แต่แรก ตอนที่ซื้อทีมจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อปี 2552 ผมมายืนประกาศ ทุกคนก็หัวเราะเยาะ ผมบอกว่า “จะทำให้ทีมบุรีรัมย์เป็นแชมป์แบบที่ทุกคนจำไม่ได้ว่าเราเป็นแชมป์อะไรมาบ้าง” มีแต่คนบอกว่าวาทะนักการเมือง ปีแรก (ปี 2553) เราจบด้วยการเป็นรองแชมป์ไทยลีกกับรองแชมป์ลีกคัพ หลังจากนั้นก็เป็นแชมป์ทุกปี อย่างน้อยๆ ทุกปี ต้องมี 1 แชมป์

ไทยพับลิก้า: เวลาคนนิยามคุณเนวิน ก็ยังมองว่าเป็นนักการเมืองที่มีทีมฟุตบอล ถ้าให้นิยามตัวเองยังเป็นนักการเมืองอยู่ไหม แล้วอยากให้คนคิดถึงในแง่ไหม

ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักการเมือง อยากให้คนคิดว่าเป็น “ลุงเนวินของแฟนบุรีรัมย์ ของคน จ.บุรีรัมย์” (ยิ้ม) ไม่ใช่นักธุรกิจ อยากเป็นแค่ลุงเนวินก็พอแล้ว

ไทยพับลิก้า: พูดเหมือนจะตัดขาดจากการเมืองไปเลย

ไม่มีวันกลับไปตกนรกอีกหรอก ไม่ใช่คนโง่ ไม่ใช่คนเสียสติ การอยู่ในสังคมการเมืองมันเจ็บปวด มันเสียหาย มันไม่ได้ให้อะไรกับเราเลย มีแต่ความทุกข์ คนเราเมื่อรู้ว่ามันเป็นทุกข์ เป็นนรก พ้นมาแล้ว จะกลับไปอีกทำไม มันไม่ใช่โรคจิตนี่

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้นักการเมืองเข้ามาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลจำนวนมาก คิดว่าจะส่งผลอย่างไรต่อวงการ

ก็ welcome เป็นเรื่องดีที่เข้ามาช่วยกัน แต่ขอบอกก่อนว่า ถ้าคุณไม่ได้มาเพราะรักฟุตบอล คุณมาเพราะหวังว่าทำฟุตบอลแล้วจะได้คะแนนนิยมจากการทำฟุตบอล ระวังจะไม่เป็นอย่างที่คุณคิด

ไทยพับลิก้า: อยากให้ขยายความหน่อยว่าเพราะอะไร

เพราะคุณไม่สามารถทำให้ทีมของคุณดีอย่างที่แฟนบอลอยากจะได้ พอคุณทำไม่ได้ ก็จะตายเป็นรายๆ ไป มันก็เกิดกรณีเปรียบเทียบ ทำไมไม่ทำเหมือนคนนั้น ทำไมไม่ทำเหมือนทีมนี้ คุณเข้ามาแค่หาเสียงนี่หว่า สุดท้ายก็เจ๊ง ไม่รอดหรอก

ไทยพับลิก้า: พอกระแสลีกบูมขึ้นมา แฟนบอลก็คาดหวังมากขึ้น

แน่นอน มนุษย์ไม่มีเมืองพอหรอก มีแต่เมืองเลย
เมื่อก่อนทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีอาชิมปง แฟนบอลก็คาดหวังว่าจะอยู่นาน พอเราขายอาชิมปง เราซื้อคาร์เมโล (กอนซาเลซ) กับปาตินโญ่ ก็ด่าเราอยู่ประมาณ 2 เดือน พอคาร์เมโลกับปาตินโญ่ยิง ก็ลืมอาชิมปง พอเราขาย 2 คนนั้น ไปซื้อดิโอโก้ พอดิโอโก้ยิงสนั่นก็ลืมอีกแล้ว เหมือนกันแหละ มันก็ธรรมดา แต่ปัญหาคือคุณจะมีแรงที่จะเปลี่ยนทีมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นๆ ทุกปีได้ไหม

ไทยพับลิก้า: แต่คนใน จ.บุรีรัมย์ก็จะเห็นว่า เมืองโตตามสโมสร

เรื่องนี้แน่นอน เพราะเราทำไม่เหมือนคนอื่น อย่างในฤดูกาลหน้า คนอื่นยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่เราซื้อผู้เล่นต่างชาติไว้หนึ่งคนแล้ว ชื่อเอมิเลียโน่ อัลฟาโร่ กองหน้าทีมชาติอุรุกวัย ซื้อมาจากทีม Lazio ของอิตาลี มันก็ต้องสูงขึ้นๆๆๆ แล้วไม่ใช่สูงขึ้นเฉพาะผู้เล่นต่างชาติ เพราะเราไม่ได้ซื้อมาเพียงเพื่อผลการแข่งขัน แต่ยังซื้อมาเพื่อพัฒนาผู้เล่นไทย
ผมวางแผนจะเอาบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2560-61 ซึ่งจะทำให้เราแข็งแรงขึ้น และสามารถหานักฟุตบอลที่เกรดสูงกว่าที่มีอยู่มาเล่นให้แฟนบอล เพราะเขาเสียเงิน เสียเวลามาดูเกม ปรัชญาของเราจึงไม่ใช่เล่นเพื่อผลการแข่งขัน แต่ต้องเป็น entertainment game ด้วย จะเห็นว่าบุรีรัมย์เล่น 90 นาที ไม่มีหมด ไล่ตลอด ชนะก็ไม่ผ่อน

