วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

NEDA ทุ่ม 4,000 ล้าน กรุยทาง "ธุรกิจไทย" ลงทุนอาเซียน

สัมภาษณ์
หลังยกสถานะจากกองทุนให้ความช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ขึ้นมาเป็น "สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน)" หรือ สพพ. (NEDA) เมื่อปี 2548 จนถึงวันนี้ก้าวสู่ปีที่ 11 แล้ว ล่าสุด "ประชาชาติธุรกิจ" ได้พูดคุยกับ "เนวิน สินสิริ" ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ถึงภารกิจที่ต้องขับเคลื่อนต่อจากนี้

- แผนปีงบประมาณ 2559 เป็นอย่างไร

โครงการแรก เรากำลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการลงทุนสายส่งไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ (KV) ใน สปป.ลาว (น้ำทง-ห้วยทราย) มูลค่า 1,137 ล้านบาท ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะขายไฟฟ้าให้เขา เงื่อนไขเงินกู้ที่เราให้คือ ดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี ชำระ 25 ปี ปลอดเงินต้น 7 ปีแรก เรามองว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นบนถนนเส้น R3 นอกจากนี้ ลาวยังมีโครงการปรับปรุงนครเวียงจันทน์ เพื่อรองรับจัดประชุมอาเซียนซัมมิตในปีหน้า วงเงินราว 300 ล้านบาท

โครงการที่ 2 ลงทุนระบบไฟฟ้าในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา วงเงิน 1,700 ล้านบาท โดยกระบวนการขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรัฐสภาเมียนมาเห็นชอบ

โครงการที่ 3 สนับสนุนกัมพูชา บริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว ตรงด่านบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท ที่ศึกษาเรียบร้อยแล้ว จุดนี้จะเป็นด่านสินค้า วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เงื่อนไขกำลังเจรจากันอยู่ ซึ่งรัฐบาลมีแผนพัฒนาไปพร้อม ๆ กันกับการปรับปรุงด่านอรัญประเทศ-ปอยเปตเดิมที่เป็นด่านรถโดยสาร และการพัฒนาบริเวณบ้านป่าไร่ที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ซึ่งฝั่งกัมพูชาบริเวณนั้นมีหลายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็จะทำให้มีสินค้าส่งมาผ่านออกไปทางอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทย

สำหรับในปีงบประมาณ 2559 จะมีโครงการประมาณนี้ ทำได้แค่ไหนก็ขึ้นกับงบประมาณและความรวดเร็วของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านด้วย แต่ผมอยากให้ทำได้สัก 3-4 โครงการ วงเงินราว 2,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งได้จากงบประมาณ 900 ล้านบาท ที่เหลือก็เป็นการจัดหาแหล่งเงินกู้

- อนาคตต้องสนับสนุนตรงจุดไหนอีก

การบ้านเราค่อนข้างเยอะ เวลานายกรัฐมนตรีไปเยือนเพื่อนบ้านก็จะมีมาเรื่อย ๆ อย่างกรณีลาว เราสนับสนุนอยู่มากกว่า 80% ก็อยากกระจายไปประเทศอื่น ๆ มากขึ้นเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค แต่ก็ต้องยอมรับว่า ลาวอยากเปลี่ยนประเทศจาก "Land Lock" เป็น "Land Link" จึงต้องการเงินลงทุนอีกมาก อย่างเส้นทางหงสา-เชียงแมนที่เชื่อมกับ จ.น่านไปหลวงพระบาง ที่เราอนุมัติไปปีที่แล้ว เขาก็อยากได้สะพานข้ามแม่น้ำโขงเพิ่ม ขณะที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน วงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ที่ออกแบบเสร็จแล้ว ก็คงขอกู้จาก สพพ.ครึ่งหนึ่ง แล้วก็มีสะพานแห่งที่ 6 ที่ จ.อุบลราชธานีอีก

นอกนั้นก็มีเส้นทางนครพนม-คำม่วน ที่จะเชื่อมไปถึงฮานอย เป็นเส้นทางสั้นที่สุดผ่านลาวไปเวียดนาม มีรถจีนวิ่งกันมาก และตอนนี้มากกว่าเส้นดานัง ซึ่งจะเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ แถมยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เพราะฝั่งลาวสวยมากเหมือนกับกุ้ยหลินเลยทีเดียว

ส่วนการพัฒนาฝั่งเมียนมา ก็มีแผนพัฒนาเส้นทางจากด่านเจดีย์สามองค์เข้าไปในเมียนมา 12 กม. แต่ยังติดเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ และโครงการลงทุนถนน 2 ช่องจราจร เชื่อมต่อทวายกับบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรีอีก ในกรอบวงเงิน 4,500 ล้านบาท ซึ่งยังต้องรอกระบวนการทางรัฐสภาของเมียนมา

- สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างไร

ก็มีการคุยกันในบอร์ด (คณะกรรมการ สพพ.) ว่า ควรจะสนับสนุน "เมืองแฝด" อย่างเช่น ตรง อ.แม่สอด ก็ต้องดูว่าทำอย่างไรจะช่วยพัฒนาเมียวดีของเมียนมาด้วย ตอนนี้ก็คุยกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ถึงความร่วมมือกัน ซึ่งเขาก็ศึกษาอยู่

อย่างไรก็ดี นอกจากเชื่อมโยงเส้นทาง เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในด้านซอฟต์แวร์เราก็ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) สนับสนุนการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะปัจจุบันแรงงานในประเทศหายาก แถมค่าแรงก็แพง แต่ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้นักลงทุนไทยกล้า ๆ หน่อย อย่างพวกบริษัทใหญ่ ๆ เขาไปอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีไป ผมมีหน้าที่หลักในการเปิดเส้นทาง เปิดโครงสร้างพื้นฐานให้เขามีโอกาสเข้าไปลงทุน

- โครงการทวายต้องทำอะไรต่อ

ในการประชุม JHC (คณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมา) ล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค. ที่ประชุมได้อนุมัติแผนแม่บทการพัฒนาทวาย พื้นที่ 197 ตร.กม. (Full Phase) ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาในอนาคต โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับเฟสเริ่มต้นที่ทาง บมจ.อิตาเลียนไทยได้รับสัมปทานไปแล้ว ทั้งนี้ Full Phase จะคล้ายอีสเทิร์นซีบอร์ดที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ขึ้น ทั้งท่าเรือน้ำลึก ถนน แหล่งน้ำ และอื่น ๆ ซึ่งหลังจากนี้ทางญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมทุนในเอสพีวี (นิติบุคคลเฉพาะกิจ) หลังเขาแจ้งเจตจำนงจะเข้ามาร่วมทุนแล้ว โดยเอสพีวีก็จะมีบทบาทให้คำแนะนำการลงทุนตามแผนแม่บท และการเฟ้นหาเอกชนเข้ามาลงทุน

ซึ่งก็หวังว่าจะมีหลาย ๆ กลุ่มจากหลากหลายประเทศเข้ามา ภายในไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น