ไทยพับลิก้า: อีกเรื่อง จากที่ไปดูงบการเงินทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด รายได้เพิ่มขึ้นจริง แต่รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้สุดท้ายหลายๆ ปีมีผลประกอบการติดลบ ในทางธุรกิจจะอยู่ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือ

มันต้องขาดทุนอยู่แล้ว เพราะระบบบัญชีประเทศไทยไม่เคยคำนวณมูลค่านักเตะ ลองเอาจำนวนมูลค่านักเตะบุรีรัมย์มาคำนวณกลับสิ บวกอยู่แล้ว ทั้งทีม 30 คน ถ้าขายมันต้องมี 300-400 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ แต่ระบบบัญชีของไทย มันไม่เคยตีมูลค่าของผู้เล่นเป็นทรัพย์สิน เพราะเป็นเรื่องใหม่มาก ก็เลยดูขาดทุน ธีราทร บุญมาทัน, นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม, จักรพันธ์ แก้วพรม นักเตะทีมชาติไทยเหล่านี้จะขายเท่าไร แต่ละคน ใครกล้ามาเสนอราคาซื้อล่ะ มันคำนวณตรงนี้ไม่ได้
มันมีปัจจัย 2 อย่าง ที่ถ้ามาคำนวณมูลค่าแล้วจะเห็นว่ามหาศาลขนาดไหน 1. มูลค่าผู้เล่น 2. brand value วันนี้ brand value ทีมบุรีรัมย์คุณคิดว่าเท่าไร

ไทยพับลิก้า: ถึงพันล้านไหม

โอย ซื้อทีมผมพันล้าน ผมก็ไม่ขาย อย่างสนามไอ-โมบาย สเตเดียม ถ้าคิดรวมที่ดินด้วย ตีเป็นมูลค่าก็ 3-4 พันล้านบาทแล้ว
วันก่อนมีหัวหน้าส่วนราชการ จ.ขอนแก่น มาดูงาน ก็ถามผมว่า รายได้ของทีมฟุตบอลกับสนามแข่งรถปีหนึ่งอยู่ที่เท่าไร ผมก็บอกว่าประมาณ 700 ล้านบาท เขาก็ตกใจบอกว่า โอ้โห มันมหาศาล แต่ผมบอกว่า รายได้แค่ 700 ล้านบาท ไม่ถึงหนึ่งในยี่สิบของรายได้ที่คน จ.บุรีรัมย์ได้จากการมีทีมฟุตบอลและสนามแข่งรถเลย เอายี่สิบคูณ 700 ล้านบาทไปเลย หมื่นกว่าล้านบาทที่คน จ.บุรีรัมย์มีรายได้จากการท่องเที่ยวและการจ้างงาน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจ.บุรีรัมย์
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจ.บุรีรัมย์
รายได้จากการท่องเที่ยว
แล้วมันจะโตขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ออกแบบไว้ว่า จ.บุรีรัมย์จะเป็น sport city ภายในไม่เกิน 3 ปีจากนี้ไป จะต้องมีทั้งฟุตบอล, adventure sport, motor sport และ water sport นั่นคือเป้าหมายระยะสั้น แต่ระยะยาว เราจะเป็น health city เมืองแห่งสุขภาพ ต้องออกแบบให้คนทั้งทวีปเอเชีย เวลาที่คุณคิดถึงเรื่องกีฬา คุณต้องคิดถึง จ.บุรีรัมย์ มาดูกีฬา มาเล่นกีฬา แล้วคุณก็มาฟื้นฟูตัวเอง สมมติว่าคุณได้พักร้อน 3-5 วัน ก็มาที่ จ.บุรีรัมย์ ผมก็จะมีโปรแกรมการออกกำลังกาย มีเทรนเนอร์คอยประกบ ได้ดูกีฬา ควบคุมเรื่องอาหาร มีคลีนฟู้ดให้รับประทาน เราจะเป็น hub แบบนี้ในเอเชีย
ในแง่ของคน มนุษย์ไม่มีใครไม่คิดถึงสุขภาพตัวเอง มีเงินแล้วก็อยากรักษาสุขภาพ ซึ่งมันก็มีแค่การออกกำลังกับการกินอาหาร ในส่วนของชาวบ้าน เราก็จะเริ่มให้เขาทำคลีนฟู้ด ผักกางมุ้ง ผักปลอดสาร รากหญ้าก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่มาดูกีฬา แต่กลายเป็นว่าคุณมาเล่นกีฬา มาออกกำลัง นี่คืออีกสเตปนึง ที่ต้องก้าวหน้ากว่าคนอื่นเขา ไม่เช่นนั้นมันไปไม่ได้ แล้วมันไม่ใช่สำหรับผม แต่กลายเป็นว่าทุกคนในเมืองนี้จะมีอาชีพ มีรายได้ ลูกหลานคนบุรีรัมย์ แทนที่จะไปเรียนนั่นเรียนนี่ ก็เรียนด้าน sport science เสีย

ไทยพับลิก้า: แต่โปรเจกต์นี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมี เนวิน ชิดชอบ เป็นศูนย์กลาง

คน จ.บุรีรัมย์ก็ต้องช่วยกันทำ
คุณคอยดูในปี 2560 ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา เมืองนี้จะเป็นเมืองสีน้ำเงิน ที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ใช้สีน้ำเงินเป็นสีประจำทีมก็ด้วยเหตุผลเดียว เพราะเป็นสีของสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วเราจะเริ่มย้อมเมืองนี้เป็นสีน้ำเงิน ให้ปลูกอัญชันทุกบ้าน ต่อไปเราจะมีน้ำอัญชัน มีผ้าย้อมสีอัญชัน ทุกอย่างมันถูกดีไซน์มาเพื่อคนทั้งเมือง
ลองคิดดูว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้า จ.บุรีรัมย์เป็นเมืองกีฬา เมืองสุขภาพ และเป็นเมืองที่มีดอกไม้สีน้ำเงินทั้งเมือง คนไทยบินไปดูซากุระที่ญี่ปุ่น ปีหนึ่งบานแค่ 2 เดือน แต่ดอกอัญชันออกทั้งปี มาดูที่ จ.บุรีรัมย์ เมืองดอกไม้สีน้ำเงิน ดอกอัญชันออกทั้งปี นี่คือแผนที่เราดีไซน์สำหรับ จ.บุรีรัมย์

ไทยพับลิก้า: แต่แผนที่ว่ามีคุณเนวินเป็นผู้นำในการผลักดันหรือเปล่า หรือจะสร้างทายาทขึ้นมาสานต่อในอนาคต

(ชี้ไปที่ทีมงาน) ทีมงานผมส่วนใหญ่อายุ 30 ลงมาทั้งนั้น ทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ผู้จัดการทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็มีอายุแค่ 30 สนามแข่งรถช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต มูลค่าเป็นหมื่นล้าน ผมก็ให้ ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ อายุแค่ 30 เป็นผู้อำนวยการสนาม ผมมีคนรุ่นใหม่ๆ ทำงานอยู่ด้วย ผมไม่อยากทำงานกับคนมีอายุ ฉะนั้น ทีมบุรีรัมย์จะไม่มีปัญหาเรื่อง generation ต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี เพราะถัดจากนี้ไปก็จะเป็นรุ่นของลูกผม ที่ตอนนี้เพิ่งอายุ 10 กว่าปี

ไทยพับลิก้า: แล้วเรื่องบารมี เรื่องคอนเน็กชั่น จะถ่ายทอดกันอย่างไร

อย่าพูดถึงเรื่องบารมี เรื่องคอนเน็กชั่น ปัญหาคือว่าคุณน่ะมีของหรือเปล่า วันนี้สำคัญที่สุดคือไอ้นี่ (ชี้ไปที่หัว) creativity เด็กพวกนี้มันถูกสอนให้เข้าใจและรู้คุณค่าของคำว่า creativity เด็กรุ่นใหม่ของเมืองนี้ให้ความสำคัญกับคำว่า creativity มากกว่า resource
ทุกมื้อเที่ยงกับมื้อค่ำ ผมจะนั่งกินข้าวกับเด็กๆ พวกนี้ 10 กว่าคน ใครว่างมากิน แล้วนั่งคุยกับสัพเพเหระ คิดอยากทำอะไรขึ้นมาก็บอกว่า เฮ้ย เรื่องนี้น่าสนใจ เดี๋ยวมันก็หาข้อมูลมาให้เราดู แสดงว่ามันสนใจ ใครที่มานั่งฟังแล้วเฉยๆ แสดงว่าเรื่องนี้มันไม่ชอบอย่าไปใช้มัน put the right man on the right job หลักการง่ายๆ
วันนี้อย่ามาพูดว่าเด็กไม่รู้จักโลก เพราะโลกอยู่ในมือถือ อยู่ในกูเกิล มันรู้โลกมากกว่าเราอีก เพราะเสิร์ชดูข้อมูลทุกวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น